นครปฐม - นักศึกษาประวัติศาสตร์เมืองเจดีย์ใหญ่เดินหน้าสำรวจกองดินบึงกุ่ม-บึงบางช้าง ในพื้นที่บ้านสระอ้อ ตำบลธรรมศาลา เมืองนครปฐม พบซากไม้หลักฐานเรือโบราณตะวันออกกลางอายุ 1 พันปีเพิ่มหลายชิ้น เชื่อยังมีใต้น้ำอีกมาก ขณะที่กรมศิลปากรยังไม่ลงพื้นที่ หวั่นหลักฐานสำคัญสูญหาย เผยแผนที่โบราณแสดงชัดเจนเป็นเส้นทางเดินเรือยุคโบราณ
วันนี้ (23 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีมีพบซากเศษไม้เก่าคาดว่าจะเป็นเรือโบราณ ที่บริเวณประตูป่าผีบึงกุ่ม-บึงบางช้าง บ้านสระอ้อ หมู่ที่ 2 ต.ธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม โดยมีรูปแบบของตะวันออกกลาง หรือเรืออาหรับ คาดว่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 1 พันปี เนื่องจากมีลักษณะการต่อเรือคล้ายกับเรือโบราณที่ขุดพบใน ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และเป็นหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อสันนิษฐานเรื่องประวัติศาสตร์ของอาณาจักรทวารวดีที่มีอายุกว่า 1,500 ปี
นายไพบูลย์ พวงสำลี ประธานกลุ่มศรีทวารวดี นักค้นคว้า และทนายความด้านประวัติศาสตร์จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า หลังจากมีการค้นพบซากไม้ที่คาดว่าจะเป็นเรือโบราณในกองดินตรงข้ามกับบึงกุ่ม-บึงบางช้าง และประสานเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เข้ามาตรวจสอบ และเก็บหลักฐานเบื้องต้นบนผิวดินในกองดินที่ถูกตักขึ้นมาจากใต้ผิวน้ำริมฝั่งไปแล้วส่วนหนึ่ง ในส่วนของตนเองได้กลับเข้าไปในพื้นที่อีกครั้ง และได้เดินสำรวจในจุดที่พบซากไม้ และเศษกระเบื้องและเครื่องปั้นดินเผา และเปลือกหอยทะเลชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้น
ล่าสุด พบซากไม้ที่คาดว่าจะเป็นชิ้นใหญ่เพิ่มขึ้นหลายชิ้น และมีชิ้นส่วนที่เห็นเป็นการถักเชือกโบราณอย่างชัดเจน และหลังจากมีฝนตกลงมาชะหน้าดินก็มีหลักฐานหลายชิ้นปรากฏขึ้นมาให้เห็นมากขึ้น
ประธานกลุ่มศรีทวารวดี กล่าวว่า หลังจากพบหลักฐานดังกล่าวตนได้กลับไปตรวจสอบแผนที่ท่าผาบางแก้ว ซึ่งเป็นแผนที่โบราณ ซึ่งแสดงชัดเจนว่า เส้นทางของแม่น้ำลำคลองโบราณแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำที่เชื่อมโยงอาณาจักรทวารวดี กับชนชาติตะวันตกชาวอาหรับชัดเจน และจุดที่พบก็เป็นแหล่งน้ำสำคัญในยุคนับพันปี การพบซากเรือลำนี้จึงมีความสำคัญต่อการค้นคว้ามาก และส่วนของเรือที่เหลือที่จมอยู่ใต้น้ำอาจจะบอกถึงลักษณะรูปร่างของตัวเรือ หากมีการนำขึ้นมาได้ก็จะบ่งบอกหลักฐานเพิ่มเติมได้อีกมาก
“ที่สำคัญเรือลำนี้อาจจะนำไปสู่การเดินหน้าในการสร้างพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย ส่วนจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์แห่งใหม่เพื่อให้สอดคล้องต่อประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยมีกรณีที่ประชาชนชาวนครปฐมออกมาคัดค้านการยุบและย้ายพิพิธภัณฑ์ไปยังอู่ทองจนเป็นข่าวใหญ่เมื่อเดือนที่แล้วหรือไม่นั้น เรื่องนี้เป็นวาระที่คนในจังหวัดนครปฐมจะต้องรับรู้เช่นกัน”
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า จากการเดินสำรวจด้วยเท้า และขุดคุ้ยหาหลักฐานด้วยมือเปล่าเรายังพบหลักฐานต่างๆ อีกมากมาย และพบมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นของจากหลายยุค ไม่ใช่เพียงในยุคอาณาจักรทวารวดีเท่านั้น แม้แต่ของในราชวงศ์จีนก็ยังพบเจอ
นอกจากนี้ หลักฐานต่างๆ ที่มีการทั้งขุด และเจอบนผิวดินก่อนหน้ารี้พบว่า บางชิ้นปรากฏเป็นเครื่องดินเผาเป็นลักษณะหน้าคนทางตะวันออกกลาง หรือชาวอาหรับที่สวมหมวกปาเถียน หรือแผนดินเผาที่คนท้องถิ่นได้บันทึกใบหน้าของคนอาหรับ ที่มีจมูกโด่งยาว และมีหนวดเครายาวเอาไว้ ทำให้ย้ำชัดว่าเรือที่พบในจังหวัดสมุทรสาคร และเรือที่พบในพื้นที่เป็นเรือที่เข้าออกในการคมนาคมโลกอาหรับ กับอาณาจักรทวารวดีไว้ด้วยกัน และเป็นจริงตามข้อสันนิษฐานที่มีการบันทึกไว้และยังปรากฏสิ่งของในยุคอยุธยา ซึ่งจะบ่งบอกถึงความเจริญในหลายยุคหลายสมัย
“ผมเชื่อว่าสิ่งของสำคัญยังมีอีกมาก แค่เราเห็นฝนตกชะล้างหน้าดินเรายังเห็นสิ่งของปรากฏหลายชิ้น เชื่อว่าในกองดินน่าจะมีของสำคัญอีกมาก และในน้ำแห่งนี้ยังไม่เคยมีการสำรวจทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนครั้งใหญ่เลย ก็น่าจะมีหลักฐานอะไรอีกมาก เนื่องจากอยู่ไม่ห่างจากพระประโทนเจดีย์ ซึ่งมีความเก่าแก่มาก หลักฐานต่างๆ รอบพื้นที่ผมเก็บได้มีมากมายในหลายๆ จุดใต้ดิน ซึ่งเมืองนครปฐม เป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งบันทึกต่างๆ ยังไม่ชัดเจนด้วยการใช้หลักฐานเป็นจากข้อสันนิษฐาน การศึกษาโดยหาหลักฐานต่างๆ ยังต้องค้นคว้าอีกมาก และควรทำอย่างจริงจัง”
นายไพบุลย์ เปิดเผยด้วยว่า วันนี้ น.ส.ปิยนันท์ ทรัพย์สินประกอบ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี ดูแลพื้นที่จังหวัดนครปฐม ได้ประสานในการติดตามเรื่องดังกล่าวเข้ามายังตน โดยบอกว่าขณะนี้กำลังทำหนังสือเพื่อส่งนักโบราณคดีลงมาสำรวจพื้นที่อย่างจริงจัง และจะเข้ามาเก็บหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม และแสดงความเป็นห่วงในเรื่องการรบกวนหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากชาวบ้านที่อาจจะเข้ามาขุดค้นในพื้นที่ ซึ่งอาจจะทำให้หลักฐานสำคัญนั้นสูญหาย หรือไม่สมบูรณ์ตามที่ควรจะบันทึกหรือค้นคว้าได้
“ตอนนี้เราได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 2 มาแล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาที่แน่ชัดว่าจะลงมาสำรวจหาหลักฐานต่างๆ เมื่อใด แต่ก็มีความเป็นห่วงในเรื่องของหลักฐานเช่นกัน แต่ที่น่าห่วงมาก และน่าค้นหาคือตัวเรือโบราณที่คาดว่าจะจมอยู่ใต้น้ำว่าอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปหลังถูกรถตักดินจ้วงขุดซากเรือขึ้นมาบางส่วน โดยตอนนี้เราไม่รู้ขนาดเรือที่ชัดเจน“
“หากใน 1-2 สัปดาห์กรมศิลปากรยังไม่มาอาจจะประสานกับท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่เพื่อขอให้นำนักประดาน้ำลงไปสำรวจเบื้องต้นก่อน ซึ่งอาจจะมีหลักฐานที่อาจจะเป็นหลักฐานที่สำคัญเพิ่มขึ้นและควรต้องเร่งดำเนินการเพราะกำลังจะเข้าสู่หน้าฝน เพราะหลักฐานโบราณวัตถุที่ถูกขุดมาแล้วอาจจะสูญหาย และยากต่อการดำน้ำของนักประดาน้ำเพื่อจะสำรวจใต้น้ำ ซึ่งตอนนี้เราก็พยายามรอการประสานงานจากกรมศิลปากรเช่นกัน” นายไพบุลย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวออกไปเริ่มมีกระแสของผู้คนในพื้นที่พยายามสอบถามเส้นทางในการเข้าไปในพื้นที่เพื่อขอดูข้อมูลหลักฐานต่างๆ ขณะในส่วนของเจ้าของพื้นที่ และจังหวัดนครปฐมยังไม่ได้มีการสั่งการใดๆ ออกมาเป็นทางการ แต่ในกลุ่มของผู้สนใจทางประวัติศาสตร์ได้เริ่มมีการสอบถาม และนำข้อมูลต่างๆมาศึกษาซ้ำเพื่อหาข้อมูลที่แน่ชัดก่อนจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการ