กาฬสินธุ์ - จังหวัดกาฬสินธุ์เตรียมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพุทธสถานภูปอ และพระพุทธไสยาสน์ภูปอ โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำ เปิดมุมมองใหม่เชื่อมโยงสถานที่แหล่งท่องเที่ยวพระธาตุยาคู
วันนี้ (25 พ.ค.) ที่วัดอินทร์ประทานพร ตำบลภูปอ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายเลิศบุศย์ กองทอง นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยตัวแทนสำนักงานการท่องเที่ยว และผู้นำท้องถิ่นลงพื้นที่สำรวจพุทธสถานภูปอ และพระพุทธไสยาสน์ภูปอ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดอินทร์ประทานพร ต.ภูปอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดกาฬสินธุ์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ ฝีมือช่างจากสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
การสำรวจครั้งนี้จังหวัดกาฬสินธุ์เตรียมที่จะพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะห้องน้ำ และระบบน้ำประปา เพื่อบริการนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาเที่ยวพุทธสถานภูปอ และกราบไหว้พระพุทธไสยาสน์ภูปอ หลังจากที่ผ่านมามีปัญหาห้องน้ำไม่เพียงพอต่อประชาชนและระบบน้ำประปาไม่สามารถผลิตได้ในช่วงหน้าแล้ง
นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า พุทธสถานภูปอ และพระพุทธไสยาสน์ภูปอนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางไสยาสน์อันศักดิ์สิทธิ์แล้วยังมีทิวทัศน์ตามธรรมชาติที่สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ โดยจังหวัดกาฬสินธุ์จะทำการปรับปรุงพัฒนาระบบสาธารนูปโภคต่างๆ เพื่อให้เพียงพอต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสถานที่ดังกล่าว
นอกจากนี้ จังหวัดยังได้เปิดมุมมองใหม่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวให้เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวพระธาตุยาคูอีกด้วย
สำหรับพุทธสถานภูปอ และพระพุทธไสยาสน์ภูปอ ตั้งอยู่ในวัดอินทร์ประทานพร ตำบลภูปอ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ ฝีมือช่างจากสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ และไกล ภูปอเป็นเขาหินทราย ยอดเขาสูง 336 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือสูง 94 เมตรจากพื้นดิน ทอดตัวตามแนวทางตะวันออก-ตะวันตก ฟากเขาด้านทิศเหนือเป็นเขตอำเภอสหัสขันธ์ ฟากเขาด้านทิศใต้เป็นเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นอกจากภูปอจะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางไสยาสน์อันศักดิ์สิทธิ์แล้วยังมีทิวทัศน์ตามธรรมชาติที่สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ
พระพุทธไสยาสน์ภูปอเป็นพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ จำหลักไว้บนแผ่นหิน 2 ตำแหน่ง เป็นภาพสลักนูนต่ำอยู่บนผนังของเพิงผา เป็นพระพุทธศิลปะที่งดงามมาก เช่น ทิศทางการหันพระเศียรสู่ทิศเหนือ องค์พระประทับบนผ้ารองหรือตั่งเตียง รัศมีรอบพระพุทธองค์แสดงถึงการสร้างสรรค์พุทธปฏิมาชิ้นนี้ เพื่อให้หมายถึงพระพุทธเจ้าปางปรินิพพานยิ่งกว่าพุทธบรรทม ลักษณะศิลปกรรม
สำหรับภาพสลักพระนอนองค์แรก (องค์ล่างหรือองค์ที่อยู่เชิงเขา) สร้างตามศิลปกรรมแบบทวารวดีสกุลช่างอีสานอย่างเห็นได้ชัด กำหนดอายุอย่างกว้างๆ น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 ส่วนลักษณะศิลปกรรมภาพสลักพระนอนองค์ที่สอง (องค์บนหรือองค์ที่อยู่ใกล้ยอดเขา) น่าจะสร้างขึ้นในสมัยหลัง เพื่อสืบทอดคตินิยมการสร้างพระพุทธไสยาสน์เพื่อสักการบูชา
ทั้งนี้ ได้สร้างขึ้นตามแบบอย่างพุทธศิลปะแบบทวารวดีที่มีพระนอนที่อยู่เชิงเขาเป็นต้นแบบ ผสมผสานกับพุทธศิลปะแบบสุโขทัยที่ปรากฏอยู่ร่วมสมัยกับผู้สร้าง
ทำให้พระพุทธไสยาสน์องค์นี้แสดงลักษณะความเรียบง่ายสง่างามแบบศิลปกรรมทวารวดี ทั้งนี้ ปัจจุบันพระพุทธไสยาสน์ทั้งสององค์นี้เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ซึ่งจะมีงานสมโภชพระพุทธไสยาสน์ในเดือนเมษายนของทุกปี
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งศิลปะถ้ำภูปอให้เป็นโบราณสถานของชาติ และอยู่ในความดูแลรักษาของหน่วยศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด