จากการแชร์ภาพของหมู่เกาะทะเลไทยที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะด้วยการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวแบบไม่มีการจำกัด จนส่งผลให้ระบบนิเวศของทะเลไทยเปลี่ยนไป
เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้โพสต์ภาพ “เกาะพีพี” จังหวัดกระบี่ พร้อมระบุข้อความดังนี้
“เมื่อสัก 15 ปีที่แล้ว พีพี "เคย" เป็นเกาะสวย 1 ใน 5 ของโลก ตอนนั้นโปรโมตกันใหญ่ จนพีพีใกล้จะเลยเถิด บังเอิญคลื่นสึนามิเข้ามา จึงมีแนวคิดปิดพีพีเพื่อจัดระเบียบ เป็นข่าวใหญ่โตเช่นกัน ปัจจุบันจัดไปถึงไหนเชิญดูได้ดังภาพ ประเทศไทยพร่ำบอกถึงการท่องเที่ยวแบบ "ยั่งยืน" และ "เพิ่มมูลค่า" แต่ผลที่ปรากฏมาแนวปะการังทั้งสองฝั่งย่อยยับดับสิ้น ค่าทัวร์ที่เคยเกิน 2 พันในอดีต เดี๋ยวนี้เหลือแค่ไม่ถึงพัน การเก็บสมบัติให้ลูกหลานเป็นเพียงคำหลอกเด็กไร้เดียงสา แล้วลูกเราจะเอาอะไรมาหากิน?” จนมีการแชร์ต่อพร้อมแสดงความคิดเห็นถึงกรณีเกาะพีพีกันเป็นจำนวนมาก
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “Coco Sang” ได้แสดงความคิดเห็นต่อโพสต์ดังกล่าวว่า “ที่มันเละแบบนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากแนวความคิดของการท่องเที่ยวด้วยครับ ผมเคยไปงานสัมนาที่จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขามองสถานที่ท่องเที่ยวเป็นสินค้าที่ขายๆไปเถอะ และมีการแบ่งเกรดนักท่องเที่ยวเป็นนักท่องเที่ยวชั้นดีและนักท่องเที่ยวชั้นเลว คุณรู้ใหม่ครับ เขาใช้ปัจจัยอะไรมาแบ่ง ... เขาใช้เงินมาเป็นตัวชี้วัดครับ นักท่องเที่ยวชั้นดีคือนักท่องเที่ยวที่จ่ายเงินเยอะ นอนโรงแรมหรู ชอปปิ้งหนัก ... นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องปรนเปรอให้จงหนัก ส่วนนักท่องเที่ยวชั้นเลวคือพวกแบ็กแพกเกอร์ ใช้จ่ายอย่างประหยัด นอนเกสต์เฮาส์ตรอกข้าวสาร แบกเป้เที่ยวตามป่าตามเขาชนบทห่างไกล ใช้เงินประหยัด .. นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่ต้องไปสนใจ และต้องหาทางลดจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ลง.... เห็นวิสัยทัศน์ของเจ้าภาพเรื่องการท่องเที่ยวของชาดติแล้วอนาถใจครับ ...เพราะแนวความคิดแบบนี้แหละครับ มันถึงเกิดเมือง(ซึ่งกลายเป็นสลัมในที่สุด) ไปอยู่ทุกที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ”
นอกจากนี้แล้วเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ยังโพสต์ภาพเปรียบเทียบก่อน-หลัง ของอ่าวปิเละ เกาะพีพีเล ไว้ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีภาพอ่าวปิเละ เกาะพีพีเล เปรียบเทียบกันสองภาพ ภาพหนึ่งเป็นภาพที่ถ่ายในปี พ.ศ. 2545 แสดงให้เห็นถึงท้องทะลที่น้ำใสไม่มีเรือท่องเที่ยว ส่วนอีกภาพเป็นภาพที่ถ่ายในปี พ.ศ. 2558 มีเรือนำเที่ยวจอดอยู่เต็มไปหมด โดยข้อความดังกล่าวระบุไว้ว่า
“วันนี้ค้นภาพทางอากาศที่เคยบินสำรวจก่อนสึนามิ จำได้ว่ามีมุมใกล้เคียงกับที่ผมบินเมื่อ 11 มีนา โชคดียังหาฟิล์มเจอ จึงทำภาพสไตล์ Before & After ของอ่าวปิเละ เกาะพีพีเล ให้เพื่อนธรณ์ดูกันชัดๆ อ่าวสวยที่สุดของไทยเคยเต็มไปด้วยปะการังน้ำตื้น ปัจจุบันกลายเป็นเพียงที่จอดเรือกินข้าว ปะการังที่เป็นปื้นสีดำ (coral) ไม่ใช่แค่ตาย แต่กลายเป็นทรายหายไปโดยสิ้นเชิง สปช.จะจัดประชุมปฏิรูปอุทยานทางทะเล ในวันอังคารที่ 24 มีนา เวลาบ่ายโมง ที่รัฐสภา เพื่อช่วยอันดามันให้ได้ ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและคนรักทะเลเข้าร่วมครับ (ส่งชื่อและที่ติดต่อ เบอร์โทรศัพท์ มาที่ talaythorn@gmail.com ผมจะให้เขาทำหนังสือเชิญครับ)”
ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊กของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีการโพสต์ภาพเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องจากกรณีผู้คนล้นหาดอ่าวมาหยา ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นภาพเรือนำเที่ยวที่จอดรอนักท่องเที่ยว โดยได้ระบุข้อความไว้ดังนี้
“ภาพผู้คนท่วมอ่าวมาหยา เกาะพีพี ทำให้หลายคนตกใจ อะไรมันจะมากมายปานนั้น มีบ้างที่สงสัย แล้วเรือไปจอดที่ไหนหนอ วันนี้เลยนำภาพที่ผมถ่ายไว้เมื่อกลางเดือนมีนา 58 มาให้ดูว่าเรือจอดอยู่ที่ไหน คนรักทะเลถึงเวลาต้องรวมตัว เพื่อบอกกับผู้บริหารของบ้านเมือง ทะเลไทยถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง” ซึ่งมีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
ผู้ใช้เฟซบุ๊กนามว่า "Anupong Torranin" เข้ามาแสดงคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว และได้มีผู้มากดเห็นด้วย(ถูกใจ)เป็นจำนวนมาก ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า “มาตรการแบบยาแรง 1.วางทุ่นกั้นเรือ ขวางแนวปากอ่าว เปิดช่องให้เข้าได้ทางนึง ออกทางนึง 2.เรือที่จะเข้า ต้องส่งรายชื่อ เจ้าหน้าที่นับหัว แจกใบข้อกำหนด 5 ภาษาหลัก ให้ นทท. เซ็น รายตัว 3.เรือแต่ละลำเข้าไปส่งแล้วต้องออกไปลอยลำรอข้างนอก 4.นทท. อยู่ได้กรุ๊ปละไม่เกิน 2 ชม. 5.รวม นทท. บนหาดทั้งหมดต้องไม่เกิน carrying capacity 6.ถ้าหากเรือลำถัดไปจะทำให้จำนวนคนเกิน ต้องรอข้างนอก”
เรียกได้ว่าปัญหาด้านการท่องเที่ยวของไทยควรถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง หากเป็นอย่างนี้ต่อไป แม้รายได้จากการท่องเที่ยวจะมากมายมหาศาลขนาดไหน ก็ไม่สามารถซื้อธรรมชาติที่สวยงาม อุดมสมบูรณ์กลับคืนมาได้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com