xs
xsm
sm
md
lg

“ลำพะยังภูมิพัฒน์”...อุโมงค์ผันน้ำหนึ่งเดียวในไทยใต้พระบารมี/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com) เฟซบุ๊ก Travel-Unlimited-เที่ยวถึงไหนถึงกัน
อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ฯ อันเกิดจากพระอัจฉริยะภาพในการบริหารจัดการน้ำของในหลวง
“...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่นถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 17 มี.ค. 2529 ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก” เพราะนับแต่พระองค์ท่านเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์ท่านทรงเหน็ดเหนื่อยอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆเพื่อพสกนิกรชาวไทยในแทบทุกหัวระแหงของประเทศนี้
ด้านหน้าทางเข้าอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ฯ(ฝั่งกาฬสินธุ์)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประจักษ์แจ้งถึงทุกข์สุขของราษฎร์ ทรงทราบดีว่าที่ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรในชนบทยากจนทนทุกข์เพราะทำการเกษตรไม่ได้ผล อันเนื่องมาจากขาดแคลน “น้ำ” ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของชาวบ้านในชนบท

ด้วยเหตุนี้พระองค์ท่านจึงทรงทุ่มเทพระวรกายในการศึกษา พัฒนา แก้ปัญหา และจัดการทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ราษฎรได้อยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน จ.กาฬสินธุ์
ลำพะยังตอนบน

สำหรับหนึ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและมีความพิเศษเป็นหนึ่งเดียวในเมืองไทยก็คือ “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์”

คุณอำพล ตมโคตร หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ ได้ให้ข้อมูลกับผมว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ลำพะยังตอนบนฯ ถือกำเนิดขึ้นจากใต้พระบารมี ซึ่งสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านกุดสิม ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศลำพะยังที่บ้านกุดตอแก่น และที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ พระองค์ท่านได้จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน(ห้วยวังคำ) บ้านดงหมู ต.คุ้มเก่า และ บ้านนาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง เพื่อช่วยเหลือราษฎรในเขตพื้นที่ดังกล่าวให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรและอุปโภค บริโภคตลอดปี
โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนฯ
หลังจากนั้นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ลำพะยังตอนบนฯ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น มีการดำเนินการจัดสร้างในส่วนต่างๆ โดยในโครงการมีพื้นที่สำคัญ 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่

1. “โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านนาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง เริ่มสร้างปี 2537 แล้วเสร็จในปี 2538 ซึ่งเดิมสามารถกักเก็บน้ำมีความจุ 3.50 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนจะปรับปรุงขยายเพิ่มเป็น 4.00 ลูกบาศก์เมตรในปี 2543 ซึ่งได้กักเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ประมาณ 4,600 ไร้

2.“โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่สร้างครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2546 แล้วเสร็จในปี 2549 (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความช่วงต่อไป)
โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ลำพะยังตอนบนฯ เป็นอีกหนึ่งโครงการบริหารจัดการน้ำที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ณ วังไกลกังวล หัวหิน ดังนี้

“นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ ที่กาฬสินธุ์ ลำพะยัง เป็นโครงการที่ทรงถือว่าชัยพัฒนาจริงๆ เพราะทรงเริ่มทำตั้งแต่ไม่มีน้ำ ต้องใช้น้ำค้างทำการเกษตร ไม่ได้ผลผลิตเลย ทรงเสด็จด้วยรถยนต์ทอดพระเนตร เห็นข้าวเปลือกที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวนำมาตากไว้ ไม่มีเมล็ดข้าวเลย ก็เริ่มพัฒนาลำพะยังให้มีน้ำเก็บกักน้ำได้ จนปัจจุบันราษฎรมีอาชีพ มีฐานะ จึงถือได้ว่าเป็นชัยพัฒนา”
ส่วนยอดด้านบนของปากประตูทางเข้าอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ฯ ฝั่งกาฬสินธุ์
อุโมงค์ผันน้ำหนึ่งเดียวในไทย ใต้พระบารมี

ในส่วนโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ลำพะยังตอนบนฯนั้น มีความพิเศษน่าสนใจมาก เพราะเป็นการบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากไปยังพื้นที่ขาดแคลนน้ำ
ท่อส่งน้ำที่รับน้ำจากมุกดาหารสู่กาฬสินธุ์แล้วนำน้ำส่งไปยังพื้นที่เกษตรกรรม
คุณอำพล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ฯ สร้างครอบคลุมพื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัด โดยทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร มาส่งให้กับพื้นที่พื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน ใน อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์

อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ฯ มีการเจาะอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้เขาภูบักดี แล้วทำท่อ(เหล็ก)ลอดใต้อุโมงค์ ขนาด กว้าง 3 เมตร สูง 3 เมตร ยาว 740 เมตร ส่งน้ำจากมุกดาหารเข้ามายังกาฬสินธุ์ โดยมีการทำถังพักน้ำ ทำระบบท่อชลประทาน ที่ยังประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่มากถึงประมาณ 12,000 ไร่ และทำให้ผลผลิตทางการปลูกข้าวของชาวนาเพิ่มมากขึ้นถึง 2-3 เท่า
บรรยากาศภายในอุโมงค์เมื่อมองย้อนออกไปยังปากประตู
นับเป็นความสำเร็จจากอุโมงค์ผันน้ำหนึ่งเดียวในเมืองไทยใต้พระบารมี ที่มาจากพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านบริหารจัดการน้ำ อันสอดสอดรับกับคำว่า “ลำพะยังภูมิพัฒน์” ซึ่งหมายถึง “อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง”

แหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้

ความสำเร็จ ความโดดเด่น และความเป็นอุโมงค์ผันน้ำ(ลอดใต้ดิน)หนึ่งเดียวในเมืองไทย ทำให้โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ฯ มีองค์กร หน่วยงาน และคณะบุคคลให้ความสนใจเดินทางมาดูงานกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการที่ผมได้เคยมีโอกาสไปร่วมดูงานโดยมีคุณอำพลรับอาสาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์นำชม พาท่องในอุโมงค์ใต้พระบารมีนั้น มันช่างน่าทึ่งเสียนี่กระไร
หินงอกหินย้อยในอุโมงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ทั้งนี้เนื่องเพราะเมื่อเรายืนอยู่ภายนอก อากาศจะร้อนเปรี้ยง แต่เมื่อเข้าไปเดินภายในอุโมงค์ น่าแปลกที่อากาศกลับไม่อับทึบ หากแต่มีอากาศถ่ายเท เย็นสบาย คล้ายมีคนเปิดแอร์คุมอุณหภูมิไว้ อันเนื่องมาจากในอุโมงค์เป็นช่องลมที่มีลมโกรกพัดผ่านเย็นสบายตลอด(เหมือนกับถ้ำหลายๆแห่งที่มีลมพัดผ่านทะลุถึงกัน)

นอกจากนี้ในอุโมงค์ยังมีสิ่งที่น่าสนใจทั้งเรื่องของแนวพระราชดำริ การก่อสร้าง รูปแบบการก่อสร้าง เทคนิคการผันน้ำจาก 2 ลุ่มน้ำ 2 จังหวัด รวมถึงในอุโมงค์(ประมาณช่วงกลางอุโมงค์) ยังมีเส้นแบ่งเขตแดนจังหวัดระหว่างมุกดาหารกับกาฬสินธุ์ และการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของน้ำจากบนเขาบักดีที่ซึมผ่านดินลงมาเกิดเป็นผลึกหินงอกหินย้อยจำนวนหนึ่ง อันถือเป็นจุดชวนชม และจุดดึงดูดทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำ ลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการปลูกข้าวขึ้นมาอีก 2-3 เท่า
คุณอำพลบอกกับผมว่า อยากจะพัฒนาอุโมงค์แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ ในเชิงตามรอยพระราชดำริ และอยากจะให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางด้านการบริหารจัดการน้ำ

“การที่ผมมีโอกาสได้ทำงานใต้เบื้องพระยุคลบาทถือเป็นความภูมิใจสูงสุด ถือเป็นบุญในชีวิตของผม”

คุณอำพลบอกกับผมด้วยน้ำตาคลอเบ้าในความซาบซึ้งปลื้มปีติ ซึ่งก็ทำให้ผมพลอยน้ำตารื้นในพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวงตามไปด้วย
อำพล ตมโคตร ชี้ให้ดูจุดแบ่งเขตจังหวัดมุกดาหาร-กาฬสินธุ์ในอุโมงค์ผันน้ำ
*****************************************
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น