xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัส จับ ฟัง เรียนรู้ผ่านความมืดใน “พิพิธภัณฑ์สัมผัส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภายในห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์สัมผัส
ความยากลำบากของผู้พิการทางสายตา ก็คือ การมองไม่เห็นภาพของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง ของใช้ต่างๆ หรือแม้กระทั่งร่างกายของตัวเอง ซึ่งหากว่าอยากเรียนรู้ให้เกิดภาพของสิ่งไหน ก็ต้องใช้วิธีการสัมผัสและการฟังเท่านั้น

พิพิธภัณฑ์สำหรับเรียนรู้เพื่อผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะนั้นแทบไม่มีเลยในบ้านเรา จึงทำให้เป็นการยากที่ผู้พิการทางสายตาจะออกไปเรียนรู้เพิ่มเติมประสบการณ์ให้กับชีวิต

แต่ฉันอยากจะบอกว่า ตอนนี้มีอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อผู้พิการทางสายตาแล้ว ซึ่งแม้ว่าจะเปิดมาตั้งแต่เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา แต่อาจจะมีคนรู้จักไม่มากนัก ฉันก็เลยอยากจะมาชวนไปเดินดูเสียหน่อย
ส่วนจัดแสดงพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าฯ (ภาพจากพิพิธภัณฑ์สัมผัส)
อ้อ... ลืมบอกไปว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์สัมผัส” ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช สร้างขึ้นจากความร่วมมือกันของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2556

แรกเริ่มนั้น จัดทำเป็นนิทรรศการชุดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีฐานการเรียนรู้ 8 ฐาน ซึ่งรวบรวมความรู้เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2557 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นนิทรรศการชุดที่ 2 (นิทรรศการชุดปัจจุบัน) ที่เกี่ยวข้องกับความรู้เรื่องการแพทย์และการดูแลสุขภาพ และได้นำนิทรรศการชุดแรกไปจัดแสดงในต่างจังหวัดในลักษณะของนิทรรศการหมุนเวียน

สำหรับการเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ฉันได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้อธิบายว่า แม้ว่าที่นี่จะเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับผู้พิการทางสายตา แต่คนธรรมดาอย่างเราก็สามารถเข้าไปชมได้เหมือนกัน โดยปกติแล้ว หากเป็นผู้พิการทางสายตาเข้าไปชม จะเปิดไฟด้านในห้องจัดแสดงไว้ เพื่อคอยดูแลความปลอดภัยให้กับผู้เข้าชม แต่ถ้าเป็นคนสายตาปกติเข้าไปชม เจ้าหน้าที่จะแจกผ้าปิดตาให้ เพื่อให้ได้ทดลองสัมผัสสิ่งจัดแสดงต่างๆ ภายในห้อง และได้รับรู้ความรู้สึกของคนตาบอดที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านการสัมผัส
ลองสัมผัสส่วนประกอบต่างๆ ของดวงตา (ภาพจากพิพิธภัณฑ์สัมผัส)
ฉันเดินเข้ามาถึงด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่เห็นเป็นอันดับแรกคือห้องโถงกว้างที่จัดแสดง “เหรียญเซเรสจำลอง” ซึ่งเป็นเหรียญที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาสตรีและประชาชนในชนบทให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การจัดแสดงเหรียญเซเรส จะแสดงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมมีคำบรรยายเป็นอักษรเบรลล์เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้ถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ และรอบๆ ห้องก็จะมีเก้าอี้ให้นั่งฟังเสียงบรรยายพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ

หลังจากเรียนรู้พระราชกรณียกิจต่างๆ แล้ว ก็ถึงเวลาเข้าชมห้องจัดแสดงภายใน โดยเจ้าหน้าที่จะจัดให้เข้าชมรอบละ 2-4 คน แบ่งออกเป็น 2 สาย เพื่อให้แต่ละคนได้เรียนรู้ในฐานต่างๆ ตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งการเข้าชมจะใช้เวลารอบละประมาณ 40 นาที
ทดลองตรวจเต้านมจำลอง (ภาพจากพิพิธภัณฑ์สัมผัส)
ก่อนเข้าชม ทุกคนจะได้รับหูฟังสำหรับฟังคำบรรยายตามฐานต่างๆ ที่จะเล่นโดยอัตโนมัติ มีคำแนะนำต่างๆ ในการเข้าชม มีการกำหนดเวลาแต่ละฐานไว้อย่างเรียบร้อย และใช้คำอธิบายง่ายๆ ให้เข้าใจกัน

การเข้าชมห้องจัดแสดง เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับวิธีการเดินภายในห้อง ซึ่งจะมีราวจับให้เดินตลอดเส้นทาง เมื่อถึงแต่ละฐานก็จะมีสัญลักษณ์ให้สัมผัสได้เพื่อหยุดเดิน โดยการจัดแสดงภายในนี้แบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 ฐาน เกี่ยวข้องกับการแพทย์และการดูแลสุขภาพของตนเอง

ฐานที่ 1 “ตากับการมองเห็น” เป็นฐานที่อธิบายถึงกระบวนการมองเห็น โดยมีลูกตาจำลองขนาดใหญ่ให้ลองสัมผัส เสียงบรรยายจะอธิบายถึงชิ้นส่วนต่างๆ ภายในลูกตา เลนส์ตา จอประสาทตา เส้นเลือกและเส้นประสาทต่างๆ เพื่อให้เข้าใจว่าคนเรามองเห็นได้เพราะอะไร
หุ่นจำลองระบบทางเดินหายใจ
ฐานที่ 2 “วันนี้คุณตรวจเต้านมแล้วหรือยัง” ในฐานนี้จะอธิบายถึงลักษณะปกติของเต้านม และลักษณะที่ผิดปกติของเต้านม โดยจะเน้นอธิบายเรื่องโรคมะเร็งเต้านม ที่สามารถเป็นได้ทั้งชายและหญิง ที่สำคัญมีคำแนะนำให้ลองตรวจเต้านมจากหุ่นจำลองเพื่อหาก้อนในเต้านม ลองคลำหาก้อนในเต้านมที่อาจกลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ ฉันว่าการทดลองนี้มีประโยชน์มากๆ กับทุกคน เพราะเป็นสิ่งที่เราสามารถนำไปทดลองตรวจกับตัวเองได้ ถือว่าเป็นการตรวจโรคของตัวเองในขั้นต้น

ฐานที่ 3 “บอลลูน ลูกโป่งช่วยชีวิต” ฐานนี้อธิบายเรื่องระบบทางเดินหายใจของเรา ความสำคัญของหัวใจที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างาย และถ้าหากว่าหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ได้ ก็ต้องใช้การรักษาด้วยบอลลูน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้

ฐานที่ 4 “ปวดท้อง เป็นอะไรกันแน่” ฐานนี้จะอธิบายว่าภายในช่องท้องของเราประกอบด้วยอวัยวะใดบ้าง รูปร่างเป็นอย่างไร และการปวดท้องในแต่ละตำแหน่งสื่อถึงอวัยวะใด เพื่อให้รู้ได้ว่าปวดท้องตรงนี้อาจจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง
ภายในท้องของเรามีอะไรบ้าง
ฐานที่ 5 “เมื่อฉันเริ่มเป็นสาว” จะมีหุ่นจำลองระบบสืบพันธุ์ของวัยรุ่นเพศหญิง อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นหญิงที่จะเริ่มมีประจำเดือน มีการเปลี่ยนแปลงทางร่ายกาย เสียงบรรยายจะสอนถึงการคุมกำเนิดด้วยห่วง มีหุ่นให้ทดลองสำรวจว่าห่วงคุมกำเนิดอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ ที่สำคัญคำบรรยายยังสอดแทรกวิธีการปฏิบัติตัวของวัยรุ่นหญิงว่าควรทำตัวอย่างไร ควรดูแลสุขลักษณะส่วนตัวอย่างไร มีการสอดแทรกจริยธรรมไว้ในคำบรรยายด้วย

ฐานที่ 6 “เมื่อฉันเริ่มเป็นหนุ่ม” มีหุ่นจำลองระบบสืบพันธุ์ของวัยรุ่นเพศชาย อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยรุ่นชาย นอกจากนี้ยังสอดวิธีการใส่ถุงยางคุมกำเนิดที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถคุมกำเนิดได้อย่างถูกวิธี มีการสอดแทรกคำสอนในเรื่องการปฏิบัติตัวของวัยรุ่นชายที่ควรให้เกียรติเพศหญิง รวมถึงการดูแลสุขลักษณะส่วนตัว
เรียนรู้ระบบร่างกายเมื่อเริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาว (ภาพจากพิพิธภัณฑ์สัมผัส)
ฐานที่ 7 “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อแท้ ข้อเทียม” ฐานนี้จะอธิบายในเรื่องไขข้อกระดูกว่าทำหน้าที่อย่างไร มีข้อกระดูกแบบปกติจำลองมาให้สัมผัสว่ามีลักษณะอย่างไร และหากข้อกระดูกเสื่อมจะมีลักษณะอย่างไร ส่วนการผ่าตัดเปลี่ยนเป็นข้อกระดูกเทียมนั้น ก็จะอธิบายว่ามีลักษณะอย่างไร มีการทำงานอย่างไร ให้ผู้เข้ามาเรียนรู้ได้เข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น

ฐานที่ 8 “ฉลากยาเพื่อคุณ” ฐานนี้จะอธิบายวิธีการกินยาที่ถูกต้อง เพราะในยามป่วยไข้จะต้องใช้ยาชนิดต่างๆ ในการรักษา และยังมีฉลากยาสำหรับผู้พิการทางสายตา หรือคนแก่ที่มองเห็นไม่ชัดนัก มาให้ทดลองสัมผัสและใช้งาน โดยฉลากยานี้ทำขึ้นเพื่อทดลองใช้ในโรงพยาบาลศิริราช วิธีการใช้คือการเจาะรูหรือเย็บแมกซ์ไว้ในช่วงเวลาและจำนวนของยาที่คนนั้นต้องใช้ เป็นการประยุกต์ใช้สิ่งของรอบๆ ตัวให้เป็นประโยชน์ ซึ่งฉันคิดว่าเหมาะมากสำหรับผู้พิการทางสายตา เพราะบางครั้งอาจจะไม่มีคนดูแลอยู่ด้วย ทำให้สามารถใช้ยาเองได้อย่างถูกต้อง
ไขข้อเทียม ไขข้อแท้ ต่างกันอย่างไร (ภาพจากพิพิธภัณฑ์สัมผัส)
เดินสัมผัสจนครบหมดทุกฐานแล้ว ฉันว่าที่นี่มีประโยชน์มากๆ สำหรับผู้พิการทางสายตา เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องการแพทย์ใกล้ตัว และการดูแลร่างกายตัวเองแล้ว เสียงบรรยายในแต่ละฐาน ยังสอดแทรกความรู้อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับตัวเองและผู้อื่นอีกด้วย
ฉลากยาสำหรับผู้ที่มองไม่เห็น
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *



“พิพิธภัณฑ์สัมผัส” ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ตึกอดุลยเดชวิกรม โรงพยาบาลศิริราช เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-17.00 น. ผู้เข้าชมควรติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า โทร. 0-2419-6918-9, 0-2419-2601
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น