สธ. ห่วงเด็กไทยสายตาสั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่า เหตุใช้สมาร์ทโฟนท่องเน็ตเพิ่มมากขึ้น ยาวนานขึ้น เฉลี่ยวันละ 7.2 ชั่วโมง แนะย่าเล่นนานเกิน 30 นาที พักสายตา 1-5 นาที ดื่มน้ำบ่อยๆ เพิ่มความชุ่มชื้นตา ระบุเร่งตั้งศูนย์เชี่ยวชาญโรคตา 12 เขตสุขภาพ คัดกรองผู้มีปัญหาสายตา ลดการตาบอดและโรคทางตา
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของ ต.ค. เป็นวันสายตาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 9 ต.ค. ซึ่งปัญหาสายตายังคงเป็นปัยหาที่น่าห่วง โดยองค์การอนามัยโลกรายงานพบประชากรโลกตาบอดปีละ 7 ล้านคน ส่วนประเทศไทย ข้อมูลสำรวจจากสำนักส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) เมื่อ ก.ย. 2557 พบว่า มีผู้พิการทางการมองเห็น 171,597 คน โดยต้อกระจก ต้อหิน โรคจอตา โรคที่ทำให้ตาบอดในเด็ก และโรคของกระจกตา เป็นสาเหตุทำให้ตาบอดมากที่สุด การแก้ไขป้องกันนั้น สธ. ได้เน้นการตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีความเสี่ยงเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และตาบอดสูงกว่าคนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่เลนส์ตาเสื่อมตามวัย นอกจากนี้ ได้กระจายศูนย์เชี่ยวชาญโรคทางตาประจำเขตสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ
ด้าน นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า ปัญหาสายตาที่น่าห่วงขณะนี้ คือ การใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ผลสำรวจล่าสุดคนไทยใช้มือถือประมาณ 41 ล้านคน ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 20 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 15 ล้านคน ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2557 ระบุว่า คนไทยใช้สมาร์ทโฟน เป็นเครื่องมือเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดร้อยละ 77 เฉลี่ยใช้วันละ 7.2 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ใช้เฉลี่ยวันละ 4.6 ชั่วโมง ชัดเจนว่าประชาชนใช้สายตาเพ่งข้อมูลในสมาร์ทโฟนยาวนานขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดสายตาผิดปกติเพิ่มขึ้น ทั้งสายตาสั้น ยาว และเอียง
“การเล่นคอมพิวเตอร์ในเด็กวัยประถม คืออายุต่ำกว่า 15 ปี เด็กจะใช้สายตามาก ทำให้สายตาสั้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งมีทั้งสั้นเทียม (สั้นชั่วคราว) และสั้นถาวร ซึ่งขณะนี้อัตราการเกิดสายตาสั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่า ซึ่งจะทำให้เด็กมีปัญหาในการเรียน มองตัวหนังสือบนกระดานไม่ชัด จดข้อมูลและเรียนไม่ทันเพื่อน และเบื่อหน่ายการเรียนในที่สุด นอกจากนี้ จะทำให้เกิดอาการปวดตา ปวดศีรษะโดยไม่รู้สาเหตุ ซึ่งเกิดเนื่องมาจากการเพ่งสายตา และส่งผลต่อการทำงานในบางอาชีพที่ต้องใช้สายตาในอนาคต เช่น นักบิน ตำรวจ ทหาร เป็นต้น” จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า กล่าว
นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวว่า ส่วนกลุ่มอายุเกิน 15 ปี จะไม่มีปัญหาสายตาสั้นเทียม แต่จะเกิดปัญหาเมื่อยล้า แสบตา ตาแห้ง มีอาการปวดศีรษะ หรือทำให้ไมเกรนกำเริบ หากเป็นผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยทำงาน ตามปกติสายตาจะเริ่มยาว หากใช้สายตามากกว่าปกติ จะเกิดอาการเมื่อยล้า ปวดตา ตาแดง แสบตามากขึ้น หากกลับไปบ้านและทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์อีก จะทำให้อาการเมื่อยล้ามากขึ้น และเกิดสะสม เวียนศีรษะ สำหรับวัยหลังเกษียณ การเล่นไลน์หรือคอมพิวเตอร์มาก จะมีอาการแสบตา ตาแห้ง ปวดตา อาการจะเป็นมากกว่าผู้ที่อายุน้อย เนื่องมาจากความเสื่อมการทำงานของอวัยวะที่เกิดตามวัย
“วิธีใช้เทคโนโลยีแบบถนอมสายตา คือ 1. หากมีปัญหาสายตา ควรเล่นไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง 2. ไม่ควรเล่นในห้องมืด ปรับความสว่างหน้าจอให้พอดีกับความสว่างของห้อง แสงไฟไม่ควรส่องจากด้านหลังเข้าหาจอ 3.ปรับความคมชัดของจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับ 70-80 เฮิรตซ์ หรือสูงสุดเท่าที่รู้สึกว่าสบายตา 4. ควรใช้ตัวหนังสือสีดำบนพื้นสีขาว ไม่ใช้พื้นสีเข้มตัวหนังสือสีขาวหรือสีอ่อน เพราะต้องเพ่งสายตาเพิ่มขึ้นหลายเท่า บางคนต้องหรี่ตาเพื่อลดแสงเข้าตา 5. ควรใช้แผ่นกรองแสงที่จอคอมพิวเตอร์ ทำความสะอาดไม่ให้มีฝุ่น เพื่อให้มองเห็นชัดเจน และนั่งเล่นในท่าที่ถูกต้อง ระยะห่างสายตาประมาณ 1-2 ฟุต ที่สำคัญไม่ควรใช้นานเกิน 25-30 นาที แล้วพักสายตาอย่างน้อย 1-5 นาที ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้น นอนหลับเป็นเวลา 7 ชั่วโมงเพื่อให้ประสาทตาได้พัก” นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดรุ่นพี่เทคโนฯสวนนันขอขมาอธิการบดี กรณีหยดน้ำตาเทียนใส่รุ่นน้อง ขณะที่ผลสอบวินัยสั่งลงโทษไม่ร้ายแรง ตักเตือน 23 คน ภาคทัณฑ์ 10 คน ตัดคะแนนความประพฤติอีก 10 คน