xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ : สำรวจตาหา “ต้อหิน” ด่วน!! ก่อนจะตาบอดไม่รู้ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคต้อหิน เป็นโรคของดวงตาที่พบได้ในประชากรทั่วโลก ไม่เว้นแม้ในประเทศที่เจริญแล้ว และยังเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของการเกิดตาบอดชนิดถาวรอีกด้วย จากการสำรวจพบว่า คนไทยมีโอกาสเป็นโรคต้อหินสูงกว่าชาวตะวันตก เช่น 1 ใน 6 ของประชากรที่อายุเกิน 50 ปี มีโอกาสเป็นต้อหินมุมปิด และโรคต้อหินเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้คนไทยตาบอด เนื่องจากผู้ป่วยโรคต้อหิน 9 ใน 10 ราย มักไม่มีอาการ ทำให้กว่าที่จะรู้ตัวและมาพบแพทย์ ประสาทตาก็ถูกทำลายไปแล้ว

ต้อหินเกิดจากภาวะความดันในลูกตาสูงกว่าปกติ เมื่อเส้นประสาทตาถูกกดทับเป็นเวลานานก็จะถูกทำลาย แล้วลานสายตาจะเสียและแคบลงเรื่อยๆ ทำให้สูญเสียการมองเห็น จนกระทั่งตาบอดสนิทไปในที่สุด

โรคนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามสาเหตุที่ทำให้ความดันลูกตาเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่

กรณีมีการผลิตน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตามากเกินไป ขณะที่การระบายน้ำหล่อเลี้ยงนั้นเป็นปกติ ไม่มีปัญหาอะไร เรียกว่า โรคต้อหินแบบมุมเปิด (Open-angle Glaucoma)

แต่ถ้าน้ำหล่อเลี้ยงนั้นไม่สามารถระบายออกได้อย่างที่ควรจะเป็น เรียกว่า โรคต้อหินแบบมุมปิด (Closed-angle Glaucoma)

อาการสัญญาณเตือน

1. ระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะเริ่มมองเห็นภาพเบลอๆ ไม่แจ่มกระจ่าง เห็นรายละเอียดของภาพไม่คมชัด อย่างไรก็ตาม จากอาการเพียงเท่านี้ยังยากจะบอกว่าเป็นโรคต้อหินหรือไม่ เพราะอาจเป็นแค่ตาเสื่อมตามธรรมดาก็ได้

- เราสามารถแก้ไขได้โดยใส่แว่นสายตาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เป็นแค่สายตาสั้นหรือสายตายาว แต่ถ้าใส่แว่นแล้วยังไม่สามารถโฟกัสภาพสิ่งที่อยู่ใกล้หรือไกลจากตัวเราได้ ก็แสดงว่านี่เป็นสัญญาณเตือนภัยว่า อาจมีปัญหาอื่นร่วมด้วย

2. คลื่นไส้และอาเจียนหรือเปล่า ถ้ามีอาการนี้ อย่าได้วางใจ เพราะบ่งบอกถึงโรคต้อหิน ความดันในลูกตาทำให้เราวิงเวียน ตามมาด้วยอาการคลื่นไส้ รู้สึกปั่นป่วนในท้อง อยากจะสำรอกอาหารและทุกสิ่งอย่างที่อยู่ข้างในออกมาให้หมดไส้หมดพุง ซึ่งไม่น่าสนุกเลย

- ไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการปวดหัวร่วมด้วย โรคนี้ยังอาจทำให้ร่างกายเกิดการสูญเสียน้ำ สถานการณ์ก็จะแย่ลงไปอีก

3. มองเห็นเป็นรัศมีสีรุ้งหรือไม่ แน่นอนว่าแสงสว่างช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ แต่แสงรัศมีนี้นอกจากไม่ช่วยแล้ว ยังค่อนข้างจะขัดขวางเสียอีก คือจะเห็นแสงสว่างเป็นวงรัศมีสีรุ้งเปล่งออกมารอบแหล่งกำเนิดแสง ลองคิดภาพว่าเรากำลังมองตรงเข้าไปที่ไฟหน้ารถ จะเห็นแสงอย่างนั้นเลย

- รัศมีนี้มักจะเกิดขึ้นในสภาพแสงสลัวหรือมืด ตามปกติตาเราจะเห็นแสงนี้ในที่สว่าง แต่ถ้าหากเป็นร่วมกับอาการอื่นๆ ของโรคต้อหิน ก็ตั้งข้อสงสัยถึงโรคนี้ได้

4. สังเกตดูว่าตาแดงมั้ย อาการตาแดงเป็นเพราะเส้นเลือดในลูกตาโป่งพอง เปลือกตา หรือส่วนของตาขาวจึงแดงขึ้นมา ในบางกรณีตาแดงไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล อาจเกิดจากอากาศแห้ง แสงแดดแรงเกินไป ฝุ่นละออง มีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา หรือเกิดจากการแพ้อะไรก็ได้

ตาแดงยังเป็นสัญญาณบอกว่า เกิดการอักเสบหรือบาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการปวดร่วมด้วย (หรืออาจแย่กว่านั้น ถ้ามองอะไรก็ไม่ชัดเจน) การเจ็บปวดจากโรคต้อหินเกิดจากความดันในตาสูงขึ้น ทำให้เส้นเลือดบวม

- ถ้ามีอาการเช่นนี้ ต้องดูแลรักษาทันที ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ไม่ใช่แค่สัญญาณเตือน แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคนี้แล้ว

5. ปวดตาบ่อยๆ ปวดในลูกตาจนเกือบจะทนไม่ไหว เหมือนมีใครมาทั้งบีบทั้งคั้นลูกตาแรงๆ จนแทบจะระเบิด อาการปวดตานี้ไม่ต้องรักษาก็หายไปเองได้ แต่ถึงอย่างไร ก็ยังต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพราะเป็นภาวะฉุกเฉินอีกเช่นกัน

- ถ้าปวดรุนแรงมาก แสดงว่าโรคต้อหินได้ดำเนินไปมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าปวดด้วยและสูญเสียการมองเห็นด้วย

6. โรคต้อหินแบบมุมเปิด นอกจากโรคต้อหินแบบมุมปิดตามที่ได้กล่าวถึงอาการไปแล้ว ยังมีโรคต้อหินแบบมุมเปิดอีกหนึ่งประเภท โรคต้อหินแบบมุมเปิดเป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป เป็นมากขึ้นอย่างช้าๆ ความดันในตาค่อยๆเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะไม่เจ็บปวด ไม่แสดงอาการใดๆให้เห็น อย่างน้อยๆก็ในตอนเพิ่งเริ่มเป็นโรค กล่าวคือเราจะไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นโรคต้อหิน จนกระทั่งเป็นโรคนี้แล้วจริงๆ และเป็นมากแล้วด้วย

โรคนี้เป็นได้กับดวงตาทั้งสองข้าง อาจจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งก่อน ความรุนแรงของโรคในแต่ละข้างอาจไม่เท่ากัน ถ้าเราไม่มีอาการข้างต้น แต่มีอาการข้อใดข้อหนึ่งข้างล่างนี้แม้เพียงข้อเดียว ก็บอกตัวเองได้เลยว่าเป็นต้อหินแบบเปิดแล้ว

- ให้สังเกตดูว่ามีจุดบอด (Blind spot) เกิดขึ้นไหม จุดนี้จะขัดขวางการมองเห็นตามปกติของเรา ตอนแรกๆอาจจะยังไม่รู้สึกว่ามี แต่พอประสาทตาถูกทำลายไปมากขึ้น จุดจะใหญ่ขึ้น เห็นชัดขึ้นว่ามีจุดนี้ วันใดที่ประสาทตาทำงานไม่ได้ ก็หมายความว่าจุดบอดนั้นขยายคลุมเต็มลานสายตาแล้ว หรือพูดง่ายๆว่า “ตาบอด” แล้ว

- สูญเสียการมองเห็นบริเวณรอบนอกของภาพหรือเปล่า ปกติโรคนี้จะทำให้ลานสายตาแคบลง สายตาสูญเสียทั้งการมองเห็นรอบนอกและด้านข้าง เริ่มจากบริเวณขอบข้างของลานสายตาโดยรอบก่อน คือมองเห็นได้ชัดเจนเฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น ส่วนด้านข้างจะเห็นเบลอๆมัวๆไม่ชัดเจน

ถ้าเป็นโรคนี้หนักขึ้น ลานสายตาจะค่อยๆแคบเข้ามาหาจุดศูนย์กลาง เวลามองอะไรก็เหมือนมองผ่านรูกระบอกหรือช่องอุโมงค์แคบๆตลอดเวลา จะมองอะไรรอบๆตัวก็มองได้ไม่ทั่ว ต้องคอยกลอกตา หรือหันหน้า หรือไม่ก็หมุนตัวไปมองเลย จึงจะช่วยให้เห็นได้ทั่ว หากปล่อยให้ลานตาเสียและแคบลงเรื่อยๆ ก็จะมืดทั้งหมดในที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค

1. ประวัติครอบครัวก็มีส่วน โรคต้อหินอาจเป็นมรดกตกทอด ถ้าคนใดคนหนึ่งในครอบครัวเป็นโรคนี้ คนอื่นก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นด้วย

- หากไม่แน่ใจ ควรไปตรวจกับจักษุแพทย์เป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แม้โรคนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็ควบคุมไม่ให้แย่ลงได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ชะลอไม่ให้รุนแรงเร็วนัก

2. อายุและเพศ เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปก็เริ่มมีความเสี่ยงแล้ว เพราะระบบในร่างกายบางส่วนจะอ่อนแอลง รวมถึงดวงตาด้วย (แต่หนุ่มสาวทั้งหลายก็อย่าชะล่าใจไป เพราะโรคต้อหินเกิดขึ้นได้กับทุกวัย) ปกติการตรวจคัดกรองโรคต้อหินจะเริ่มเมื่ออายุ 40 ปี

3. โรคเบาหวาน อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะภาวะของโรคเบาหวานเป็นตัวการอันดับหนึ่งที่ทำให้คนวัย 20-74 ปีต้องตาบอด เพราะระดับน้ำตาลในเลือดอาจทำให้เลนส์ตาบวม ซึ่งจะส่งผลต่อการมองเห็นด้วย

- ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไว้ที่ 70-130 ml/dL กรณีก่อนอาหาร หรือต้องให้ต่ำกว่า 180 ml/dL กรณีหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง ถ้าเกิดปัญหาการมองเห็นเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควรเข้าคอร์สควบคุมให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติต่อเนื่องนาน 3 เดือน หลังจากนั้นการมองเห็นจะดีขึ้น

4. มีสายตาผิดปกติ ทั้งสายตาสั้นและสายตายาว สาเหตุเกี่ยวข้องกับการระบายน้ำหล่อเลี้ยงในตาออก ซึ่งจะมีผลต่อระดับความดันต่อไปอีก ในคนไข้รายที่มีสายตาผิดปกติ จะมีโครงสร้างการระบายน้ำหล่อเลี้ยงในตาที่แคบกว่าคนไข้สายตาปกติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้สายตายาว) ทำให้ตาระบายน้ำหล่อเลี้ยงออกได้ไม่ดี การไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงก็เลยไม่ดีไปด้วย

5. ยาสเตียรอยด์หรือคอร์ติโซน ที่ผ่านมามีการใช้ยาพวกนี้กันเป็นปกติ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่ควรเลิกใช้ได้แล้ว เพราะจะทำให้เป็นต้อหิน

- ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เป็นเพราะยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาหยอดตา จะเพิ่มความดันในลูกตา ยิ่งมีความดันตาเพิ่มขึ้นเท่าไร ต้อหินก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นอีกเท่านั้น

6. ระวังอย่าให้ตาบาดเจ็บ หรือเป็นโรคตา หรือต้องผ่าตัดตา เพราะเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหินไปด้วย เนื่องจากเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างตา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำหล่อเลี้ยงออก ตัวอย่างที่เป็นปัญหาเหล่านี้ เช่น โรคตาอักเสบ เนื้องอกที่ตา และจอประสาทตาหลุดลอก อาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตาก็นำไปสู่โรคต้อหินเช่นกัน

ดังนั้น ต้องระวังรักษาดวงตาของเราไว้ให้ดี สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันไว้เสมอในเวลาที่จำเป็น ไปพบจักษุแพทย์ตามนัด และทำตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด ทั้งช่วงก่อนและหลังการผ่าตัด

ถ้ามีปัญหาใดๆเกี่ยวกับดวงตา ไปให้จักษุแพทย์ตรวจบ่อยขึ้น เพื่อให้ปัญหานั้นได้รับการวินิจฉัยดูแล ก่อนที่จะเกิดการสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดตลอดไป

การรักษาต้อหิน

โรคต้อหินทำให้สูญเสียการมองเห็นจากการที่ประสาทตาถูกทำลาย ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ ดังนั้น การรักษาโรคต้อหินจึงทำได้เพียงยับยั้งโรคไม่ให้ลุกลามหรือก่อความสูญเสียต่อการมองเห็นมากขึ้น แต่ไม่สามารถรักษาให้การมองเห็นที่เสียไปแล้วกลับมาปกติได้อีก

โดยทั่วไปแล้ว ถือว่าความดันตาเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคต้อหินมากที่สุด การรักษาโรคในปัจจุบันจึงยังคงมุ่งเน้นในการสร้างความสมดุลของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาและความดันตา ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือเกณฑ์ที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นต้อหินแบบใดก็ตาม

การรักษามี 3 วิธีหลัก แพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีรักษาที่ได้ผลดีและเหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป

1. การใช้ยา อาจเป็นยาหยอดตาหรือยารับประทาน หรือทั้งสองอย่าง จะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอตามเวลาที่กำหนด ยารับประทานบางชนิดและยาฉีดเข้าเส้นเลือด ซึ่งช่วยลดความดันในลูกตาได้เร็วนั้น มีผลข้างเคียงสูง แพทย์จึงใช้วิธีนี้ชั่วคราว

2. ใช้แสงเลเซอร์ ช่วยลดหรือทำให้สิ่งกีดขวางมุมตาหมดไป น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาก็จะระบายออกได้ตามปกติ ทำให้ความดันลูกตาลดลง

3. การผ่าตัด เมื่อแพทย์ประเมินว่า ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น หรือผู้ป่วยไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยา หรือไม่สามารถหยอดยาหรือติดตามการรักษาตามแพทย์สั่ง ก็จะเสนอให้รับการผ่าตัด เพื่อเปิดช่องระบายน้ำออกจากลูกตาใหม่ ทำให้ความดันลูกตาลดลง วิธีนี้ช่วยควบคุมโรคได้ดีในระยะยาว

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557 โดย วิรีย์พร)
ระยะเริ่มแรก
คลื่นไส้และอาเจียนหรือเปล่า
มองเห็นเป็นรัศมีสีรุ้งหรือไม่
สังเกตดูว่าตาแดงมั้ย
ปวดตาบ่อยๆ
โรคต้อหินแบบมุมเปิด
ประวัติครอบครัวก็มีส่วน
อายุและเพศ
โรคเบาหวาน
มีสายตาผิดปกติ
ยาสเตียรอยด์หรือคอร์ติโซน
ระวังอย่าให้ตาบาดเจ็บ หรือเป็นโรคตา หรือต้องผ่าตัดตา
กำลังโหลดความคิดเห็น