ป่าชายเลน ถือว่าเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งกำเนิดของพืชและสัตว์หลากชนิด ซึ่งหลายๆ อย่างก็ถูกนำมาเป็นอาหารของคน บางอย่างอาจถูกนำมาใช้สอยในด้านอื่นๆ แต่ที่เด่นชัดที่สุดก็คงจะเป็นอาหารจากป่าชายเลน ที่ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะมีเฉพาะในเขตป่าชายเลนเท่านั้น
อย่างล่าสุดนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำวัตถุดิบจากป่าชายเลน มาปรุงเป็นอาหารคาวหวานรวม 4 เมนู เพื่อเสิร์ฟในการประชุมคณะรัฐมนครี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา
เมนูแรก “ห่อหมกปลาใบชะคราม” ใช้ใบของ “ต้นชะคราม” หรือในบางแห่งอาจจะเรียกว่า “ชักคราม/ส่าคราม” เป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตอยู่ในบริเวณที่เป็นดินเค็ม ใบของชะครามจะดูดเอาเกลือที่อยู่ในดินมาเก็บไว้ จึงทำให้ใบชะครามมีรสชาติเค็ม และจะยิ่งเค็มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใบแก่ขึ้น (สังเกตใบแก่จะออกสีน้ำตาลแดงๆ ส่วนใบอ่อนจะเป็นสีเขียว) ฉะนั้นจึงต้องเลือกเก็บเฉพาะใบอ่อนๆ มาทำเป็นอาหารในเมนูต่างๆ
สำหรับเมนูห่อหมกปลาใบชะคราม ใช้เนื้อปลามาผสมกับกะทิ เครื่องแกงเผ็ด ไข่ไก่ และใบชะคราม ตักใส่ใบตองแล้วนึ่งให้สุก นอกจากความอร่อยของเนื้อปลาและความเข้มข้นหอมมันของกะทิกับเครื่องแกง ก็ยังได้รสชาติของชะครามด้วย ซึ่งตัวชะครามก็มีสารเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
เมนูที่สอง “ต้มกะทิผักหวานทะเลกุ้งสด” ใช้ผักหวานทะเลที่เจริญเติบโตบริเวณป่าชายเลยและชายฝั่ง ลักษณะจะคล้ายกับผักหวานบ้าน ซึ่งเมนูนี้นำมาต้มกับกะทิที่ปรุงรสด้วยกะปิ เกลือ และน้ำตาล ใส่กุ้งสดลงไป รสชาติแกงจะออกหอมมัน ส่วนตัวผักหวานทะเลมีสรรพคุณคือ หากใช้ใบและเปลือกนำมาต้ม จะใช้ลดอาการบวมเนื่องจากไตและหัวใจพิการ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เหน็บชา
เมนูที่สาม “ลูกจากลอยแก้ว” ใช้ลูกจากต้นจากที่ขึ้นอยู่บริเวณป่าชายเลนเช่นกัน ต้นจากนี้ ส่วนใบสามารถนำมามุงหลังคา หรือนำมาห่อขนมจากได้ ส่วนลูกจากนั้นหากชิมสดๆ รสชาติจะหวานนิดๆ เนื้อฉ่ำน้ำ เมนูนี้นำลูกจากมาต้มจนสุก แล้วใส่น้ำเชื่อมลงไป หรืออาจะเติมน้ำแข็งลงไปด้วยเวลากินจะได้เย็นสดชื่น สำหรับต้นจากนั้น ส่วนใบมีรสฝาดแก้ลมจรต่างๆ ขับเสมหะ และดับพิษทั้งปวง
เมนูที่สี่ “น้ำลูกลำแพน” ลูกลำแพนมาจากต้นลำแพนที่ขึ้นอยู่บริเวณป่าชายเลน หรือพื้นที่ที่ดินมีความเค็ม และน้ำท่วมถึงเป็นครั้งคราว ลูกลำแพนจะมีรสออกเปรี้ยว สามารถนำมาใช้แทนมะม่วงเปรี้ยวได้ ส่วนการทำน้ำลูกลำแพน ต้องนำลูกลำแพนมาปั่นกับน้ำเปล่าจนละเอียด กรองเอาแต่น้ำ นำไปต้มให้เดือดแล้วปรุงรสใส่น้ำตาลและเกลือ ซึ่งลูกลำแพนเองก็มีสรรคุณทางยา หากตำลูกลำแพนให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณที่ปวด จะช่วยลดอาการปวด ลดบวม เคล็ดขัดยอก หรือนำลูกลำแพนมาตำแล้วคั้นน้ำดื่ม และช่วยขับพยาธิ แก้ท้องผูก
หากอยากลองชิม 4 เมนูจากป่าชายเลน สามารถทดลองทำได้ เพราะทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีการเผยแพร่สูตรทั้ง 4 เมนู ผ่านทางเพจของกรมฯ ด้วย (Facebook : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com