xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยว“อู่ทอง” ท่องสวนหินโบราณ...ปั่นจักรยานไหว้ผี สัมผัสวิถี “ลาวครั่ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศยามเย็น
หากอยากจะออกไปพักผ่อน สูดอากาศบริสุทธิ์ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยมักนึกถึงทะเลมาเป็นอันดับต้นๆ แต่สำหรับ “ตะลอนเที่ยว” แล้ว ขอเลือกแตกต่างจากคนอื่นเสียหน่อย เพราะคราวนี้เราเลือกมากันที่ “อู่ทอง” จังหวัดสุพรรณบุรี

อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี นั้น เรียกได้ว่าตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก สามารถขับรถมาเองได้โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว มาที่นี่หลายคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่าจะมาเที่ยวดูอะไร มีอะไรให้เที่ยวด้วยเหรอ? วันนี้ “ตะลอนเที่ยว” ก็ขออาสาเป็นไกด์นำเที่ยว ที่จะพาทุกคนไปสัมผัสอู่ทองในแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน
ไหว้พระขอพร
แต่ก่อนจะไปเที่ยวกันนั้น เราก็ต้องแนะนำให้รู้กันก่อนว่า อ.อู่ทอง นั้น จัดอยู่ในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (ครอบคลุมตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง โดยมีพื้นที่อยู่ใน 2 เทศบาล คือเทศบาลตำบลอู่ทอง และเทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง) ที่องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จัดให้เมืองนี้เป็นต้นแบบของการเรียนรู้ที่มีชีวิต เป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ เคยเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญ อีกทั้งยังมีวิถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่น่าสนใจ
ต้นจันผาต้นใหญ่
เมื่อทราบถึงที่มากันไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะได้ออกตะลอนเที่ยวกันเสียที เมื่อพร้อมแล้วอย่ารอช้าคว้ากล้องคู่ใจตามมากันได้เลย เริ่มต้นที่ “พุหางนาค” สวนหินธรรมชาติที่มีอายุกว่า 1,000 ปี ตั้งอยู่ในวนอุทยานพุม่วงและศูนย์ประสานงานป่าไม้สุพรรณบุรี (อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาตะโกปิดทองและป่าเขาเพชรน้อย) ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงธรรมชาติ และเชิงโบราณคดีที่มีความเก่าแก่ ภายในมีป่าไม้และสวนหินดึกดำบรรพ์อายุนับ 1,000 ปี นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้หายากอย่าง “จันทร์ผา” หรือ “จันผา” ขึ้นอยู่ที่นี่ด้วย

โดยนายชัด ชาวสวน ประธานชมรมอาสาสมัครนำเที่ยวพุหางนาค ซึ่งเป็นไกด์นำเที่ยวพุหางนาคของเราบอกว่า พุหางนาคตั้งชื่อตามลักษณะของหินจุดหนึ่ง ที่มีลักษณะคล้ายเศียรนาค กอปรกับในช่วงหน้าฝนจะมีพุน้ำเกิดขึ้นไหลเป็นน้ำตกสายเล็กๆ จากยอดเขาลงมาด้านล่าง ทำให้ชาวบ้านตั้งชื่อที่นี่ว่า “สวนหินพุหางนาค” นั่นเอง
หินหน้าลิง
ส่วนใครที่อยากจะมาเดินเที่ยวพุหางนาคต้องบอกกันก่อนว่า จำเป็นต้องมีผู้นำทาง เพราะหากเข้ามาเดินด้วยตัวเองนั้น อาจทำให้หลงป่าหินได้ เนื่องจากที่นี่เป็นป่าหินค่อนข้างกว้าง และมีเส้นทางเดินหลายเส้นทาง ซึ่งเส้นทางท่องเที่ยวของที่นี่แบ่งออกเป็น 3 โซนด้วยกัน คือ 1.โซนพื้นที่ด้านล่าง 2.โซนพื้นที่ด้านบนเดินชมทัศนียภาพโดยรอบ และ 3.โซนพื้นที่บนยอดเขาเพื่อชมหน้าผาและเจดีย์โบราณบนยอดเขา มีโบราณสถานสมัยทวารวดีอยู่บนยอดเขาซึ่งต้องปีนเขาขึ้นไปชม

โซนที่ “ตะลอนเที่ยว” เลือกเดินในวันนี้เป็นโซนที่ 2 เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เดินง่ายและใช้เวลาไม่นาน เมื่อเดินเข้ามาสิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้คือความร่มรื่น เนื่องจากที่นี่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่มากมาย ทำให้เดินได้รู้สึกไม่เหนื่อยนัก เดินขึ้นมาได้ไม่นานเราก็มาพบกับ “พระใหญ่” เป็นพระที่อดีตเจ้าอาวาสเป็นคนสร้างไว้
หินที่มีลักษณะเหมือนลายไม้
ประธานชมรมอาสาสมัครนำเที่ยวฯ เล่าให้ฟังถึงที่มาของการสร้างพระใหญ่ว่า “อดีตเจ้าอาวาสท่านได้พบวิญญาณที่ไม่สามารถออกจากพื้นที่บริเวณนี้ได้ จึงสนทนากับดวงวิญญาณว่าควรจะทำการเช่นไรจึงจะช่วยดวงวิญญาณได้ ดวงวิญญาณคนโบราณบอกว่า ขอให้พระคุณเจ้าช่วยสร้างพระขึ้นมาและอธิษฐานจิตอุทิศให้ดวงวิญญาณ ต่อมาเมื่อสร้างพระเสร็จ ดวงวิญญาณดังกล่าวได้มาเข้าฝันเพื่อขอบคุณพระคุณเจ้า และได้จากไปโดยไม่หวนกลับมาอีก”
ทัศนียภาพด้านบน
เมื่อกราบพระกันเสร็จแล้ว เดินต่อไปจะพบกับหินรูปวานร ตรงจุดนี้ต้องเดินผ่านไปก่อน แล้วค่อยหันมามอง เมื่อหันมามองจะพบกับหินที่มีลักษณะหน้าตาคล้ายวานร ถัดไปเป็นประตูเมืองลับแล เป็นหินสองข้างขนาบกัน มีเพียงช่องเล็กๆ ที่สามารถเดินผ่านไปได้เท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเดินต่อไปเรื่อยๆ จะพบหินรูปร่างต่างๆ มากมาย อาทิ หินรูปหัวใจ หินรูปช้างสามเศียร หินรูปลายหัวนาค เป็นต้น

นอกจากหินรูปร่างต่างๆ ที่ได้พบแล้ว ตลอดสองข้างทางเราจะพบกับพรรณไม้ต่างๆ มากมาย และต้นไม้ที่เป็นจุดเด่นของที่นี่ก็คือ “ต้นจันทร์ผา” ต้นใหญ่ ที่ขึ้นตระหง่านอยู่ริมเขา ข้างๆ กันกับต้นจันทร์ผา เป็นจุดชมทัศนียภาพเบื้องล่าง มองไปจะสามารถมองเห็นเมืองอู่ทองอยู่เบื้องล่างอย่างสวยงาม เดินไปเรื่อยๆ ชมวิวข้างทางไปบ้าง ไม่นานพี่ชัดก็พาเราลงมายังจุดเดิมที่ขึ้นมา เป็นอันจบการเดินเที่ยวพุหางนาค หากใครมีเวลา ก็สามารถเลือกเดินเส้นทางที่แตกต่างจากตะเลอนเที่ยวได้ เพราะจะได้สัมผัสกับธรรมชาติที่หลากหลาย แตกต่างกันออกไป
จักรยานโบราณ
เสร็จจากพุหางนาค เรามุ่งหน้าไปกันที่ “บ้านโคก” ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สำหรับที่นี่เรียกได้ว่ายังเป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านที่นี่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ “ลาวครั่ง” บ้างก็เรียกว่า “ลาวเต่าเหลือง” เพราะนิสัยของชาวลาวครั่งชอบอยู่ตามป่าเขาซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเต่าภูเขาชนิดหนึ่งที่มีกระดองสีเหลือง

นางอำพร ลีสุขสาม หรือ ผู้ใหญ่เงาะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 เล่าให้ฟังว่า “ลาวครั่ง” คือชาวลาวที่มาจากแถบ “ภูคัง” (เทือกเขาแถบหลวงพระบาง) ในประเทศลาว (สปป.ลาว) จนทำให้เรียกกันว่า “ลาวภูคัง” ก่อนที่จะเพี้ยนเป็น “ลาวครั่ง” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวลาวกลุ่มใหญ่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสยาม โดยกระจายตัวอยู่ในเขตภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคเหนือ พอถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวลาวครั่งที่อยู่ในนครปฐมได้อพยพขึ้นเหนือมาตั้งรกรากอยู่ที่อำเภออู่ทองในปัจจุบัน จึงเป็นชาวลาวครั่งแห่งบ้านโคกในปัจจุบัน
ผู้ใหญ่เงาะกับจักรยานโบราณ
ผู้ใหญ่เงาะบอกต่อว่า วิถีชีวิตของชาวลาวครั่งที่นี่คือการทำเกษตรกรรม ทำสวน ทำนา ดังนั้นทุกบ้านจึงมีจักรยานเพื่อใช้บรรทุกผลผลิตจากไร่จากสวนไปขาย ซึ่งจักรยานที่มีนั้นก็เป็นจักรยานโบราณ เนื่องจากเป็นจักรยานที่มีขนาดใหญ่ มีที่นั่งท้ายที่กว้างซึ่งสามารถใช้บรรทุกของได้ เวลาขนผักไปขายก็สามารถขนได้ทีละมากๆ อย่างบางคันสามารถบรรทุกได้ถึง 100 กิโลกรัมเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าทางการคมนาคมมากขึ้น แต่ชาวบ้านที่นี่ก็ยังคงอนุรักษ์จักรยานโบราณเอาไว้ โดยมีการก่อตั้ง “ชมรมจักรยานโบราณบ้านโคก” ขึ้น เป็นการรวมกลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านให้หันมาปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ชาวบ้านยังตกแต่งจักรยานไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้มาเช่าขี่ในบ้านโคกอีกด้วย
ปั่นจักรยานโบราณเที่ยวรอบหมู่บ้าน
มาถึงที่ทั้งที “ตะลอนเที่ยว” ก็ไม่พลาดที่จะปั่นจักรยานโบราณเที่ยวแน่นอน แต่ก่อนที่จะปั่นจักรยานนั้น เราต้องบอกก่อนว่าจักรยานโบราณที่นี่คันค่อนข้างใหญ่ และสูง ดังนั้นการขึ้นจักรยานก็ต้องมีวิธีขึ้นที่แตกต่างจากจักรยานปกติทั่วไป ซึ่งผู้ใหญ่เงาะสอนการขึ้นจักรยานโบราณว่าให้นำขาด้านซ้ายเหยียบกระไดปั่นด้านซ้ายเอาไว้ แล้วใช้ขาขวาค่อยๆ ดันตัวเองและจักรยานเลื่อนไปด้านหน้า เมื่อไปได้ 2-3 ก้าว ก็ให้ยกขาขวาข้ามอานจักรยาน จากนั้นจึงนั่งลงและทำการปั่น เมื่อทรงตัวได้แล้วเรามุ่งหน้าปั่นไปรอบๆ หมู่บ้าน ชมบ้านเรือนไม้เก่าแก่ของชาวบ้าน ผ่านไร่นาสีเขียวของชาวบ้าน ให้บรรยากาศท้องทุ่งเป็นธรรมชาติสุดๆ
หอเจ้านายศูนย์รวมจิตใจของชาวลาวครั่ง
โดยจุดแรกที่พวกเราไปแวะก็คือ “บ้านเก่า 3 หลัง” ซึ่งเป็นบ้านเรือนไม้หลังใหญ่อายุหลายสิบปี (หรืออาจถึง 100 ปี) จำนวน 3 หลังสร้างอยู่ใกล้ๆ กันด้วยรูปแบบบ้านดั้งเดิมของชาวชุมชนบ้านโคก จากนั้นผู้ใหญ่เงาะก็พาปั่นต่อไปที่ “หอเจ้านาย” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญประจำหมู่บ้าน

ชาวลาวครั่ง เป็นชนเผ่าที่นับถือ “ผี” โดยผีที่ชาวบ้านโคกนับถือมี 2 แบบ คือ ผีเทวดา และผีเจ้านาย ซึ่งผีเทวดาในที่นี้คือ รุกขเทวดา ที่เคยคุ้มครองบ้านเมืองตั้งแต่สมัยอยู่หลวงพระบาง ส่วนผีเจ้านาย คือผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าเป็น “ผีดี” ที่คอยปกปักรักษาหมู่บ้านและชาวบ้าน โดยผีเจ้านายจะสถิตอยู่ที่ “หอเจ้านาย”
ศาลเจ้าพ่อแจง-เจ้าแม่แจง ที่นับถือของชาวบ้าน
สำหรับการจะเข้าไปในหอเจ้านายนั้น ไม่ใช่ว่าใครมาถึงจะสามารถเข้าไปได้ การเข้าไปนั้นต้องได้รับอนุญาตจาก “เจ้าพ่อ (กวน)” (กวนทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมต่อทางจิตวิญญาณกับผีเจ้านาย รวมถึงเป็นผู้นำทางความเชื่อและเป็นหัวหน้าในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผีเจ้านาย) หอเจ้านาย มีลักษณะเป็นลานกว้างโล่งที่ด้านหน้า ด้านในมีต้นไม้ใหญ่ตั้งตระหง่าน ถัดไปเป็นศาลเพียงตาขนาดย่อมจำนวน 7 หลังตั้งเรียงกันแบบแถวหน้ากระดาน ให้เป็นบรรยากาศที่ดูแล้วช่างขรึมขลังยิ่งนัก

“หอเจ้านายเปรียบเสมือนหลักเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านโคก เมื่อถึงฤดูทำไร่ทำนา ชาวบ้านจะมาขอผีเจ้านายให้ทำการเพาะปลูกได้ดี ลูกหลานใครเจ็บไข้ พ่อแม่ก็จะมาบนบานขอให้ผีเจ้านายช่วยรักษา หอเจ้านายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวกำกับจิตใจของคนในหมู่บ้าน ให้ทำแต่ความดี ใครทำไม่ดี ผิดจารีต ผิดวิถี หรือเรียกว่า “ผิดผี” ต้องมาสารภาพต่อหน้าเจ้าพ่อ พร้อมแก้บนขอขมา” ผู้ใหญ่บ้านกล่าว
ด้านบนบ้านของชาวลาวครั่ง
เมื่อกราบไหว้ผีเจ้านายกันเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาไปปั่นจักรยานกันต่อ แต่ก่อนไป ชาวบ้านโคกได้เตรียมอาหารไว้ให้เรากินระหว่างทาง ซึ่งเป็น “ข้าวเหนียวหัวหงอก” เป็นข้าวเหนียวคลุกมะพร้าวใส่เกลือนิดหน่อย รสกลมกล่อมเค็มๆ มันๆ กับ “ข้าวเหนียวปลาทอด” หากใครมาปั่นจักรยานที่นี่ต้องได้กินข้าวเหนียวปลาทอด แวะพักข้างทางชมทุ่งนา จกข้าวเหนียวปลาทอดกินเพลินๆ ให้บรรยากาศที่ดีนักล่ะ
ข้าวเหนียวปลาทอดรสอร่อย
เสร็จจากนั้นก็ปั่นชิลๆ ใกล้เวลาพระอาทิตย์ตก ก็ไปแวะข้างทุ่งนา รอชมอาทิตย์ลับขอบฟ้า แสงอาทิตย์สีส้มสาดส่องท้องทุ่งนา ตัดกับต้นข้าวสีเขียวอ่อนสะท้อนน้ำในทุ่งนา เป็นบรรยากาศที่ยากจะพบเห็นได้ที่ไหน

มาสุพรรณฯ คราวนี้นอกจากจะได้มาเที่ยวพุหางนาคดูสวนหิน พรรณไม้หายากแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ยังมารู้จักกับชาวลาวครั่ง สัมผัสวิถีชีวิตชาวลาวครั่ง ความเชื่อ และธรรมชาติที่บ้านโคก เรียกได้ว่าออกนอกกรุงเทพฯ คราวนี้ได้ความประทับใจกลับไปเต็มกระเป๋าทีเดียว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ผู้สนใจมาเที่ยวพุหางนาค สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายชัด ชาวสวน ประธานชมรมอาสาสมัครนำเที่ยวพุหางนาค โทร.08-7759-7634 หรือนายชัชวาล เอี่ยมตาก หัวหน้าวนอุทยานพุม่วง โทร.08-9948-3018

ผู้สนใจอยากร่วมปั่นกับชาวบ้านโคกสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ ผู้ใหญ่เงาะ โทร.08-4457-7271

สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองได้ที่องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โทร.08-4163-7599
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น