xs
xsm
sm
md
lg

“ร้อยเอ็ด” เมืองศักดิ์สิทธิ์ตามรอยธรรม 5 วัดดัง เส้นทางบุญสาเกตนคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสาหินโบราณ
“ร้อยเอ็ด” เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ที่มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน ดังที่ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานพระอุรังคธาตุ (ตำนานการก่อสร้างพระธาตุในแถบภาคอีสานตอนบน) ที่ปรากฏเมืองร้อยเอ็ดอยู่ในนาม “สาเกตนคร” ที่ถูกบรรยายไว้ว่ามีเมืองขึ้น 11 เมือง มีประตูทางเข้าเมือง 11 ประตู ถือว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก

จวบจนถึงปัจจุบัน ก็ยังเห็นร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในพื้นที่เมืองร้อยเอ็ด ด้วยยังมีวัดวาอารามมากมาย และประชาชนก็ยังคงเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนา จนทำให้ร้อยเอ็ดกลายเป็นอีกหนึ่งเส้นทางบุญในแถบภาคอีสานที่นิยมมาทำบุญกัน
พระธาตุยาคู ภายในวัดเหนือ
สำหรับวัดชื่อดังในเมืองร้อยเอ็ดที่พุทธศาสนิกชนนิยมมาไหว้พระทำบุญกันก็มีอยู่หลายวัด ซึ่งทางผู้บริหารจังหวัดร้อยเอ็ดได้คัดสรรวัดเด่นดังจำนวน 5 วัด มาเป็นทางเลือกหลักในเส้นทางทัวร์บุญสาเกตนคร

เริ่มจากวัดแรก “วัดเหนือ” ที่ถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดร้อยเอ็ด ตามคำกล่าวที่ว่า “วัดเหนือพร้อมบ้าน วัดกลางพร้อมเมือง” อันแสดงให้เห็นว่า วัดเหนือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวบ้านมาตั้งแต่โบราณแล้ว

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการสร้างวัดที่เก่าแก่ นั่นก็คือ “เสาหินโบราณ” ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัด เสาหินต้นนี้สร้างขึ้นจากหินศิลาแลง รูปทรงแปดเหลี่ยม บริเวณยอดเสามีลักษณะกลม มีการจารึกอักษรปัลละวะของอินเดียตอนใต้ ในสมัยทวารวดี โดยนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเสาหินต้นนี้อาจเป็นหลักเขตเมืองหรือเขตพุทธสถานมาก่อน
พระอุโบสถ วัดกลางมิ่งเมือง
ส่วนภายในวัดเหนือ ก็ยังมี “สิม” หรือโบสถ์อีสาน ที่ได้รับอิทธิพลจากล้านช้าง เป็นสิมมหาอุต ลักษณะเตี้ย กว้าง หน้าต่างปิดตาย สิมแห่งนี้ยังมีข้อห้ามไม่ให้เพศหญิงเข้าไปภายในตามคติความเชื่อเดิม โดยรอบสิมขุดพบใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดี อายุประมาณ 1,200 ปี กรมศิลปากรทำการขุดขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อทำการบูรณะ จากนั้นก็ยกตั้งไว้บนผิวดินในบริเวณเดิม

ด้านหลังสิมมีเจดีย์โบราณ หรืออาจเรียกว่าสถูปทรงบัวเหลี่ยม อายุราว 1,300 ปี สถูปนี้เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าอาวาสในสมัยนั้น จึงเรียกกันว่า “พระธาตุยาคู” (ยาคู ในภาษาอีสาน เทียบได้กับตำแหน่งเจ้าอาวาส) จากการสำรวจพบว่าสถูปนี้ชั้นในก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ในสมัยทวารวดี ชั้นนอกเคยบูรณะด้วยอิฐสมัยอยุธยา
พระพุทธมิ่งเมืองมงคล พระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด
จากวัดเหนือพร้อมบ้าน มาสู่วัดกลางพร้อมเมือง หรือ “วัดกลางมิ่งเมือง” ซึ่งถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ในเมืองร้อยเอ็ดเช่นกัน ตัววัดคาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา สำหรับพระอุโบสถนั้นเป็นศิลปะแบบล้านช้าง ด้านหน้ามีรังผึ้งขนาดใหญ่ สลักลายเครือเถาและดอกพุดตานอย่างงดงาม ส่วนฝาผนังด้านนอกพระอุโบสถมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบอีสาน (ฮูปแต้ม) เล่าเรื่องราวพุทธประวัติและทศชาดก

ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธมิ่งเมืองมงคล” พระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อสัมฤทธิ์ สร้างขึ้นโดยพระขัติยะวงษา (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนที่ 2
พระเจ้าใหญ่ หรือ พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี
หลังจากสักการะพระพุทธรูปประจำจังหวัดแล้ว ก็มาสักการะพระพุทธรูปยืนองค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยที่ “วัดบูรพาภิราม” ที่ตั้งอยู่ในเมืองร้อยเอ็ดเช่นเดียวกัน วัดแห่งนี้เดิมชื่อ วัดหัวรอ เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นเป็นที่นัดพบและพักแรมของพ่อค้าที่จะออกเดินทางไปค้าขายยังต่างเมือง ต่อมาในภายหลัง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบูรพาภิราม เนื่องจากตัววัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด
พระเจดีย์หิน วัดป่ากุง
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดก็คือ “พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “พระเจ้าใหญ่” ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปยืนที่สูงที่สุดในประเทศไทย โดยองค์พระมีความสูง 118 ศอก (59.20 เมตร) และมีความสูงทั้งหมด (รวมฐาน) 135 ศอก (67.85 เมตร) ซึ่งเดิมเมื่อแรกสร้างนั้น ตั้งใจจะให้องค์พระมีความสูง 101 ศอก แต่ด้วยฝีมือของช่างพื้นบ้าน ทำให้ไม่สามารถกำหนดความสูงขององค์พระได้แน่นอน จึงสร้างองค์พระได้สูงเกินกว่าที่กำหนด

ชาวร้อยเอ็ดเชื่อว่า พระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่คอยปกป้องคุ้มครอง ให้มีชีวิตอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข และด้วยความสูงของพระองค์ทำให้มีความเชื่อว่า หากได้มากราบไหว้ จะได้อานิสงส์สูงเทียมเมฆเทียมฟ้า จะทำการสิ่งใดก็สำเร็จด้วยประการทั้งปวง
แต่ละชั้นเป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำ
หลังจากไหว้พระในเมืองกันเสร็จแล้ว ก็เดินทางออกมานอกเมืองเล็กน้อย มาที่ อ.ศรีสมเด็จ มาชม “พระเจดีย์หิน” หรือ “บุโรพุทโธจำลอง” (Borobudur-โบโรบูดูร์ หรือ บรมพุทโธ) ที่ “วัดป่ากุง” โดยเจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นจากคำปรารภของหลวงปู่ศรี มหาวีโร (พระเทพวิสุทธิมงคล) พระเกจิชื่อดังของจังหวัดร้อยเอ็ด

หลวงปู่ต้องการให้ก่อสร้างเจดีย์ด้วยหินทรายธรรมชาติ แต่นำมาประยุกต์ให้มีความเหมาะสมกับสถานที่ ผสมผสานกับความเป็นไทยและลักษณะภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยให้มีรูปทรงคล้ายกับเจดีย์บุโรพุทโธ แต่ภายในมีพื้นที่สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ

ด้านนอกขององค์เจดีย์แบ่งออกเป็น 7 ชั้น แต่ละชั้นมีภาพแกะสลักหินทรายนูนต่ำที่สวยงาม โดยแบ่งออกได้ดังนี้ ชั้นที่ 1 เล่าเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก ชั้นที่ 2 และ 3 เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชั้นที่ 4 ภาพพระพุทธชัยมงคล ประกอบด้วย พระคาถา คำแปลภาพ และตำนาน ชั้นที่ 5 ภาพสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ชั้นที่ 6 เป็นเจดีย์องค์ประธานและเจดีย์ราย 8 องค์ และชั้นที่ 7 ยอดเจดีย์ทองคำ น้ำหนัก 101 บาท

ที่วัดป่ากุงแห่งนี้ นอกจากจะมาชมพระเจดีย์หิน หรือบุโรพุทโธจำลองแล้ว ก็ยังสามารถมานั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรมในบริเวณวัดที่มีพื้นที่กว้างขวาง ร่มรื่น และเงียบสงบ
พระมหาเจดีย์ชัยมงคล
จาก อ.ศรีสมเด็จ เดินทางต่อมายัง ต.ผาน้ำย้อย อ.หนองพอก มาชมความสวยงามและยิ่งใหญ่อลังการของ “พระมหาเจดีย์ชัยมงคล” ที่สร้างขึ้นจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชน วัตถุประสงค์ในการสร้างก็เพื่อเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า รวมทั้งอัฐิธาตุของเกจิอาจารย์ชื่อดังสายอีสาน และยังเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

พระมหาเจดีย์ชัยมงคลเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ มีความกว้าง 101 เมตร ยาว 101 เมตร สูง 109 เมตร ซึ่งขนาดนั้นมีความสอดคล้องกับชื่อจังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนความสูง 109 เมตร เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยส่วนยอดของเจดีย์ 9 ชั้นเป็นยอดเศวตฉัตรทองคำแท้หนัก 60 กิโลกรัม

ศิลปะการสร้างองค์เจดีย์ เป็นศิลปะร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน (พระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม) โดยเน้นแนววิจิตรศิลปะอีสานเป็นหลัก ลักษณะเป็นรูปทรง 8 เหลี่ยม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็ก 8 องค์ ด้านในแบ่งออกเป็น 6 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นชั้นอเนกประสงค์ มีรูปหล่อขนาดใหญ่ของหลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นพระประธาน
รูปหล่อหลวงปู่ศรี มหาวีโร
ชั้นที่ 2 เป็นชั้นสำหรับประชุมสงฆ์ (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) ชั้นที่ 3 เป็นชั้นพระอุโบสถ ชั้นที่ 4 เป็นจุดชมวิว ชั้นที่ 5 เป็นพิพิธภัณฑ์ และชั้นที่ 6 เป็นชั้นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา

สำหรับด้านนอกองค์เจดีย์ยังมีวิหารคดล้อมรอบ ภายในประดิษฐานพระสาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 500 องค์ มีกุฏิหลวงปู่ศรี มหาวีโร ที่เคยใช้เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ แล้วก็ยังมีเจดีย์บุโรพุทธจำลองที่สร้างจากหินภูเขาไฟ

เส้นทางทำบุญใน จ.ร้อยเอ็ด นั้นยังมีอีกหลายวัดที่น่าสนใจ ซึ่งนอกจากจะเป็นเส้นทางทำบุญแล้ว ร้อยเอ็ดก็ยังเป็นเมืองประวัติศาสตร์ และเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ ทำให้เมืองร้อยเอ็ดกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมอีกหนึ่งแห่งในภาคอีสาน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น