xs
xsm
sm
md
lg

“กุยบุรี” ซาฟารีเมืองไทย เปิดอีกครั้งหลังประสบปัญหากระทิงตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กุยบุรีจุดชมกระทิงที่เห็นได้ชัดเจนและมีจำนวนมากในอันดับต้นๆ ของเมืองไทย (ภาพจากแฟ้ม)
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เปิดให้เที่ยวอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังปิดอุทยานฯ ชั่วคราว เนื่องจากปัญหากระทิงตายตั้งแต่ปลายปี 2556 โดยวันแรกของการเปิด (15 ก.ย.) เป็นไปอย่างคึกคัก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวอย่างหนาตา

หลังเกิดปัญหาพบกระทิงล้มตายเป็นจำนวน 16 ตัว ในพื้นที่โครงการพระราชดำริฟื้นฟูป่ากุยบุรี ทำให้ทางอุทานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้องสั่งปิดอุทยานฯ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 ล่าสุดสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงมีคำสั่งให้ทำการเปิดอุทยานแห่งชาติกุยบุรีแล้ว โดยนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ประกาศกรมอุทยานฯ เรื่อง เปิดการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า

ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีประกาศฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ปิดการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อแก้ปัญหากรณีเกิดเหตุการณ์พบกระทิงตาย จำนวน 16 ตัว ในบริเวณพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และพื้นที่อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริฟื้นฟูป่ากุยบุรี ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2556 นั้น บัดนี้สถานการณ์ได้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงเปิดการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2557 เป็นต้นไป
ปัญหากระทิงตายเมื่อปลายปี 56 ทำให้ อช.กุยบุรีต้องปิดอุทยานชั่วคราว
ด้าน นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เปิดเผยว่า อุทยานกุยบุรีกำลังพัฒนาสถานที่เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มากางเต็นท์นอนเพิ่มขึ้นอีก 1 ที่ ซึ่งอยู่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำสำโหรง บ้านรวมไทย หมู่ 7 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี ใกล้จุดดูช้าง ซึ่งจากเดิมมีลานกางเต็นท์ที่สนามหญ้าหน้าที่ทำการอุทยานกุยบุรี โดยอยู่ห่างจากสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจะไปดูช้างเกือบ 10 กม. สถานที่แห่งใหม่นี้นอกจากจะอยู่ไม่ไกลจุดเข้าชมช้างแล้ว ยังมีบรรยากาศร่มรื่น มองเห็นทุ่งหญ้าเขียวขจี มองเห็นป่าและน้ำในอ่างเก็บน้ำสำโหรง มีธรรมชาติที่สมบูรณ์

นอกจากนี้หัวหน้าอุทยานกุยบุรี ยังกล่าวอีกว่า ทางอุทยานฯ มีข้อกำหนดเรื่องยานพาหนะที่จะเข้าไปชมช้างและสัตว์ป่า ซึ่งจะไม่อนุญาตให้นำรถส่วนตัวเข้าไป ยกเว้นจะได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้จะมีรถของชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คอยให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่ที่จุดตรวจห้วยลึก ซึ่งชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นั้น สมาชิกทั้งหมดเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าทั้งสิ้น ดังนั้นการกำหนดให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการรถนำเที่ยวของชมรมก็เพื่อคืน กำไร และเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างและสัตว์ป่า เพื่อให้คนกับสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันนั่นเอง

สำหรับในวันแรกของการเปิดให้เที่ยวในอุทยานฯ กุยบุรี นายประวัติศาสตร์เปิดเผยว่า ในวัน ที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมอย่างหนาตา หลังจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สั่งปิดพื้นที่นานกว่า 8 เดือน ทำให้ขณะนี้พื้นที่ป่าได้รับการฟื้นฟูให้มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงามมาก

ทั้งนี้อุทยานฯ กุยบุรีเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมโขลงช้างป่าและกระทิงตั้งแต่เวลา 13.00-18.00 น. ทุกวัน โดยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้วันละไม่เกิน 280 คน เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม และเป็นไปตามมาตรการดูแลความปลอดภัย จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ไม่มีการจำกัดจำนวน โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเป็นกลุ่มหรือเดินทางส่วนตัวจะต้องใช้รถยนต์ของชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กุยบุรี ในอัตราเหมาจ่ายคันละ 850 บาทต่อนักท่องเที่ยว 8 คน โดยไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปในพื้นที่จุดชมวิว เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดในสัตว์ป่า ทำให้รถยนต์ทุกคันที่เข้าพื้นที่จะต้องผ่านการฆ่าเชื้อจากเจ้าหน้าที่ที่จุดตรวจห้วยลึก
ช้างป่าเป็นอีกหนึ่งสัตว์ไฮไลต์ที่จะพบได้ไม่ยากที่กุยบุรี
สำหรับอุทยานแห่งชาติกุยบุรีประกาศจัดตั้งในปี พ.ศ. 2542 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 90 ปัจจุบันมีเนื้อที่ 605,625 ไร่ หรือประมาณ 969 ตารางกิโลเมตร เดิมกุยบุรีเคยเป็นป่าเสื่อมโทรม มีการทำไร่รอบๆ พื้นที่ป่าจนเกิดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่าขึ้นอย่างรุนแรง

กระทั่งความนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว อันเป็นที่มาของ “โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งทรงให้แนวทางการแก้ปัญหาด้วยการฟื้นฟู สร้างความสมบูรณ์ให้กับผืนป่า ใช้วิธีการปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก คือให้ผืนป่าฟื้นตัวตามธรรมชาติ ที่สำคัญคือต้องสร้างแหล่งน้ำแหล่งอาหารให้กับช้างป่า สัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโป่งเทียม ปลูกพืชอาหารสัตว์ แหล่งน้ำของสัตว์

ขณะที่ในส่วนของชาวบ้าน ชาวไร่ก็ช่วยเหลือด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำสำหรับเพาะปลูก ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ เน้นความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยมีพระราชดำรัสที่หยิบยกมาข้างต้นเป็นดังจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้ฉุกคิด พิจารณา และน้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าวมาเป็นแนวทางทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการอนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่าอื่นๆ ในผืนป่ากุยบุรี ซึ่งต่อมาภายหลังเรียกว่า “กุยบุรีโมเดล” ส่งผลให้ปัจจุบันป่าที่กุยบุรีมีสภาพอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าชุกชุม โดยที่นี่ถือเป็นจุดชมช้างป่าและกระทิงที่ดีที่สุดของเมืองไทยจนได้รับฉายาว่า “กุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย”

นอกจากช้างป่าและกระทิง ที่นี่ยังมีสัตว์ป่าอื่นๆ ชุกชุม โดยมีสัตว์น่าสนใจ อาทิ วัวแดง เสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ หมาไม้ หมาไน เก้ง กวาง กระจง เนื้อทราย สมเสร็จ หมูป่า เม่นใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นจุดดูนก มีนกแก๊กจำนวนมากให้ชม เป็นจุดดูผีเสื้อ อีกทั้งยังมีน้ำตกและเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้ผู้สนใจได้ออกเดินป่าทัศนาธรรมชาติ ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานฯ กุยบุรี โทร.0-3264-629
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

ผู้ว่าฯ ประจวบฯ สวดอุทยานกุยบุรีปล่อยช้างป่าถูกไฟฟ้าช็อดตายซ้ำซาก
ผู้ว่าฯ ประจวบฯ สวดอุทยานกุยบุรีปล่อยช้างป่าถูกไฟฟ้าช็อดตายซ้ำซาก
ประจวบคีรีขันธ์ - เจ้าของไร่มะม่วง พร้อมลูกจ้างเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.สามร้อยยอด หลังช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ถูกไฟฟ้าที่ล้อมรอบไร่มะม่วงช็อตเสียชีวิต ขณะที่ผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ ย้ำอุทยานฯ กุยบุรี ให้สนใจดูแลปัญหาสัตว์ป่าที่ออกมานอกพื้นที่ หลังพบเป็นครั้งที่ 2 ที่ช้างป่าถูกช็อตตาย “หม่อมเจ้าหญิงรังษี” สลดต่อปัญหาช้างกุยบุรี ย้ำให้กรมอุทยานฯ มีมาตรการดูแลสัตว์ป่า และชี้แจงทำความเข้าใจต่อชุมชนรอบข้างให้ช่วยรักษ์ป่า และอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะการใช้รั้วไฟฟ้าปล่อยกระแสไฟเกินความจำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น