ประจวบคีรีขันธ์...รายงาน - นับเป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งเมื่อกรมอุทยานแห่งชาติฯของไทย ร่วมมือกับกรมป่าไม้ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้มีความร่วมมือในการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงมีการจัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการขึ้นและลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ดูการบริหารจัดการทั้งเรื่องป่าและสัตว์ป่า
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อหารือความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ถึงความร่วมมือในการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าของทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน
โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อธิบดีกรมป่าไม้พม่า (Dr.Nyi Nyi Kyaw)เจ้าหน้าที่ป่าไม้จากพม่า คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าหน้าที่จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมณี ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติไทย (IUCN) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประจำประเทศไทย (WWF) เข้าร่วมประชุมหารือกันในกรุงเทพฯ เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
ต่อมาได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำทีมโดยนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครอง นายเชิดชัย นายเชิดชัย จริยะปัญญา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สาขาบ้านโป่ง) นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สาขาเพชรบุรี) นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติฯ และนายเมธา สันติกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ฯลฯ
ดร.ทรงธรรม สุงสว่าง ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครอง ในฐานะหัวหน้าคณะของประเทศไทย กล่าวถึงผลการหาความร่วมมือในการจัดการพื้นที่คุ้มครองร่วมกันทั้งประเทศไทย และสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ว่า เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติข้ามพรมแดนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนประสบการณ์ด้านการจัดการทรัพยากรของทั้งไทยและพม่า
รวมทั้งแสวงหาเครือข่ายเพื่อการอนุรักษ์รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยจากการการนำคณะของอธิบกรกรมป่าไม้ จากสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ลงมาในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ทั้งในส่วนของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแก่งกระจาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่กำลังมีการนำเสนอให้ขึ้นเป็นมรดกโลก โดยทางฝ่ายของอธิบดีกรมป่าไม้ พม่า ได้ทราบถึงการจัดการของอุทยานแห่งชาติ ทั้งเรื่องของการอนุรักษ์ป่า และสัตว์ป่า ตลอดจนการจัดการเรื่องระบบนิเวศ ซึ่งก็จะส่งผลให้ในอนาคตทั้งเมียนมาร์และประเทศไทย จะได้ร่วมมือกันในการอนุรักษ์ป่า และสัตว์ป่าร่วมกัน
พร้อมกันนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำคณะอธิบดีกรมป่าไม้ของเมียนมาร์ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เดินทางลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รับฟังการบริหารจัดการพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทั้ง 2 แห่ง ทั้งเรื่องของการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ การดูแลเรื่องพื้นทีป่า การดูแลจัดการเรื่องระบบนิเวศ และเรื่องสัตว์ป่า รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การแก้ปัญหาคนกับช้างตามแนวพระราชดำริ จากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
"ซึ่งครั้งนี้อธิบดีกรมป่าไม้ ตลอดจนเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ของเมียนมาร์ ได้รับทราบถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหาคนกับช้างป่า เมื่อในอดีตจนเกิดโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และยังได้ยอมรับถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าจนส่งผลให้ผืนป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์มีทั้งช้างป่า และกระทิงจำนวนมากที่ออกมาหากินในผืนป่าแห่งนี้ อีกทั้งจากการที่ทั้งหมดได้เห็นสัตว์ป่าที่ออกมาหากินในพื้นที่ต่างยอมรับว่าการจัดการบริหารในเรื่องของป่าและสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ นั้นมีการจัดการบริหารที่ดี" ดร.ทรงธรรม กล่าว
ด้าน Dr.Nyi Nyi Kyaw อธิบดีกรมป่าไม้ สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ กล่าวว่า ต้องการทำความร่วมมือกับประเทศไทย ในการจัดการพื้นที่คุ้มครองระหว่าง 2 ประเทศร่วมกันเพื่อการอนุรักษ์ เนื่องจากทางฝั่งเมียนมาร์มีอุทยานแห่งชาติทะยินทะยี ซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ อยู่บริเวณตรงข้ามกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีสภาพผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์
"ในส่วนของตรงข้ามกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรีนั้นได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนมีแนวคิดในอนาคตจะประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเช่นกัน"
อธิบดีกรมป่าไม้เมียนมาร์ กล่าวต่อว่า "นอกจากนั้นแล้วตนมีความเชื่อว่าสัตว์ป่าได้มีการเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่ามาฝั่งไทย และจากฝั่งไทยไปฝั่งพม่า หรือบางครั้งอยู่บริเวณแนวเขตแดนของทั้งไทยและพม่า โดยมีความเชื่อมั่นว่าทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ของเมียนมาร์และกรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าฯของประเทศไทย หากทำงานด้านการอนุรักษ์ร่วมกันก็จะส่งผลให้การจัดการในด้านการอนุรักษ์ทรัพย์กรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"
และนี้จึงถือเป็นโอกาสดีในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านไทยกับพม่า ถึงแม้จะเป็นจุดเริ่มต้นก็ตาม แต่เชื่อว่าในอนาคตหากทั้งสองประเทศร่วมมือกันจะส่งผลให้การดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น