19 กันยายน “วันพิพิธภัณฑ์ไทย” โดยในปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 140 ปี แห่งการก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย และในครั้งนี้ฉันจึงได้เลือกมาเที่ยวที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้ทั้งความเพลิดเพลินและได้ความรู้
แต่ก่อนจะเริ่มต้นการเที่ยวกัน ฉันจะขอเล่าถึงประวัติคร่าวๆ ของวันพิพิธภัณฑ์ไทย ให้ได้ฟังกันก่อน โดยวันนี้เมื่อครั้งอดีต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “อาคารหอคองคอเดีย” หรือ “ศาลาสหทัยสมาคม” ภายในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก ให้เป็นพิพิธภัณฑสถาน เพื่อจัดแสดงสิ่งของต่างๆ เรียกกันว่า “มิวเซียมหลวง” และเปิดให้ประชาชนเข้าชม โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2417 จึงถือว่าวันนี้เป็นวันกำเนิดกิจการพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2430 พระองค์ทรงยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช จึงโปรดฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานมามาจัดแสดงที่พระราชวังบวรสถานมงคล อันเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช โดยใช้พื้นที่บางส่วน ได้แก่ พื้นที่ของพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงโปรดฯ ให้พระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ ทั้งหมดจัดเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ในปี พ.ศ. 2469 และในปี พ.ศ. 2538 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปีเป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย” ซึ่งวันพิพิธภัณฑ์ไทยในปีนี้ ได้ครบรอบ 140 ปี แห่งการก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
สำหรับการมาเที่ยวที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นั้น ฉันขอแนะนำให้ไปรับเอกสารแนะนำ กันที่โต๊ะประชาสัมพันธ์ ซึ่งเอกสารแนะนำดังกล่าวจะทำให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้น ว่าต้องเริ่มชมจากจุดไหนเพราะพื้นที่ภายในนั้นกว้างใหญ่พอสมควร อีกทั้งยังมีมุมน่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งมีนิทรรศการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดินไทย ประณีตศิลป์สืบสมัย และ ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยสืบสาน
“ประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดินไทย” เป็นนิทรรศการที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องมาชมเป็นจุดแรก โดยจัดแสดงอยู่ภายใน “พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน” ในจุดนี้ฉันได้ทราบถึงประวัติความเป็นมา ของประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคสุโขทัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอักษรไทย เรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ และยังได้ทราบถึงพระราชกรณียกิจและพระปรีชาแห่งบุรพกษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังได้ชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอีกด้วย
เสร็จจากการเดินชมนิทรรศการในส่วนแรก ฉันก็เดินมาชมความงดงามของ “พระที่นั่งพุทไธสวรรย์” โดยภายในพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” ซึ่งฉันมีโอกาสเข้าสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล อีกทั้งยังมีโอกาสได้ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ได้วาดไว้อย่างงดงามภายในพระที่นั่ง
หลักจากนั้นฉันก็ได้มาชมนิทรรศการในส่วนถัดไปคือ “ประณีตศิลป์สืบสมัย” โดยจัดแสดงในหมู่พระวิมาน ซึ่งพระวิมานแห่งนี้คือ พระราชมณเฑียรอันเป็นที่ตั้งของหมู่พระที่นั่งหลายองค์ที่เชื่อมถึงกัน อาทิ พระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระที่นั่งปฤษฏางค์ภิมุข ซึ่งแต่ละพระที่นั่งนั้น ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการจัดเป็นนิทรรศการย่อยๆ ในส่วนนิทรรศการประณีตศิลป์สืบสมัย
ฉันเริ่มต้นที่ “พระที่นั่งวสันตพิมาน” พระที่นั่งองค์นี้เป็นพระที่นั่งสองชั้น โดยในชั้นล่างนั้น ได้จัดแสดงเครื่องถ้วยต่างๆ ตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องถ้วยลพบุรี เครื่องถ้วยสุโขทัย เครื่องถ้วยล้านนา ซึ่งฉันชอบเครื่องถ้วยเบญจรงค์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องถ้วยที่มีลวดลายสวยงามใช้การเขียนลายด้วยวิธีลงยาตั้งแต่ 3 สีขึ้นไป ในส่วนชั้นบนของพระที่นั่ง จัดแสดงงาช้างจากช้างต้นและช้างสำคัญ รวมทั้งงานศิลป์ที่สร้างขึ้นจากงาช้างให้ได้ชม
จากนั้นเดินต่อมาที่ “พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ” พระที่นั่งแห่งนี้ ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องทองต่างๆ ทั้งที่ เป็นเครื่องประดับ เครื่องทองที่ใช้ในศาสนพิธี พระพุทธรูปทองคำ และเครื่องราชูปโภคทองคำ อันเป็นของสูงค่าตามราชประเพณี รวมถึง บุษบกประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้าในรัชกาลที่ 1-3 เมื่อฉันได้ชมแล้วก็รู้สึกว่า โบราณวัตถุเหล่านี้ช่างความล้ำค่าจริงๆ และฝีมือช่างไทยก็หาใครเปรียบได้นับตั้งแต่อดีต
“พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร” เป็นพระที่นั่งถัดมาที่ฉันเดินมาชม ภายในได้จัดแสดงราชยานคานหาม โดยมีพระที่ “พระที่นั่งราเชนทรยาน” เป็นไฮไลต์เด่นให้ได้ชม ซึ่งเป็นพระที่นั่งทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสองหลังคาซ้อน 5 ชั้น ลงรักปิดทองประดับกระจก โดยเป็นพระที่นั่งองค์สำคัญ ที่จะใช้ในช่วงเวลาเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ฉันสะดุดตากับช้างศึกจำลองตัวใหญ่ ภายใน “พระที่นั่งปฤษฏางค์ภิมุข” ที่ได้จัดแสดงอาวุธโบราณ ให้ได้ชมถึงความอลังการ ของการศึกสงครามเมื่อครั้งอดีต และฉันยังได้เดินชมนิทรรศการภายในพระที่นั่งองค์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พระที่นั่งอุตราภิมุข พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข พระที่นั่งพรหมเมศธาดา
เสร็จจากการเดินชมนิทรรศการในหมู่พระวิมานนั้นแล้ว ก็ต้องไม่พลาดที่จะมาชม “โรงราชรถ” ซึ่งเป็นโรงเก็บและจัดแสดงราชรถและพระโกศ ที่ใช้ในพระราชพิธีต่างๆ ให้ได้ชม อาทิ พระเวชยันตราชรถ พระมหาพิชัยราชรถ พระราชรถน้อย ราชรถโถง เมื่อฉันได้ชมแล้วก็เหมือนต้องมนต์สะกด เพราะราชรถแต่ละองค์นั้น งดงามอลังการเป็นอย่างมาก
เมื่ออิ่มเอมจากการชมความงดงาม ภายในโรงราชรถแล้ว นิทรรศการในส่วนถัดไปที่ฉันจะไปชมกันนั้น คือนิทรรศการ “ประวัติศาสตร์ศิลป์สืบสาน” โดยจัดแสดงอยู่ที่อาคารประภาสพิพิธภัณฑ์ ในส่วนนี้ได้จัดแสดงประวัตศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี รวมถึงวัตถุโบราณในยุคต่างๆ ให้สำหรับศึกษารูปแบบและวิวัฒนาการของศิลปะในประเทศไทย ฉันยังได้ไปชมนิทรรศการ “ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 18” ที่อาคารมหาสุรสิงหนาท ซึ่งภายในนั้นมีรูปปั้นจากยุคต่างๆ ให้ได้ชม และหากใครกำลังสนใจอยากศึกษาเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ก็ยังมีห้องสมุด ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคารสำนักงาน ให้ได้มาอ่านศึกษาหาความรู้กันอีกด้วย
นอกจากนิทรรศการในส่วนต่างๆ แล้ว พื้นที่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็ยังเป็นที่ตั้งของโบราณสถานวังหน้า ให้ได้ชมสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยมของกรุงรัตนโกสินทร์กันด้วย อาทิ “ศาลาสำราญมุขมาตย์” พลับพลาที่เสวยสร้าง ในสมัยรัชกาลที่ 5
“พระตำหนักแดง” ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
“พระที่นั่งมังคลาภิเษก” พระที่นั่งที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และ “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์” พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับ ลักษณะเป็นอาคารทรงยุโรป 2 ชั้น ซึ่งพื้นที่ภายในจัดแสดง เครื่องเรือนยุโรปและจีน ตลอดจนของสะสมต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะในช่วงนี้ พระที่นั่งฯ ปิดเพื่อทำการบูรณะซ่อมแซม ฉันเลยได้แค่ชมอยู่ห่างๆ และหวังที่จะรอชมความสวยงามเมื่อยามที่ได้บูรณะเสร็จสิ้นแล้ว
เนื่องในโอกาส วันพิพิธภัณฑ์ไทย อีกทั้งในปีนี้ยังเป็นปีที่ครบรอบ 140 ปีแห่งการก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังมีการจัดนิทรรศการพิเศษ “ภาพถ่ายความประทับใจในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ให้ได้ชม และยังได้นำ “รถพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่” หรือ “รถโมบายมิวเซียม” มาจัดแสดงให้ได้ชมกันอีกด้วย ซึ่งรถพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่นั้น เป็นรถที่ได้จำลองพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมาไว้ภายในรถ เพื่อเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงพิพิธภัณฑ์มากขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วอย่ารอช้า รีบชวนเพื่อนๆ ตามฉันมาเที่ยวมาชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในวันหยุดนี้กัน
**********************************
****************************************************************************
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้บริการวันพุธ-วันอาทิตย์ หยุดวันนักขัตฤกษ์ (ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์) เวลา 09.00-16.00 น. ค่าบริการ นักท่องเที่ยวชาวไทย เข้าชมฟรี! นักท่องเที่ยวต่างชาติ 200 บาท
ยังมีบริการนำชมฟรี โดยอาสาสมัครพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทุกวันอาทิตย์ 2 รอบ รอบเช้า 10.00-12.00 น. รอบบ่าย 13.30-15.30 ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2224-1333
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com