โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com) เฟซบุ๊ค Travel-Unlimited-เที่ยวถึงไหนถึงกัน
"จะออกเรือไปจนสุดขอบฟ้า ถ้าได้ปลามา กลับมาคงโชคดี
แม่ย่านางเรือ โปรดดลบันดาลให้ลูกที
ให้ปลอดภัยประสบชัยโชคดี
ทั่วทั้งท้องนที ปูปลามีมากมาย
เฮๆๆๆ..."
เพลง ออกเรือ : มาลีฮวนนา
วิถีชาวเล ชาวประมง คนตังเก นอกจากจะดำรงวิถีคู่กับทะเล คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล วาก็ทะเลแล้ว พวกเขายังต้องใช้ชีวิตคู่กับพาหนะสำคัญนั่นก็คือ“เรือ” ที่จะพาออกจากฝั่งไปยังจุดหมายเพื่อจับสัตว์น้ำกุ้งหอยปูปลา ขาย กิน เลี้ยงชีวิตตัวเองและครอบครัว
เรือของชาวประมงนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เรือเล็กในประมงพื้นบ้านไปจนถึงเรือขนาดยักษ์ในอุตสาหกรรมประมงข้ามชาติ
สำหรับภาคใต้ทางตอนล่างอย่าง ปัตตานี นราธิวาส และในบางพื้นที่ของสงขลา นครศรีธรรมราช ไล่ไปจนถึงแหลมมลายู จะมีเรือประมงพื้นบ้านสำคัญนาม “กอและ” ที่เป็นการตกผลึกทางภูมิปัญญามานับแต่บรรพบุรุษจนเกิดการสร้างสรรค์เป็นนาวาศิลป์อันงดงามวิจิตร จนได้ชื่อว่าเป็นราชินีความงามแห่งท้องทะเลในดินแดนปลายด้ามขวานของเมืองไทย
รู้จักเรือกอและ
“กอและ เป็นเรือที่โต้คลื่นลมทะเลได้ดี”
อ.สมมาตร ดารามั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งเมืองนราธิวาสให้ข้อมูลกับผม พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “กอและ” มาจากคำว่า “ฆอและ” ที่มาจากภาษามลายูว่า “Kolek”(โกเล็ก) หมายถึงโคลงเคลง หรือล่องลอย
เรือกอและถือกำเนิดขึ้นในสยามประเทศตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ในข้อมูลหลายแห่งสันนิษฐานว่า น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย(บ้างก็ว่ามีมาก่อนยุคสุโขทัย) ซึ่งเข้ามาพร้อมๆกับการเผยแผ่ศาสนาอิสลามและการเข้ามาตั้งรกรากของชาวมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างของไทย ก่อนจะสั่งสมภูมิปัญญาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยแหล่งกำเนิดและสร้างสรรค์เรือกอและในภาคใต้ที่ยิ่งใหญ่ในอดีต คือที่บ้านตำบลปะเสยยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
กอและเป็นเรือที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการสู้คลื่นลมแรงและสูงได้ดี คว่ำยาก เพราะมีแคมเรือลึก ในอดีตเป็นเรือหาปลาที่มุ่งออกทะเลลึกโดยอาศัยการกางใบ นับเป็นหนึ่งในสุดยอดความงามแห่งนาวาศิลป์ แต่หลังจากมีเครื่องยนต์เข้ามา ชาวประมงก็เปลี่ยนมาใช้เรือกอและติดเครื่องยนต์แทนเพื่อความสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว
เรือกอและมี 2 แบบ คือ กอและ“หัวยาว” กับกอและ“หัวสั้น” แต่ว่าในตอนหลังเรือกอและหัวยาวที่ทำให้หัวเชิดยาวขึ้นไม่เป็นที่นิยม จึงไม่ค่อยมีคนผลิต เรือกอและหัวยาวจึงหลงเหลืออยู่น้อยและหาดูได้ยากเต็มที
นอกจากนี้ยังมีเรืออีกประเภทหนึ่งซึ่ง อ.สมมาตรบอกกับผมว่า ไม่ใช่เรือกอและแท้ แต่เป็น“เรือท้ายตัด” ที่ถูกนำมาเขียนลวดลายแบบเรือกอและ
“เรือหัวตัดจะสะดวกในการวางเครื่องยนต์ แต่จะวิ่งสู้คลื่นได้ไม่ดีเหมือนเรือกอและ(แท้ๆ) ทำให้ในช่วงหน้าฝน ช่วงมรสุม เรือกอและจะออกทะเลได้ไกลกว่า ดีกว่า ส่วนเรือท้ายตัดจะออกทะเลไกลๆที่มีคลื่นลมแรงลำบาก” อ.สมมาตร์อธิบาย
อย่างไรก็ดีเหตุของการเข้าใจผิดของใครหลายๆคนที่คิดว่าเรือท้ายตัดเป็นเรือกอและแท้ๆนั้น อ.สมมาตร์ได้บอกว่าเนื่องมาจากภาพโปรโมทการท่องเที่ยวที่ถูกเผยแพร่ไปผิดๆ(อาจจะเพราะเข้าใจผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์) จากบางหน่วยงานที่ดูแลด้านการท่องเที่ยวของประเทศนี้ จนกลายเป็นภาพติดตาว่าเรือท้ายตัดคือเรือกอและ
อย่างไรก็ดีในเอกสารนำเที่ยว จ.นราธิวาส ของ ททท. ปกล่าสุด(ปี 2555) ได้นำภาพเรือกอและแท้(หัวสั้น) มาขึ้นปกสื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชาวนรา พร้อมกับบอกกำกับไว้ในปกหลังชัดเจนว่า คือ “เรือกอและ นราธิวาส” แต่ขณะที่ในแผนที่เที่ยว 3 จังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา(ภาษาไทย-อังกฤษ) ของ ททท.อีกเช่นกัน ก็ได้นำรูปเรือท้ายตัดมาขึ้นปกโดยไม่มีคำกำกับ ซึ่งก็ทำให้ใครหลายๆคนเข้าใจผิดว่านี่คือเรือกอและ
เพราะเมื่อนึกถึงเรือที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ตอนล่างดินแดนปลายด้ามขวาน คนส่วนใหญ่ต่างนึกถึง “เรือกอและ”
กอและบางนรา
ด้วยความผูกพันที่มีต่อเรือกอและมาช้านาน ทำให้ชาวนรา จังหวัดนราธิวาส ชูเรือกอและ เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัด
สำหรับแหล่งผลิตเรือกอและขึ้นชื่อในนรานั้นอยู่ที่หาดบ้านทอน หมู่บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง ที่นี่เป็นแหล่งผลิตเรือกอและทั้งเรือจริงและเรือจำลองอันขึ้นชื่อแห่งบางนรา
ที่หาดบ้านทอนจะมีการนำรูปเรือกอและจำลองมาตั้งแสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้ โดยตามชายหาดหากชาวประมงไม่ได้นำเรือออกเล เราก็จะเห็นเรือกอและจอดอยู่เรียงรายตามชายหาด และถ้าไปถูกช่วงจังหวัดเวลาก็จะได้เห็นเรือกอและออกจากฝั่ง หรือกลับเข้าฝั่ง ท่ามกลางเสียงตะโกนดีใจของเราเด็กๆ รอยยิ้มของแม่บ้าน ที่เฝ้ารอ พ่อ หรือญาติพี่น้องของพวกเขากลับเข้าฝั่งมาพร้อมกับกุ้งหอยปูปลา เพราะนั่นคือวิถีของคนเลแห่งบางนรา
นอกจากนี้ที่หาดบ้านกูบู ต.ไพรวัน อ.ตากใบ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต่อเรือสำคัญของนราฯ เพราะที่นี่มีช่างต่อเรือกอและคนสำคัญแห่งบางนราอยู่นั่นก็คือ ช่าง“เจ๊ะมุ อูมา” ช่างต่อเรือกอและแท้ๆฝีมือดีที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดในนราธิวาส
ลุงเจ๊ะมุ เป็นช่างต่อเรือระดับปรมาจารย์ แกทำเรือมากว่า 41 ปี โดยสืบทอดวิชาฝีมือมาจากอา ตั้งแต่อายุ 20 ปี มาจนถึงวันนี้ช่างเจ๊ะมุมีอายุ 61 ปี แล้ว
“งานต่อเรือกอและนอกจากเป็นงานที่เหนื่อยหนักแล้ว ยังเป็นงานฝีมือต้องใช้ความพิถีพิถัน ละเอียดประณีต รวมถึงการฝึกฝนจนช่ำชอง แต่ถ้าเราทำจนชำนาญ ผู้คนยอมรับผลตอบแทนมันก็คุ้มกัน โดยค่าตอบแทนจะคิดตามขนาดของเรือ”
ช่างเจ๊ะมุ เล่าให้ผมฟัง ณ ริมชายหาดบ้านกูบู ระหว่างพักจากงานเก็บรายละเอียดเรือกอและลำโตที่ชื่อว่า “รายอกุนิง” ที่แปลเป็นไทยว่า “ราชาแห่งเรือ” เพราะมีขนาดลำใหญ่โต กว้าง 3 เมตร ยาว 12.5 เมตร (คนที่บ้านกูบูบอกว่าเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในนรา ณ ปัจจุบันนี้) ซึ่งหากประเมินคร่าวๆ ราคาเรือลำนี้จะตกอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท โดยช่างเจ๊ะมุบอกว่า เป็นค่าไม้ 2 แสน ค่าแรง 2 แสน และค่าเก็บรายละเอียดงานอีก 1 แสนบาท
ทั้งนี้เรือกอและในอดีตได้แบ่งขนาดของเรือไว้เป็น 4 ขนาด โดยยึดความยาวของเรือเป็นเกณฑ์ ได้แก่ ขนาดใหญ่-ยาว 25 ศอก ขนาดกลาง-ยาว 22 ศอก ขนาดเล็ก-ยาว 20 ศอก และขนาดเล็กสุดหรือที่เรียกว่า “ลูกเรือกอและ” ยาว 6 ศอก อย่างไรก็ดีมาในยุคนี้ช่างหลายคนก็ได้หันมาใช้มาตรวัดเป็นเมตร(ควบคู่ไปกับศอก)เพื่อความสะดวกในการทำงาน
สำหรับไม้ที่ใช้ในการทำเรือซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มแรกนั้น ช่างจะใช้ไม้เนื้อแข็งจากพื้นถิ่นที่มียางในไม้ จำพวก ไม้ตะเคียน(จืองา) ไม้พะยอม ไม้หลุมพอ เพราะไม้พวกนี้มีแข็งแรงความยืดหยุ่นดี โดยเรือ รายอกุนิงลำนี้ใช้ไม้ตะเคียนทรายที่ช่างบอกว่าผ่านขั้นตอนการซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย
เมื่อช่างได้ไม้ นำมาผ่านกระบวนการต่างๆเช่น ผึ่งแดด ไสแต่ง ดัดให้ไม้โค้งงอตามรูปแบบของเรือแล้ว จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการต่อเรือ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนหัว ส่วนกลาง และส่วนท้าย
เมื่อก่อร่างสร้างเรือขึ้นเป็นรูปร่างแล้ว ต่อมาก็เป็นกระบวนการเขียนลายสร้างความงามให้กับลำเรือ อันถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเรือกอและที่ต่างจากเรือประมงทั่วไป เพราะเป็นการผสมศาสตร์ในการต่อเรือเข้ากับงานศิลปะได้อย่างวิจิตรลงตัวสวยงาม โดยขั้นตอนการตกแต่งเขียนลาย ถือเป็นขั้นตอนท้ายๆก่อนที่เรือจะเสร็จสมบูรณ์แล้วนำไปทำพิธีลอยลำออกหาปลาสู้คลื่นลมในท้องทะเล
พูดถึงช่างเขียนลวดลายเรือกอและแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคนละคนกับช่างต่อเรือ และก็ส่วนใหญ่ในช่างเขียนลายมักจะเป็นจิตรกรพื้นบ้านที่ไม่ได้ไปร่ำเรียนศิลปะมาจากสถาบันใด หากแต่สืบทอดฝีมือจากบรรพบุรุษ ฝึกฝนจากครูผู้ถ่ายทอด โดยช่างเจ๊ะมุหลังต่อเรือเป็นรูปร่างแล้วก็จะใช้บริการเขียนลายโดย “ช่างมาหะมะ สะมะแอ” ซึ่งเป็นน้องชายต่างบิดาของช่างเจ๊ะมุนั่นเอง
ช่างมาหะมะวาดลวดลายบนลำเรือมากว่า 40 ปี โดยเริ่มจากการฝึกหัดวาดลายไทย ก่อนจะพัฒนาฝีมือเรื่อยมา จนวันนี้ด้วยความเชี่ยวชาญชำนาญชนิดวาดกันสดๆบนลำเรือได้อย่างสวยงาม ไม่มีผิดเพี้ยน
ในส่วนขั้นตอนการเขียนลายนั้น จะเริ่มจากการลงสีน้ำมันรองพื้นให้ทั่วลำเรือก่อน จากนั้นก็เป็นการเขียนลายตามความช่ำชองของแต่ละคน ใครที่ชำนาญมากก็ใช้วิธีวาดสด แต่หลายคนเพื่อความแน่นอนก็จะใช้ดินสอร่างขึ้นรูปก่อนแล้วจึงลงสีตามภายหลัง
สำหรับลวดลายที่นิยมใช้เขียนจะแบ่งเป็น ส่วนลายที่หัวเรือ นิยมเขียนเป็นรูปสัตว์ในตำนาน หรือสัตว์ในจินตนาการ เช่นพวก พญานาค นก หนุมานจับมัจฉา ราหูอมจันทร์ เมขลาล่อแก้ว รามสูรขว้างขวาน เป็นต้น ส่วนลายที่ท้ายเรือก็มักจะเป็นลายส่วนท่อนหางของสัตว์นั้นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีลายอื่นๆที่ประกอบไปตามหัวเรือ ท้ายเรือ ลำเรือ อาทิ ลายไทย ลายเครือเถา ลายดอกไม้ ลายพื้นบ้าน ลายแบบจีน ลายแบบมุสลิม ลายอาหรับรูปทรงเราขาคณิต
“เสน่ห์ของลวดลายเรือกอและแห่งนราธิวาสคือ จะเป็นการผสมผสานลายจาก 3 วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ทั้งไทย จีน และมลายู รวมถึงลายดอกบานบุรี(สีเหลือง) ที่เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนราธิวาส” อ.สมมาตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ด้านช่างมาหะมะบอกว่า ลวดลายเรือขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของเรือ แต่เขาก็มีการสร้างสรรค์ลายที่แตกต่างออกไป เช่นนำลายจากผ้าปะเต๊ะมาวาดลงไป หรือมีการใส่ลายใหม่ๆร่วมสมัยลงไป อย่างเช่นปีนี้มีฟุตบอลโลก ช่างก็นำรูปถ้วยฟีฟ่ามาเขียนใส่ลงไป
“แต่ถ้าเจ้าของเรือไม่มีลายในดวงใจ หรือไม่ได้ขอลายกับช่างวาด หรือเชื่อมั่นในฝีมือช่าง ผมก็จะวาดลายตามใจช่าง” ช่างมาหะมะกล่าว
และนั่นก็เป็นบางส่วนจากวิถีเรือกอและแห่งบางนรา ซึ่งเรือชนิดนี้หาใช่เรือประมงธรรมดาไม่ หากแต่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนถึงวิถี วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งดินแดนปลายด้ามขวานอีกด้วย
นอกจากจะเป็นการตกผลึกทางภูมิปัญญามานับแต่บรรพบุรุษจนเกิดการสร้างสรรค์เป็นนาวาศิลป์ลำงดงามวิจิตรแล้ว กอและยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงวิถี วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งดินแดนปลายด้ามขวาน นับเป็นอีกหนึ่งแง่งามแห่งบางนราที่สวนทางกับบรรยากาศความไม่สงบที่คนจำนวนมากในประเทศนี้หวังให้มันจบลงโดยไว
*****************************************
*****************************************
หมายเหตุ : “บางนรา” เป็นชื่อเดิมของนราธิวาสก่อนจะแยกออกมาจาก จ. ปัตตานีในอดีต
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
"จะออกเรือไปจนสุดขอบฟ้า ถ้าได้ปลามา กลับมาคงโชคดี
แม่ย่านางเรือ โปรดดลบันดาลให้ลูกที
ให้ปลอดภัยประสบชัยโชคดี
ทั่วทั้งท้องนที ปูปลามีมากมาย
เฮๆๆๆ..."
เพลง ออกเรือ : มาลีฮวนนา
วิถีชาวเล ชาวประมง คนตังเก นอกจากจะดำรงวิถีคู่กับทะเล คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล วาก็ทะเลแล้ว พวกเขายังต้องใช้ชีวิตคู่กับพาหนะสำคัญนั่นก็คือ“เรือ” ที่จะพาออกจากฝั่งไปยังจุดหมายเพื่อจับสัตว์น้ำกุ้งหอยปูปลา ขาย กิน เลี้ยงชีวิตตัวเองและครอบครัว
เรือของชาวประมงนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เรือเล็กในประมงพื้นบ้านไปจนถึงเรือขนาดยักษ์ในอุตสาหกรรมประมงข้ามชาติ
สำหรับภาคใต้ทางตอนล่างอย่าง ปัตตานี นราธิวาส และในบางพื้นที่ของสงขลา นครศรีธรรมราช ไล่ไปจนถึงแหลมมลายู จะมีเรือประมงพื้นบ้านสำคัญนาม “กอและ” ที่เป็นการตกผลึกทางภูมิปัญญามานับแต่บรรพบุรุษจนเกิดการสร้างสรรค์เป็นนาวาศิลป์อันงดงามวิจิตร จนได้ชื่อว่าเป็นราชินีความงามแห่งท้องทะเลในดินแดนปลายด้ามขวานของเมืองไทย
รู้จักเรือกอและ
“กอและ เป็นเรือที่โต้คลื่นลมทะเลได้ดี”
อ.สมมาตร ดารามั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งเมืองนราธิวาสให้ข้อมูลกับผม พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “กอและ” มาจากคำว่า “ฆอและ” ที่มาจากภาษามลายูว่า “Kolek”(โกเล็ก) หมายถึงโคลงเคลง หรือล่องลอย
เรือกอและถือกำเนิดขึ้นในสยามประเทศตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ในข้อมูลหลายแห่งสันนิษฐานว่า น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย(บ้างก็ว่ามีมาก่อนยุคสุโขทัย) ซึ่งเข้ามาพร้อมๆกับการเผยแผ่ศาสนาอิสลามและการเข้ามาตั้งรกรากของชาวมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างของไทย ก่อนจะสั่งสมภูมิปัญญาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยแหล่งกำเนิดและสร้างสรรค์เรือกอและในภาคใต้ที่ยิ่งใหญ่ในอดีต คือที่บ้านตำบลปะเสยยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
กอและเป็นเรือที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการสู้คลื่นลมแรงและสูงได้ดี คว่ำยาก เพราะมีแคมเรือลึก ในอดีตเป็นเรือหาปลาที่มุ่งออกทะเลลึกโดยอาศัยการกางใบ นับเป็นหนึ่งในสุดยอดความงามแห่งนาวาศิลป์ แต่หลังจากมีเครื่องยนต์เข้ามา ชาวประมงก็เปลี่ยนมาใช้เรือกอและติดเครื่องยนต์แทนเพื่อความสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว
เรือกอและมี 2 แบบ คือ กอและ“หัวยาว” กับกอและ“หัวสั้น” แต่ว่าในตอนหลังเรือกอและหัวยาวที่ทำให้หัวเชิดยาวขึ้นไม่เป็นที่นิยม จึงไม่ค่อยมีคนผลิต เรือกอและหัวยาวจึงหลงเหลืออยู่น้อยและหาดูได้ยากเต็มที
นอกจากนี้ยังมีเรืออีกประเภทหนึ่งซึ่ง อ.สมมาตรบอกกับผมว่า ไม่ใช่เรือกอและแท้ แต่เป็น“เรือท้ายตัด” ที่ถูกนำมาเขียนลวดลายแบบเรือกอและ
“เรือหัวตัดจะสะดวกในการวางเครื่องยนต์ แต่จะวิ่งสู้คลื่นได้ไม่ดีเหมือนเรือกอและ(แท้ๆ) ทำให้ในช่วงหน้าฝน ช่วงมรสุม เรือกอและจะออกทะเลได้ไกลกว่า ดีกว่า ส่วนเรือท้ายตัดจะออกทะเลไกลๆที่มีคลื่นลมแรงลำบาก” อ.สมมาตร์อธิบาย
อย่างไรก็ดีเหตุของการเข้าใจผิดของใครหลายๆคนที่คิดว่าเรือท้ายตัดเป็นเรือกอและแท้ๆนั้น อ.สมมาตร์ได้บอกว่าเนื่องมาจากภาพโปรโมทการท่องเที่ยวที่ถูกเผยแพร่ไปผิดๆ(อาจจะเพราะเข้าใจผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์) จากบางหน่วยงานที่ดูแลด้านการท่องเที่ยวของประเทศนี้ จนกลายเป็นภาพติดตาว่าเรือท้ายตัดคือเรือกอและ
อย่างไรก็ดีในเอกสารนำเที่ยว จ.นราธิวาส ของ ททท. ปกล่าสุด(ปี 2555) ได้นำภาพเรือกอและแท้(หัวสั้น) มาขึ้นปกสื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชาวนรา พร้อมกับบอกกำกับไว้ในปกหลังชัดเจนว่า คือ “เรือกอและ นราธิวาส” แต่ขณะที่ในแผนที่เที่ยว 3 จังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา(ภาษาไทย-อังกฤษ) ของ ททท.อีกเช่นกัน ก็ได้นำรูปเรือท้ายตัดมาขึ้นปกโดยไม่มีคำกำกับ ซึ่งก็ทำให้ใครหลายๆคนเข้าใจผิดว่านี่คือเรือกอและ
เพราะเมื่อนึกถึงเรือที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ตอนล่างดินแดนปลายด้ามขวาน คนส่วนใหญ่ต่างนึกถึง “เรือกอและ”
กอและบางนรา
ด้วยความผูกพันที่มีต่อเรือกอและมาช้านาน ทำให้ชาวนรา จังหวัดนราธิวาส ชูเรือกอและ เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัด
สำหรับแหล่งผลิตเรือกอและขึ้นชื่อในนรานั้นอยู่ที่หาดบ้านทอน หมู่บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง ที่นี่เป็นแหล่งผลิตเรือกอและทั้งเรือจริงและเรือจำลองอันขึ้นชื่อแห่งบางนรา
ที่หาดบ้านทอนจะมีการนำรูปเรือกอและจำลองมาตั้งแสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้ โดยตามชายหาดหากชาวประมงไม่ได้นำเรือออกเล เราก็จะเห็นเรือกอและจอดอยู่เรียงรายตามชายหาด และถ้าไปถูกช่วงจังหวัดเวลาก็จะได้เห็นเรือกอและออกจากฝั่ง หรือกลับเข้าฝั่ง ท่ามกลางเสียงตะโกนดีใจของเราเด็กๆ รอยยิ้มของแม่บ้าน ที่เฝ้ารอ พ่อ หรือญาติพี่น้องของพวกเขากลับเข้าฝั่งมาพร้อมกับกุ้งหอยปูปลา เพราะนั่นคือวิถีของคนเลแห่งบางนรา
นอกจากนี้ที่หาดบ้านกูบู ต.ไพรวัน อ.ตากใบ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต่อเรือสำคัญของนราฯ เพราะที่นี่มีช่างต่อเรือกอและคนสำคัญแห่งบางนราอยู่นั่นก็คือ ช่าง“เจ๊ะมุ อูมา” ช่างต่อเรือกอและแท้ๆฝีมือดีที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดในนราธิวาส
ลุงเจ๊ะมุ เป็นช่างต่อเรือระดับปรมาจารย์ แกทำเรือมากว่า 41 ปี โดยสืบทอดวิชาฝีมือมาจากอา ตั้งแต่อายุ 20 ปี มาจนถึงวันนี้ช่างเจ๊ะมุมีอายุ 61 ปี แล้ว
“งานต่อเรือกอและนอกจากเป็นงานที่เหนื่อยหนักแล้ว ยังเป็นงานฝีมือต้องใช้ความพิถีพิถัน ละเอียดประณีต รวมถึงการฝึกฝนจนช่ำชอง แต่ถ้าเราทำจนชำนาญ ผู้คนยอมรับผลตอบแทนมันก็คุ้มกัน โดยค่าตอบแทนจะคิดตามขนาดของเรือ”
ช่างเจ๊ะมุ เล่าให้ผมฟัง ณ ริมชายหาดบ้านกูบู ระหว่างพักจากงานเก็บรายละเอียดเรือกอและลำโตที่ชื่อว่า “รายอกุนิง” ที่แปลเป็นไทยว่า “ราชาแห่งเรือ” เพราะมีขนาดลำใหญ่โต กว้าง 3 เมตร ยาว 12.5 เมตร (คนที่บ้านกูบูบอกว่าเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในนรา ณ ปัจจุบันนี้) ซึ่งหากประเมินคร่าวๆ ราคาเรือลำนี้จะตกอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท โดยช่างเจ๊ะมุบอกว่า เป็นค่าไม้ 2 แสน ค่าแรง 2 แสน และค่าเก็บรายละเอียดงานอีก 1 แสนบาท
ทั้งนี้เรือกอและในอดีตได้แบ่งขนาดของเรือไว้เป็น 4 ขนาด โดยยึดความยาวของเรือเป็นเกณฑ์ ได้แก่ ขนาดใหญ่-ยาว 25 ศอก ขนาดกลาง-ยาว 22 ศอก ขนาดเล็ก-ยาว 20 ศอก และขนาดเล็กสุดหรือที่เรียกว่า “ลูกเรือกอและ” ยาว 6 ศอก อย่างไรก็ดีมาในยุคนี้ช่างหลายคนก็ได้หันมาใช้มาตรวัดเป็นเมตร(ควบคู่ไปกับศอก)เพื่อความสะดวกในการทำงาน
สำหรับไม้ที่ใช้ในการทำเรือซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มแรกนั้น ช่างจะใช้ไม้เนื้อแข็งจากพื้นถิ่นที่มียางในไม้ จำพวก ไม้ตะเคียน(จืองา) ไม้พะยอม ไม้หลุมพอ เพราะไม้พวกนี้มีแข็งแรงความยืดหยุ่นดี โดยเรือ รายอกุนิงลำนี้ใช้ไม้ตะเคียนทรายที่ช่างบอกว่าผ่านขั้นตอนการซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย
เมื่อช่างได้ไม้ นำมาผ่านกระบวนการต่างๆเช่น ผึ่งแดด ไสแต่ง ดัดให้ไม้โค้งงอตามรูปแบบของเรือแล้ว จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการต่อเรือ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนหัว ส่วนกลาง และส่วนท้าย
เมื่อก่อร่างสร้างเรือขึ้นเป็นรูปร่างแล้ว ต่อมาก็เป็นกระบวนการเขียนลายสร้างความงามให้กับลำเรือ อันถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเรือกอและที่ต่างจากเรือประมงทั่วไป เพราะเป็นการผสมศาสตร์ในการต่อเรือเข้ากับงานศิลปะได้อย่างวิจิตรลงตัวสวยงาม โดยขั้นตอนการตกแต่งเขียนลาย ถือเป็นขั้นตอนท้ายๆก่อนที่เรือจะเสร็จสมบูรณ์แล้วนำไปทำพิธีลอยลำออกหาปลาสู้คลื่นลมในท้องทะเล
พูดถึงช่างเขียนลวดลายเรือกอและแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคนละคนกับช่างต่อเรือ และก็ส่วนใหญ่ในช่างเขียนลายมักจะเป็นจิตรกรพื้นบ้านที่ไม่ได้ไปร่ำเรียนศิลปะมาจากสถาบันใด หากแต่สืบทอดฝีมือจากบรรพบุรุษ ฝึกฝนจากครูผู้ถ่ายทอด โดยช่างเจ๊ะมุหลังต่อเรือเป็นรูปร่างแล้วก็จะใช้บริการเขียนลายโดย “ช่างมาหะมะ สะมะแอ” ซึ่งเป็นน้องชายต่างบิดาของช่างเจ๊ะมุนั่นเอง
ช่างมาหะมะวาดลวดลายบนลำเรือมากว่า 40 ปี โดยเริ่มจากการฝึกหัดวาดลายไทย ก่อนจะพัฒนาฝีมือเรื่อยมา จนวันนี้ด้วยความเชี่ยวชาญชำนาญชนิดวาดกันสดๆบนลำเรือได้อย่างสวยงาม ไม่มีผิดเพี้ยน
ในส่วนขั้นตอนการเขียนลายนั้น จะเริ่มจากการลงสีน้ำมันรองพื้นให้ทั่วลำเรือก่อน จากนั้นก็เป็นการเขียนลายตามความช่ำชองของแต่ละคน ใครที่ชำนาญมากก็ใช้วิธีวาดสด แต่หลายคนเพื่อความแน่นอนก็จะใช้ดินสอร่างขึ้นรูปก่อนแล้วจึงลงสีตามภายหลัง
สำหรับลวดลายที่นิยมใช้เขียนจะแบ่งเป็น ส่วนลายที่หัวเรือ นิยมเขียนเป็นรูปสัตว์ในตำนาน หรือสัตว์ในจินตนาการ เช่นพวก พญานาค นก หนุมานจับมัจฉา ราหูอมจันทร์ เมขลาล่อแก้ว รามสูรขว้างขวาน เป็นต้น ส่วนลายที่ท้ายเรือก็มักจะเป็นลายส่วนท่อนหางของสัตว์นั้นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีลายอื่นๆที่ประกอบไปตามหัวเรือ ท้ายเรือ ลำเรือ อาทิ ลายไทย ลายเครือเถา ลายดอกไม้ ลายพื้นบ้าน ลายแบบจีน ลายแบบมุสลิม ลายอาหรับรูปทรงเราขาคณิต
“เสน่ห์ของลวดลายเรือกอและแห่งนราธิวาสคือ จะเป็นการผสมผสานลายจาก 3 วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ทั้งไทย จีน และมลายู รวมถึงลายดอกบานบุรี(สีเหลือง) ที่เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนราธิวาส” อ.สมมาตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ด้านช่างมาหะมะบอกว่า ลวดลายเรือขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของเรือ แต่เขาก็มีการสร้างสรรค์ลายที่แตกต่างออกไป เช่นนำลายจากผ้าปะเต๊ะมาวาดลงไป หรือมีการใส่ลายใหม่ๆร่วมสมัยลงไป อย่างเช่นปีนี้มีฟุตบอลโลก ช่างก็นำรูปถ้วยฟีฟ่ามาเขียนใส่ลงไป
“แต่ถ้าเจ้าของเรือไม่มีลายในดวงใจ หรือไม่ได้ขอลายกับช่างวาด หรือเชื่อมั่นในฝีมือช่าง ผมก็จะวาดลายตามใจช่าง” ช่างมาหะมะกล่าว
และนั่นก็เป็นบางส่วนจากวิถีเรือกอและแห่งบางนรา ซึ่งเรือชนิดนี้หาใช่เรือประมงธรรมดาไม่ หากแต่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนถึงวิถี วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งดินแดนปลายด้ามขวานอีกด้วย
นอกจากจะเป็นการตกผลึกทางภูมิปัญญามานับแต่บรรพบุรุษจนเกิดการสร้างสรรค์เป็นนาวาศิลป์ลำงดงามวิจิตรแล้ว กอและยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงวิถี วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งดินแดนปลายด้ามขวาน นับเป็นอีกหนึ่งแง่งามแห่งบางนราที่สวนทางกับบรรยากาศความไม่สงบที่คนจำนวนมากในประเทศนี้หวังให้มันจบลงโดยไว
*****************************************
*****************************************
หมายเหตุ : “บางนรา” เป็นชื่อเดิมของนราธิวาสก่อนจะแยกออกมาจาก จ. ปัตตานีในอดีต
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com