xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้ตา ไกลตีน ปีนพิชิต “ภูสอยดาว”...ชมทุ่งดอกหงอนนาคสวยที่สุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com) เฟซบุ๊ค Travel-Unlimited-เที่ยวถึงไหนถึงกัน
ภูสอยดาว น่ายลด้วยทุ่งดอกหงอนนาคบนลานสนที่สวยที่สุดในเมืองไทย
วสันตฤดู...

เมื่อฝนโปรยสายลงมา ฟ้าชุ่มฉ่ำ ดินชุ่มน้ำ พื้นป่าทั่วไทยต่างพลิกฟื้นจากที่เคยแห้งแล้งกลับมาเขียวขจีมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

สำหรับป่า“ภูสอยดาว”นอกจากความเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำแล้ว ในหน้าฝนอย่างนี้ยังมีความพิเศษแตกต่างเมื่อธรรมชาติได้สรรค์สร้างความมหัศจรรย์เล็กๆ ขึ้น ด้วยการเนรมิตให้มวลมหา “ดอกหงอนนาค” ที่หลับใหล ต่างทยอยกันผลิบานออกดอกปูพรมดารดาษไปด้วยสีชมพูอมม่วง อวดโฉมความงามท่ามกลางลานสนอันกว้างใหญ่

รอคอยให้ผู้รักความท้าทายเดินทางฝ่าด่านความสมบุกสมบันและสูงชันขึ้นไปพิชิตภูสอยดาว พร้อมกับทัศนาความสวยงามของทุ่งดอกหงอนนาคที่น่าเพริศแพร้วกระไรปานนั้น
ทุกๆปีพอฝนมาเยือนลานสนบนภูสอยดาวจะสวยสะพรั่งไปด้วยทุ่งดอกหงอนนาคที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
สวนพฤกษ์ บ้านร่มเกล้า

บนเส้นทางสายเดิมจากตัวเมืองพิษณุโลก-ผ่าน อ.ชาติตระการสู่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ย้อนรอยทริปภูสอยดาวในคราวก่อนๆ

มาครั้งนี้มีความพิเศษออกไปเมื่อในระหว่างทางผมกับคณะเลือกแวะเที่ยวที่ “สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ” อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ไม่นาน
ด้านหน้า สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ (ภาพ : สวนพฤกษ์ บ้านร่มเกล้า)
สวนพฤกษ์ บ้านร่มเกล้า ตั้งอยู่ในเขต ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ห่างจาก อช.ภูสอยดาวประมาณ 20 กม.(แต่อยู่คนละจังหวัดกัน) สวนแห่งนี้ดำเนินงานตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ภายในสวนมีบรรยากาศร่มรื่น มีการจัดภูมิทัศน์อย่างสวยงาม มีโรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ กล้วยไม้ต่างๆให้เที่ยวชม โดยเฉพาะกล้วยไม้หายากที่นี่มีมากกว่า 300 ชนิด รวมถึงพันธุ์ไม้เด่น อย่าง พันธุ์ไม้วงศ์จำปีจำปา กระดังงา กุหลาบพันปี และที่เป็นไฮไลต์คือ “สร้อยสยาม” พันธุ์ไม้ที่ค้นพบชนิดใหม่ของโลก เป็นไม้ตระกูลชงโคหรือเสี้ยวของไทย มีดอกเป็นช่อสีชมพูสวยงาม
ดอกสร้อยสยาม พันธุ์ไม้ที่ค้นพบชนิดใหม่ของโลก (ภาพ : สวนพฤกษ์ฯ บ้านร่มเกล้า)
นอกจากพืชพรรณ ดอกไม้ กล้วยไม้แล้ว ในสวนพฤกษ์ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จุดชมวิวที่มองลงไปเห็นทิวทัศน์ของขุนเขาอันงดงาม ส่วนใครที่มาพักค้าง ที่นี่เขามีสโลแกน ชม“พระอาทิตย์ 2 แผ่นดิน” คือเมื่อมานอนที่นี่ ยามเช้าจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นจากฝั่งลาว ส่วนยามเย็นจะเห็นพระอาทิตย์ตกในฝั่งไทย
ทิวทัศน์ขุนเขายามหมอกลอยฟุ้ง เมื่อมองลงมาจากจุดชมวิวที่ 2 (ภาพ : สวนพฤกษ์ บ้านร่มเกล้า)
แต่...น่าเสียดายที่งานนี้ผมเพียงแค่“แวะ” ไปเที่ยวที่นี่แบบชั่วครู่ชั่วคราว คือไม่ได้ไปพักค้างคืนทัวร์ละเอียด จึงไม่ได้ชมพระอาทิตย์ 2 แผ่นดิน ซึ่งผมก็ได้ “ติด” พี่ๆน้องๆเจ้าหน้าที่ที่น่ารักของสวนพฤกษ์ บ้านร่มเกล้าไว้ว่าถ้ามีโอกาสจะกลับมาเยือนอีกแน่

อย่างไรก็ดีแม้แค่แวะแต่ก็ได้รับน้ำใจไมตรี และได้ชมดอกไม้งามๆ และวิวทิวทัศน์สวยๆ ของที่นี่ โดยเฉพาะในจุดชมวิวที่ 2 นั้น มุมด้านหนึ่งเมื่อมองออกไปจะเห็นเทือกเขาภูสอยดาวตั้งตระหง่าน

ภูสอยดาว แม้จะดู“ใกล้ตา”แค่เอื้อม แต่ทว่ามันช่าง“ไกลตีน”ต่อการเดินขึ้นไปพิชิตยิ่งนัก
ดอกหงอนนาคออกดอกเป็นทุ่งบานสะพรั่ง
5 เนินไม่เพลินเลย

ภูสอยดาว ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ สถานที่พักค้างของผมกับคณะในค่ำคืนแรก ก่อนที่เช้าวันถัดไปพวกเราจะตื่นกันแต่เช้า เพื่อออกเดินทางขึ้นไปพิชิตเขาภูสอยดาวในเส้นทางที่ได้ชื่อว่าสูงชันและยากลำบากโหดหินติด 1 ใน 5 ของเส้นทางพิชิตขุนเขาในเมืองไทย(วัดตามมาตรฐานของนักท่องเที่ยวปกติกับแหล่งท่องเที่ยวปกติ ไม่ได้วัดจากนักเดินป่ามืออาชีพและเส้นทางเดินป่าขึ้นเขาที่ผิดปกติจากทั่วๆ ไป)

หลังจัดเตรียมสัมภาระให้ลูกหาบช่างกิโล และแบกของล่วงหน้านำไป ผมกับคณะก็มาตั้งต้น ถ่ายรูปหมู่ before กันก่อนขึ้นเขา ตรงบริเวณด้านหน้า“น้ำตกภูสอยดาว” อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวอันโดดเด่นของอุทยานฯ แห่งนี้
น้ำตกภูสอยดาว ตรงทางเดินขึ้นภู
ต่อจากนั้นก็ได้เวลารวบรวมพลังลมปราณ เพื่อสนองนโยบาย “ส้นตีนแห่งชาติ” อีกครั้ง ในการเดินขึ้นเขาระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ไปบนเส้นทางที่สูงชัน มีทางเดินในระนาบราบๆ แค่ประมาณไม่ถึง 10% ซึ่งในระหว่างทางจะต้องผ่านเนินสำคัญ 5 เนิน ไล่เรียงไปตามลำดับ คือ

1.“เนินส่งญาติ” ที่มีเรื่องเล่ากันว่า เคยมีคนเดินขึ้นมาถึงที่นี่แล้ว หมดแรงไปต่อไม่ไหว เลยต้องส่งให้ญาติไปต่อ ส่วนเขาเดินกลับ

2. “เนินปราบเซียน” เนินนี้ไม่ว่าเซียนหรือเทพเดินป่าก็โดนปราบหมดแหละ

3.“เนินป่าก่อ” ตั้งชื่อตามสภาพภูมิประเทศที่มีต้นก่อหรือต้นโอ๊กขึ้นอยู่มาก
เนินมรณะ โหด  แต่วิวสวย
4. “เนินเสือโคร่ง” มาจากชื่อต้นกำลังเสือโคร่งที่มีอยู่แถวนั้นหลายต้น เปลือกของมันชาวบ้านนำมาต้ม ดองเหล้า บำรุงกำลังได้ดีทีเดียว

และ 5. “เนินมรณะ” เนินสุดท้ายที่มีสภาพต่างไปจากเนินอื่นๆ คือเป็นเนินโล่งชันดิกมีแต่ทุ่งหญ้าและไม้พุ่มเล็กๆ ไร้ต้นไม้ใหญ่ให้อาศัยร่มเงา อีกทั้งยังมีลมพัดแรง ในวันที่แดดแรงๆช่วงที่กำลังเดินขึ้นเนินนี้มันช่างโหดหินสุดติ่งดีจริงๆ แต่นั่นยังไม่เท่ากับบางปีที่อากาศร้อนมากๆ ที่นี่จะเกิดไฟป่าเผาผลาญ บรรยากาศมันช่างน่ากลัวสมชื่อเนินมรณะเสียจริงๆ
ลูกหาบ บุคคลสำคัญเบื้องหลังผู้พิชิตภูสอยดาวจำนวนมาก
ทั้ง 5 เนินนี้ หากถามว่าเนินไหนเหนื่อยสุด บางคนบอกว่า เนินส่งญาติสิ เพราะเป็นเนินแรกที่ร่างกายเราอยู่ระหว่างการปรับตัวในการเดินขึ้นเขาชัน ส่วนบางคนก็ยกให้เนินมรณะเพราะมีความสูงชัน ร้อนแล้ง แถมยังต้องใช้ มือเป็นเท้าที่ 3 เท้าที่ 4 ช่วยปีนป่ายอีกต่างหาก งานนี้ก็ว่ากันไป ส่วนตัวผม ถือว่าเหนื่อยทุกเนินนั่นแหละ

ทุ่งดอกหงอนนาคสุดสวย

เมื่อเดินชนะเนินมรณะแล้ว อีกไม่นานก็จะถึงจุดหมายบนลานสนให้เราได้ถ่ายรูปคู่กับป้าย “ผู้พิชิตลานสนภูสอยดาว” ที่ระดับความสูง 1,633 เมตร อันเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ขึ้นไปพิชิต

ขณะที่ยอดสูงสุดของภูสอยดาวนั้นอยู่ที่ 2,102 เมตร สูงเป็นลำดับ 4 ของประเทศไทย(บางข้อมูลก็ว่าสูงเป็นอันดับที่ 5) ใครอยากพิชิตต้องขอให้เจ้าหน้าที่นำทางเป็นพิเศษ ใช้เวลาเดินจากลานสนไป-กลับ ร่วมๆ วัน โดยทางอุทยานฯ จะเปิดให้ขึ้นเฉพาะช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ของทุกปี
ถึงแล้ว ลานสนภูสอยดาว
ลานสนภูสอยดาวมีเนื้อที่ราว 3,000 ไร่ เป็นลานสนที่มีความพิเศษหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลานสนสามใบตามธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย เป็นลานสน 2 แผ่นดิน เพราะมีอาณาเขตติดประเทศลาวมีหลักกิโลเมตรแบ่งเขตแดนชัดเจน ที่สำคัญคือเป็นลานสนที่มากไปด้วยมวลหมู่ดอกไม้ โดยเฉพาะมวลมหา “ดอกหงอนนาค” ที่บานเป็นทุ่งใหญ่ จนได้ชื่อว่า“ภูสอยดาวเป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกหงอนนาคที่ใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดในเมืองไทย
ดอกหงอนนาค ยามผึ้งบินดอมดมเกสร
ดอกหงอนนาคมีชื่อเรียกอื่นๆเช่น หญ้าหงอนเงือก น้ำค้างกลางเที่ยง ถือเป็นนางเอกแห่งวสันตฤดูบนภูสอยดาว เพราะเป็นพืชล้มลุกที่แม้มีดอกออกทั้งปี แต่มันจะออกดอกมากในช่วงหน้าฝน มีทั้งดอกสีชมพูอมม่วง สีม่วงน้ำเงิน และสีขาว ซึ่งบนภูสอยดาวจะเป็นดอกหงอนนาคสีชมพูอมม่วง และมีหงอนนาคดอกสีขาวขึ้นแซมบ้างอยู่นิดหน่อยชนิดนับต้นได้ เพียงแต่ว่าต้องสอดส่ายสายตาหาดูให้ดี

หงอนนาคเป็นดอกไม้ที่หุบยามเช้า แต่จะบานในเมื่อมีแสงแดด และส่วนล่างของดอกมักจะมีน้ำค้างเกาะติดอยู่เป็นหยดใสสวยงาม จนได้ชื่อว่า “น้ำค้างกลางเที่ยง
อีกหนึ่งความงามของทุ่งดอกไม้สีชมพูยามหน้าหนาวที่บานหลังดอกหงอนนาคร่วงโรย
หงอนนาคบนภูสอยดาวจะเบ่งบานเต็มที่ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. โดยในช่วงนี้(ของปีนี้)บานได้ประมาณ 40-50% ซึ่งทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯคาดว่าจะบาน 80% ถึงบานเต็มที่ในช่วงหลังวันแม่กลางเดือน ส.ค. ไปจนถึงกลางเดือน ก.ย. ซึ่งการขึ้นมาพิชิตลานสน เราจะได้ใกล้ชิดดอกหงอนนาคแบบสุดๆ เพราะที่ลานกลางเต็นท์นอนนั้น แวดล้อมไปด้วยทุ่งดอกหงอนนาค ชนิดเดินไปไม่กี่ก้าวก็ได้ถ่ายรูปกับดอกหงอนนาคสวยๆ กันแล้ว

ใช่ว่าจะมีแต่ทุ่งดอกหงอนนาคแสนสวยเท่านั้น บนลานสนภูสอยดาวยังมีดอกไม้ กล้วยไม้ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ สร้อยสุวรรณา เอนอ้า ชมพูนุช ชมพูเชียงดาว เหลืองพิศมร เอื้องแซะภูกระดึง มณีเทวา(กระดุมเงิน) เป็นต้น (สอบถามช่วงออกดอกบานของดอกไม้ กล้วยไม้ชนิดต่างๆได้จาก อช.ภูสอยดาว)
ยอดภูสอยดาวหลังฝน มีรุ้งทอดตัวและสายหมอกไหลลงปกคลุม
นับได้ว่าภูสอยดาวเป็นอีกหนึ่งสวรรค์ของคนรักดอกไม้ ที่นักท่องเที่ยวต้องดูแต่ตา มืออย่างต้อง ถึงแม้อยากจะใกล้ชิดดอกหงอนนาคใจแทบขาด แต่ก็ต้องเดินชมในเส้นทางที่ทางอุทยานฯกำหนด หรือรอยเส้นทางเก่าที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อการเหยียบย่ำทำลายดอกหงอนนาคและดอกไม้อื่นๆ
ทุ่งดอกหงอนนาค ผลงานจากธรรมชาติสรรค์สร้าง
น้ำตกสายทิพย์ หลักกิโลไทย-ลาว

นอกจากดอกไม้ ป่าสน บนลานสนยังมีเส้นทางเดินระยะสั้นสู่ “น้ำตกสายทิพย์” ที่เป็นน้ำตกขนาดเล็กมีสายน้ำไหลลดหลั่นกันมา รวมทั้งหมด 7 ชั้น หากไปในช่วงหน้าฝน ทางลงจะลื่นเดินลำบากหน่อย แต่น้ำจะเยอะดูสวยงามไปด้วยมอสที่ขึ้นปกคลุมตามพื้นและก้อนหินดุจดังพรมธรรมชาติสีเขียวผืนงาม ส่วนในช่วงหน้าหนาวราวเดือน ธ.ค. ที่นี่มีใบเมเปิ้ลแดงให้ชมกันด้วย

อีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลต์ไม่ไปก็เหมือนมาไม่ถึงนั่นคือ “หลักเขตชายแดนไทย-ลาว” หรือหลักเขต 2 แผ่นดิน ที่อยู่ห่างจากลานกางเต็นท์ทางด้านหลังไปประมาณ 1 กม.
หลักเขตชายแดนไทย-ลาว ในฝั่งลาว
หลักเขต 2 แห่งดินแห่งนี้ เป็นการก่อสร้างกันอย่างเท่าเทียม คือให้คนไทย 30 คน คนลาว 30 คน มาช่วยกันก่อหลักเขตกันคนละครึ่ง และแต่ละชาติต้องขนปูนขนทรายมาเอง แล้วก่อสร้างหลักเขตหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวที่ดูแล้วแนบเนียนไม่มีตำหนิให้ระคายตา

หลักเขตถือเป็นจุดถ่ายรูปชั้นดี ส่วนเลยหลักเขตเข้าไปทางฝั่งลาวแถวๆริมหน้าผา(มีเส้นทางเดินชัดเจน) ก็เป็นจุดรับสัญญาณโทรศัพท์เพียงจุดเดียวบนลานสน ที่ใครและใครหลายๆคนจะมาโทรศัพท์ อัปรูป โพสต์รูป โพสต์สเตตัสลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม กันมือเป็นระวิง ชนิดที่ถ้าทำไม่สำเร็จคืนนั้นอาจนอนไม่หลับ
ทุ่งดอกหงอนนาค ผลงานจากธรรมชาติสรรค์สร้าง
ในเส้นทางเดินชมหลักเขต ยังมีเส้นทางเดินชมธรรมชาติเป็นวงรอบในระยะทาง 2.28 กิโลเมตร พาไปสัมผัสกับความสวยงามสง่าของต้นสนสามใบ ที่ในช่วงหน้าฝนด้านล่างจะแวดล้อมไปด้วยทุ่งดอกหงอนนาค ส่วนหน้าหนาวก็จะมีดอกไม้พืชพรรณชนิดอื่นๆ ขึ้นทดแทนกันมา

ส่วนใครที่ชอบชมวิว บนลานสนมีจุดชมวิวเลาะเลียบหน้าผาหลายจุดให้ทัศนา รวมไปถึงจุดชมพระอาทิตย์ตก ที่ในวันท้องฟ้าอากาศเป็นใจ นี่นับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ลับฟ้าที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว
ฟินเวอร์ หน้าฝน พิชิตลานสน ภูสอยดาว
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์แห่งภูสอยดาวที่ในช่วงหน้าฝนอย่างนี้ ภูสอยดาวจะเปล่งศักยภาพความงามสูงสุดออกมาผ่านทุ่งดอกหงอนนาคที่สวยที่สุดในเมืองไทย ซึ่งนั่นก็ทำให้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานแพร่ ที่มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ชูภูสอยดาวเป็นหนึ่งในไฮไลต์แหล่งท่องเที่ยวหน้าฝนของพื้นที่ โดยมีสโลแกนอินเทรนด์ว่า “ฟินเวอร์ หน้าฝน พิชิตลานสน ภูสอยดาว

อย่างไรก็ดี ระหว่างเดินขึ้นพิชิตภูกรุณาอย่าถามว่ามันฟินตรงไหน แต่ความฟินเวอร์จะมีมาให้สัมผัสก็เมื่อเดินชนะเนินมรณะขึ้นไปเป็นผู้พิชิตลานสน แล้วได้มาพบเจอกับความงามของมวลมหาดอกหงอนนาคท่ามกลางดงต้นสนสามใบอันงามสง่า ซึ่งหากใครอยากสัมผัส คงต้องขึ้นไปพิสูจน์
อายุไม่ใช่อุปสรรคสำหรับช่างภาพ(ดัง)ท่านนี้
เพราะถึงแม้เส้นทางพิชิตภูสอยดาวจะสูงชัน ยากลำบากโหดหิน แต่เมื่อเราขึ้นไปพิชิตมันได้แล้ว สิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากความงดงามของธรรมชาติก็คือ

ภูสอยดาวสอนให้เราได้เรียนรู้ว่า การต่อสู้กับความยากลำบากจากอุปสรรคที่เผชิญผ่าน สิ่งสำคัญคือการพิชิตใจตัวเอง
ทุ่งดอกหงอนนาคในมุมพาโนรามา
***************************************************************
นอนเต็นท์ใกล้ชิดธรรมชาติท่ามกลางแวดล้อมของทุ่งดอกหงอนนาคแสนงาม
“อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว” มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่ตำบลม่วงเจ็ดต้น ตำบลนาขุม ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก โดยมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวในเส้นทางขึ้นภูสอยดาวตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์

การเดินทางสู่ภูสอยดาว จากตัวเมืองพิษณุโลก ใช้ทางหลวงหมายเลข 11 ที่มุ่งตรงไปยัง จ.อุตรดิตถ์ ถึง อ.วัดโบสถ์ ให้แยกขวาไปบ้านโป่งแคตามทางหลวงหมายเลข 1206 ถึงสามแยกบ้านโป่งแค เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1143 มุ่งตรงไปจนถึง อ.ชาติตระการ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1237 วิ่งตรงไปถึงแยกทางหลวงสาย 1268 เลี้ยวซ้ายไปภูสอยดาว รวมระยะทาง 188 กม.

สำหรับผู้ที่ไม่ได้มาด้วยรถยนต์ส่วนตัว ขอแนะนำให้นั่งรถโดยสารมาลงที่สถานีขนส่ง จ.พิษณุโลก จะมีรถเก๋ง/รถกระบะเช่าเหมาพร้อมคนขับมาส่งที่ที่ทำการอุทยานฯ ค่าใช้จ่ายสำหรับรถเก๋งประมาณ 3,200-3,600 บาท ตามแต่ต่อรอง (ราคารวมไป-กลับ นั่งได้ 4-5 คน)
ลานสนยามหมอกลงจัด
บนลานสนไม่มีไฟฟ้าและร้านค้า ร้านอาหาร นักท่องเที่ยวต้องเตรียมไฟฉาย เสบียงอาหาร น้ำดื่มและเครื่องใช้ต่างๆ ไปเอง โดยทางอุทยานฯ คิดค่าลูกหาบกิโลกรัมละ 30 บาท ด้านบนมีให้เช่าเตาถ่าน เตาแก๊ส และมีห้องน้ำไว้บริการ แต่ต้องเช่าถังน้ำเพื่อไปตักน้ำจากลำธารมาใช้เอง
 
อุทยานฯภูสอยดาว เปิดให้เที่ยวชมตั้งแต่ 1 ก.ค. - 15 ม.ค. ของทุกฤดูกาล สำหรับช่วงที่ดอกหงอนนาคบานเต็มที่จะอยู่ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. (ควรโทร.สอบถามข้อมูลทุ่งดอกหงอนนาคบานจากทางอุทยานฯก่อน)

ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ “อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว” โทร. 0-5543-6001 หรือที่ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานแพร่” (รับผิดชอบพื้นที่แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1127 และสามารถสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง “สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ” ได้ที่ โทร. 0- 5531-6713
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น