xs
xsm
sm
md
lg

เขาใหญ่ป่วน ลักลอบตัด “ไม้พะยูง” สุ่มเสี่ยงเป็นมรดกโลกอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผาเดียวดาย ส่วนหนึ่งของผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 38 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 15-25 มิถุนายน 2557 ที่จะถึงนี้ มีวาระการพิจารณาแหล่งมรดกโลกที่ถูกจัดอยู่ในภาวะอันตราย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ รวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากในพื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีปัญหาใหญ่อยู่ 2 ประเด็น ที่จะกระทบกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ามรดกโลก นั่นคือ ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าจากรีสอร์ตและบ้านพักที่อยู่รายล้อมพื้นที่มรดกโลก และอีกประเด็นสำคัญก็คือ ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงเพื่อการค้า อันนำมาซึ่งการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ป่าไม้

ทั้งนี้ปัญหาการตัดไม้พะยูงกลายเป็นปัญหาระดับนานาชาติ เนื่องจากการลักลอบตัดไม้นั้นเป็นขบวนการขนาดใหญ่ที่เมื่อตัดไม้พะยูงได้แล้วก็จะส่งออกนอกประเทศไปยังเป้าหมายปลายทาง โดยเฉพาะขณะนี้มีใบสั่งซื้อไม้พะยูงจากประเทศจีนและเวียดนามเป็นจำนวนมาก
ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ามรดกโลก
สาเหตุที่ไม้พะยูงมีราคาสูง และเป็นที่ต้องการอย่างมาก ก็เนื่องจากไม้พะยูงเป็นไม้เนื้อแข็งเช่นเดียวกับไม้สักและไม้ตะเคียน อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าเป็นไม้มงคลที่ใช้นำมาก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างถาวรอื่นๆ และหากนำมาปลูกในบ้าน จะทำให้บุคคลที่อยู่ในบ้านมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เป็นการพยุงหรือประคับประคองให้มั่นคง ไม้พะยูงจึงเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมนำไปสร้างบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัย ประกอบกับเมื่อประเทศจีนนำเข้าไม้พะยูงไปซ่อมแซมพระราชวังต้องห้าม ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 2551 และต่อมาผู้คนก็นิยมนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์มากขึ้นเนื่องจากสีสันและเนื้อไม้ที่มีลวดลายสวยงาม จึงทำให้ไม้พะยูงมีราคาพุ่งสูงขึ้นมาก

ปัจจุบันในตลาดโลกมีการปั่นราคาไม้พะยูงจนพุ่งสูงขึ้นมากถึงตับละ 50,000 บาทขึ้นไป (ไม้ 1 ตับ จะมีขนาดหน้าไม้ 20x40 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร) หรือราคาลูกบาศก์เมตรละ 250,000 – 300,000 บาท หรือหากคิดเป็นต้นขนาด 1 คนโอบก็มีราคาตั้งแต่ 300,000 บาทขึ้นไป
จัดการกับขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง
ด้วยเหตุที่ไม้พะยูงมีราคาสูงมาก และเป็นไม้ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก จึงเป็นสิ่งที่เย้ายวนใจให้เกิดขบวนการตัดและค้าไม้ข้ามชาติมากมาย การเข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูงนั้นจะมีนายทุนใหญ่เข้ามาสร้างเครือข่ายตัดไม้ในพื้นที่ป่าของไทย ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้มักจะประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธ ที่จะคอยอำนวยความสะดวกระหว่างตัดและขนย้ายไม้ ทำให้เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปลาดตระเวนหรือทำการจับกุม มักจะเกิดการต่อสู้กัน ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ จนปัจจุบันเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ร่วมมือกับกองทัพให้ช่วยส่งเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปประจำในพื้นที่ป่าและอุทยาน เพื่อปราบปรามขบวนการตัดไม้พะยูง

แหล่งไม้พะยูงที่ยังหลงเหลืออยู่ในไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งสุดท้ายของโลก ส่วนมากจะเป็นแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก อาทิ สุรินทร์ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา สระแก้ว เป็นต้น ซึ่งหากสังเกตจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับเขตชายแดน ทำให้สามารถลักลอบตัดและขนไม้ข้ามไปยังประเทศอื่นได้ง่าย
ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกโลกที่เสี่ยงต่อภาวะอันตราย
แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะมีความเข้มงวดในการลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้พะยูงมากขึ้น แต่สถานการณ์การลักลอบตัดไม้ก็ยังรุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งในปี 2557 นี้ สถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปี 2556 สามารถจับกุมผู้ต้องหา และจับไม้พะยูงของกลางได้เกือบเท่ากับปริมาณที่จับกุมได้ในปี 2556 ตลอดทั้งปี

สำหรับในพื้นที่ป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีขบวนการเข้าไปลักลอบตัดไม้พะยูงเช่นกัน จนกระทั่งต้องมีการจัดทำโครงการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่เป็นการเร่งด่วน มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษจากสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 2 ลงพื้นที่เพื่อสืบหาข่าวและลาดตระเวนเพื่อปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูงในผืนป่ามรดกโลกอย่างเข้มข้น

อย่างไรก็ตาม กรณีการลักลอบตัดไม้พะยูงนี้ก็ยังเป็นปัญหาสำคัญทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ เพราะจะส่งผลกระทบต่อความโดดเด่นของผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ด้วย โดยมีความกังวลว่าจะประกาศให้อยู่ในบัญชีภาวะอันตราย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะถูกถอดออกจากมรดกโลกแต่อย่างใด

หากมองในอีกมุมหนึ่ง การถูกประกาศให้อยู่ในภาวะอันตรายนั้น จะทำให้ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงในเขตผืนป่ามรดกโลกถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อสำคัญที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งยูเนสโกจะเข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหานี้ เข้ามาสนับสนุนทั้งงบประมาณ มีการร่วมจัดทำด้านวิชาการทั้งการป้องกันและแผนฟื้นฟู เป็นตัวกลางที่จะช่วยประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในการแก้ปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูงที่เป็นปัญหาระดับนานาชาติในปัจจุบัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น