ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ทีมโฆษก ทภ.2 แถลงคุมเข้มรับกฎอัยการศึก ตั้ง “กอ.รส.ทภ.2” คุม 20 จว.อีสาน เผยใช้ กม.เข้มข้น 100% จัดชุดไล่ล่าตรวจค้นกลุ่มผู้ใช้อาวุธสงคราม พร้อมตั้งด่านตรวจร่วมพลเรือน ทหาร ตำรวจ ถนนสายหลัก ประเดิม 8 จุด ถ.มิตรภาพ และสาย 304 มุ่ง กทม. เน้นสกัดขนอาวุธ และกำชับแกนนำทุกกลุ่มห้ามเคลื่อนไหว ขอสื่อเสนอข่าวไม่แตกแยก ส่วนประชาชนให้ใช้ชีวิตตามปกติ
เมื่อเวลา 16.00 น.วันนี้ (20 พ.ค.) ที่ห้องแถลงข่าวฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ต.ประวิทย์ หูแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 2 ในฐานะหัวหน้าโฆษกกองทัพภาคที่ 2 โฆษก กอ.รมน.ภาค 2 พร้อมด้วยทีมโฆษก ทภ.2 แถลงข่าวผลการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน 20 จังหวัดภาคอีสาน เพื่อทำความเข้าใจกรณีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ พร้อมเปิดประชุมผ่านระบบทางไกลไปยังจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัดด้วย
พล.ต.ประวิทย์กล่าวว่า ในฐานะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 (กอ.รมน.ภาค 2) และการปฏิบัติที่สำคัญในส่วนของกองทัพภาคที่ 2 ได้จัดตั้งเป็นกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ภายในกองทัพภาคที่ 2 โดยประเด็นแรกที่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) อยากจะให้ทำความเข้าใจต่อสื่อ และช่วยขยายไปสู่ประชาชน คือ การประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกไม่ใช่เป็นการปฏิวัติ หรือการรัฐประหาร ทุกส่วนต่างๆ ยังปฏิบัติหน้าที่ และกิจกรรมไปตามปกติ
แต่เป็นการใช้กฎหมายที่เข้มข้นขึ้น โดยประกาศว่า ตั้งแต่วันนี้ (20 พ.ค.) เป็นต้นไปจะใช้กฎหมาย 100% โดยเฉพาะผู้ที่ใช้อาวุธสงคราม ซึ่งหลักๆ จะมีการจัดชุดไล่ล่า มีการดำเนินการตรวจค้นกันอย่างละเอียด
สำหรับวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายการประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆ และทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ สร้างความสามัคคี สร้างความรักของคนในชาติ ให้รอยยิ้มของประชาชน เอกลักษณ์ของคนไทยกลับคืนมาเหมือนเดิม จะไม่มีสี ไม่มีหมู่ ไม่มีเหล่าอีกต่อไป
ดังนั้น ในการที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัดในความรับผิดชอบของ ทภ.2 ซึ่งจะจัดตั้งเป็นกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยใน ทภ.2 จะต้องขอความร่วมมือจากหลายส่วน
ส่วนแรกคือ กองทัพจะจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย รับผิดชอบ 20 จังหวัด และทั้ง 20 จังหวัดจะมีหน่วยขึ้นตรงของ ทภ.2 จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ทั้ง 20 จังหวัด ตรงนี้จะมีภาระหน้าที่ในการสร้างภาวะแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ การจะทำได้ต้องขอความร่วมมือโดยเราจะใช้กฎหมาย 100% โดยเฉพาะผู้ที่ใช้อาวุธสงคราม จะมีการจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัดร่วมพลเรือน ตำรวจ ทหารในพื้นที่เส้นทางหลัก เพื่อดำเนินการตรวจค้นอาวุธสงคราม อาจทำให้กระทบต่อพี่น้องประชาชนบ้าง แต่พยายามหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด
ประการที่ 2 มวลชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันจะมีการพบปะพูดคุย และขอร้องประสานกับแกนนำของมวลชนว่า ขอให้อยู่นิ่งๆ อยู่กับที่ อยู่ที่บ้าน อย่าได้มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการนำมวลชนไปใน กทม. หรือกดดันในพื้นที่ขอให้ละเว้น รวมทั้งเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือสื่อทุกแขนง อยากจะขอร้องให้ดำเนินการเสนอข่าวแบบสร้างสรรค์ ไม่เกิดความแตกแยก ให้เกิดความสามัคคี
“สื่อบางแขนงหากไม่ให้ความร่วมมือเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเข้มขึ้น เช่น ไปพบปะพูดคุย และอาจต้องมีการงด หรือปิดสถานีไปเลย เช่น วิทยุชุมชน เคเบิลทีวีต่างๆ ด้วย ในการดำเนินการของ ทภ.2 หรือหน่วยส่วนราชการยังคงปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะกระทบกระเทือน” พล.ต.ประวิทย์กล่าว
พล.ต.ประวิทย์กล่าวต่อว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เป็นการบังคับใช้ไม่ครบทุกมาตรา และขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศเคอร์ฟิว หากได้รับความร่วมมือจากประชาชน และแกนนำกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างดีคงไม่มีประกาศเพิ่มเติม ไม่มีการยึด กักขัง และทำลาย มีการประกาศใช้ในเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น
ส่วนจำนวนกำลังทหารที่ตั้งจุดตรวจสกัดตามเส้นทางสายหลักนั้น กำลังทหารร่วมกับพลเรือน ตำรวจ มีเพียงพอที่จะทำความเข้าใจต่อประชาชน ประมาณจุดละ 30-40 นาย ขึ้นอยู่กับแต่ละจุด โดยในการตรวจค้นพยายามจะไม่ใช้อาวุธประจำกาย และเป็นขอตรวจค้นอย่างดี ซึ่งมีแผนตั้งจุดตรวจตามเส้นทางหลักที่มุ่งเข้าสู่พื้นที่อำเภอ จังหวัด และ กทม. เช่น ถ.มิตรภาพ ถ.ทางหลวงหมายเลข 304 สายราชสีมา-กบินทร์บุรี ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 8 จุด และจะเพิ่มอีก 1-2 จุด หากมีความจำเป็นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่เน้นเรื่องการค้นหาอาวุธสงครามที่จะเคลื่อนย้ายเป็นหลัก
สำหรับการดำเนินชีวิตของประชาชนนั้นสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติสุข ส่วนการตรวจการเข้า-ออก ภายในกองทัพภาคที่ 2 เป็นความจำเป็นตามปกติ ฉะนั้นการเพิ่มมาตรการในการรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งการติดต่อราชการสามารถทำได้ตามปกติ
พล.ต.ประวิทย์กล่าวอีกว่า การตรวจเข้มข้นไม่ใช่มุ่งตรวจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เราต้องการให้ประชาชนอยู่บ้าน ทำมาหากินทำกิจกรรมไปตามปกติ ดังนั้น ทุกหมู่เหล่า ทุกสี เราก็พบปะพูดคุยประสานการปฏิบัติกัน ขอเรียนว่าการประกาศกฎอัยการศึกนี้ต้องการใช้กฎหมายให้เกิดความสงบในพื้นที่เท่านั้น สำหรับการดูแลตามสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด มีแผนที่จะดำเนินการ แต่ยังไม่ปฏิบัติ นอกจากจะได้รับการร้องขอจากผู้ว่าราชการจังหวัด
ส่วนสถานีวิทยุชุมชนมีจำนวนมาก เฉพาะ จ.นครราชสีมามีเกือบ 300 สถานี รวมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วม 2,000 สถานี เราจึงขอความร่วมมือเป็นหลัก ส่วนพี่น้องประชาชนทั่วไปให้ปฏิบัติตามปกติสุข และรัฐบาลยังบริหารประเทศไปตามปกติ เช่นเดียวกับกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์สังกัดกองทัพภาคที่ 2 ยังคงปฏิบัติภารกิจไปตามปกติเช่นกัน