xs
xsm
sm
md
lg

“ของหมัก-ดอง” อร่อยปาก ลำบากกาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การนำวัตถุดิบสดๆ มาหมักหรือดอง ไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ต่างๆ ถือว่าเป็นการถนอมอาหารที่เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณมาอย่างช้านานแล้ว แต่ก่อนนั้นมีการหมักดองก็เพื่อทำให้อาหารที่หามาได้นั้นสามารถเก็บไว้กินได้นานขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการหมักดองกันเองในครัวเรือน

แต่ในปัจจุบัน อาหารหมักดองกลายมาเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น มีคนต้องการกินมากขึ้น เพราะรสชาติที่อร่อยถูกปาก ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ดองตามรถเข็น หน่อไม้ดองที่นำมาปรุงเป็นอาหาร หรืออื่นๆ อีกมากมาย ทำให้บางครั้งมีพ่อค้าแม่ค้าหัวใสใส่สารเคมีที่เป็นอันตรายผสมเข้าไปเพื่อเพิ่มรสชาติ หรือทำให้หน้าตาดูน่ากิน หรือบางครั้งก็ใส่เพื่อยืดอายุอาหารให้อยู่นานมากขึ้นไปอีก

ตัวอย่างสารเคมีหรือสารมีพิษต่างๆ ที่เคยมีการตรวจพบตามท้องตลาด อาทิ ในผลไม้ดอง-ผลไม้แช่อิ่ม พบ สารซัคคาริน หรือ ขัณฑสกร ในปริมาณมากเกินกว่าที่กำหนด โดยสารซัคคารินเป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 300 เท่า ผู้ใช้ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน เพราะสารซัคคารินเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งหลายประเทศมีการออกประกาศห้ามใช้แล้ว

ส่วนในหน่อไม้ปี๊บ หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ก็เคยตรวจพบสารกันเชื้อรา หรือสารกันบูด หากบริโภคเข้าไปมากจะไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ ความดันโลหิตต่ำจนเกิดอาการช็อค บางรายอาจเกิดอาหารแพ้ เป็นผื่นขึ้นตามตัว อาเจียน หูอื้อ หรือมีไข้

หรือในบางครั้ง หากเลือกกินผักผลไม้ดอง แม้จะไม่ได้ใส่สารพิษอื่นๆ ลงไป แต่อาจมีการตกค้างอยู่ของยาฆ่าแมลง เนื่องจากเกษตรกรบางคนใช้ในปริมาณมากเกินไป จึงเกิดการตกค้างมากกับผลไม้ก่อนนำมาดอง หากบริโภคยาฆ่าแมลงเข้าไปมากๆ ในคราวเดียว จะทำให้เกิดพิษแบบเฉียบพลัน เช่น ทำให้กล้ามเนื้อสั่ง กระสับกระส่าย ชักกระตุก และหมดสติ หายใจขัดจนถึงอาจหยุดหายใจได้ แต่พิษที่พบได้มากที่สุดก็คืออาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และหากสะสมอยู่ในร่างกายมาๆ จะทำให้เกิดมะเร็งได้

อาหารการกินในทุกวันนี้ที่ซื้อมาจากนอกบ้าน ควรสังเกตและเลือกซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ หรือหากเป็นไปได้ การบริโภคอาหารสด หรืออาหารที่ปรุงเองใหม่ๆ ก็จะเป็นการปลอดภัยที่สุด
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น