xs
xsm
sm
md
lg

พบ “ไดออกซิน” บ่อขยะแพรกษา เกินมาตรฐาน 15 เท่า (คลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเผยผลทดสอบไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา พบ “ไดออกซิน” สารก่อมะเร็งเกินมาตรฐาน 15 เท่า ระบุไทยยังไม่มีมาตรฐานเป็นของตัวเอง จึงอ้างอิงมาตรฐานแคนาดา ซึ่งมีมาตรฐานเข้มงวดที่สุด

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นำแถลงผลการวิเคราะห์การตรวจวัดสารไดออกซินและสารอันตรายจากกรณีไฟไหม้ที่บ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการ ณ ห้องปฏิบัติการไดออกซินและสารอันตราย ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จ.ปทุมธานี เมื่อ 9 เม.ย. 57

อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. เพื่อเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ ทั้งตัวอย่างอากาศ น้ำใต้ดิน น้ำบนดิน และบริเวณรอบบ่อขยะ ซึ่งการตรวจสอบสารไดออกซินต้องใช้เวลา 10-15 วัน




สำหรับการแถลงข่าวดังกล่าว นายจตุพรกล่าวว่า เป็นผลจากการปะทุของไฟในบ่อขยะแพรกษาที่มีเนื้อที่ 150 ไร่อีกครั้งเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา หลังจากการเกิดไฟไหม้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มี.ค. จึงออกมาแถลงข้อมูลให้แก่ประชาชนได้รับทราบ และยังมีการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยจะทราบผลวิเคราะห์หลังเทศกาลสงกรานต์

ทางด้าน นางสุวรรณา เตรียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม เผยว่าเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างวิเคราะห์สารไดออกซินและฟิวแรนที่ระยะ 1 และ 10 กิโลเมตรจากบ่อขยะ และเมื่อเปรียบเทียบเกณฑ์ค่ามาตรฐานของสารไดออกซินและฟิวแรนในบรรยากาศของแคนาดา ที่กำหนดให้สารทั้งสองไม่เกิน 0.1 พิโคกรัม-TEQ ต่อลูกบาศก์เมตร พบว่า ตัวอย่างอากาศจากบ่อขยะมีค่าเกินมาตรฐาน 10-15 เท่าในวันที่ 20-21 มี.ค. แต่ในวันที่ 22 มี.ค. ค่าลดลงเนื่องจากมีฝนตก

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายในอากาศ (VOCs) ซึ่งเป็นสารระเหยที่พบได้ปกติในแหล่งอุตสาหกรรมและการคมนาคม อาทิ เบนซีน โทลูอีน และสไตรีน โดยจัดเป็นสารอันตรายที่ถูกปลดปล่อยสู่บรรยากาศจากเผาไหม้ยางพลาสติกและโฟม ทั้งนี้ได้ตรวจวัดที่ระยะ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่มีบ้านจัดสรร, 5 กิโลเมตรซึ่งเป็นระยะที่มีวัด และที่ระยะ 10 กิโลเมตรจากบ่อขยะ

ผลจากการวิเคราะห์ VOCs พบว่าตัวอย่างที่สำรวจวันแรกมีสารเบนซิน โทลูอีนและสไตรีนสูงมาก และวันที่ 20-21 มี.ค. พบเบนซีนสูงกว่าเกณฑ์ค่าเฝ้าระวังเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่กำหนดไว้ 7.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 11 และ 3 เท่าตามลำดับ และพบสไตรีนสูงกว่าบรรยากาศทั่วไป 3-5 เท่า และปริมาณสารเหล่านี้ลดลงเมื่อห่างจากบ่อขยะมากขึ้น

ส่วนการตรวจไดออกซินและสารอันตราย ในน้ำผิวดิน 4 จุด และน้ำใต้ดิน 2 จุด พบว่าที่ระยะความลึก 100 เมตร ไม่พบสารอันตรายในน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน แต่พบสารฟาธาเลท 2 ชนิด สารฟีนอล 3 ชนิด และโลหะหนัก 8 ชนิด โดยพบโลหะหนักเกินมาตรฐานในน้ำใต้ดิน คือ สารหนู และตะกั่ว แต่ไม่พบไดออกซินและฟิวแรนทั้งในน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน

ด้าน ดร.รุจยา บุญยทุมานนท์ ผู้อำนวยการส่วนห้องปฏิบัติการไดออกซินและสารอันตราย อธิบายเพิ่มเติมถึงไดออกซินว่า เป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 800 องศาเซลเซียส และเป็นสารตกค้างยาวนาน มีฤทธิ์ก่อมะเร็ง ซึ่งเมืองไทยไม่มีการแยกขยะ ทำให้การเผาไหม้เกิดสารอันตรายต่างๆ ออกมามาก

ส่วนเหตุผลที่เปรียบเทียบผลทดสอบกับเกณฑ์มาตรฐานของแคนาดานั้น เนื่องจากประเทศไทยไม่มีมาตรฐานเป็นของตัวเอง และแต่ละประเทศจะมีค่ามาตรฐานที่แตกต่างกัน เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรม กำหนดให้มีค่าไดออกซินและสารอันตรายได้สูงกว่าแคนาดา

“เทียบกันแล้วมาตรฐานของแคนาดาเข้มงวดกว่าของญี่ปุ่น หากเราเทียบกับญี่ปุ่นค่าไดออกซินที่วัดได้ก็จะเกิดมาตรฐานแค่ 2 เท่า แต่เราอยากให้เกิดความตระหนักมากๆ จึงเลือกมาตรฐานของแคนาดา อีกอย่างญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรม การกำหนดให้มีสารไดออกซินในบรรยากาศจึงสูงกว่า แต่แคนาดายังมีพื้นที่บางส่วนที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนอเมริกาก็จะเป็นอีกค่ามาตรฐานหนึ่ง” ดร.รุจยากล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น