xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยววัดเมือง“น่าน” ปั่นจักรยานม่วนใจ๋/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
น่าน เมืองที่น่าปั่นจักรยานเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง
“น่าน” จัดเป็นเมืองเล็กประเภท Small is Beautiful

วันนี้บ้านเมืองน่านยังคงความสงบงามคลาสสิคเหมือนดังหยุดเวลาไว้

นั่นจึงทำให้น่านเป็นดังเมืองเก่าที่มีชีวิต ซึ่งในตัวเมืองน่านนั้นเหมาะอย่างยิ่งต่อการปั่นจักรยานท่องเที่ยว เพราะมีรถราไม่พลุกพล่าน(แต่บางวันในชั่วโมงเร่งด่วนก็มีรถติดเหมือนกัน) ทางจังหวัดได้ตีเลนจักรยานไว้ในปั่น แถมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆส่วนใหญ่ก็อยู่ไม่ไกลกัน

ที่สำคัญคือคนน่านน่ารัก ยินดีบอกแนะนำเส้นทาง บอกทาง(เวลาหลง) ด้วยรอยยิ้มและมิตรไมตรี และเมื่อนักท่องเที่ยวขี่จักรยานผ่านไปมา รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ จะหยุดรอให้จักรยานวิ่งผ่านไปก่อน สร้างความรู้สึกปลอดภัยได้ดีทีเดียว
ลานข่วงเมือง พื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองน่าน ที่เป็นหนึ่งในโซนปั่นจักรยานยอดนิม
ปั่นเที่ยววัดโซนข่วงเมือง

สำหรับเส้นทางปั่นจักรยานเที่ยวเมืองน่าน โซนหลักๆนั้นจะอยู่บริเวณ “ข่วงเมือง”หรือ“หัวแหวนเมืองน่าน” ที่ ต.ในเวียง อ.เมือง

บริเวณนี้มีสามมุมของสามสถานที่สำคัญที่ผมยกให้เป็น “สามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน” อันได้แก่ “วัดภูมินทร์”, “วัดพระธาตุช้างค้ำ” และ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน" ซึ่งผมได้เคยเขียนเรื่องของสามเหลี่ยมแห่งศิลปวัฒนธรรมเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ จึงไม่ขอฉายซ้ำ แต่อยากจะบอกว่าบริเวณข่วงเมืองนั้นคือพื้นที่ไฮไลท์ทางการท่องเที่ยวของจังหวัดน่านที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวัดภูมินทร์นั้น ว่ากันว่า ถ้าใครมาแอ่วน่านแล้วยังไม่เคยไปชมความงามของวัดนี้ เสมือนกับว่ายังมาไม่ถึงเมืองน่าน
หอไตร เจดีย์ วัดหัวข่วง
หากปั่นถัดจากละแวกข่วงเมืองออกไปนิด(หรือจะเดินเท้าไปก็ได้) เลยไปทางพิพิธภัณฑ์ยังมีอีก 2 วัดน่าสนใจให้เที่ยวชมกัน นั่นก็คือ “วัดหัวข่วง”กับ “วัดมิ่งเมือง”

วัดหัวข่วง(ถ.มหาพรหม)เป็นวัดเล็กๆที่ดูสวยงามสมส่วนไปด้วยศิลปะแบบท้องถิ่นล้านนา มีวิหารฝีมือช่างเมืองน่าน เป็นอาคารทรงจั่ว หน้าบันประดับลวดลายไม้จำหลักรูปพรรณพฤกษาที่บรรจงทำอย่างละเอียดประณีต ขณะที่ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลวดลายปูนปั้นรูปใบผักกาด ซึ่งเป็นการนำศิลปะแบบตะวันตกเข้ามาผสม ที่วัดหัวข่วงยังมีเจดีย์ทรงปราสาทหรือเรือนทองอิทธิพลศิลปะล้านนา และหอไตรเก่าแก่อันสวยงามสมส่วนเป็นอีกหนึ่งสิ่งน่าสนใจให้ทัศนากัน
วัดมิ่งเมือง กับรูปแบบงานพุทธศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์
ส่วนวัดมิ่งเมือง(ถ.สุริยพงษ์) เป็นสถานที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองน่าน ในบริเวณวัดน่าสนใจไปด้วยงานศิลปะปูนปั้นสีขาวลวดลายวิจิตรสวยงาม ดูเผินๆอาจจะชวนให้นึกถึงวัดร่องขุ่น ของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ แต่ถ้าเดินดูกันอย่างพิถีพิถันก็จะพบความงามที่ต่างกันออกไป ซึ่งนี่เป็นงานฝีมือของตระกูลช่างเมืองเชียงแสน ขณะที่ภายในโบสถ์ก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่านอย่างน่าสนใจ

นั่นเป็นโซนท่องเที่ยวบริเวณข่วงเมืองกับพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ไม่ไกลกัน สามารถปั่นจักรยานถึงกันได้เพียงไม่กี่นาทีและสามารถเดินเที่ยวได้อย่างสบายๆ
ในตัวเมืองน่านมีการทำช่องทางจักรยานไว้ในปั่นกันในหลายช่วงถนน
ปั่นเที่ยววัดนอกข่วงเมือง

ผมยังเพลินอยู่กับการปั่นจักรยานทัวร์เขตเมืองน่าน โดยเมื่อออกจากวัดมิ่งเมืองผมปั่นตรงไปบน ถ.สุริยพงษ์ มุ่งหน้าสู่“วัดศรีพันต้น” ที่อยู่บริเวณแยกศรีพันต้น บนทางหลวงหมายเลข 1091

วัดศรีพันต้น มีโบสถ์ที่โดดเด่นไปด้วยลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรประดับอยู่บริเวณหน้าบัน ในลักษณะเดียวกับวัดมิ่งเมือง แต่งานปูนปั้นที่วัดนี้ทาสีทองเหลืองอร่าม อีกทั้งยังมีบันไดนาค 7 เศียรที่แกะสลักได้อย่างงดงามวิจิตร ขณะที่ภายในโบสถ์นั้นเด่นไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง “พงศาวดารเมืองน่าน” เขียนแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองน่านที่ตีความร้อยเรียงออกมาได้อย่างน่าสนใจ
วัดศรีพันต้น
ส่วนที่ด้านหน้าวัดนั้นเป็นสถานที่เก็บเรือแข่ง“เลิศเกียรติศักดิ์”(พญามึ) เรือแข่งหัวนาคลำงามที่ตั้งแสดงไว้ให้ผู้สนใจได้ยลโฉมกัน

อ้อ!?! ที่ตรงข้ามกับวัดศรีพันต้นเขามีขนมหวานเจ้าดังที่แม้ขนมบางอย่างจะราคาสูงไปนิด แต่ก็มีนักท่องเที่ยวต่างถิ่น(โดยเฉพาะชาวกรุงฯ)เดินทางไปกินกันไม่ได้ขาด จนวันนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในจุดเช็คอินยอดนิยมของคนเมืองที่มาแอ่วน่านไปแล้ว
เรือแข่ง“เลิศเกียรติศักดิ์”(พญามึ) วัดศรีพันต้น
จากวัดศรีพันต้น ผมปั่นไปตามถนนใหญ่ ผ่านชุมชน แยกตลาดสดเทศบาล สู่“วัดสวนตาล”(ถ.มหายศ) ที่เป็นอีกหนึ่งวัดน่าสนใจของเมืองน่าน ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองเก่าน่าน

วัดสวนตาลมีอายุเก่าแก่กว่า 600 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระนางปทุมมาวดีชายาของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่านเมื่อราวปี พ.ศ.1955 เมื่อเข้าสู่เขตวัดจะสะดุดตากับ“บ่อน้ำทิพย์” ที่ตั้งเด่นอยู่ตรงกลางลานหน้าวัด
พระเจ้าทองทิพย์ วัดสวนตาล
บอน้ำทิพย์นี้เชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มีน้ำทิพย์ของ“พระเจ้าทองทิพย์”อยู่ในบ่อ ซึ่งพระเจ้าทองทิพย์นั้นเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่าน ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารวัดสวนตาล เป็นพระพุทธรูปทองสำริดองค์ใหญ่ มีพุทธลักษณะงดงาม ทุกๆปีจะมีงานนมัสการและสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ในช่วงสงกรานต์ ขณะที่ด้านหลังวิหารนั้นก็มีเจดีย์สัณฐานงดงามให้สักการบูชากัน
เส้นทางปั่นออกนอกเมืองสู่วัดพระธาตุแช่แห้ง
ปั่นเที่ยววัดนอกเขตเมืองน่าน

จากเส้นทางปั่นเที่ยววัดในเขตเมือง ออกมาสัมผัสกับเส้นทางเที่ยววัดนอกเขตเมืองกันบ้าง เส้นทางแรกเป็นเส้นทางยอดฮิตคือเส้นทางเที่ยว “วัดพระธาตุแช่แห้ง” ที่อยู่ออกนอกเมืองไปไม่ไกล

วัดพระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่ ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง เส้นทางปั่นมีให้ออกแรงอยู่ 2 ช่วงด้วยกัน คือเมื่อช่วงปั่นขึ้นสะพานพัฒนาภาคเหนือข้ามแม่น้ำน่าน ที่หากใครปั่นขึ้นไม่ไหวจะเข็นขึ้นแล้วถือโอกาสเดินกินลมชมวิวไปในตัวก็เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง จากนั้นเมื่อข้ามสะพานไปก็จะมีตรงสามแยกให้ออกแรงสปีดขึ้นเนินเพื่อมุ่งสู่วัดพระธาตุแห้งกันอีกยก
ปั่นขึ้นเนินสู่วัดพระธาตุแช่แห้ง
สำหรับวัดพระธาตุแช่แห้งนั้น มีข้อมูลระบุว่าพญาการเมืองโปรดทรงให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัยระหว่าง พ.ศ.1891-1901

วัดพระธาตุแช่แห้ง เป็นอีกหนึ่งวัดดัง วัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่านที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง สำหรับคนที่ปั่นจักยานไปเที่ยวให้ไปจอดจักรยานไว้บริเวณจุดอย่างรถ อย่าเผลอปั่นขึ้นไปตามเส้นทางบันไดนาคล่ะ เพราะทางวัดเขาห้ามรถทุกชนิดเข้า
วัดพระธาตุแช่แห้ง
วัดพระธาตุแช่แห้ง มีองค์พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีเถาะ(กระต่าย) ที่บุทองจังโก้ดูเหลืองอร่ามสมส่วนงดงาม

ส่วนที่ข้างๆกับองค์พระธาตุ(อยู่ทางขวาเมื่อเดินเข้าไป) เป็นที่ตั้งของวิหารหลวงที่ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงามดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา
พระเจ้าล้านทอง วัดพระธาตุแช่แห้ง
ส่วนที่ด้านหน้าวิหาร ตรงหัวบันไดทางเข้ามีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว ประดับยืนเฝ้าอยู่ โดยหนึ่งในนั้นเป็นรูปปั้นสิงห์คายนางที่น่าสนใจไม่น้อย ขณะที่บริเวณหน้าบันเหนือประตูทางเข้านั้นก็น่ายลไปด้วย ลวดลายปูนปั้น รูปพญานาค 8 ตัว ฝีมือช่างโบราณที่สร้างสรรค์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ดูมีชีวิตชีวา

รูปพญานาค 8 ตัว ปั้นเป็นพญานาคเกี่ยวกระหวัดกันเป็น 3 ชั้น ถือเป็นอีกหนึ่งงานศิลปกรรมสุดคลาสสิกของวัดแห่งนี้ เพราะนอกจากจะมีความงดงามสดส่วนแล้วยังแฝงปริศนาธรรมให้ขบคิดอีกด้วย
ศิลปะปูนปั้นรูปสิงห์ และพญานาค ที่ผนังด้านหน้าวิหาร
ส่วนที่หน้าบันด้านหลังวิหารนั้นก็มีงานปูนปั้นรูปพญานาคเกี่ยวกระหวัดเหมือนกัน แต่ว่าเป็นผลงานของสมัยใหม่ที่ช่างปั้นฝีมือไม่ถึง ปั้นตัวนาคออกมาผิดส่วนและแข็งทื่อ นับเป็นที่น่าเสียดายไม่น้อยเลย

นอกจากสิ่งน่าสนใจที่กล่าวมาแล้ว ในวัดพระธาตุแช่แห้งยังมี องค์พระนอน พระเจ้าทันใจ องค์เจดีย์สีขาวที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า รวมไปถึงบันไดนาคตัวยาวตรงปากทางขึ้น ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวัดแห่งนี้ เป็นสิ่งน่าสนใจให้ได้สัมผัสทัศนาในความงามกัน

และนี่ก็คือบางส่วนของเส้นทางปั่นเที่ยววัดในเมืองน่าน ซึ่งยังไงๆผมขอให้ชาวน่านลักท่องเที่ยวช่วยกันเก็บรักษาเสน่ห์แห่งเมืองน่านเอาไว้ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น