ทุกคราที่เริ่มต้นศักราชใหม่ ผู้คนส่วนใหญ่ถือเป็นโอกาสนิมิตรหมายอันดีที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆในชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม และสิ่งหนึ่งที่ถือปฏิบัติกันในฤกษ์งามยามดีเช่นนี้ก็คือ การไปกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
และหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นก็คือ พระธาตุเจดีย์ประจำปีนักษัตร หรือพระธาตุเจดีย์ประจำปีเกิด
ความเชื่อเรื่องพระธาตุเจดีย์ประจำปีเกิดนี้ ไม่ใช่ข้อวัตรปฏิบัติ หรือปรากฏในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา แต่เป็นคติความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา ความเชื่อนี้จะมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ พบว่ามีบันทึกอยู่ในตำราพื้นเมืองโบราณ
สรุปใจความได้ว่า ก่อนที่วิญญาณจะมาปฏิสนธิในครรภ์ของผู้เป็นมารดานั้น วิญญาณจะลงมา “ชุธาตุ” ซึ่งหมายถึงการที่ดวงวิญญาณจะลงมาพักอยู่ที่เจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมี ตั๋วเปิ้ง (สัตว์ประจำนักษัตร) พามาพักไว้ และเมี่อได้เวลา ดวงวิญญาณก็จะเคลื่อนจากพระเจดีย์ ไปสถิตอยู่บนกระหม่อมของผู้เป็นบิดาเป็นเวลา 7 วัน ก่อนที่จะเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์ของมารดา และเมื่อเสียชีวิตลงแล้ว ดวงวิญญาณก็จะกลับไปพักอยู่ที่เจดีย์นั้นๆตามเดิม
ดังนั้น บุคคลซึ่งเกิดในปีนักษัตรใดก็ตาม การหาโอกาสไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน ให้ได้อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต เชื่อกันว่าเป็นมงคลแก่ชีวิต มีอานิสงส์สูง และจะทำให้มีอายุยืนนาน รวมถึงเชื่อว่าหากสิ้นชีพไป ดวงวิญญาณจะได้กลับไปยังพระธาตุองค์นั้น ไม่ต้องเร่ร่อนไปในทุคคติภพอื่นๆ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ได้แพร่หลายไปสู่หลายๆพื้นที่ของประเทศ ก่อให้เกิดคติความเชื่อเช่นเดียวกันนี้
สำหรับพระธาตุเจดีย์ประจำปีนักษัตร มีดังต่อไปนี้
• พระธาตุประจำปีชวด(หนู)
พระธาตุศรีจอมทอง
พระธาตุศรีจอมทอง เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุ (พระธาตุส่วนที่เป็นพระเศียรเบื้องขวา) ของพระพุทธเจ้า
ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 218 ปัจจุบัน พระธาตุถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระวิหารจตุรมุข ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือพระเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2060
• พระธาตุประจำปีฉลู(วัว)
พระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุลำปางหลวง เป็นสถาปัตยกรรมสกุลช่างลำปาง ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ(เส้นผม) พระนลาฏ(หน้าผาก) และพระศอ(ลำคอ) เป็นปูชนียสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล และเป็นที่เลื่องลือในปาฏิหาริย์ขององค์พระธาตุที่สะท้อนเป็นภาพกลับหัวมีสีสันเหมือนจริงในพระวิหารและมณฑป
ตามประวัติกล่าวว่า พระมหากัสสปเถระ และพระเมติยะเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาจากประเทศอินเดีย เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ นำไปประดิษฐานในอาณาจักรต่างๆ
และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงมอบพระเกศาธาตุให้ชาวลัวะผู้หนึ่งชื่อกอน ลัวะกอนได้สร้างพระสถูปเจดีย์สูงเจ็ดศอก เพื่อบรรจุพระเกศาธาตุไว้
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 218 ได้มีพระอรหันต์สององค์คือ พระกุมารกัสสปะ ได้นำพระบรมธาตุส่วนพระนลาฏข้างขวา และพระเมฆิยะได้นำพระบรมธาตุส่วนพระศอ มาบรรจุไว้ในพระธาตุด้วย พระธาตุลำปางหลวงได้มีการสร้างเพิ่มเติมหลายครั้ง
• พระธาตุประจำปีขาล(เสือ)
พระธาตุช่อแฮ
พระธาตุช่อแฮ เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างเมืองแพร่ ซึ่งมีอิทธิพลศิลปะสุโขทัยแฝงอยู่ ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุช่อแฮ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุและพระบรมธาตุส่วนพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเมืองแพร่มาแต่โบราณ
ตามตำนานกล่าวว่าขุนลัวะอ้ายก๊อมเป็นผู้สร้าง ปรากฏหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์ระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชา(ลิไท)เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดี ซึ่งทอจากสิบสองปันนา และชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก๊อมนำมาถวาย
• พระธาตุประจำปีเถาะ(กระต่าย)
พระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุแช่แห้ง เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างเมืองน่าน ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง อ.ภูเพียง จ.น่าน เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุและพระบรมธาตุข้อพระหัตถ์(ข้อมือ)ข้างซ้าย เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน
จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่าน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวยและทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
• พระธาตุประจำปีมะโรง(งูใหญ่)
พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ฯ เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา-หริภุญชัย ผสมศิลปะลังกา ตั้งอยู่ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุที่พระสุมนเถระนำมาจากลังกา
ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าผายู เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 พร้อมกับการสร้างวัด ต่อมาได้บูรณะในสมัยครูบาศรีวิชัย
วัดพระสิงห์วรมหาวิหารเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง เป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วถึงกัน
• พระธาตุประจำปีมะเส็ง(งูเล็ก)
มหาเจดีย์พุทธคยา
พระมหาโพธิเจดีย์ หรือที่เรียกขานกันว่า มหาเจดีย์พุทธคยา เป็น 1 ในสังเวชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม สูง 51 ฟุต วัดโดยรอบฐานได้ 121.29 เมตร แวดล้อมด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น ภายในประดิษฐาน “พระพุทธเมตตา” ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก
สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสไปสักการะที่พุทธคยา ก็สามารถไปกราบไหว้ยังสถานที่ตั้งของเจดีย์พุทธคยา(จำลอง)ในเมืองไทย ซึ่งมีหลายแห่ง อาทิ พระเจดีย์เจ็ดยอด วัดโพธารามมหาวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่, วัดอนาลโย จ.พะเยา, วัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี, วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เป็นต้น
• พระธาตุประจำปีมะเมีย(ม้า)
พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ตั้งอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เป็นเจดีย์ทรงมอญ สูง 99 เมตร ประดับด้วยแผ่นทองคำ 4 หมื่นแผ่น รวมน้ำหนักทอง 8 ตัน พระมหาเจดีย์นี้บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า 8 เส้น เป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของพม่า
ตามตำนานกล่าวว่า พระมหาเจดีย์ชเวดากองเริ่มสร้างสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ หรือเมื่อประมาณ 2,600 ปีมาแล้ว กินเนสส์บุ๊คหนังสือบันทึกสถิติโลก ได้จัดให้พระมหาเจดีย์ชเวดากองเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในโลก
หากไม่สะดวกในการเดินทางไปสักการะที่พม่า ก็สามารถไปกราบไหว้พระเจดีย์รูปทรงเดียวกันได้ที่วัดพระบรมธาตุ อ.บ้านตาก จ.ตาก, วัดสำแล วัดสวนมะม่วง วัดสองพี่น้อง วัดเมตารางค์ วัดท้ายเกาะใหญ่ ในอำเภอสามโคก จ.ปทุมธานี
• พระธาตุประจำปีมะแม(แพะ)
พระบรมธาตุดอยสุเทพ
พระบรมธาตุดอยสุเทพ เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างล้านนา-เชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เป็นพระธาตุสำคัญของเมืองเชียงใหม่ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนล้านนา
การประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์บนเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมือง มีขึ้นราวปี พ.ศ. 1916 สมัยพญากือนา (พ.ศ. 1898-1928) ในยุคทองของล้านนา พระองค์ได้อาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัย มาเชียงใหม่ พระสุมนเถระจึงอัญเชิญพระบรมธาตุที่พบเมืองปางจามาด้วย
พระบรมธาตุนี้ได้ทำปาฏิหาริย์แยกเป็นสององค์ องค์หนึ่งประดิษฐานที่วัดบุปผาราม อีกองค์หนึ่งพญากือนาได้อาราธนาสถิตเหนือช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายที่ประดิษฐาน ช้างมงคลเดินขึ้นมาถึงยอดดอยสุเทพ แล้วร้องสามครั้ง ทำทักษิณาวรรต สามรอบ และล้ม(ตาย)ลง
พญากือนาให้ขุดหลุมประดิษฐานพระบรมธาตุ และก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ต่อมา พ.ศ. 2081 สมัยพระเจ้าเกษเกล้าได้ก่อเป็นพระเจดีย์สูงใหญ่เช่นทุกวันนี้
• พระธาตุประจำปีวอก(ลิง)
พระธาตุพนม
พระธาตุพนม เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองของอาณาจักรโคตรบูรณ์โบราณ ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นที่ประดิษฐานพระอุงรังคธาตุ(กระดูกส่วนหน้าอก)ของพระพุทธเจ้า และเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของภาคอีสาน
พระธาตุพนมสร้างขึ้นแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ประมาณ พ.ศ. 8 โดยเจ้าเมือง 5 องค์ ต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 องค์พระธาตุพนมได้หักโค่นลงมาหมดทั้งองค์ พุทธศาสนิกทั่วประเทศจึงได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ก่อสร้างขึ้นใหม่ และมีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2522
• พระธาตุประจำปีระกา(ไก่)
พระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัย เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างเมืองลำพูน ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัย อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในภาคเหนือ และเป็นมิ่งขวัญของชาวลำพูน
ตามที่ปรากฏในหนังสือตำนานพระธาตุหริภุญชัย กล่าวว่า พระธาตุมีลักษณะเป็นสถูปสี่เหลี่ยมทรงปราสาท ที่มีซุ้มทวาร เข้า-ออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทสี่เหลี่ยมอยู่ตรงมุมละองค์ก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากอยู่ในเมืองนี้ ภายในเป็นแท่นสำหรับประดิษฐานพระโกศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ในสมัยของพญาสรรพสิทธิ์ กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ โปรดให้ปฏิสังขรณ์เจดีย์เดิมที่พญาอาทิตยราชทรงสร้างไว้ และได้ขุดร่องทวารประตูเข้า-ออก ทั้งสี่เพื่อความปลอดภัย รูปทรงสัณฐานขององค์พระบรมธาตุยังคงเป็นลักษณะเดิม คือ เป็นทรงปราสาทสี่เหลี่ยมที่กว้างใหญ่และสูง
เมื่อพญามังรายตีเมืองหริภุญชัยได้ โปรดให้ซ่อมแซมดัดแปลงองค์พระธาตุขึ้นใหม่ การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทรวดทรงขององค์พระธาตุ จากทรงปราสาทกลายเป็นทรงเจดีย์ฐานกลมแบบทรงลังกา
• พระธาตุประจำปีจอ(สุนัข)
พระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี
เชื่อกันว่าพระเกศแก้วจุฬามณี เป็นเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นที่เก็บรักษาพระทันตธาตุ(พระเขี้ยวแก้ว)ของพระพุทธเจ้า
ด้วยเหตุที่พระธาตุเจดีย์องค์นี้ มนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ จึงได้กำหนดให้พระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา ที่เมืองไจ้ก์โถ่ อำเภอสะเทิม ประเทศพม่า เป็นสถานที่สักการะแทน เพราะองค์พระธาตุอยู่บนก้อนหินสีทองขนาดใหญ่สูง 5.5 เมตร ซึ่งตั้งหมิ่นเหม่อยู่บนหน้าผาสูงชัน โดยไม่ตกลงมาอย่างเหลือเชื่อ พระธาตุอินทร์แขวนนับเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวพม่าต้องไปสักการะ
แต่ถ้าในประเทศไทย เราสามารถไปกราบไหว้บูชาพระเจดีย์ที่วัดเกตการาม เชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อพ้องกับพระเกศแก้วจุฬามณี วัดนี้ตั้งอยู่ที่ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
• พระธาตุประจำปีกุน(หมู)
พระธาตุดอยตุง
พระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ตามตำนานเล่าว่า เป็นเจดีย์แห่งแรกในอาณาจักรล้านนา สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย(ไหปลาร้า) เป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ไทใหญ่ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์
แต่เดิมพระธาตุดอยตุงมีองค์เดียว เป็นศิลปะเชียงแสนย่อมุมไม้สิบสองคล้ายกับพระธาตุดอยสุเทพ พญามังรายเจ้าผู้ครองนครเชียงรายได้สร้างเจดีย์อีกองค์ใกล้กัน จึงทำให้พระธาตุดอยตุงมีสององค์
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2470 องค์พระธาตุทรุดโทรมมาก ครูบาเจ้าศรีวิชัยกับประชาชนชาวเมืองเชียงรายได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กสององค์บนฐานแปดเหลี่ยม ตามศิลปะแบบล้านนา และการบูรณะครั้งหลังสุด เมื่อปี พ.ศ. 2516ได้สร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นครอบพระธาตุองค์เดิมไว้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557 โดย กองบรรณาธิการ)