“ย่านกุฎีจีน” เป็นอีกหนึ่งย่านเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามปากคลองตลาด มีบริเวณอยู่ระหว่างสะพานพระพุทธยอดฟ้ากับวัดอรุณราชวราราม แต่ถึงจะเป็นย่านเล็กๆ แต่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งยังเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยในบริเวณชุมชนนี้เป็นที่รวมของชาวชุมชนที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข โดยหากมองมาจากฝั่งปากคลองตลาดจะเห็นศาสนสถานที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างได้อย่างชัดเจน
ตามประวัติแล้วย่าน “กุฎีจีน” หรือ ”กะดีจีน” เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นที่ดินที่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้พระราชทานที่ดินเพื่อให้แก่ชาวจีนและชาวโปรตุเกสได้สร้างที่อยู่อาศัย
เราไปชมสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกกันดีกว่า เริ่มต้นด้วย “วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” เป็นวัดสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีการก่อสร้างให้อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ คือ "หลวงพ่อโต" หรือเรียกชื่อแบบจีนว่า "ซำปอฮุดกง" หรือ “ซำปอกง” หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีนในย่านชุมชนแห่งนี้ และวัดกัลยาณมิตรฯ แห่งนี้ ยังเป็นหนึ่งในเก้าวัดของเส้นทางไหว้พระเก้าวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สื่อถึงวัฒนธรรมไทยและพระพุทธศาสนาในย่านกุฎีจีน
เดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาถัดมาไม่ไกลนักคือ “ศาลเจ้าเกียนอันเกง” ศาลเจ้าของชุมชนชาวจีนในย่านนี้ ที่มีองค์พระประธานเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม มีการสันนิษฐานกันว่า ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่มาของคำว่า “กุฎีจีน” ศาลเจ้าเกียนอันเกงเป็นศาลเจ้าเล็กๆ มีความสวยงามอย่างมาก มีการก่อสร้างแบบทั้งกระเบื้องโค้ง และวิธีมุงหลังคาแบบจีนแท้ๆ ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม ในปี 2551 ศาลเจ้าแห่งนี้สื่อได้ถึงวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนของย่านกุฎีจีน
อีกหนึ่งศาสนสถานอันโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ถัดจากศาลเจ้าเกียนอันเกงก็คือ “โบสถ์ซางตาครูส” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนาในย่านกุฎีจีนแห่งนี้ โบสถ์ซางตาครูสเป็นโบสถ์คริสต์ของนิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในฝั่งธนบุรี โดยบาทหลวงยาโกเบ กอรร์ ผู้นำกลุ่มชาวโปรตุเกสในขณะนั้น ได้สร้างโบสถ์หลังแรกขึ้นในที่ดินพระราชทานแห่งนี้ ตัวโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคผสมกับเรเนอซองส์ นอกจากจะเป็นศูนย์รวมใจของคริสตศาสนิกชนชาวกุฎีจีนแล้ว ปัจจุบันก็ยังเป็นศูนย์รวมใจของคริสตศาสนิกชนในละแวกใกล้เคียงอีกด้วย
หากมาชมความงามของโบสถ์ซางตาครูสแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดก็คือการมาชิม "ขนมฝรั่งกุฎีจีน" สูตรต้นตำรับ อันเป็นขนมโบราณ ซึ่งเจ้าของสูตรดั้งเดิมก็คือชาวโปรตุเกสที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนกุฎีจีนนั่นเอง หากใครได้มาเยือนย่านแห่งนี้แล้ว ก็ไม่ควรที่จะพลาดลองลิ้มชิมรสขนมฝรั่งกุฎีจีน หรือจะซื้อกลับไปฝากคนที่บ้านได้อีกด้วย (คลิกติดตามเรื่องกินย่านกุฎีจีน ได้ตามลิงค์นี้)
และศาสนสถานแห่งสุดท้ายที่จะพาไปชมในย่านนี้ก็คือ “มัสยิดบางหลวง” หรือ ”กุฎีขาว” ศูนย์รวมจิตใจของชาวอิสลามในย่านกุฎีจีน สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มัสยิดบางหลวงแห่งนี้มีเอกลักษณ์แปลกแตกต่างจากมัสยิดอื่นๆ คือ มีการออกแบบเป็นอาคารทรงไทย ซึ่งถือเป็นแห่งเดียวในโลกที่มีการออกแบบเช่นนี้ และมัสยิดบางหลวงนี้ ยังนับเป็นศาสนสถานที่กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร จัดให้เป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภท Unseen Bangkok อีกด้วย
การมาเดินเท้าเที่ยวชมย่านกุฎีจีนนั้นก็สามารถเดินได้อย่างสบาย เพราะมีทางเดินเท้าเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่สามารถใช้สัญจรไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ภายในย่านได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งยังสามารถที่จะปั่นจักรยานชมทิวทัศน์รับลมเย็นไปเรื่อยๆ ได้อีกด้วย โดยวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำนั้นก็สวยงามเป็นอย่างมาก และสามารถมองเห็นสะพานพระพุทธยอดฟ้าและพระปรางค์วัดอรุณฯได้อย่างสวยงาม ทางเดินริมน้ำนี้สามารถเดินชมวัดกัลยาฯ ศาลเจ้าเกียนอันเกง และโบสถ์ซางตาครูสได้ ส่วนมัสยิดบางหลวงจะต้องเดินเข้าไปในชุมชนด้านหลังโบสถ์คริสต์
เชื่อแน่ว่า “ย่านกุฎีจีน” แห่งนี้จะทำให้ผู้ที่ชอบเดินเท้าท่องเที่ยวและสนใจการท่องเที่ยวแบบเรียนรู้วัฒนธรรมอันหลากหลายได้สัมผัสกับความน่าสนใจของความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดีแน่นอน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทาง สาย 56,9,43,3,6,40,42 ผ่านหน้าโรงเรียนศึกษานารี จากนั้นเดินเข้าซอยกุฎีจีน จะพบโรงเรียนซางตาครูสศึกษา และโบสถ์ซางตาครูส
ทางเรือ : สามารถนั่งเรือข้ามฟากจากท่าราชินีมายังท่าวัดกัลยาฯ ได้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com