เชื่อว่า...หลายคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ต้องเคยฝันบ้างว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตขอให้ได้ไปสักการะบรมศาสดาที่ตนเลื่อมใสศรัทธา ณ ดินแดนต้นกำเนิดอย่างแน่นอน ทุกวันนี้พุทธศาสนิกชน ผู้เลื่อมใสศรัทธา ไปแสวงบุญตามพุทธสถาน ในปีหนึ่งๆ นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่การไปกราบไหว้สังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน) ตรัสรู้ (พุทธคยา) แสดงปฐมเทศนา (พาราณสี) และปรินิพพาน (กุสินารา) ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีความผูกพันอย่างแนบแน่นนั้น จะต้องมีสิ่งนำพา คือ สติปัญญาควบคู่กับศรัทธา จึงจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
การไปสักการะสังเวชนียสถาน 4 ตำบล เริ่มจาก “พุทธคยา” ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในมรดกโลก เปิดให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้าสักการะทุกวัน ตั้งแต่ก่อนรุ่งสาง จนถึงฟ้ามืด สำหรับนักแสวงบุญที่ประสงค์จะบำเพ็ญจิตภาวนาและเจริญสมาธิ ก็สามารถกระทำได้ทั้งคืน
ภายในองค์พระเจดีย์พุทธคยา ประดิษฐานพระพุทธรูป “พระพุทธเมตตา” ปางมารวิชัย ซึ่งสร้างจากหินแกรนิตสีดำ พระพักตร์เปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยน เมตตา กรุณา ไม่ว่าใครจะทุกข์ร้อนมาจากไหน เมื่อได้เห็นความงดงามของพระพักตร์ ต่างคลายความร้อนใจและลืมความทุกข์จนหมดสิ้น
ด้านหลังพระมหาเจดีย์มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เมื่อกว่า 2,600 ปีมาแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้ ปัจจุบันเป็นต้นที่ 4 ที่แตกหน่อมาจากต้นเดิมครั้งพุทธกาล เมื่อปี พ.ศ. 2423 รัฐบาลอังกฤษปกครองอินเดีย ได้มอบหมายให้นายพลอเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นผู้บูรณะสถานที่นี้ และปลูกต้นโพธิ์ขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม ณ ที่นี้ เราได้เห็นชนชาวพุทธหลายเชื้อชาติและภาษา ต่างมานั่งสวดมนต์ ทำสมาธิเจริญจิตภาวนาที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เสมือนกับได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ถึงที่ประทับ “พระแท่นวัชรอาสน์”
เช้ามืดของวันที่ 2 ได้พระวิทยากรพาไปทำใจ บูชาพระอาทิตย์ พร้อมทำใจกับการเกิด กับไปที่แม่น้ำคงคง ซึ่งชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เพราะไหลมาจากภูเขาไกรลาส บนสรวงสวรรค์ แต่ตามหลักทางภูมิศาสตร์ แม่น้ำคงคาไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล แม่น้ำแห่งนี้ พอเดินไปถึงท่าลงเรือแม่น้ำคงคา อากาศโปร่งใส ในยามเช้าตรู่ มองดูรอบบริเวณคับคั่งไปด้วยผู้ที่ศรัทธาต่อแม่น้ำคงคาและนักท่องเที่ยว เพราะสถานที่แห่งนี้ ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงมีพิธีกรรมอาบน้ำชำระล้างบาป และพวกฮินดูจะทำพิธีบูชาในทุกๆ ท่าน้ำที่จะลงอาบ บางกลุ่มบูชาสุริยเทพ หรือ ดวงอาทิตย์ ที่โผล่ขึ้นในยามเช้า ความหลากหลายทางความเชื่อจึงมีมาก ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา รวมทั้งพิธีเผาศพ ว่ากันว่ากองไฟ ณ ที่แห่งนี้ไม่เคยดับมากว่า 4,000 ปี
หลังจากนั้นได้ไปเยี่ยมบ้านนางสุชาดา ผู้ซึ่งทำอาหารถวาย จนทำให้พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ ที่แห่งนี้ แล้วเดินทางตามรอยบาทพระศาสดาไปยังเมืองพาราณสี ระยะทางจากพุทธคยา สู่เมืองพาราณสีไกลพอสมควร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง ร่างกายก็เริ่มอ่อนล้า แต่ใจยังเข้มแข็ง
ครั้นเข้าสู่เขตเมืองพาราณสี ซึ่งแออัดไปด้วยผู้คน พร้อมทั้งวัวเดินตามท้องถนนขวักไขว่ไปมา รถก็วิ่งช้าลงเพราะเป็นเขตชุมชน ในดินแดนแห่งนี้มีผู้คนหลากหลายให้เราได้เรียนรู้ หลายคนคงจะไม่ทราบและอาจจะงงกับการบีบแตรรถของชาวอินเดีย ซึ่งที่นี่ถือเป็นเรื่องสำคัญมากรถทุกคันจะบีบแตรใส่กันตลอดทาง และสำคัญกว่านั้นคือเป็นเมืองที่มีความเป็นส่วนตัวสูงมาก เห็นได้จากคนที่วิ่งสวนทางกันอยู่บนถนน แต่ถ้าเขาอยากจะคุยกันจะจอดรถทันทีเพื่อทักทาย โดยไม่ได้สนใจว่ารถคันข้างหลังจะรีบหรือไม่ บางคนถึงกับลงรถมาแล้วมายืนเช็ดรถกลางทางแยกก็มี
หลังจากนั้น เดินเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์สารนาถ ครั้นแวะชมเสร็จแล้ว มุ่งหน้าไป ธัมเมกขสถูป ซึ่งสถานที่แห่งนี้ดูยังมีมนต์ขลัง มีความเก่าแก่ตามกาลเวลา เป็นโบราณสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ธัมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นการแสดงธรรมครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ พระโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ สถานที่แห่งนี้สร้างราว ค.ศ. 500 จากหลักฐานที่ปรากฏ มีอิฐข้างในสถูปเป็นของยุคมารยัน จึงสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และระยะต่อมาก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เป้าหมายต่อไปคือเมืองกุสินารา นครที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระวิทยากรเล่าให้ฟังว่า แม้พระอานนท์จะทูลคัดค้านว่า กุสินารา เป็นเมืองเล็กเมืองดอน แต่พระพุทธองค์ก็ทรงยืนยันให้เป็นที่คืนร่างของพระองค์ ระหว่างการเดินทาง พระวิทยากรได้ แปลงรถยนต์ที่ใช้ในการเดินทาง เป็นสถานที่สวดมนต์ ทำวัตรเย็น ทำสมาธิ ช่วยทำให้การเดินทางได้รสชาติ เสมือนธรรมศาลาเคลื่อนที่
นครกุสินารามีสถานที่สำคัญคือ สาลวโนทยาน สถูปที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายใต้ต้นสาละ และวิหารปรินิพพาน ซึ่งด้านในมีพระพุทธปฏิมากรปางมหาปรินิพพาน ประดิษฐานอยู่บนพระแท่น เป็นพระพุทธรูปปางอนุฏฐิตสีหไสยาสน์ คือปางเสด็จบรรทมครั้งสุดท้าย เป็นองค์พระยาว 10 ฟุต สูง 2 ฟุต 1 นิ้ว และยังมีมกุฎพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ตั้งอยู่บนเนินสูงประมาณ 50 ฟุต สถูปเป็นเนินดิน ก่ออิฐหุ้ม ณ ที่นี้พุทธบริษัททั้งหลายได้ฝึกปฏิบัติการกำหนดลมหายใจ ให้ตระหนักถึงคุณค่าของลมหายใจว่าเป็นกัลยาณมิตร ไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราตลอด เช่นลมหายใจ!!
ที่นครแห่งนี้ ยังมีวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งถูกขนานนามว่า “ลิตเติล ไทยแลนด์” เพราะที่นี่มีโครงการสนับสนุนงานพระธรรมทูต การศึกษา งานสังคมสงเคราะห์ ตั้งแต่การรักษาพยาบาล ซึ่งมี “กุสินาราคลินิก” เริ่มจากเปิดเป็นมุมจ่ายยา เพื่อ ปฐมพยาบาลพระสงฆ์ ช่าง ไทย และกรรมกรชาวอินเดียที่ทำงานก่อสร้างในวัด ต่อมามีผู้ศรัทธาทำบุญด้วยยาหลายขนาน ทางวัดจึงขยายความช่วยเหลือ ดูแลเรื่องเจ็บไข้แก่ผู้ที่มาแสวงบุญ และคนพื้นเมืองด้วย โดยเก็บค่าพยาบาล 5 รูปี รักษาทุกโรค ยกเว้นวันพระ 15 ค่ำ และวันสำคัญของชาติรักษาฟรี
เป็นกุสินาราโพลีคลินิกแบบครบวงจร บนพื้นที่ 2 ไร่เศษ ตรงข้ามกับวัด เป็นอาคารพยาบาล 2 ชั้น ขนาด 30 เตียง ประกอบด้วย 16 ห้องตรวจ ห้องจ่ายยา ห้องเอกซเรย์ ศาลาไทยที่ปฏิบัติวิปัสสนาห้องธรรมเภสัช ซึ่งรักษาด้วยธรรมะ อาคารพักฟื้นสำหรับพระมหาเถระและฆราวาส ฯลฯ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 48 โดยมี พระราชรัตนรังสี เป็นผู้ดูแลและอำนวยการทุกอย่าง
จากเมืองกุสินารา เดินทางสู่ลุมพินี ในเขตประเทศเนปาล ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางถึง 4 - 5 ชั่วโมง บริเวณชายแดนวัดไทยนวราชรัตนรังสี (วัดไท 960) เป็นศาลาพักข้างทางของผู้แสวงบุญ อยู่ห่างชายแดนอินเดีย-เนปาล 3 กม. ซึ่งจะมีทั้งห้องน้ำ ห้องสุขาที่ได้มาตรฐานถึง 32 ห้อง แยกเป็นสัดส่วน สำหรับพระสงฆ์ ชาย หญิง และผู้พิการ มีศาลาน้ำชากาแฟ คลินิกปฐมพยาบาล พร้อมชิมโรตีแสนอร่อย
หลังจากนั้นได้เดินทางผ่านด่านโสเนารี เพื่อเตรียมออกจากประเทศอินเดีย เข้าสู่ด่านเบลาหิยะ เข้าประเทศเนปาล พระวิทยากรได้นำสวดมนต์ข้ามชาติ พร้อมทั้งเดินทางไปทอดผ้าป่าที่วัดไทยลุมพินี
เช้าวันรุ่งขึ้นเดินทางไปมนัสการลุมพินีวัน อันเป็นสถานที่ประสูติแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไหว้พระสวดมนต์ เจริญสมาธิ ทำประทักษิณรอบเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ออกเดินทางตามรอยบาทพระศาสดาต่อยังเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นานที่สุด ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง ถึงที่พักค่ำพอดี
เช้าวันใหม่ออกเดินทางไปยังวัดไทยเชตวันมหาวิหาร ร่วมทอดผ้าป่า สมทบทุนก่อสร้างวัดซื้อพื้นดินถวายคืนพระพุทธเจ้า เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ด้วยการร่วมใจสร้างไทยเชตวันมหาวิหารในสนามชาวพุทธทั่วโลก พร้อมให้บุญบารมีที่เกิดขึ้นจากกุศลในครั้งนี้ ขอถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยได้รับความเมตตาจาก พระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา มารับผ้าป่า พร้อมทั้งแสดงธรรมให้กับชาวคณะได้ฟัง ซึ่งนำบางช่วงบางตอนมาเล่าสู่กันฟัง
พระราชรัตนรังษี แสดงธรรมไว้ว่า การเดินทางสู่แดนภารตะแห่งนี้ มีทั้งสุข และมีทุกข์ให้ผจญ ใครจะได้รับสุข หรือทุกข์ ขึ้นอยู่กับการปรับสภาพของตัวเอง หากเรารู้จักสร้างความรู้สึกนึกคิดที่ดีๆ ต่อสิ่งที่ผ่านมากระทบ และรู้จักหลีกเลี่ยงความกินใจต่อสิ่งที่ไม่เหมือนเรา เช่นเดียวกับเด็กขอทานที่มีอยู่ทั่วทุกหนแห่งของอินเดีย เพื่อเข้าให้ถึงเสน่ห์ของอินเดียให้ได้ เราก็จะได้รับความสุขหลายๆ อย่างตามมา
ผู้จะจาริกอินเดียให้ดูดี ต้องพกศรัทธา พาปัญญา จูงความเพียร สะสมบารมีมาให้เพียงพอ หากศรัทธา ปัญญา และความเพียรมีอย่างจำกัด จะทำให้ผู้เดินทางอ่อนระโหยโรยแรง พลาดจากความสนุกและสิ่งแปลกใหม่อย่างน่าเสียดายยิ่ง เพราะฉะนั้นการไปอินเดียไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใครๆ คิดกัน ถ้าเรารู้จักทำใจ โดยใช้ธรรมะเป็นเครื่องระงับอารมณ์ แล้วเราจะเดินทางด้วยจิตที่ผ่องใส ใจที่เบิกบาน และบุญกุศลช่วยหนุนนำ
“...หลายๆ คนพูดถึงอินเดีย ใช่ว่าไม่อยากมาเยือน แต่เนื่องจากเขาสะสมข้อมูลเน่าๆ เอาไว้มาก จนออกอาการเบื่อๆ อยากๆ อินเดียยากจน อินเดียสกปรก อินเดียมีแต่ขอทาน อินเดียเดินทางลำบาก อินเดียอดอยากยากเข็ญ อินเดียถ่ายทุกข์ข้างถนน แค่นี้ก็แทบจะหมดอารมณ์แล้วล่ะ แต่จะดูให้ดีไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับเราเลย จะไปแบกทุกข์กับเขาทำไม ก็เราจะไปสวดมนต์ไหว้พระ พอแล้ว จะไปถือบ้าน ถือเมือง ถือความทุกข์เอาของเขาทำไม...หนักเปล่าๆ คนเราจะมีความสุขได้ คือการหมดกิเลส จะทำอย่างไรให้เรามีความสุขได้จากความไม่มี ตราบใดที่ยังมีกิเลส ความสุขจะเกิดยากมาก ดังนั้น 4 สังเวช จึงเปรียบเหมือนตัวดับกิเลส
พระพุทธเจ้าพบเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ พระองค์ไม่ไปแบกทุกข์ของเทวทูต กลับพลิกเทวทูตให้เป็นเทวดา นำพาให้พ้นทุกข์ได้ จริงๆ แล้วเพียงเรารู้จักการจัดความรู้สึกนึกคิดให้ดีๆ ก็พอแล้ว อย่าไปกังวลใจกับความลำบากของเขา เราเองก็ยังช่วยอะไรเขาให้พ้นทุกข์ไม่ได้ในขณะนี้ เขาเป็นเช่นนั้น เราเองก็เป็นเช่นนี้ ถ้าตามองเห็น จิตคิดเข้าไปแบกสิ่งต่างๆ ซึ่งของเขาทั้งนั้น เราก็เป็นเพียงจับกังที่เที่ยวแบกความทุกข์ของชาวบ้าน...หนักเปล่าๆ...”
คนที่มาอินเดีย มาเองก็มี เพื่อนชวนมาก็มี ถูกหลอกให้มาก็มี พระแนะนำมาก็มี ล้วนแต่มีที่ไปที่มาต่างกัน คิดดูให้ดีๆ แล้ว ศรัทธานี่เองพาเรามา กัลยาณมิตรช่วยให้เราได้มา คนเราเมื่อทำอะไรด้วยศรัทธาแล้ว เหมือนมีแก้วสารพัดนึก มีกุญแจไขตู้สมบัติ ขอให้มีศรัทธาเถิด จะประเสริฐทุกเรื่อง เพราะ... มีศรัทธา คือ มีความเชื่อมั่นในตนเอง, คือ มีความเชื่อมั่นในงานที่ทำ, คือ มีความเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมงาน, คือ มีความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ คนเราเมื่อศรัทธาจะทำ ทำสิ่งใดก็ไม่จำใจทำ ความศรัทธา ยังมีความสงบเยือกเย็น เป็นวิตามินหล่อเลี้ยงอีกด้วย
พระราชรัตนรังษียังสอนในการใช้ชีวิต คนเราไม่ควรประมาทกับการใช้ชีวิต เราไม่รู้ว่าในวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ฉะนั้นจะต้องมีสติ เหมือนกับการเลือกกินอาหาร เราต้องการจะกินอาหารมื้อสุดท้ายอย่างไร จะเลือกกินแบบหยอดทางสายยางหรือ ? แล้วน้ำหยดสุดท้ายล่ะ ควรจะเป็นน้ำอะไร เช่นเดียวกับลมหายใจสุดท้าย จะส่งแบบไหน ด้วยการตั้งสติ หรือด้วยการสิ้นใจ....ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา...
หลังจากฟังธรรมจากพระราชรัตนรังษี พระวิทยากรได้บรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดแห่งนี้ ว่ามีอนาถปิณฑิกเศรษฐี ผู้ใจบุญเป็นคนสร้างถวาย ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ พร้อมกับพระอรหันต์จำนวนมากพักอาศัยอยู่ที่แห่งนี้
วัดพระเชตวัน เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่นานที่สุด 19 พรรษา ถ้านับรวมที่จำพรรษาวัดบุพพารามของนางวิสาขาอีก 6 พรรษา รวมแล้วพระองค์ประทับอยู่เมืองสาวัตถี 25 พรรษา พระวิหารเชตวันนี้ มีพระสูตรเกิดขึ้นหลายพระสูตร และพระวินัยเกิดขึ้นหลายสิกขาบท
ต่อจากนั้น เดินทางไปสู่บ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเป็นเนินก้อนอิฐ มีซากปรักหักพัง ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ยังหลงเหลืออยู่
บ้านองคุลิมาล ตั้งอยู่ไม่ไกล ประมาณ 100 เมตร ตั้งอยู่คนละฟากถนน ซึ่งเป็นเนินดินฐานก่ออิฐเป็นรูปปราสาท สถานที่พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ ที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ รวมถึงต้นอานันทโพธิ์ ซึ่งเป็นต้นโพธิ์ที่ชาวพุทธนับถือว่ามีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา..จบการเดินตามรอยบาทพระศาสดา ด้วยหัวใจที่อิ่มเอม และปีติในหัวใจอย่างบอกไม่ถูก....
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com