การท่องเที่ยวนั้นถือเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแบบผจญภัย หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก็ล้วนแต่ทำให้ผู้ที่ได้ท่องเที่ยวนั้นรู้สึกผ่อนคลาย ได้ซึมซับบรรยากาศใหม่ๆ ที่แตกต่างจากในชีวิตประจำวัน
แต่สำหรับการออกไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่เข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนด้วยแล้ว นอกจากจะเป็นการพักผ่อน ก็ยังเป็นการเข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย อย่างเช่นที่โครงการ “Lady Journey… go green เที่ยวใส่ใจ หัวใจสีเขียว” ได้พานักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงทำงานเข้ามาท่องเที่ยว สัมผัส และเรียนรู้ชุมชนในท้องถิ่น จ.ตราด ซึ่งเน้นที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อให้เมืองไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตลอดไป
ชุมชนแรกที่เข้าไปสัมผัสก็คือ “บ้านห้วยแร้ง” ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 2,5 ต.ห้วยแร้ง อ.เมือง จ.ตราด ชุมชนแห่งนี้ได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นทางด้านการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2550 และยังได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้าน OTOP Village Champion (OVC) ปี 2549
ภาพที่เห็นในปัจจุบัน บ้านห้วยแร้งมีสภาพป่าและแม่น้ำลำคลองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรต่างๆ แต่ก่อนหน้านี้ในลำคลองห้วยแร้งจะมีกองขยะลอยอยู่ น้ำในลำคลองก็ไม่ได้ใสสะอาดเหมือนทุกวันนี้ จากการริเริ่มโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในชุมชน ก็ทำให้ชาวบ้านในชุมชนหันมาร่วมมือร่วมใจกันกำจัดขยะในคลอง รักษาพื้นที่ป่าริมคลอง ทำให้สัตว์น้ำน้อยใหญ่กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
ชุมชนห้วยแร้งวางเป้าหมายให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีชื่อเสียงของประเทศ พร้อมทั้งมีการขายผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนจะมีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น อีกทั้งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะต้องให้ชาวบ้านและชุมชนมีส่วนร่วม จนกลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การบริหารจัดการที่มีรูปแบบตามมาตรฐานสากล
กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในชุมชนบ้านห้วยแร้ง เริ่มต้นจากบริเวณศูนย์กลางของหมู่บ้าน โดยเริ่มจากการศึกษาเรียนรู้การผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อาทิ การทำสบู่สมุนไพรเปลือกมังคุด ซึ่งชาวบ้านได้มีการไปเรียนรู้และอบรมจากผู้รู้ในท้องถิ่นต่างๆ จากนั้นนำสูตรมาปรับปรุงให้เข้ากับวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งก็คือมังคุด กรรมวิธีการผลิตต่างๆ ก็มีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน เมื่อผลิตออกมาแล้วก็วางขายในชุมชน สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังชุมชน ให้เป็นของฝากกลับบ้าน
ส่วนวิถีชีวิตและอาหารการกินของชาวบ้านห้วยแร้ง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้เข้าไปเรียนรู้ เริ่มจาก พืชผักท้องถิ่น ที่ชาวตราดมีคติว่า กินอาหารเป็นยาไม่ใช่กินยาเป็นอาหาร โดยนำเอาพืชผักใบเขียวกว่า 10 ชนิด มาตำและคั้นเอาแต่น้ำ ได้เป็นน้ำดื่มเพื่อสุขภาพที่ทำได้ง่ายๆ
จากนั้นดูกรรมวิธีการทำ “ขนมจาก” ซึ่งเป็นขนมที่นิยมทำกินกันในท้องถิ่น เนื่องจากวัตถุดิบที่หาได้ง่ายๆ ทั้งมะพร้าว ใบจาก ส่วนอีกเมนูเด่นของชุมชนห้วยแร้งก็คือ “ข้าวห่อกาบหมาก” ซึ่งข้าวห่อกาบหมากของที่นี่จะแตกต่างจากที่อื่น ตรงที่ใช้เป็นข้าวผัดน้ำพริก ห่อรวมกับเครื่องเคียงต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวพกติดตัวไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย
ความสนุกสนานอยู่ที่นักท่องเที่ยวจะได้ทดลองห่อข้าวกาบหมากด้วยตัวเอง ใครจะตักเยอะตักน้อย ชอบเครื่องเคียงอะไรก็ใส่ได้เลย จากนั้นมาลุ้นว่ากาบหมากที่เลือกมาจะห่อข้าวได้มิดหรือไม่ และที่นี่ก็ยังมีเชือกที่ทำจากกาบหมากเอาไว้ให้มัดเป็นสายสะพาย จะได้สะพายข้าวห่อกาบหมากเดินเที่ยวไปด้วย
เสร็จจากการตุนเสบียงแล้ว นักท่องเที่ยวก็จะได้เข้าไปสัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำลำคลองและผืนป่าของชุมชนห้วยแร้ง โดยการลงไปล่องเรือชมธรรมชาติริมคลองห้วยแร้ง ที่มีต้นไม้ใหญ่น้อยมากมาย และส่วนใหญ่ก็เป็นต้นไม้ที่ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย อย่างเช่น ต้นจาก ที่ใช้ใบมาห่อขนม ใช้ตับจากมุงหลังคา ลูกจากก็สามารถกินได้ รสชาติของลูกจากหวานเล็กน้อย มีกลิ่นหอม ซึ่งคนที่นำเที่ยวก็จะตัดลูกจากมาแจกให้ลองชิมกันด้วย
เที่ยวชุมชนห้วยแร้งแล้ว ก็เปลี่ยนทิศทาง มุ่งหน้าสู่ “บ้านช้างทูน” ตั้งอยู่ที่ อ.บ่อไร่ จ.ตราด ที่นี่โดดเด่นด้วยวิถีชีวิตของชาวชอง ซึ่งเป็นชนพื้นถิ่นดั้งเดิมที่ตั้งรกรากอยู่ทางภาคตะวันออกของไทย บริเวณระยอง จันทบุรี และตราด
ชาวชองที่อาศัยอยู่ที่บ้านช้างทูนมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองที่เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลาย เนื่องจากในช่วงตื่นพลอย (ประมาณ พ.ศ. 2511-2513) มีชาวเขมร ชาวลาว และชาวไทยอีสาน เข้ามาเสี่ยงโชคขุดพลอย และได้แต่งงานอยู่กินกันที่บ้านช้างทูน จึงเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมของตนเองและคนเชื้อชาติอื่นๆ เข้าด้วยกัน
ซึ่งการขุดพลอยนั้นก็ยังคงมีหลงเหลือให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และทดลองกันอยู่บ้าง หากใครที่ตาดีและโชคดี ก็อาจจะได้พลอยเม็ดเล็กๆ กลับบ้านมาด้วย โดยนักท่องเที่ยวจะได้โดยสารรถ “ซาเล้งเจอร์” มุ่งหน้าไปยังลำธาร พร้อมด้วยอุปกรณ์ร่อนพลอย จากนั้นก็ตักเศษหินเศษทรายในลำธารมาร่อนกับกระจาด ความสนุกสนานของการลองร่อนพลอยอยู่ที่ทุกคนจะมารวมหัวกันมองหาเศษพลอยที่ซ่อนอยู่ในหินและทรายนั่นเอง
แต่นอกจากกิจกรรมการร่อนพลอยแล้ว บริเวณริมลำธารยังมีกิจกรรมสำหรับผู้ที่รักสวยรักงาม ด้วยการทำ “สปาโคลนขาว” เป็นการนำโคลนขาวจากลำธารนี้มาผสมกับส่วนผสมอื่นๆ ที่ช่วยบำรุงผิว นำมาพอกให้ทั่วๆ ตัว ทิ้งไว้ให้แห้งสักเล็กน้อย แล้วจึงลงไปล้างตัวในลำธาร พร้อมๆ กับเล่นน้ำใสๆ เย็นๆ ไปด้วยในตัว เชื่อกันว่า ถ้าหากพอกผิวหรือขัดตัวแล้วจะทำให้ผิวพรรณผ่องใส มีน้ำมีนวล และดูเปล่งประกาย
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ขึ้นชื่อของชาวชอง บ้านช้างทูน ก็คือ “สปาสุ่มไก่” ที่เป็นภูมิปัญญาโบราณของชาวชอง เป็นการอยู่ไฟตามตำรับแพทย์แผนโบราณ ที่มีการใช้สมุนไพรและไม้หอมนานาชนิดที่มีอยู่ในชุมชน ต้มในน้ำเดือด และใช้ควันที่ลอยขึ้นมาในการอบตัว โดยสปาสุ่มไก่จะใช้สุ่มไก่มาบุผ้ากันน้ำที่ด้านใน มีรูให้สอดหัวขึ้นมาด้านบน ผู้ที่ทดลองทำสปาสุ่มไก่จะรู้สึกถึงความร้อนจากไอน้ำที่พวยพุ่งอยู่ด้านใน และยังมีกลิ่นหอมของสมุนไพรต่างๆ ที่จะช่วยผ่อนคลาย และช่วยให้รู้สึกสบายตัว
นอกจากจะมาท่องเที่ยว ทำกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนบ้านช้างทูนแล้ว หากจะสัมผัสให้ถึงวิถีชีวิตของชาวชองจริงๆ ก็ต้องลิ้มลองอาหารตำรับชาวชองที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง อาทิ แกงไก่กล้วยพระ น้ำพริกกะปิข้าวโพด ขนมจีนน้ำยาไก่ฟักทอง เป็นต้น
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนจริงๆ นอกจากจะได้ความเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศใหม่ๆ แล้ว ความรู้และประสบการณ์ที่ได้กลับมานั้น ก็คือเป็นกำไรที่ได้กลับมาด้วยเช่นกัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้ที่สนใจเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชนบ้านห้วยแร้ง และชุมชนบ้านช้างทูน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด โทร. 0-3959-7255, 0-3959-7259-60
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com