xs
xsm
sm
md
lg

“ปราสาทพระวิหาร” กับลำดับเหตุการณ์สำคัญ หลังศาลโลกตัดสินอีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังศาลโลกพิพากษาตัดสินไม่เป็นบวกต่อไทย ซึ่งหลังจากนี้ประชาชนได้จับตาการทำงานและทีท่าของกองทัพ และรัฐบาลไทยว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ปราสาทพระวิหาร เป็นปราสาทที่ถูกสร้างขึ้นในหลายรัชสมัยของกษัตริย์แห่งอาณาจักรขอมจึงจะแล้วเสร็จ โดยเริ่มการก่อสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งปกครองอาณาจักรในช่วงปี พ.ศ. 1345-1388

จากนั้นมีการต่อเติมสร้างส่วนต่างๆ ของปราสาทเรื่อยมาจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 1581 ส่วนในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้มีการสร้างต่อเติมปรับปรุงระเบียงคด

ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งปกครองราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 1656-1693 หลังจากรัชสมัยของพระองค์ปราสาทพระวิหารก็ไม่ได้มีการสร้างอะไรเพิ่มเติม

ปราสาทพระวิหารคงความเป็นศาสนสถานแห่งศรัทธาของผู้คนในภูมิภาคนี้ จนกระทั่งในยุคล่าอาณานิคมที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองประเทศกัมพูชา (และลาว เวียดนาม) ในอินโดจีน อันนำมาสู่ความขัดแข้งระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ พร้อมๆ กับระเบิดเวลาเรื่องข้อพิพาทในเรื่องปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ปรากฏเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นี่ก็คือปราสาทพระวิหารกับลำดับเหตุการณ์สำคัญ ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 เป็นต้นมา

-พ.ศ. 2404 ฝรั่งเศสได้ไซ่ง่อนและเวียดนามใต้เป็นอาณานิคมและเริ่มมีความสนใจในลาวและกัมพูชา

-พ.ศ. 2410 สยามกับฝรั่งเศสมีการทำสนธิสัญญายอมรับกัมพูชาเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส ยกเว้นเสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณ

-พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสเข้ายึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพร้อมทั้งให้สยามทำสนธิสัญญายกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส

-พ.ศ. 2447 สยามทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสยกเมืองหลวงพระบางกับดินแดนทางใต้ภูเขาดงเร็กให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับจันทบุรี (ที่ถูกฝรั่งเศสยึดไปก่อนหน้า)

-พ.ศ. 2450 สยามทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสยกดินแดนเสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับเมืองด่านซ้าย เมืองตราด และเกาะแก่งทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมลิงลงไปจนถึงเกาะกูดให้กับสยาม

-พ.ศ. 2472 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยือนปราสาทเขาพระวิหาร โดยมี เรสสิเดนต์ กำปงธม (ผู้ว่าราชการจังหวัดกำปงธม) ชาวฝรั่งเศส แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศพร้อมชักธงชาติฝรั่งเศสมารอรับเสด็จ (ภายหลังกัมพูชานำกลับไปเป็นข้ออ้างในศาลโลก)

-พ.ศ. 2483 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม พบว่าพรมแดนเขตนี้ใช้ลำห้วยเป็นเส้นเขตแดนแทนที่จะเป็นสันปันน้ำ จึงได้มีความพยายามขอแก้ไขการปักปันเขตแดนในส่วนนี้กับฝรั่งเศส

-พ.ศ. 2484 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นในฐานะของมหามิตร เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอินโดจีน กรณีรัฐบาลไทยโดยการนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กรีธาทัพเข้ายึดดินแดนที่เคยเสียไปสมัยรัชกาลที่ 5 กลับคืนมา ทำให้ไทยได้ดินแดนที่เคยเสียไป (รวมทั้งปราสาทเขาพระวิหาร) กลับคืนตามสนธิสัญญาโตกิโอ แต่ภายหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยเพื่อหลีกสถานะผู้แพ้สงครามจึงต้องคืนดินแดนดังกล่าวกลับให้ฝรั่งเศส

-พ.ศ. 2492 กัมพูชากับฝรั่งเศสร่วมกันคัดค้านอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารของประเทศไทย นับเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร

-พ.ศ. 2501 เริ่มมีความเคลื่อนไหวของกัมพูชาเกี่ยวกับปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร ตลอดจนการโต้ตอบทางหนังสือพิมพ์ของไทยและกัมพูชา เดือนสิงหาคมปีเดียวกัน รัฐบาลไทยประกาศสภาวะฉุกเฉินทางชายแดนไทยด้านกัมพูชารวม 6 จังหวัด คือ จันทบุรี ปราจีนบุรี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จ.อุบลราชธานี ในปลายปีเดือนธันวาคม กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย

-6 ต.ค. 2502 รัฐบาลกัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลโลกให้วินิจฉัย กรณีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา

-15 มิ.ย. 2505 ศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชา

-พ.ศ. 2513-2518 กัมพูชาภายใต้การนำของรัฐบาลลอนนอล ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยขึ้นใหม่และเปิดปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับบุคคลทั่วไป

-พ.ศ. 2518-2534 ภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลลอนนอลและเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างเขมรฝ่ายต่างๆ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขึ้นชมปราสาทเขาพระวิหาร

-พ.ศ. 2535 กัมพูชาเปิดปราสาทเขาพระวิหารเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังการยุติลงของสงครามกลางเมือง

-พ.ศ. 2550 กัมพูชายื่นเรื่องขอให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ในที่ประชุมองค์การยูเนสโก ณ เมืองไครส์เชิร์ต ประเทศนิวซีแลนด์ และไทยยื่นเรื่องคัดค้านโดยอ้างถึงเรื่องความเชื่อมโยงของปราสาทเขาพระวิหารกับปราสาทหินอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตประเทศไทย ทำให้องค์การยูเนสโกจึงยุติเรื่องไว้ก่อนเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปใหม่ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551

-22 พ.ค. 2551 ในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยคือ “นายนพดล ปัทมะ” กับรองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา มีการทำข้อตกลงร่วมกัน 6 ข้อ โดยไม่ได้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา อันเป็นที่มาของการเซ็นสัญญายินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลไทยและการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

-พ.ศ. 2551 การประชุมใหญ่องค์การยูเนสโก เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 พิจารณาคำร้องปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง และล่าสุด 8 กรกฎาคม 2551 องค์การยูเนสโกมีมติอนุมัติให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา

-17 เม.ย. 2556 ทีมกฎหมายฝ่ายไทย นำโดย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวถ้อยแถลงด้วยวาจาตอบโต้ข้อกล่าวหาของกัมพูชาที่ได้แถลงต่อศาลโลกไปเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2556 ประเด็นสำคัญคือการแสดงให้เห็นว่าไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505 อย่างครบถ้วน และข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวของกัมพูชา 
 

-11 พ.ย. 2556 ศาลโลกตัดสินไม่เป็นบวกต่อประเทศไทยอีกครั้ง โดยยืนความตามคำพิพากษาในปี 2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอ พร้อมระบุให้เขตอธิปไตยของกัมพูชาครอบคลุมถึงชะง่อนผา แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงภูมะเขือ ให้ไทยต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร แล้วให้ 2 ชาติต้องไปตกลงแผนปกป้องมรดกโลกภายใต้การดูแลของยูเนสโก
กำลังโหลดความคิดเห็น