ASTVผู้จัดการรายวัน-"ปึ้ง"เผยศาลโลกเลื่อนตัดสินคดีปราสาทพระวิหารเป็นวันที่ 11 พ.ย.นี้ มั่นใจผลคดี ไม่กระทบความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา บัวแก้วคาดผลออกได้ 4 แนวทาง "ปู"นัดประชุม 21 ต.ค. หารือตั้งกลไกระดับชาติและคณะทำงานรองรับคำพิพากษา เล็งถ่ายทอดสดเหมือนครั้งแถลงด้วยวาจา ด้าน ปชป. หวั่นกัมพูชาใช้ ม.190 เป็นข้ออ้างสู้ศาลโลก
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เปิดเผยที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ วานนี้ (16 ต.ค.) ว่า กระทรวงต่างประเทศแจ้งให้ตนทราบว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ได้แจ้งไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่า วันที่ 11พ.ย.นี้ ศาลโลกจะมีการอ่านคำตัดสินคดีที่ประเทศกัมพูชายื่นขอตีความคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2505 โดยตอนแรกคาดการณ์ว่าศาลโลกจะอ่านคำพิพากษาในเดือนก.พ.2557 ตามที่ได้รับข้อมูลเบื้องต้น แต่ล่าสุดศาลโลกได้ขยับคดีพิพาทระหว่างประเทศชิลี-เปรูออกไป จึงตัดสินใจอ่านคดีของไทย-กัมพูชาขึ้นมาแทน
ส่วนไทยจะได้รับผลดีหรือผลเสียตามที่ศาลโลกขยับคดีนี้ขึ้นมาเร็วขึ้นหรือไม่นั้น ตนคิดว่าการตัดสินไม่ได้มีผลดีหรือผลเสีย เพราะไทยรอคอยผลมาเกือบปี ซึ่งวันนี้คนไทยเข้าใจในคดีดังกล่าวดีขึ้น และทุกคนเฝ้ารอคำตอบอยู่เล้ว แต่ถ้ามีฝ่ายคัดค้านเกิดขึ้นนั้น ตนเชื่อว่าคงปลุกกระแสไม่สำเร็จ และตนคาดว่าเรื่องนี้จะเป็นไปด้วยดี ไม่มีความขัดแย้ง ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องดีที่จะได้จบสิ้นในปัญหาที่ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คณะทำงานของกระทรวงฯ ซึ่งตนเป็นประธาน ได้มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อ 2 วันที่แล้ว ซึ่งได้เตรียมการกันในเรื่องนี้ รวมทั้งจะพูดคุยกับกัมพูชาว่าไม่ว่าผลตัดสินจะออกมาแบบใด เชิงบวกหรือลบ เราก็ต้องพูดคุยกัน เพราะพื้นที่บริเวณนี้ ทั้ง 2 ประเทศต้องร่วมกันบริหาร รวมถึงต้องไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ที่ตอนนี้เป็นไปด้วยดี อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และสมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เคยพูดคุยกันในเรื่องนี้หลายครั้ง เพื่อให้ประชาชน 2 ประเทศอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
"ตอนนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบเรื่องนี้แล้ว และได้สั่งให้ดำเนินการตามขั้นตอน อีกทั้งจะหารือกันอีกว่าจะมีการถ่ายทอดสดการอ่านคำพิพากษาคดีนี้เหมือนเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาหรือไม่ รวมทั้งจะมีการทำเอกสารชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลจะทำเรื่องนี้อย่างเปิดเผย"
อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เบื้องต้นจะมีการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) กับคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ให้เป็นคณะใหญ่เพื่อดำเนินการเรื่องนี้
ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ศาลโลกได้กำหนดให้อ่านคำตัดสินคดีที่ประเทศกัมพูชายื่นขอตีความคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2505 ในวันที่ 11 พ.ย.2556 เวลา 10.00 น. ซึ่งตรงกับเวลา 16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
ส่วนแนวทางของคำพิพากษาของศาลโลกประเมินไว้ 4 แนวทาง คือ 1.ศาลโลกไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดี หรือมีอำนาจแต่ไม่มีเหตุที่จะต้องตีความ ต้องไปยังสถานะเดิมก่อนการยื่นฟ้องต่อศาลโลก 2.ศาลอาจตัดสินว่าขอบเขตเป็นไปตามเส้นเขตแดนบนแผนที่ 1 : 200,000 ซึ่งเป็นไปตามคำฟ้องของฝ่ายกัมพูชา 3.ศาลอาจตัดสินเป็นไปตามคำร้องของฝ่ายไทยที่ว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารเป็นไปตามเส้นที่กำหนดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2505 หรือ 4.ศาลโลกอาจกำหนดพิจารณาออกมากลางๆ
สำหรับการดำเนินการต่อไป วันที่ 21 ต.ค.นี้ นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือถึงการจัดตั้งกลไกระดับชาติระหว่างไทยกับกัมพูชา พร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรองรับคำตัดสินของศาลโลก รวมถึงจะประชุมวิเคราะห์ถึงแนวทางต่างๆ และท่าทีของไทย
นายเสก วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอเอกสารการนัดหมายรับฟังการอ่านคำพิพากษาอย่างเป็นทางการของศาลโลกอยู่ โดยเบื้องต้นคาดว่าในวันที่ 11 พ.ย.นี้ จะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ในรูปแบบเดียวกับเมื่อครั้งการแถลงด้วยวาจา เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า คำตัดสินคดีนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดน แต่เป็นเพียงการตีความเฉพาะกรณีของตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น
นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีการหารือหรือพูดคุย แต่เท่าที่ทราบ นายกรัฐมนตรีน่าจะมีการพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงบ้างแล้ว โดยเมื่อวันที่ 15 ต.ค. นายกรัฐมนตรีก็ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ตลอดเวลาในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมน้ำท่วม ก็มีการพูดคุยถึงเรื่องชายแดนด้วย
นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้มาตรา 190 มีเจตนาแอบแฝง ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ เพราะการแก้มาตรา 190 ได้ตัดสาระสำคัญที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งเรื่องอาณาเขตไทย ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนทิ้งไป เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ถ้าไม่มีมาตรา 190 อะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง เป็นห่วงว่า หากแก้มาตรา 190 จะทำให้กัมพูชานำเรื่องนี้ไปอ้างต่อศาลโลกเพื่อประโยชน์ต่อรูปคดี เมื่อถึงเวลานั้นจะมองหน้าลูกหลานอย่างไร