วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของชาติ โดยเป็นวันที่ปวงชนชาวไทยได้ร่วมกันรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือพระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อชาติและประชาชนอย่างมากมาย และยังทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนชาวไทยไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในท้องถิ่นใดๆ ก็ตาม ด้วยการเสด็จประพาสไปยังหัวเมืองต่างๆ ทั้งการเสด็จประพาสอย่างเป็นทางการ และการเสด็จประพาสต้น (การเสด็จประพาสโดยไม่แจ้งหมายกำหนดการ) ที่จะทำให้ทรงรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่แท้จริง
หนึ่งในสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จประพาสก็คือ “ถ้ำพระยานคร” ในอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถ้ำอันมีความงดงามวิจิตรพิสดารจนพระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จมาประพาสถ้ำแห่งนี้สักครั้งหนึ่ง
“ถ้ำพระยานคร” ถูกค้นพบโดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อครั้งที่เดินทางโดยทางเรือมุ่งหน้าขึ้นมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้นำเรือเข้ามาจอดพักหลบพายุในแถบนี้และสำรวจพบถ้ำที่อยู่ด้านบน ถ้ำนี้จึงได้ชื่อว่า “ถ้ำพระยานคร” และในคราเดียวกันนั้นเอง ก็ได้ขุดบ่อน้ำไว้ใช้ดื่มกิน เรียกว่า “บ่อพระยานคร” ซึ่งตั้งอยู่ก่อนถึงทางเดินขึ้นสู่ถ้ำพระยานคร
ความงดงามของถ้ำแห่งนี้อยู่ที่หินงอกหินย้อยที่ผนังถ้ำซึ่งดูราวกับธารน้ำตก จนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จประพาสถ้ำ ในคราวเดียวกับที่เสด็จประพาสแหลมมลายู โดยได้เสด็จมาประพาสถ้ำพระยานครเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2433
ในการเดียวกันนี้ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ทรงออกแบบสร้างพลับพลาจตุรมุข กว้าง 2.55 เมตร ยาว 8 เมตร สูง 2.55 เมตร โดยสร้างขึ้นที่กรุงเทพฯ แล้วส่งมาประกอบทีหลัง โดยให้พระยาชลยุทธโยธินเป็นนายงานก่อสร้าง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมายกช่อฟ้าด้วยพระองค์เอง และพระราชทานชื่อว่า “พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์
ปัจจุบัน พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของถ้ำพระยานคร เมื่อมองเข้าไปจากปากถ้ำแล้ว จะเห็นแสงอาทิตย์ส่องผ่านปล่องภูเขาด้านบน ลงมากระทบกับพลับพลาที่ประทับ กลายเป็นแสงเรืองรองส่องประกาย และยังถูกยกให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ เป็น 1 ใน 10 สถานที่ท่องเที่ยวอันมหัศจรรย์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว 1 ใน 9 ความมหัศจรรย์ของแหล่งท่องเที่ยวยามกลางวันที่จะงดงามที่สุด ตามคู่มือท่องเที่ยว 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และที่สำคัญ พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ยังถูกนำมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อีกด้วย
นอกจากการเสด็จมาประพาสถ้ำพระยานครในครั้งนั้น และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาจตุรมุขขึ้น ก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ไว้ ณ บริเวณผนังถ้ำด้านเหนือของพลับพลา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพระองค์ได้ทรงเคยเสด็จมาประพาส ณ สถานที่แห่งนี้แล้ว
และนอกจากรัชกาลที่ 5 แล้ว ก็ยังมีพระมหากษัตริย์อีกสองพระองค์ที่ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานคร ด้วยเช่นกัน นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. เมื่อครั้งเสด็จประพาสถ้ำนี้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2469 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จประพาสถ้ำพระยานครสองครั้ง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2501 และวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2524
ผู้ที่มาเที่ยวชมยัง “ถ้ำพระยานคร” จะได้เห็นความงดงามของหินงอกหินย้อย และความงามของพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เมื่อกระทบแสงแดด (ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะชมพระที่นั่งได้งามที่สุดคือ 10.30-11.00 น. เพราะแสงอาทิตย์จะส่องลงมายังพระที่นั่งพอดี) นอกจากนั้นเมื่อมองไปยังด้านบนปล่องถ้ำจะเห็นว่ามีลักษณะแผ่นหินเชื่อมติดกันคล้ายกับสะพาน ซึ่งจุดนี้เรียกว่า "สะพานมรณะ" ส่วนบริเวณพื้นทางเดินเป็นปุ่มหินขนาดเล็กใหญ่สลับกันไปคล้ายกับปุ่มหลังของจระเข้ จึงมีชื่อเรียกว่า "ทางสันจระเข้" แต่ทางเดินขึ้นไปยังถ้ำซึ่งมีระยะทาง 430 เมตร มีความลาดชัน เส้นทางเป็นหินขรุขระเกือบตลอดเส้นทาง ต้องใช้ความระมัดระวังในการเดิน แต่มีความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ และยังมีจุดแวะพักให้ชมทิวทัศน์รอบๆ ได้ด้วย
นอกจากนั้น บริเวณโดยรอบถ้ำยังมีความสวยงามเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นหาดแหลมศาลาซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างภูมิประเทศเขาหินปูนและชายฝั่งทะเล มีลักษณะเป็นภูเขาล้อมรอบ 3 ด้าน ด้านหน้าเป็นท้องทะเลอ่าวไทยที่งดงาม โดยหาดแหลมศาลายังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทาง 900 เมตร มีความน่าสนใจของธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งภูมิประเทศเขาหินปูน ภูมิประเทศชายฝั่งทะเล และพืชพรรณเฉพาะบริเวณเขาหินปูน เช่น ปรงเขา จันผา สลัดได เป็นต้น
**********************************************************************************
“ถ้ำพระยานคร” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การเดินทางสู่ตัวถ้ำสามารถเดินทางได้ 2 แบบ คือ การเดินเท้าขึ้นและข้ามเขาเทียนไปประมาณ 500 เมตร หรือจะไปทางเรือ โดยขึ้นเรือที่หาดบางปูนั่งอ้อมเขาไปประมาณ 10 นาที ส่วนช่วงที่สองนั้นต้องเดินขึ้นเขาในระยะทาง 430 เมตร
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com