xs
xsm
sm
md
lg

น้ำยาง...ในสายเลือด / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตอนจำความได้ พวกเราแปดคนพี่น้องมักถูกพ่อแม่ปล่อยให้อยู่บ้านกันตามลำพังเสมอๆ บางครั้งเป็นเดือนๆ บางครั้งหลายเดือนที่พ่อกับแม่หายไปจากบ้าน พี่สาวคนโต และคนรอง จะทำหน้าที่ดูแลน้องอย่างพวกเรา ทำหน้าที่หุงข้าวทำกับข้าวให้น้องๆ ได้กิน มีญาติในหมู่บ้านคอยแวะเวียนมาดูแลพวกเราบ้าง หมู่บ้านของเราไม่มีไฟฟ้า เราไม่มีวิทยุฟัง ไม่มีทีวีดู ค่ำลงเราก็สุมหัวนอน

พ่อกับแม่เดินทางไปทำสวนยางในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งแม้จะไม่ห่างไกลมากในสมัยนี้ เพราะเป็นอำเภอที่ชายแดนติดกันกับอำเภอเมืองที่เราอยู่ แต่การเดินทางสมัยนั้นลำบาก พ่อกับแม่ต้องออกเดินด้วยเท้าทางตั้งแต่ย่ำรุ่ง เพื่อไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟในบ้านควนมีด แล้วไปลงที่สถานีรถไฟในอำเภอจะนะ แล้วเดินด้วยเท้าอีก 2 วันกว่าจะถึงที่ทำสวน ระหว่างทางไปสวน ก็แวะตามจุดต่างๆ บนเส้นทางผ่าน ผ่านบ้านพี่น้องมุสลิมบ้านเขาดินก็แวะพักทานอาหาร แล้วก็ไปค่ำที่บ้านประจ่า ตำบลนาหว้าในปัจจุบัน พักที่บ้านญาติๆ ที่นั่น รุ่งขึ้นก็เดินทางด้วยเท้าอีกครึ่งวันถึงจะถึงสวน

ผมเคยใช้เส้นทางสายนี้ คาดว่าอายุน่าจะไม่เกิน 3-5 ขวบ ไปกับพ่อแม่ แม่กระเตงน้อง พ่อหาบคอนสัมภาระที่จำเป็น บางครั้งเดินไปหลับไปก็ยังมี ภาพของชุมชนที่เราเดินผ่าน ที่เขาหยิบยื่นความรักความเมตตาตลอดเส้นทาง ยังเป็นภาพที่ฝังใจไม่เคยลืม ทั้งการทักทายด้วยรอยยิ้ม หยิบยื่นขนม กล้วย หรือให้แวะเก็บเงาะ ทุเรียน ให้เก็บกินได้ตามที่ต้องการ ศาลาข้างทางตอนออกจากสถานีรถไฟจะนะ จะเป็นที่พักที่พ่อแม่ให้เราได้หลับพักเอาแรง ผ่านทางนั้นทีไรภาพก็ยังปรากฏให้เห็นชัดเจน พ้นบ้านเขาดินมุ่งสู่บ้านประจ่าต้องข้ามคลองวังคุย ที่เป็นเส้นแบ่งตำบลนาหว้า กับบ้านเขาดิน มีการพูดถึงการพบเห็นจระเข้ในคลองนั้นอยู่บ่อยๆ สะพานข้ามคลองเป็นต้นมะพร้าวต้นเดียวต่อทอดยาว มีราวสะพานโยกเยกๆ ให้เกาะผ่านไปได้ พ่อจะหาบของข้ามไปวางไว้อีกฝั่ง แล้วมาอุ้มพวกเราข้ามสะพานไปทีละคนๆ

บ้านพักของญาติๆ ที่บ้านประจ่า ที่เป็นเป้าหมายในคืนแรก ส่วนใหญ่เป็นบ้านยกพื้นสูง มีชานระเบียงฟากไม้ไผ่ ไม่มุงหลังคา แต่ที่ระเบียงของบ้านจะมีต้นส้มจุก ที่บางปีลูกส้มจุกที่แผ่กิ่งก้านลงมาตรงชานเรือน ทำให้เราสามารถเลือกเก็บด้วยมือจากชานเรือน

พ่อมีขนำในสวนอยู่บนเนินสูง ขนำของเราทำแน่นหนามากเพราะกลางคืนเราจะได้ยินเสียงหมีมาเดินรอบๆ ขนำอยู่เสมอ เช้าขึ้นมาบางวันเราก็มักพบเห็นโพรงอุง (แมลงที่ให้น้ำผึ้งแต่ตัวเล็กกว่าผึ้ง) ที่ถูกหมีใช้กรงเล็บขุดคุ้ยอยู่เสมอๆ กลางวันภาพของน้องๆ ที่อยู่ในวัยเพิ่งหัดคลานอยู่ในหลุมดินที่พ่อขุดเพื่อกันน้องไม่ให้คลานออกมาได้ และให้ผมนั่งเฝ้า หรือกรงรั้วไม้ไผ่เพื่อใช้ขังน้องตอนที่เขาเริ่มเกาะยืนได้ ภาพเหล่านั้นยังติดตาอยู่ผมจนถึงปัจจุบัน เสียงชะนีโหยหวนในยามเช้า หรือพลบค่ำ จากเขาลูกโน้นลูกนั้น นกเงือกบินผ่านเป็นคู่ๆ จนได้ยินเสียงกระพือปีกของมันได้ชัดเจน ยังฝังอยู่ในหูแม้นเวลาจะผ่านมา 50 กว่าปีแล้วก็ตาม

ยามค่ำคืนเราก่อกองไฟ เอากะลามาเคาะ จะมีตัวแมลงสีเขียวๆ บินตามแสงไฟลงมาให้เราได้จับไว้สำหรับอาหารในบางมื้อ มูสัง (อีเห็น) แลน กะจง ไก่ป่า ตัวอ้น ฯลฯ ก็จะมีเพื่อนชาวสวนหิ้วมาฝากที่ขนำของเราสม่ำเสมอ เรามีลำธารเล็กๆ ผ่านสวน ริมลำธารพ่อขุดบ่อน้ำไว้ใช้ รอบๆ บ่อ คือ ตะไคร้ ขมิ้น พริก ฯลฯ ที่แม่ปลูกเอาไว้สำหรับประกอบอาหาร บางคืนพ่อลงไปส่องกบ อาหารที่พวกเราชอบ จำได้ว่ากบที่นั่นตัวใหญ่ ขายาว ชาวบ้านเรียกว่า กบควน

 
ภาพต้นหลุมพอยอดเสียดฟ้าที่พ่อ และเพื่อนๆ ทำนั่งร้านขึ้นไปสูงสามสี่เมตรเพื่อโค่นมันลงมา ภาพท่อนซุงที่มีเถ้าแก่ในเมืองจะนะให้ช้างลากออกไป และทิ้งไม้ป่าบางชนิดที่ปล่อยไว้ให้เป็นหน้าที่ของพ่อจุดไฟเผาสุมขอน ริมขอนไม้ที่เหลือจากสุมไฟ ต้นผักชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า แซ้ (คล้ายๆ ต้นหอมแต่ใบเล็ก) ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ฟัก ถั่ว สารพัดพืชผักที่แม่หยอดเมล็ดลงไป และมันได้กลายเป็นอาหารที่เลี้ยงพวกเรามา

ภาพของเพื่อนๆ ญาติๆ มาช่วยกันลงแขกถางสวน กรอกเมล็ดข้าวเพื่อทำข้าวไร่ นึกถึงวันนั้นจะเป็นวันที่พวกเราเด็กๆ จะสนุกกันมาก เพราะเด็กๆ รุ่นเดียวกันที่มาจากขนำที่ไกลๆ จะตามพ่อแม่ของเขามาเล่นกัน ลำห้วยเล็กๆ คือ สระว่ายน้ำ และสร้างประติมากรรมกองทราย กองหินคืองานศิลปะหรือไม่เราไม่ทราบ แต่ทุกคนสนุก และอยู่กับมันได้ทั้งวัน ในช่วงที่ผู้ใหญ่เขาทำงานสวนกัน งานคนสวนที่ลงแขกก็จะจบลงตอนค่ำด้วยวงเหล้าเถื่อนที่มีกับแกล้มที่หาได้จากป่า ชนิดหลากหลายเมนูที่ทุกวันนี้ผมยังไม่เคยพบเคยเห็นอีกเลย

เวลาผู้ใหญ่นั่งปรึกษากัน มักจะมีเรื่องที่ผมคุ้นชินบ่อยมาก “ไอ้นั่นหลานไอ้นี่... คนนั้นญาติคนนี้ มันกำลังหาที่ทำสวน เพราะในหมู่บ้านไม่มีพื้นที่ที่จะทำมาหากินได้อีกแล้ว” เสียงข้อเสนอแนะว่า “แปลงนั้นเจ้าของเป็นมาลาเรียตายไปเมื่อปีที่แล้ว เมียเขาบอกขายไม่กี่พัน ตรงนั้นยังเป็นป่าแก่ว่างอยู่อีกมาก ไปบอกให้มันมาเลย เราจะช่วยๆ กันหักถาง ให้มันมาเข้าวงแชร์ (แชร์แรงงาน) ก็แล้วกัน” การหักร้างถางป่าในสมัยนั้นไม่มีเลื่อยยนต์ มีแต่ขวานตาใหญ่ๆ ด้ามยาวๆ เลื่อยยาวๆ แบบชักด้วยคนสองด้าน การแปรรูปไม้เพื่อทำบ้าน ทำขนำ ใช้เลื่อยยาวๆ นั้น และต้องใช้สองคนในการแปรรูปไม้ให้เป็นกระดาน

หลายปีผ่านไป ครอบครัวเราก็มีสวนยางเป็นของตัวเอง พี่สาวจบ ป.4 ก็ได้ออกมาเป็นแรงงานให้แก่ครอบครัว ทั้งทำนาเพื่อให้มีข้าวไว้กิน และไปช่วยพ่อแม่กรีดยางเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงดูครอบครัว พวกเราจึงเติบโตขึ้นในสวน ภายใต้ร่มเงาของต้นยางพารา ทุ่งนา ลำธาร และวิถีเกษตรผสมผสานของชุมชน ผมและน้องๆ มีโอกาสได้เข้าเมืองเรียนหนังสือจากรายได้ที่ได้จากน้ำยางพารา ในช่วงที่เราเล็กๆ มีดกรีดยางเก่าๆ ต้นมะละกอ ต้นนุ่น เต็มไปด้วยริ้วรอยของมีดกรีดยางจากฝีมือของพวกเรา โตขึ้นในวัยที่เราเริ่มจับมีดกรีดยางได้ พ่อก็หัดแนะนำให้พวกเรากรีดยาง เก็บยาง ลับมีดกรีดยาง

ต้นยาง น้ำยาง คือ รายได้ที่พอจะทำให้พ่อแม่มีเงินเป็นก้อน มากพอที่จะซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ให้แก่พี่สาว เป็นค่าเทอม ชุดนักเรียน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับครอบครัวของเรา จนถึงวันนี้ผมยังรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า สวนยางพารา ต้นยาง น้ำยางพารา คือ ส่วนสำคัญสำหรับชีวิตที่พอทำให้เราอยู่มาได้ และรู้สึกเสมือนเลือดในกายของตัวเองนั้นมีน้ำยางพาราไหลวนเวียนในสายเลือดอยู่ตลอดเวลา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น