•วิกฤตการณ์พลังงานนับวันยิ่งส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจอสังริมทรัพย์
•ผู้ประกอบธุรกิจทบทวน และเริ่มใช้ Green Concept มากขึ้น
•“แบบบ้านที่ใช้พลังงานน้อย แต่ช่วยให้ผู้ซื้อบ้านอยู่สบายขึ้น” จึงไม่เพียงการแสดงภาพลักษณ์อิงรักษ์สังคม-สิ่งแวดล้อมเท่านั้น
คงไม่ใช่แนวทางโหนกระแสที่เป็นเรื่องราวในแวดวงการอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่คือเหตุการณ์ที่ทั่วโลกประสบ เพราะหากนับถอยหลังจะเห็นว่าปริมาณพลังงานหลักจากฟอสซิล มีให้มนุษย์โลกใช้ได้อีกไม่นานเกินชั่วอายุคน โดยเฉพาะแก๊สธรรมชาติ และน้ำมันดิบ เราจะได้ใช้อีกประมาณ 30-40 ปีข้างหน้าเท่านั้น
แม้ในช่วงนี้เศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาตกต่ำจนทำให้ปริมาณการใช้พลังงานน้ำมันลดลง แต่หากภาวะเศรษฐกิจในยุโรป และอเมริกากลับฟื้นตัวอีก การใช้พลังงานย่อมจะเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันก็จะปรับตัวสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตทุกด้าน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หันมาใส่ใจเรื่องการใช้พลังงาน หรือทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัด และคุ้มค่า
นั่นทำให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ระดับท็อบออกแบบบ้านเพื่อตอบสนองการใช้พลังงานลดลง ทั้งช่วยให้ผู้พักอาศัยอยู่อย่างสบายตัว สบายใจ จากการใช้พลังงานที่น้อยลง ซึ่งหมายถึงการช่วยประหยัดการใช้พลังงานแก่ลูกค้าผู้อาศัย ได้แก่ ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา
ศุภาลัย เน้นลดร้อนทุกโครงการ
ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การออกแบบบ้านของศุภาลัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียมล้วนแต่คำนึงถึงการใช้พลังงานที่ลดลง เริ่มตั้งแต่การออกแบบให้ความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารน้อยที่สุด เริ่มตั้งแต่หลังคาและส่วนที่โดนแดดมาก และนานก็จะใส่ฉนวนกันความร้อน รวมถึงเปิดช่องระบายลม รอบบ้านจะยื่นชายคาออกไปนอกบ้าน เพื่อไม่ให้แสงแดดส่องถึงภายในตัวบ้านเพื่อให้ความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านน้อยที่สุด ส่วนผนังจะต้องมีหน้าต่าง ประตู และกระจก ไม่เช่นนั้นจะทึบเกินไป ทำให้แสงสว่างส่องเข้าตัวบ้านไม่ได้ ซึ่งถ้าแสงสว่างส่องเข้าบ้านได้ ก็ไม่ต้องเปิดไฟในช่วงกลางวัน ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน
การเลือกใช้กระจกก็ควรใช้สีเขียวตัดแสง ซึ่งอาคารสำนักงานควรใส่กระจก 2 ชั้น เพราะทำงานตอนกลางวัน การใช้กระจก 2 ชั้น ช่วยให้ความร้อนเข้าสู่อาคารลดลง ส่วนบ้านพักอาศัยใส่กระจกชั้นเดียวก็พอ เพราะส่วนใหญ่อยู่ตอนกลางคืน หรืออาจจะใส่ 2 ชั้นในทิศตะวันตกก็ได้ เพื่อลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารนั่นเอง
ส่วนบริเวณรั้วบ้านจะใช้ไฟแบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ หรือใช้ไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อประหยัดพลังงาน ส่วนหลอดไฟภายในบ้านหรืออาคารจะใช้หลอดผอม และในอนาคตจะใช้หลอด LED บริเวณห้องนอนใหญ่ที่มีห้องน้ำในตัว จะมีฉากกั้นระหว่างห้องนอนกับห้องน้ำ เพื่อลดการใช้ไฟจากเครื่องปรับอากาศ เพราะเครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุด
สำหรับรอบๆ ตัวบ้านจะมีสวน เมื่อมีสวนก็ต้องรดน้ำ และเมื่อให้เวลาลมพัดจะได้มีความเย็นเข้าสู่ตัวบ้าน
“ลุมพินี เพลส พระราม 9 - รัชดา”
ต้นแบบอนุรักษ์พลังงาน/สวล.
โครงการ “ลุมพินี เพลส พระราม 9 - รัชดา” หนึ่งในโครงการของบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) เป็นโครงการต้นแบบที่นำแนวคิดด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมาใช้ในโครงการ ภายใต้คอนเซ็ปท์ “LPN Green” มาใช้ในการพัฒนาโครงการ นับตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ Green Design กล่าวคือ มีการออกแบบโครงการโดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงานและลดผลกระทบจากสภาวะแวดล้อม เช่น การใช้กระจก 2 ชั้น กันความร้อนและเสียงแบบ Insulated Glass เพื่อลดความร้อน
สำหรับห้องทิศตะวันตกซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า การบำบัดน้ำเสียจากอาคารนำกลับมาใช้ในการดูแลพื้นที่สีเขียวภายในโครงการ เพื่อระบายของเสียจากอาคารออกสู่ธรรมชาติให้น้อยที่สุดGreen Material & Equipment คือการใช้วัสดุอุปกรณ์ เช่น หลอดประหยัดไฟเพื่อประหยัดพลังงาน Green Energy คือการใช้พลังงานทดแทน เช่น การใช้ โคมไฟที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในบางพื้นที่ของโครงการ และ Green Community Management คือการรักษามาตรฐานการบริหารและการใช้ทรัพยากรให้คงสภาพเดิมเพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชนและชุมชนรอบข้าง
AP ชูจุดขาย “บ้านเย็น”
ความต่างที่เหนือกว่า
ขณะที่ วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์การตลาด บริษัท เอเชี่ยน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ APกล่าวว่า โครงการเดอะ พลีโน่ เป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ถูกพัฒนาฟังก์ชั่นให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภค ผ่านแนวคิด “บ้านเย็น” ซึ่งเป็นการนำแนวคิดการออกแบบ “บ้านที่อยู่สบาย” มีความโปร่งโล่ง ลมพัดผ่านเข้ามาง่าย การสร้างสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโครงการ รวมถึงการออกแบบที่ใช้วัสดุเพื่อให้เกิดบ้านที่อยู่สบายในการพัฒนาโมเดลสินค้าด้านงานสถาปัตยกรรม ที่ส่งผลให้เกิดฟังก์ชั่นใหม่ๆ
โดย Product Design จะออกแบบเพดานชั้น 1 ของบ้านให้มีความสูงถึง 2.80 เมตร เพื่อให้บ้านดูโปร่งโล่ง ลมพัดผ่านได้ง่าย อีกทั้งการเลือกใช้ประตูทางเข้า - หน้าต่างชั้น 2 บานใหญ่ เพื่อให้แสงสว่างเข้าตัวบ้าน และเปิดรับลมภายนอก ให้อากาศได้หมุนเวียนได้ดีขึ้น ระเบียงด้านหน้า ที่สามารถให้สมาชิกในบ้านได้ออกมารับลม พร้อมรับอากาศที่สดชื่น และห้องน้ำมีการเพิ่มพัดลมระบายอากาศ เพื่อช่วยให้ห้องน้ำที่ถูกใช้งานบ่อยครั้ง โดยเฉพาะห้องน้ำชั้น 2ไม่เกิดการอับชื้น ช่วยให้เกิดการถ่ายเทได้ดี อีกทั้งมีการติดตั้งแผ่นสะท้อนความร้อนใต้หลังคา เพื่อช่วยลดความร้อนจากแสงแดดไม่ให้ผ่านเข้าสู่ฝ่าเพดานชั้น 2 ของตัวบ้าน
ขณะที่ Facility for Family Living จะให้ความสำคัญกับการพัฒนา คลับเฮาส์ สระว่ายน้ำ ฟิตเนส สวนส่วนกลางขนาดใหญ่ พร้อมสนามเด็กเล่น ซึ่งทั้งหมดดีไซน์ภายใต้กรอบ การใช้ต้นไม้ที่ให้ร่มเงา ให้เกิดความเย็นและเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยสวนส่วนกลางที่โอบล้อมทั้งโครงการ
PF กับแนวคิดการออกแบบ
บ้านประหยัดพลังงาน
แบบบ้าน Urbanistra ของบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน) หรือ PF เป็นแบบบ้านคอลเลคชั่นใหม่ล่าสุด ที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน และมีการนำองค์ประกอบต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อให้เป็นบ้านที่อยู่สบาย ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า โดยอาศัยหลักการ Active Cooling และPassive Cooling เริ่มตั้งแต่ การจัดวางผังบริเวณบ้าน เน้นหันหน้าในแนวทิศเหนือ-ใต้ เพื่อหลบแดดทิศตะวันออก-ตก โดยให้ส่วนห้องรับแขกอยู่ทางทิศตะวันออก เพื่อลดความร้อนในห้องรับแขก รวมถึงให้ความสำคัญกับการปลูกสวนไม้พุ่มชิดผนังด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เพื่อลดความร้อนของแสงแดดในตอนเช้าและตอนเย็น รวมไปถึงการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงาแก่ตัวบ้าน และบริเวณข้างบ้าน ช่วยลดความร้อนในอีกระดับหนึ่ง ยังมีการปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาแก่Condensing Unit ของเครื่องปรับอากาศ และพื้นคอนกรีตโดยรอบ และมีพื้นที่เปิดโล่งโปร่งสบายรับลมรอบทิศทาง
สำหรับตัวบ้าน มีการออกแบบให้หลังคาถ่ายเทความร้อนได้ดี ด้วยขนาดช่องระบายอากาศใต้หลังคา และติดตั้งฝ้าแบบมีฉนวนกันความร้อนที่เพดานชั้นบน มีการลดความร้อนจากผนังด้วยการเลือกใช้สีโทนอ่อนสำหรับผนังภายนอก เพื่อลดการดูดกลืนแสงอาทิตย์และทำให้การนำความร้อนผ่านผนังภายนอกลดลง ซึ่งลดภาระในการทำความเย็นกรณีที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
การเลือกใช้วัสดุ จะเลือกใช้ที่ช่วยประหยัดพลังงาน เช่น หลังคานวัตกรรมบ้านเย็น กระเบื้องซีแพคโมเนีย ที่มีระบบระบายความร้อนใต้หลังคา เชิงชายแบบระบายความร้อน /กระจกเขียวตัดแสง แผ่นฝ้ายิบซัมป์แบบมีฟรอยด์กันความร้อน รวมทั้งใช้วัสดุทดแทนไม้จากธรรมชาติ เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นไม้ลามิเนต ที่คงความสวยงามเหมือนไม้จริง มีความแข็งแรงทนทาน ดูแลรักษาง่าย การใช้พื้นกระเบื้องขอบตัดลวดลายสวยงามคล้ายหินธรรมชาติให้ความสวยงามและความเย็นสบาย และวงกบอลูมิเนียมที่มีทั้งความทนทานและสวยงาม เข้ากับสไตล์โมเดิร์น
การออกแบบฟังก์ชั่น ภายในบ้าน คำนึงถึงการระบายอากาศจากธรรมชาติ ในเวลาที่ไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ มีการจัดสภาพพื้นที่ใช้สอยภายใน ด้วยอัตราส่วนพื้นที่หน้าต่างต่อพื้นที่ผนัง มีหน้าต่างขนาดใหญ่ ให้แสงเข้าสว่างในเวลากลางวัน จึงไม่จำเป็นต้องเปิดไฟ เลือกใช้กระจกตัดแสงสีเขียว ช่วยลดปริมาณการถ่ายเทความร้อนผ่านช่องเปิดที่เป็นกระจก มีการนำระบบธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ อาทิ จัดสภาพภายในให้อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับชื้น ตำแหน่งการวางเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสม ห้องน้ำมีการระบายอากาศที่ดี
นอกจากนี้ ยังเพิ่มระเบียงขนาดใหญ่ในทุกแบบบ้าน สำหรับเปิดระบายให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และยังให้ความสุขในการปรับพื้นที่ใช้สอยใกล้ธรรมชาติภายนอก มีการใช้ระแนงเลียนแบบธรรมชาติ ช่วยบังการตกกระทบของแสงช่วยลดความร้อนลง แต่ยังคงได้แสงสว่างเพียงพอทำให้เป็นการประหยัดไฟได้อีกทางหนึ่ง
ด้านวิศวกรรม ออกแบบให้ระบายอากาศตามธรรมชาติ แทนการใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ด้วยทิศทางการไหลเวียนรับลมจากหน้าต่างมายังพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน และการเลือกใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟเบอร์ 5 ติดตั้งภายในบ้าน ทั้งนี้ขนาดของเครื่องปรับอากาศสัมพันธ์กับพื้นที่ในแต่ละห้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เลือกใช้หลอดประหยัดไฟและสวิตซ์ควบคุมที่มีประสิทธิภาพสูง และมีขนาดเหมาะสมต่อการใช้งานแต่ละห้อง โดยพื้นที่ใช้สอยหลักทั้งหมดได้รับแสงธรรมชาติเป็นการลดการใช้พลังงานในระบบไฟฟ้าแสงสว่างได้มาก
ระบบสุขาภิบาล จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย และบ่อดักไขมัน เพื่อบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยสู่ท่อระบายสาธารณะในเบื้องต้น ทั้งยังลดภาระการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียกลางด้วยการเลือกใช้สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ภายในห้องน้ำล้วนเป็นแบบประหยัดน้ำตามข้อกำหนดฉลากเขียว เพื่อส่งเสริมให้ลดการใช้น้ำประปา และประหยัดพลังงานไฟฟ้ากรณีที่มีการใช้เครื่องปั๊มน้ำ
“สถาปนิก” ชี้เทรนด์ออกแบบบ้านมุ่งสู่ Green
สถาปนิกเผยเทรนด์การออกแบบอาคาร บ้านเรือนไปในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ คือ การคำนึงถึงสภาพแวดล้อม การลดใช้พลังงาน และช่วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น
ผศ.รัชด ชมภูนิช ในฐานะประธานจัดงานสถาปนิก 56 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปภัมถ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการออกแบบอาคารทั้งแนวสูง แนวราบ ส่วนใหญ่จะคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน ซึ่งสถาปนิกผู้ออกแบบจะพัฒนาแบบร่วมกับลูกค้า โดยผูกไปกับสภาพเศรษฐกิจ สภาพอากาศ เทคโนโลยี และงบประมาณ ซึ่งขณะนี้การออกแบบจะเน้นไปที่การประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรน้อยลง เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่เกิดมานานกว่า 10 ปี แล้วในต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา และยุโรป ขณะที่เมืองไทยเพิ่งตื่นตัวกันช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การออกแบบของสถาปนิกจะนึกถึง 1.การวางผังอาคารให้หลบแดด เพื่อลดความร้อนเข้าสู่อาคารคำนวณหาค่าของลม ดูทิศทางลมผ่านเข้าอาคารให้มากที่สุด เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศ 2.การใช้ต้นไม้ช่วยเพิ่มสภาพแวดล้อมด้วยการใช้ต้นใหญ่สร้างความร่มรื่นให้อาคาร และใช้ไม้พุ่มกันความร้อนส่องเข้าผนัง และอาจจะขุดบ่อน้ำ เพื่อสร้างความเย็น เพราะเมื่อลมพัดผ่านน้ำก็จะเกิดความเย็นขึ้น
3.การออกแบบอาคารจะต้องคำนึงถึงรูปแบบอาคาร ให้ส่วนที่กว้างของตัวอาคารโดนแดดน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้แสงแดดส่องโดนผนัง 4.การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างและตกแต่ง จะเลือกใช้วัสดุที่ช่วยลดการใช้พลังงาน เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ต้องได้ฉลากประหยัดไฟ เบอร์ 5 เป็นต้น และ 5.ผนังควรใส่ฉนวนกันความร้อน
ขณะที่ฟากผู้ประกอบการโครงการบ้านจัดสรร ส่วนใหญ่ยังไม่ใช้วัสดุอุปกรณ์กันความร้อนมากนัก เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้บ้านมีราคาสูงขึ้น ขณะที่ไม่สามารถเพิ่มราคาขายได้ เพราะการแข่งขันสูง กำลังซื้อมีจำกัด ผู้ประกอบการจึงเลือกใช้วิธีการออกแบบโดยดูทิศทางลมผ่านเข้า-ออกมากกว่า การใช้วัสดุอุปกรณ์กันร้อนเข้าไปในอาคาร ใช้วิธีเจาะช่องลมระบายอากาศ เพิ่มแสงสว่างด้วยการใส่กระจกบริเวณผนัง และประตู เพื่อให้แสงสว่างเข้าถึง โดยไม่ต้องเปิดไฟ รวมทั้งยังเลือกที่เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะและเพิ่มต้นไม้ เพื่อสร้างร่มรื่นให้กับโครงการ