ผลสำรวจโดย Skyscanner เว็บไซต์ค้นหาตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก และรถเช่าชั้นนำของโลก ระบุว่านักเดินทางจำนวน 9 ใน 10 ต้องการให้ยกเลิกที่นั่งแบบปรับเอนนอนได้บนเครื่องบิน
จากการสำรวจผู้โดยสารเครื่องบินจำนวน 1,000 ราย ผ่าน OnePoll และการสำรวจระหว่างประเทศในกลุ่มลูกเรือโดยสารกว่า 900 ราย ผ่าน cabincrew.com โดยผลสำรวจร้อยละ 91 เชื่อว่าสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินระยะสั้นควรยกเลิกที่นั่งปรับเอนนอนได้บนเครื่องบิน หรืออย่างน้อยๆ ควรกำหนดเวลาในการปรับเอนที่นั่งเหล่านั้น และอีกร้อยละ 43 รู้สึกว่าแม้แต่เที่ยวบินระยะทางไกลก็ควรออกมาตรการในการกำหนดเวลาในการอนุญาตให้ผู้โดยสารใช้ที่นั่งปรับเอนนอนได้เช่นกัน เกือบ 1 ใน 3 ของผู้ถูกสำรวจกล่าวว่าการปรับเอนนอนที่นั่งของผู้โดยสารด้านหน้าเป็นสาเหตุให้พวกเขาไม่ได้รับความสะดวกสบาย และยังมีร้อยละ 3 ที่เปิดเผยว่าพวกเขาได้รับบาดเจ็บจากการปรับที่นั่งดังกล่าวอีกด้วย
แนวคิดเรื่องการยกเลิกที่นั่งแบบปรับเอนนอนดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับความต้องการของพนักงานบนเครื่องบิน เพราะผลสำรวจพนักงานจากนานาชาติที่ทำงานในเครื่องบินพบว่า กว่าร้อยละ 60 เคยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือได้พบเห็นการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้โดยสารในเรื่องการปรับพนักเก้าอี้
ดร.เบ็คกี้ สเปลแมน ซึ่งเป็นนักจิตวิทยา ก็เห็นสมควรที่มีการสนับสนุนแนวคิดนี้กันอย่างเต็มที่ กล่าวว่า การที่คนปรับที่นั่งของตนให้เอนนอนลงไปนั้นจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้โดยสารที่นั่งอยู่ด้านหลังในด้านลบมากมาย เช่น โกรธ เครียด โมโห วิตกกังวล และหงุดหงิด ซึ่งผลกระทบทางอารมณ์เช่นนี้สามารถส่งผลต่อพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์อีกมากมาย รวมถึงอาการก้าวร้าวต่อลูกเรือหรือผู้โดยสารคนอื่นๆ
ดร.เบ็คกี้อธิบายต่อว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระหว่างการเดินทาง เรามักจะพบกับคนสองประเภท คือ คนที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นหลัก และอีกประเภทคือ คนที่เห็นแก่ตัว ซึ่งในคนประเภทหลังนี้มักจะหาทางเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ตนเองบนความทุกข์ของผู้อื่น ผลสำรวจของ Skyscanner ยังพบอีกว่า ร้อยละ 70 ของผู้ถูกสำรวจยังมีความคิดที่จะปรับที่นั่งเอนนอนแม้จะนั่งอยู่ด้านหน้าของสตรีมีครรภ์ และร้อยละ 80 ไม่สนใจว่าคนที่นั่งข้างหลังจะเป็นคนชราหรือคนป่วย โดยผู้ถูกสำรวจที่เป็นผู้หญิงอายุ 18-24 ปีมีแนวโน้มเป็นผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นหลัก ในขณะที่ผู้ชายอายุ 35 ปีขึ้นไปมักมีแนวโน้มที่เป็นพวกที่มีบุคลิกลักษณะที่เป็นคนเห็นแก่ตัวมากกว่า
“ที่นั่งแบบปรับเอนได้สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อประสบการณ์การเดินทางโดยเครื่องบินตลอดเส้นทางของแต่ละบุคคลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอเข้ากับผู้โดยสารที่นั่งด้านหน้าที่ไม่รู้จักเกรงใจคนอื่น ขณะเดียวกันเราสามารถลดอารมณ์ด้านลบเหล่านี้ได้ง่ายๆ โดยการให้ขออนุญาตก่อนปรับที่นั่งเอนนอนเท่านั้น แต่ผลการวิจัยพบว่าผู้โดยสารจำนวน 1 ใน 3 มักจะกังวลถึงคำตอบและปฏิกิริยาที่พวกเขาจะได้รับ และคนส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 64 ไม่เคยขออนุญาตจากผู้โดยสารคนอื่นเลย”
“เมื่อต้องเจอกับคนเห็นแก่ตัว กับคนที่เห็นแก่ผู้อื่น การตั้งเวลาสำหรับการปรับที่นั่งให้เอนนอนบนเครื่องบินอาจจะสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นสำหรับผู้โดยสารก็เป็นได้” ดร.สเปลแมนกล่าวและทิ้งท้ายไว้ว่า
กฎดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้แน่ใจว่าการอยู่ร่วมกันทางสังคมจะดีขึ้นเพราะผู้คนอยู่ในเงื่อนที่จะต้องปฏิบัติตามขอบเขต ขณะที่กฎเหล่านี้มีข้อจำกัดในแง่ของทางเลือกส่วนบุคคลของผู้โดยสารมากกว่าความสะดวกสบายของตัวเอง คนทั่วไปจะยอมปฏิบัติตาม และยอมรับว่ามันยุติธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่ประสบการณ์การบินที่น่าพอใจมากขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com