ฤดูฝนแบบนี้หลายคนอาจไม่ชื่นชอบนักสำหรับการออกนอกบ้าน หรือการเดินทางท่องเที่ยว ด้วยเหตุผลที่ว่า ฝนตกทำให้เฉอะแฉะ ขึ้นรถลงเรือก็ไม่สะดวก แต่รู้ไหมว่า ฤดูฝนนี่แหละเป็นฤดูที่เหมาะสมกับการไปท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติอันสวยงาม ที่นอกจากสายฝนที่ตกลงมาจะทำชุ่มฉ่ำแล้ว ต้นไม้ใบหญ้าต่างก็เขียวขจี ดูสดชื่นเป็นที่สุด
พูดถึงความสดชื่นจากธรรมชาติแล้ว ก็พาให้นึกถึง “กาญจนบุรี” หรือที่พูดกันติดปากว่า “เมืองกาญจน์” นั้น ก็มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีทั้งผืนป่าที่เต็มไปด้วยพรรณไม้ มีถ้ำ น้ำตก อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมและประเพณีที่หลากหลายของผู้คนหลากเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันทั้งชาวไทย ชาวพม่า ชาวมอญ ชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ฯลฯ
นอกจากนี้แล้วจังหวัดกาญจนบุรี ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีอนุสรณ์สถานหลายแห่งปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐาน เช่น สะพานข้ามแม่น้ำแคว สุสานทหารสัมพันธมิตร พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด เป็นต้น
แต่อย่างที่บอกมาข้างต้นแล้วว่าฤดูฝนเหมาะกับการมาใกล้ชิดธรรมชาติ ฉะนั้นเราก็เลยเลือกมาเยือนที่ “สังขละบุรี” ที่นับว่าเป็นเมืองแห่งธรรมชาติที่ชวนหลงใหลไม่น้อย ไม่ว่าจะมาเที่ยวหน้าร้อน หน้าฝน หรือหน้าหนาวก็มีเสน่ห์ที่แตกต่างกันไป
อย่างการมาเที่ยวในช่วงฤดูฝนก็ให้บรรยากาศที่สดชื่นไปอีกแบบหนึ่ง เนื่องจากสายฝนที่โปรยปรายลงมานอกจากจะทำให้ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจีแล้ว ยังทำให้เมฆหมอกที่ปกคลุมอยู่บนยอดเขายิ่งดูสวยงาม จนทำให้เมืองสังขละฯ แห่งนี้มีเสน่ห์ไม่น้อย
เมืองบาดาล วัดวังวิเวการาม
เมื่อมาถึงสังขละฯ เราเริ่มต้นด้วยการล่องเรือชม “เมืองบาดาล” ที่วัดวังก์วิเวการาม เมืองบาดาลแห่งนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า“สามประสบ” ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสามสายคือ แม่น้ำซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี ไหลมาบรรจบกันจนเป็นแม่น้ำแควน้อย ในสมัยก่อนเมืองบาดาลเคยเป็นชุมชนชาวมอญ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงซากของวัดวังก์วิเวการามเดิมหรือ “วัดเก่า” หรือ “วัดใต้น้ำ” อันเป็นหนึ่งในตำนานของ “หลวงพ่ออุตตมะ”
หลวงพ่ออุตตมะ ถูกยกย่องให้เป็น "เทพเจ้าของชาวมอญ" เพราะท่านให้ความช่วยเหลือแก่ชาวมอญไร้สัญชาติในสังขละบุรีมาโดยตลอด จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวมอญและชาวไทยเป็นอย่างมาก และวัดวังก์วิเวการามแห่งนี้ ก็มีหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้ริเริ่มสร้าง แต่หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนเขาแหลม และเริ่มเก็บกักน้ำเมื่อปี พ.ศ.2527 น้ำเหนือเขื่อนจึงท่วมสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการอพยพบ้านเรือนและชุมชนต่างๆ ในบริเวณนี้ออกไป และปล่อยให้น้ำท่วมทุกอย่างลงใต้น้ำ จนกลายเป็น “เมืองบาดาล” ขึ้นมา
หากใครได้มีโอกาสมาเยือนทะเลสาบเหนือเขื่อนในช่วงเดือน มี.ค. - พ.ค. ก็ได้ยลโฉมซากวัดวังก์วิเวการามใต้น้ำได้ชัดเจนขึ้น เพราะน้ำจะลดระดับลง จนเดินชมซากโบสถ์ วิหาร ซุ้มประตู และหอระฆังที่ยังหลงเหลืออยู่ได้อย่างใกล้ชิด แต่ทว่ามาในช่วงฤดูฝนก็จะได้เห็นเพียงยอดโบสถ์ขึ้นมาเท่านั้น
สะพานไม้มอญ-สะพานลูกบวบ
จากนั้นเราล่องเรือไปต่อเพื่อชม “สะพานไม้มอญ” สะพานไม้แห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองสังขละบุรี ที่ไม่ว่าใครๆ ที่มาเยือนสังขละฯ ก็ต้องมายลสะพานแห่งนี้ สะพานมอญสร้างด้วยไม้ทั้งหมดทั้งตัวสะพานและโครงสร้าง มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สะพานอุตตมานุสรณ์" สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2538 เพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นสะพานข้ามลำน้ำซองกาเลีย โดยมีหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้ดำเนินการสร้าง ตัวสะพานมีความยาว 850 เมตร นับเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในเมืองไทย
แต่หลังจากเหตุการณ์น้ำป่าและน้ำฝนพัดผ่าน เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ช่วงกลางของสะพานพังลงมาเป็นระยะทางกว่า 50 เมตร จึงได้มีการสร้าง “สะพานลูกบวบ” ขึ้นชั่วคราวเพื่อใช้ทดแทนสะพานไม้มอญที่ขาดไป สะพานลูกบวบสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านในพื้นที่ โดยตัวสะพานทำขึ้นจากลำไม้ไผ่ ทอดผ่านลำน้ำซองกาเลีย สะพานแห่งนี้นับว่าเป็นสะพานที่มีชีวิต เนื่องจากจะเห็นผู้คนทั้งสองฟากฝั่งเดินข้ามกันไปมา ในตอนกลางวันจะเห็นเด็กๆ กระโดดเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน นับว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่หาดูที่ไหนไม่ได้
วิถีชาวมอญ
และที่พลาดไม่ได้สำหรับการมาสังขละฯ คือในยามเช้าตรู่ เมื่อพระเริ่มออกบิณฑบาต จะเห็นชาวมอญทั้งผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้ใหญ่ วัยรุ่น เด็กๆ ตื่นแต่เช้ามาเตรียมข้าวเจ้าเพื่อใส่บาตร ในชุดเต็มยศ
โดยผู้ชายจะใส่เสื้อและโสร่ง ส่วนผู้หญิงจะใส่เสื้อกับผ้านุ่ง และมีผ้าคาดบ่า นั่งรอที่พื้นกันอย่างเรียบร้อย จากนั้นเมื่อพระเดินมาถึงจะยืนขึ้น แล้วตักข้าวของใส่บาตรอย่างสงบและสำรวม นอกจากนี้แล้วจะเห็นชาวมอญประแป้งขาวใส่ผ้านุ่งเดินเทินของไว้บนศีรษะข้ามผ่านสะพานไป-มาอย่างคึกคัก
ด่านเจดีย์สามองค์
จากนั้นเดินทางไปต่อกันที่ “ด่านเจดีย์สามองค์” เป็นชายแดนเชื่อมต่อระหว่างอำเภอสังขละบุรี กับอำเภอพญาตองซู ประเทศพม่า เป็นที่รู้จักกันดีว่าในสมัยก่อนใช้เป็นเส้นทางเดินทัพไปยังพม่า ด่านเจดีย์สามองค์นี้แต่เดิมเรียกว่าหินสามกอง ต่อมาในปี พ.ศ.2472 พระศรีสุวรรณคีรี เจ้าเมืองสังขละบุรีก็ได้นำชาวบ้านร่วมกันก่อสร้างเจดีย์ขนาดเล็กสามองค์ขึ้นดังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ตั้งของเจดีย์แล้ว บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ยังเป็นจุดซื้อขายของฝาก และยังเป็นจุดข้ามชายแดนไปพม่าได้เช่นกัน
มาเที่ยวสังขละบุรีครั้งนี้ ก็ได้สัมผัสทั้งธรรมชาติที่ยังคงงดงาม ได้รำลึกสถานที่ประวัติศาสตร์ และสัมผัสวิถีชีวิตชาวมอญที่เป็นเอกลักษณ์ อันเป็นจุดเด่นของที่นี่ เหมือนกับคำขวัญของสังขละบุรีที่ว่า "สะพานไม้ ด่านเจดีย์ นทีสามประสบ มรดกทุ่งใหญ่ ไทย กระเหรี่ยง รามัญ สารพันธรรมชาติ อภิวาทหลวงพ่ออุตตมะ เมืองสังขละชายแดน สุดแคว้นตะวันตก"
****************************************************************************************
ผู้สนใจเที่ยวสังขละบุรีและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี สามารถสอบถามได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี โทร.0-3451-1200, 0-3451-2500
****************************************************************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com