xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้พระทองคำ เที่ยว “เยาวราช” สัมผัสวัฒนธรรมไทย-จีน ถิ่นไชน่าทาวน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศบน “ถนนเยาวราช”
หากพูดถึงไชน่าทาวน์ของเมืองไทย ก็จะเป็นที่อื่นไปไม่ได้นอกจาก “เยาวราช” ชุมชนจีนที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีความโดดเด่นทั้งเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนสถาน ของกิน ร้านอาหาร และสิ่งต่างๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับบรรพบุรุษของคนย่านนี้ที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนในปัจจุบัน เยาวราชได้กลายเป็นอีกหนึ่งย่านที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ย่านเยาวราชมีหลักสำคัญคือ “ถนนเยาวราช” ถนนเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 คำว่า “เยาวราช” มีความหมายว่า “พระราชาที่ทรงพระเยาว์” หมายถึงรัชกาลที่ 5 ที่ขึ้นครองราชย์ เมื่อมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ถนนสายนี้ตัดผ่านใจกลางย่านเยาวราช และได้รับการกล่าวขานขนานนามว่าเป็น "ถนนสายมังกร" ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าและมีความคึกคักมีชีวิตชีวา ถนนเยาวราชมีจุดเริ่มต้นจากซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบริเวณวงเวียนโอเดียนที่เปรียบได้กับหัวมังกร ส่วนท้องมังกรอยู่บริเวณถนนช่วงกลางที่เต็มไปด้วยร้านทอง ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ส่วนหางมังกรอยู่บบริเวณปลายถนนบริเวณจุดตัดกับถนนจักรเพชร หรือบริเวณห้างเมอรี่คิง วังบูรพา(เก่า)
ร้านค้าเรียงรายภายใน “ตลาดเก่าเยาวราช”
หากอยากสัมผัสบรรยากาศของความเป็นเยาวราชจริงๆ ขอแนะนำให้มาที่ "ตลาดเก่าเยาวราช" ที่ชาวเยาวราชไปจับจ่ายหาซื้อสินค้ากันมานาน ตลาดเก่านี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ริมถนนเยาวราชทางฝั่งสำเพ็ง หรือบริเวณซอยมังกรไปจนถึงถนนเยาวพานิช ที่ตลาดนี้จะขายสินค้าประเภทอาหารทะเล ทั้งของสดของแห้ง และอาหารแห้งที่นำเข้าจากประเทศจีน เช่น กระเพาะปลาแห้ง เม็ดบัว เครื่องยาจีนต่างๆ โดยเมื่อก่อนนี้ตลาดเก่าจะเปิดขายเกือบทั้งวัน แต่ในปัจจุบันช่วงเที่ยงๆ ตลาดก็จะวายแล้ว

นอกจากตลาดเก่าแล้วก็ยังมี "ตลาดใหม่" ซึ่งก็มีความเก่าไม่แพ้กัน ตลาดใหม่ที่ว่านี้ตั้งอยู่ระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนเยาวราช หรือในตรอกอิสรานุภาพ ตลาดนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน แต่สร้างทีหลังตลาดเก่า คนส่วนใหญ่จะเรียกตลาดใหม่นี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ตลาดเล่งบ๊วยเอี้ย" เพราะมีศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี้ยะ ศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในเยาวราชอยู่ใกล้ๆ โดยข้าวของในตลาดใหม่นี้ก็คล้ายกับตลาดเก่า แต่จะพิเศษกว่าตรงที่มีร้านอาหารให้เลือกกินมากมายหลายร้านไม่ว่าจะเป็นร้านติ่มซำ บะหมี่เป็ด หมูกรอบ ฯลฯ และที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของร้านเครื่องเทศชื่อดังอย่างร้านง่วงสูน ที่ทุกคนรู้จักกันดี และในช่วงเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตรุษจีน สารทจีน หรือเทศกาลกินเจอย่างนี้ทั้งสองตลาดจะมีบรรยากาศของความคึกคักด้วยผู้คนที่ออกมาจับจ่ายหาซื้อของสดของแห้งไว้ทำอาหารจนแน่นตลาด
“ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ”
ในส่วนที่เป็นพื้นที่ริมถนนเยาวราชก็จะมีร้านค้าร้านอาหารอีกมากมายเรียงรายไม่แพ้ในตลาด โดยเยาวราชเรียกได้ว่าเป็นย่านที่ขึ้นชื่อในเรื่องของอาหารการกิน มีร้านอาหารอร่อยๆ มากมายให้ใด้ลิ้มรสกัน โดยเฉพาะอาหารจีน เช่น ก๋วยจั๊บน้ำใสของเฮียเล็ก ร้านสุกี้โบราณไล่เฮง ขนมไข่ฮ่องกง และอื่นๆ อีกมากมาย (คลิกอ่านเรื่องกินย่านเยาวราช ย่ำ “เยาวราช” ชวนชิมสารพัดอาหาร "เจ-ไม่เจ") บริเวณริมถนนแห่งนี้จะคึกคักไปด้วยผู้คนมากมายทั้งนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ต้องการมาลองลิ้มชิมรสอาหารสไตล์จีน ซึ่งบรรยากาศนั้นก็ไม่ได้มีความคึกคักแต่เฉพาะในยามเช้า เพราะในย่ามค่ำคืนนั้นก็คึกคักไม่แพ้กัน เรียกได้ว่าย่านเยาวราชแห่งนี้เป็นย่านที่ไม่เคยหลับใหลเลยทีเดียว

อีกหนึ่งจุดเด่นของเยาวราชก็คือ ความเป็น "ถนนสายทองคำ" ถนนเส้นนี้นับว่าเป็นย่านที่มีร้านทองมากที่สุดในเมืองไทย ทั้งสองฝั่งถนนเต็มไปด้วยร้านทองคำให้เลือกมากมาย โดยมีร้านทองที่เก่าแก่ที่สุดในย่านเยาวราชก็คือ “ห้างทองตั้ง โต๊ะ กัง” ตั้งอยู่ตรงปากซอยวานิช ถ.มังกร มีอายุกว่า 130 ปี ร้านทองร้านนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัย ร.5 โดยผู้ก่อตั้งคือ นายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ลักษณะของร้านเป็นอาคารทรงโบราณ 7 ชั้นดูสวยงาม ปัจจุบันยังดำเนินกิจการขายทองอยู่ที่ชั้น 1 ส่วนชั้นบนของร้านจัดเป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับการทำทอง
พระมหามณฑป” วัดไตรมิตรฯ
หากมาถึงย่านแห่งนี้แล้วนั้นก็ไม่ควรพลาดที่จะไปชมความงดงามของ ”ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณวงเวียนน้ำพุโอเดียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของถนนเยาวราชหรือบริเวณหัวมังกรที่ได้กล่าวไปแล้ว ซุ้มประตูแห่งนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.2542 ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนม์ 6 รอบพรรษา ด้านบนสุดของซุ้มประตูมองเห็นมังกรเทิดพระปรมาภิไทย ภปร. ทำด้วยทองคำหนัก 99 บาท ถัดลงมาเป็นแผ่นจารึกนาม “ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา” อีกด้านเป็นลายพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาจารึกอักษรจีน “เซิ่ง โซ่ว อู๋ เจียง” หมายถึง “ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” พร้อมพระนามาภิไธย “สิรินธร” ถือได้ว่าซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ เป็นสัญลักษณ์สำคัญของย่านเยาวราช

“วัดไตรมิตรวิทยาราม” เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาย่านเยาวราช วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนมิตรภาพไทย-จีน ไม่ไกลจากซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ เป็นวัดโบราณซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่า “วัดสามจีน” ซึ่งถูกไว้ว่า ชาวจีน 3 คนได้ร่วมกันสร้างพระอาราม และได้มีการบูรณะซ่อมแซมมาเรื่อยมา จนกระทั่ง ในพ.ศ. 2482 ประชาชนได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็นชื่อ “วัดไตรมิตรวิทยาราม” ภายในวัดเป็นที่ตั้งของ “พระมหามณฑป” ที่ประดิษฐาน "พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร" หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อทองคำ" ซึ่งได้ถูกบันทึกในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ ให้เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนั้น ชั้น 2, 3 และ 4 ของมณฑปยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช” ทำให้เราได้ทราบเรื่องราวที่มาของย่านเยาวราชและผู้คนที่เดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งประวัติของวัดและหลวงพ่อทองคำด้วยเช่นกัน
“หลวงพ่อทองคำ” วัดไตรมิตรฯ
และเนื่องจากเป็นชุมชนชาวจีนแหล่งใหญ่ ในย่านเยาวราชจึงมีวัดและศาลเจ้าจีนอีกมากมายด้วย โดยแต่ละแห่งนั้นได้ถูกตกแต่งไว้อย่างสวยงามด้วยศิลปะแบบจีน ซึ่งเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นสถานที่สักการะขอพรในช่วงวันธรรมดาหรือช่วงเทศกาลอีกด้วย โดยมีวัดและศาลเจ้าที่ได้รับความนิยม อาทิ “วัดมังกรกมลาวาส” หรือ “วัดเล่งเน่ยยี่” วัดแห่งนี้เป็นวัดที่สำคัญอีกแห่งของย่านเยาวราช โดยเป็นวัดจีนสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง วัดมังกรกมลาวาสแห่งนี้มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทางจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า ซึ่งในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ทั้งแบบไทยและแบบจีนนั้น วัดแห่งนี้จะได้รับความนิยมในการมาสักการะขอพรและร่วมพิธีแก้ชง โดยภายในวัดจะมีบรรยากาศที่คึกคักเป็นอย่างมาก นอกจากนั้่นก็ยังมีวัดและศาลเจ้าอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ศาลเจ้าแม่กวนอิมองค์ทองในมูลนิธิเทียนฟ้า,วัดบำเพ็ญจีนพรต,ศาลเจ้าพ่อกวนอูและเทพเจ้าม้า,ศาลเจ้าโจวซือกง,ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี้ย ให้ผู้ที่ได้มาเยือนย่านเยาวราชแห่งนี้ได้มีโอกาสเยี่ยมชมและสักการะขอพรกันอีกด้วย
บรรยากาศภายใน “วัดมังกรกมลาวาส”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

การเดินทางมายังเยาวราช : รถไฟใต้ดิน MRT ลงสถานีหัวลำโพงสุดสาย ต่อตุ๊กตุ๊กหรือแท็กซี่ มาลงที่ถนนเยาวราช รถโดยสารประจำทาง : สาย 4,21,25,53,73,73ก,507,529,542 การเดินทางโดยรถยนต์ : ไม่แนะนำให้ขับรถมาเอง เพราะหาที่จอดยาก แต่ถ้ามาทางถนนเจริญกรุง สามารถจอดได้ที่ตลาดโลตัส โดยเสียค่าจอดรถเป็นรายชั่วโมง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น