xs
xsm
sm
md
lg

วันยันค่ำ ย่ำ “เยาวราช” เดินสายไหว้เจ้า เข้าตลาด สัมผัสบรรยากาศตรุษจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง
ผ่านจากวันปีใหม่สากล ก็ตามมาด้วยวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ซึ่งบรรยากาศการเฉลิมฉลองแบบนี้ฉันก็ทำให้บ้านเมืองเราดูมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะช่วงใกล้ๆ ตรุษจีนแบบนี้ แถวไชน่าทาวน์เยาวราช ยิ่งคึกคักกันใหญ่ ฉันเลยขอไปเดินสัมผัสบรรยากาศกับเขาเสียหน่อย

แต่ก่อนจะลงพื้นที่จริง ฉันก็ได้ไปศึกษาเส้นทางการเดินและประวัติศาสตร์ของชุมชนชาวจีนแห่งนี้ รู้กันหรือไม่ว่า ชุมชนชาวจีนแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ก็คือ สำเพ็ง (หรือ สามเพ็ง) โดยเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างพระนคร ชุมชนชาวจีนเกิดขึ้นเมื่อชาวจีนอพยพมาจากพื้นที่ที่จะใช้สร้างพระบรมมหาราชวัง (บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา) มาตั้งบ้านเรือนอยู่ระหว่างคลองสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิ) และคลองสามเพ็ง (วัดปทุมคงคา)
หมังหมิ่ง ริมถนนเจริญกรุง
ต่อมาชุมชนจีนสำเพ็งก็หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนมีการตัดถนนขึ้นมา ทั้งถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นถนนสายแรกๆ ของไทย ถนนเยาวราช ถนนราชวงศ์ ถนนจักรวรรดิ ถนนอนุวงศ์ และถนนบูรพา เพื่อเป็นเส้นทางสัญจร บรรเทาความแออัด และเพื่อความสะดวกในการบรรเทาสาธารณภัย

จึงนับว่าย่านสำเพ็งและเยาวราชนี้ มีความเป็นมาที่ยาวนาน และผูกพันกับประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งการเป็นถิ่นฐานของคนไทยเชื้อสายจีน และการเป็นแหล่งค้าขาย แหล่งเศรษฐกิจของไทยอีกแห่งหนึ่ง
ศาลเจ้ากวางตุ้ง
เมื่อวางแผนการเดินแบบคร่าวๆ แล้ว ฉันก็มาตั้งต้นการเดินจาก ท่าน้ำราชวงศ์ ซึ่งเป็นท่าเรือที่ชาวจีนใช้เป็นเส้นทางผ่านเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และยังเป็นท่าขนส่งสินค้าจากหัวเมืองชายทะเลด้วย ส่วนปัจจุบันนี้ ท่าน้ำราชวงศ์ก็เป็นท่าเรือสำคัญในการสัญจรทางน้ำ หากว่าไม่ต้องการไปผจญการจราจรทางบกที่คับคั่ง

จากท่าน้ำราชวงศ์เดินตรงออกมาเล็กน้อย แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ ถนนทรงวาด อันมีชื่อมาจากการที่รัชกาลที่ 5 ทรงวาดเส้นถนนเพิ่มเติมลงในแผนที่ ฉันเดินตรงมาเรื่อยๆ ก็พบกับ ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ก็เลยขอแวะเข้าไปสักการะเสียหน่อย
วัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนที่คุ้นเคย
ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง เป็นศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีนแต้จิ๋ว อันเกิดขึ้นจากความศรัทธาของชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในบริเวณนี้ และได้ตั้งศาลเจ้าขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพบูชา และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ โดยเทพปุนเถ้ากง เปรียบเสมือนเทพผู้เป็นใหญ่ในท้องที่นั้นๆ ที่จะคอยดูแลทุกข์สุขของราษฎรให้อยู่อย่างร่มเย็น และทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ เทพปุนเถ้ากงยังเป็นที่นับถือของนักเดินเรือ ในอดีตที่ชาวจีนโล้สำเภามาขึ้นที่ท่าเรือบริเวณนี้ จึงต้องมีการจุดประทัดบูชาเทพเจ้าเสียก่อน

ออกจากศาลเจ้า ฉันก็เดินเลี้ยวซ้ายเข้า ถนนเยาวพานิช อันเป็นย่านขายรองเท้า เครื่องหนัง และพลาสติก ก่อนจะข้ามถนนเยาวราช มุ่งหน้าไปที่ ถนนแปลงนาม ที่ยังคงมีร้านค้าเก่าแก่เปิดขายสินค้าต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยา เครื่องดนตรีจีน หรืออาหารการกิน ดูเพลินๆ ก็นึกว่าได้ย้อนเวลากลับไปอีกหลายสิบปี
คำอวยพรจากอักษรจีนที่งดงาม
พอสุดถนนแปลงนามก็จะเป็นถนนเจริญกรุง หากเลี้ยวซ้ายมาสักหน่อย ก็จะเห็นคุณลุงคุณป้าคอยกวักมือเรียกให้เข้าร้าน ซึ่งร้านนั้นก็ตั้งอยู่ริมถนน มีเก้าอี้วางเรียงกันให้เลือกนั่งเป็นแถวยาว แอบสังเกตสาวๆ ที่นั่งหน้าขาววอก ด้วยความสงสัยก็เลยตรงเข้าไปถามคุณป้าที่กำลังกวักมือเรียก สรุปแล้วก็คือเป็นร้านเสริมสวยด้วยการถอนขนบนใบหน้าโดยการใช้เส้นด้าย หรือที่เรียกว่า “หมังหมิ่ง” ที่ต้องนับว่าเป็นภูมิปัญญาของคนจีนโบราณ ที่จะใช้เส้นด้ายธรรมดาๆ มาดึงขนบนใบหน้าออกให้เกลี้ยงเกลา ตามประเพณีจีนจะนิยมทำหมังหมิ่งให้กับหญิงสาวก่อนเข้าพิธีแต่งงาน เพื่อให้ผิวหน้านวลเนียนเกลี้ยงเกลา และให้เครื่องสำอางติดทนแลดูสวยงาม
ตลาดใหม่ หรือ ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ
ใครที่อยากลองก็มากันได้เลยที่ถนนเจริญกรุง ว่ากันว่าหากต้องการสูตรดั้งเดิมจริงๆ ก็ต้องมานั่งทำข้างทางแบบนี้แล ส่วนฉัน วันนี้ยังไม่พร้อม เพราะต้องไปกันอีกหลายที่ ว่าแล้วก็เลยข้ามถนนไปยังฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็น ศาลเจ้ากวางตุ้ง หรือ สมาคมกว๋องสิว ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และยังเป็นศาลเจ้ากวางตุ้งแห่งเดียวในประเทศไทย ภายในศาลเจ้า มีองค์ประธานคือเจ้าแม่กวนอิมปางประทานพร ถือยาเม็ดกับน้ำ ส่วนด้านหลังประกอบด้วยเทพ 4 องค์ คือ เทพขงจื้อ เทพหมั่นแช ปรมาจารย์แท่นไม้เหล่าโก และเทพเจ้ากวนอู

แต่สำหรับวัดจีนที่เป็นที่คุ้นเคยกันมากที่สุด ก็คือ วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส โดยเฉพาะใครที่ต้องการมาแก้ปีชง ก็นิยมมากันที่วัดแห่งนี้ ฉันเดินเข้าไปภายในก็เห็นผู้คนมากหน้าหลายตา ตั้งอกตั้งใจไหว้พระไหว้เจ้ากันอยู่ นอกจากได้รับความเป็นสิริมงคลกับชีวิตตัวเองแล้ว ก็สามารถมาเดินชมสถาปัตยกรรมจีนสกุลช่างแต้จิ๋ว ที่มีความงดงามไม่แพ้ที่ไหน จะเห็นว่าใครที่มาวัดนี้ ก็ต้องแวะชักภาพเป็นที่ระลึกกันเกือบทุกคน
ของทะเลสดๆ ก็มีขาย
เข้าวัด แวะศาลเจ้ากันก็หลายที่ เปลี่ยนบรรยากาศมาเดินเล่นตลาดกันบ้างดีกว่า ฉันข้ามถนนเจริญกรุงกลับมาอีกครั้ง ก่อนจะเดินตรงเข้าตลาด มองไปทางขวามือก็เห็นป้ายอักษรจีนวางขายเรียงรายกันอยู่ริมถนน ป้ายพวกนี้คือคำมงคลและคำอวยพรต่างๆ ที่เขียนเป็นภาษาจีนด้วยหมึกสีทองลงบนกระดาษสีแดง นอกจากจะดูงดงามด้วยศิลปะของตัวอักษรแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นเสน่ห์ของย่านเยาวราชที่หาได้ยากในแหล่งอื่นด้วย

มาถึงตลาดที่เรียกว่า ตลาดใหม่ หรือ ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ อยู่ในซอยอิสรานุภาพ ข้าวของที่วางขายก็มีทั้งของแห้งนำเข้าจากประเทศจีน เครื่องปรุงและสินค้าไหว้เจ้าตามประเพณี โดยเฉพาะช่วงเทศกาลกินเจ ก็จะเป็นแหล่งซื้อหาวัตถุดิบนำไปทำอาหารเจหลากหลายเมนู นอกจากนี้ก็ยังมีผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ อาหารทะเลสดๆ ที่สดจริงๆ แบบยังดิ้นได้อยู่ มีอาหารการกินมากมาย ทั้งร้านติ่มซำ บะหมี่เกี๊ยว บะหมี่เป็ด หมูแดงหมูกรอบ เป็นต้น และก็ยังเป็นที่ตั้งของร้านเครื่องเทศชื่อดังอย่างร้านง่วนสูน ที่ทุกคนรู้จักกันดี
ร้านเครื่องเทศชื่อดัง
แต่ในตลาดใหม่ ก็มีศาลเจ้าเก่าแก่ตั้งอยู่ด้วย นั่นก็คือ ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ โดยมีการสันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และคาดว่าเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย บรรยากาศภายในก็คงความเก่าแก่ไว้เช่นกัน เทพเจ้าประจำศาลคือ เล่งบ๊วยเอี๊ยะและฮูหยิน ฝั่งซ้ายมือตั้งแท่นเทพเจ้ากวนอู ส่วนฝั่งขวามือคือแท่นประทับของกิวเทียนเนี่ยเนี้ย เทพธิดาแห่งสวรรค์ ผู้คนนิยมมาขอพรให้เด็กเลี้ยงง่าย ให้เทพเจ้าคุมครองปลอดภัย และมีทรัพย์ที่สมบูรณ์
ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ
เดินเที่ยวตลาดใหม่เสร็จ ก็ข้ามฟากมาที่ ตลาดเก่า ที่อายุอานามก็เก่าแก่ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ เพียงแต่ตลาดเก่าสร้างก่อน ส่วนตลาดใหม่สร้างทีหลังเท่านั้นเอง ตลาดเก่าเป็นตลาดเอกชนที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ดั้งเดิมนั้นขายส่งอาหารทะเลสดๆ ที่มาส่งยังท่าเรือแถวถนนทรงวาด แต่ปัจจุบันขายเฉพาะของแห้งต่างๆ มีผลไม้ และอาหารสำเร็จรูปบ้างเล็กน้อย ที่เพิ่มขึ้นมาก็คือร้านขายของเล่นหลากสีสัน
ฝั่งตลาดเก่า
ถ้าถามถึงศาลเจ้าทางฝั่งตลาดเก่า ก็ต้องแวะมาที่ ศาลเจ้ากวนอู ที่มีอายุกว่า 130 ปี ภายในประดิษฐานเจ้าพ่อกวนอู พร้อมบริวารได้แก่ ฮวงเห็ง และชิวชางกง และรูปปั้นม้าเช็กเทา เทพพาหนะของท่าน เทพเจ้ากวนอูถือเป็นเทพเจ้าแห่งคุณธรรม และความซื่อสัตย์ คนที่มาไหว้มักจะขอพรเรื่องหน้าที่การงาน ให้เป็นเจ้าคนนายคนและมีบริวารที่ดี ส่วนศาลคือ ศาลเจ้าแม่ประดู่ ที่มีอายุเก่าแก่ไม่แพ้กัน เหตุที่ชื่อเจ้าแม่ประดู่ก็เนื่องจากองค์เจ้าแม่สร้างจากไม้ประดู่ และคนที่มาไหว้ก็นิยมขอพรในเรื่องความรัก
ศาลเจ้าแม่ประดู่
เสริมความเป็นมงคล ปิดท้ายด้วยการแวะไปที่ วัดโลกานุเคราะห์ หรือ วัดตื้อเต้ตื่อ อันเป็นพุทธศาสนสถานฝ่ายมหายาน ภายในซุ้มประธานมีทั้งพระพุทธรูปแบบไทยและจีน ส่วนที่ผนังด้านหลังพระประธานวาดลวดลายเป็นพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ และโดยรอบก็ยังมีเทพเจ้าองค์อื่นๆ อยู่ด้วย
วัดโลกานุเคราะห์
ถ้าใครยังมีพลังเหลือ จะแวะไปช้อปปิ้งต่อที่สำเพ็ง หรือจะเดินเล่นจนเย็นย่ำค่ำมืด จะได้ตะลุยราตรีย่านไชน่าทาวน์ต่อก็ไม่ขัดศรัทธา เพราะตลาดกลางคืนที่เยาวราชนั้นก็คึกคักอยู่ไม่น้อย มีของกินอร่อยขึ้นชื่อให้เลือกชิมมากมาย ส่วนฉันคงต้องลาแค่นี้ ขอกลับไปพักเอาแรงแล้วค่อยมาเดินเล่นใหม่ครั้งหน้า
 
 
 
 
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น