“ข้าว” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่อดีต และต้องใช้เวลาที่ยาวนานและหลากหลายขั้นตอนกว่าจะออกมาเป็นข้าวหนึ่งเมล็ด ซึ่งวิธีในการปลูกข้าวนั้นมีอยู่หลากหลายวิธีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยถูกพัฒนาและคิดค้นเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาดีที่สุด
ตั้งแต่อดีตคนส่วนมากจะรู้จักวิธีการปลูกข้าว คือวิธีการทำนาดำและนาหว่านซึ่งทั้งสองวิธีนั้นมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป โดยนาดำนั้นมีข้อดีคือระยะห่างของต้นข้าวนั้นจะพอดีไม่เบียดกัน ทำให้ต้นข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ดี แต่มีข้อเสียคือต้องใช้เวลานานในการปักดำต้นข้าว ส่วนนาหว่านนั้นใช้เวลาที่น้อยกว่าและได้ปริมาณต้นข้าวที่มากกว่าด้วยการหว่านเมล็ด แต่มีข้อเสียคือในขณะที่รอต้นข้าวเติบโตนั้นก็จะเสียเมล็ดไปกับการมาจิกกินของนก และหากฝนตกในวันที่หว่านแล้วเมล็ดข้าวก็จะลอยหายไปกับน้ำ
แต่ด้วยประเทศไทยเรานั้นเป็นประเทศที่อุดมด้วยภูมิปัญญาในเรื่องการเกษตร จึงได้มีการปรับปรุงวิธีการปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลลิตที่ดีออกมา ซึ่งการทำ “นาโยน” ก็ได้เป็นอีกหนึ่งวิธีใหม่ในการทำนาในยุคปัจจุบัน ซึ่งข้อดีของการทำนาโยนคือ การประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ต้องสูญเสียไปกับน้ำ ระยะห่างของต้นข้าวที่มีมากกว่าก็ทำให้ข้าวสามารถแตกกอได้ดีกว่า และการเติบโตของต้นกล้าข้าวที่โยนลงไปก็ไม่หยุดชะงักเหมือนนาดำที่ต้องปักต้นกล้า อีกทั้งยังใช้ต้นทุนและแรงงานน้อยกว่า
ซึ่งวิถีการทำนาโยนนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก เริ่มต้นด้วยการคัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าวตามที่ต้องการ และหากระบะเพาะกล้าที่มีลักษณะเป็นหลุม จากนั้นโรยเมล็ดพันธุ์ข้าวลงหลุมกระบะเพาะกล้า ประมาณหลุมละ 3-5 เมล็ด ตามด้วยการร่อนดินลงหลุมให้เต็ม แต่อย่าให้ดินล้นออกมานอกหลุมเพราะจะทำให้รากข้าวที่งอกออกมาพันกัน เวลาหว่านต้นข้าวจะไม่กระจายตัว
หลังจากทำกระบะเพาะเมล็ดข้าวเสร็จแล้วให้นำมาวางไว้บริเวณที่มีแสงแดดรำไร และหาอุปกรณ์ อาทิ กระสอบป่าน หรือสแลนพรางแสงวางคลุมไว้เพื่อเวลารดน้ำจะได้ไม่กระเด็น หลังจากนั้นก็ทำการรดน้ำเช้า-เย็น ประมาณ 3-4 วัน ต้นข้าวจะงอกทะลุกระสอบป่านหรือสแลนกลางแสง ให้เอาที่คลุมออก และรดน้ำต่อไปจนกล้าอายุ 15 วัน
ในการรอต้นกล้าโตนั้น การเตรียมแปลงนาเพื่อการปลูกก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีการปรับพื้นดินให้สม่ำเสมอโดยให้น้ำในนามีระดับเพียงตื้นๆประมาณ 1 เซ็นติเมตร ไม่ควรลึกมากเพราะหากโยนต้นกล้าลงไปแล้วจะทำให้ต้นกล้าข้าวลอยน้ำ รากจะไม่สามารถหยั่งลงดินได้ และควรใส่ปุ๋ยรองพื้นก่อนโยนต้นกล้า 1 วัน
ในส่วนการโยนกล้านั้น จะใช้ต้นกล้าประมาณ 60-70 กระบะต่อไร่ จากนั้นคนที่จะโยนกล้าจะต้องหยิบกระบะกล้ามาวางพาดบนแขน แล้วใช้มือหยิบกล้าข้าวหว่านหรือโยนในแปลง โดยโยนให้สูงกว่าศีรษะ ต้นกล้าจะพุ่งลงโดยใช้ส่วนรากที่มีดินติดอยู่ลงพื้นดินก่อน และหลังจากนั้นประมาณ 3 วัน ต้นข้าวจะสามารถตั้งตัวได้ แล้สก็สามารถทำการเพิ่มระดับน้ำให้อยู่ที่ระดับครึ่งหนึ่งของต้นข้าวหรือประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อการควบคุมวัชพืช
ซึ่งหลังจากเสร็จภารกิจการปลูกแล้ว จากนั้นก็คงต้องเป็นหน้าที่ของชาวนาที่จะทำการดูแลใส่ปุ๋ยกันต่อไป เพื่อที่จะได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งการทำนาโยนนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาในการปลูกข้าวที่เราควรภาคภูมิ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการมีจิตสำนึกในการบริโภคข้าว ไม่ว่าจะได้ผลผลิตที่ออกมาด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ ทุกๆ เมล็ดก็ล้วนออกมาจากความอดทนของชาว เราทุกคนจึงควรมีจิตสำนึกในเรื่องนี้
************************************************************************************************************************
ผู้ที่สนใจในเรื่องขั้นตอนการทำนาแบบต่างๆ สามารถเรียนรู้วิธีปฏิบัติได้ที่ “พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้จัดให้มีการอบรมในการทำนาและจัดแสดงความรู้ในด้านการเกษตร
พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ติดต่อสอบถาม โทร.0-2519-2212-13