xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวหน้าฝน ยลเมืองลับแล แวะเมืองแพร่ ไหว้สาพระธาตุปีขาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก
ช่วงฤดูฝนนั้นเป็นช่วงที่ชุ่มฉ่ำ ต้นไม้ใบหญ้าดูจะเขียวขจีเป็นพิเศษเนื่องจากได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ส่วนเรื่องการออกไปเที่ยวในช่วงหน้าฝนนั้น ใครที่คิดว่ารอไปจนถึงหน้าหนาวดีกว่า “ตะลอนเที่ยว” ขอบอกเลยว่าหน้าฝนนี่แหละที่น่าจะชวนกันออกมาเที่ยว เพราะช่วงนี้อากาศก็เย็นสบายกำลังดี ถึงจะเปียกฝนไปบ้างแต่ก็ชุ่มชื่นดีไม่น้อย

โดยเฉพาะการมาเที่ยวเมืองเล็กๆ สงบๆ ในช่วงหน้าฝนนั้น ยิ่งเพิ่มความน่าประทับใจให้มากขึ้นไปอีก ลองจินตนาการถึงเมืองเล็กๆ น่ารัก ที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ท่ามกลางป่าเขาและต้นไม้เขียวๆ มีฝนพรำลงมาเบาๆ อากาศก็สดชื่นเย็นสบาย แบบนี้จะพลาดได้อย่างไร
วิหารของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
ว่าแล้วก็เลยเก็บกระเป๋า แล้วขึ้นรถมุ่งหน้ามายัง จ.อุตรดิตถ์ ดินแดนของตำนานเมืองลับแล ที่นี่นั้นมีประวัติศาสตร์มายาวนาน โดยนักโบราณคดีได้ค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว

นอกจากจะรู้จักอุตรดิตถ์จากตำนานเมืองลับแลแล้ว เมืองนี้ก็ยังเป็นที่รู้จักจากชื่อของ “พระยาพิชัยดาบหัก” อดีตเจ้าเมืองพิชัย (จ.อุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน) ที่สร้างวีรกรรมการต่อสู้ในศึกสงคราม และรักษาเมืองพิชัยเอาไว้ได้ในการรบกับพม่า เมื่อสมัยกรุงธนบุรี

ซึ่งเมื่อมาถึงอุตรดิตถ์แล้ว ก็เลยขอมาเริ่มการท่องเที่ยวในทริปนี้ที่ “อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก” ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ มาไหว้เคารพท่านเนื่องในโอกาสที่ได้เดินทางมาท่องเที่ยวที่นี่
พระบรมธาตุทุ่งยั้ง
“พระยาพิชัยดาบหัก” มีบ้านเกิดอยู่ใน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ได้เข้ารับราชการและมีความดีความชอบ จนได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นพระยาพิชัย ผู้ครองเมืองพิชัย ในสมัยกรุงธนบุรี ส่วนการทำสงครามที่ท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้ก็คือเมื่อ พ.ศ.2316 พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัย ได้ยกทัพไปสกัดทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป การรบในครั้งนั้นดาบคู่มือของพระยาพิชัยดาบหัก ข้างขวาได้หักไปหนึ่งเล่ม แต่ก็ยังรบได้ชัยชนะต่อทัพพม่า ด้วยวีรกรรมดังกล่าวจึงได้สมญานามว่า“พระยาพิชัยดาบหัก”

สำหรับอนุสาวรีย์ของท่าน ทำพิธีเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติในความกล้าหาญ รักชาติ และเสียสละ ปัจจุบันนี้ ใครที่แวะเวียนมาเที่ยวเมืองอุตรดิตถ์ก็มักจะแวะมาสักการะพระยาพิชัยที่นี่ และหากว่าเดินไปด้านข้างของอนุสาวรีย์ ก็จะได้ชม “ดาบเหล็กน้ำพี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งที่นี่ก็จะทำให้ได้รู้จักว่าเหล็กน้ำพื้คืออะไร และการหล่อดาบเหล็กน้ำพี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นมีขั้นตอนอะไรบ้าง
พิพิธภัณฑ์ในม่อนลับแล
จากอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ขอแวะมาเข้าวัดให้เป็นสิริมงคลกับการเดินทางอีกสักนิด มากันที่ “วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง” ซึ่งถือว่าเป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของอุตรดิตถ์ ความพิเศษของวัดนี้คือเป็นสถานที่ประดิษฐานพระมหาธาตุเจดีย์ หรือพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ที่เป็นโบราณสถานเก่าแก่

จากการสันนิษฐานของนักโบราณคดี คาดว่าพระบรมธาตุทุ่งยั้งสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยตำแหน่งที่ตั้งของวัดนั้นอยู่เกือบกึ้งกลางของเมืองโบราณทุ่งยั้ง ซึ่งเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยกันกับกรุงสุโขทัยและศรีสัชนาลัย นอกจากนี้ ยังสันนิษฐานด้วยว่าเดิมเจดีย์เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ต่อมามีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาเป็นเจดีย์ทรงลังกาดังที่เห็นในปัจจุบัน

ถ้าหากว่าเดินเข้ามาในวัดแล้ว ก่อนจะไปถึงพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ก็ต้องเดินเข้าไปภายในวิหารเก่าแก่สมัยอยุธยา วิหารนี้ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ มีหลังคาลดหลั่น 3 ชั้น ส่วนหน้าบันแกะสลักลงรักปิดทอง เมื่อสะท้อนกับแสงแดดที่ส่องมานั้นระยิบระยับงามจับตามาก ภายในวิหารประดิษฐานหลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองทุ่งยั้ง
พระธาตุช่อแฮ
ส่วนพระบรมธาตุนั้นจะตั้งอยู่ทางด้านหลังของวิหาร ตัวพระบรมธาตุเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เชื่อกันว่าหากมาบูชาแล้วจะทำให้เกิดความสงบสุข ความแข็งแรง และความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า

“ตะลอนเที่ยว” ขอแอบมากระซิบบอกว่า อีกฝั่งถนนของวัดนั้นจะเป็นตลาดเล็กๆ ที่ขายของกินของใช้ มีขนมนมเนย กับข้าวกับปลาให้เลือกสรรกันหลายเมนู โดยเฉพาะในช่วงบ่ายแก่ๆ ชาวบ้านก็จะเริ่มนำอาหารออกมาวางขาย ใครจะไปเลือกซื้อของคาวของหวานกันก็ได้ตามชอบเลย
หลวงพ่อช่อแฮ ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ
หลังจากรู้จักในตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปพอควร ก็เดินทางกันต่อไปยังเมืองลับแลของจริง ที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เมืองเงียบสงบอยู่ท่ามกลางหุบเขา ช่วงที่ไปถึงนั้นมีฝนปรอยๆ อากาศก็เย็นสดชื่น แบบนี้เหมาะกับการมาเดินชมวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้าน แต่ใครที่มีเวลาไม่มากนักก็ขอแนะนำให้มาที่ “ม่อนลับแล” ที่นี่เป็นทั้งร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของฝาก และเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เก็บรวบรวมสิ่งของของชาวลับแลมาไว้ให้ชมกัน

ภายในพิพิธภัณฑ์ของม่อนลับแล จัดแสดงผ้าทอพื้นเมือง อุปกรณ์ เครื่องใช้ไม้สอย และกรรมวิธีการย้อมและทอผ้า ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาสู่ลูกหลาน เดินชมผ้างามๆ จนรอบห้องแล้ว หากเดินออกมาด้านนอกก็จะยังอยู่ในบรรยากาศสบายๆ ใต้ต้นไม้ร่มครึ้ม และยังสามารถมาชิมอาหารพื้นเมืองลับแลได้ที่นี่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวแคบ ข้าวพัน หมี่พัน ข้าวพันผัก เป็นต้น
พระเจ้าทันใจ
อิ่มท้องอิ่มใจจากเมืองลับแลแล้ว ก็กลับไปเข้าวัดเข้าวาอีกสักครั้ง แต่คราวนี้ไปกันที่ จ.แพร่ ไปสักการะพระธาตุประจำปีเกิดปีขาลกันที่ “วัดพระธาตุช่อแฮ” ที่มีคำกล่าวว่า หากมาแพร่แล้วไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮ ก็เหมือนมาไม่ถึงจังหวัดแพร่

วัดพระธาตุช่อแฮ เป็นพระอารามหลวงที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ (สมัยโบราณเรียกเนินเขานี้ว่า โกสิยธชัคคะบรรพต) มีสิ่งสำคัญภายในวัดคือ พระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยม ศิลปะแบบเชียงแสน ภายในบรรจุพระเกศาธาตุ และพระศอกด้านซ้าย

คำว่า “พระธาตุช่อแฮ” หมายถึง เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และประดับบูชาด้วยผ้าแพรอย่างดี โดยการมาสักการะบูชาองค์พระธาตุนั้นมักนิยมนำผ้าแพรเนื้อดีไปถวาย เชื่อว่าจะทำให้มีชีวิตผาสุก มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน และมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้
แหล่งรวบรวมผ้าซิ่นตีนจกโบราณ
นอกจากจะมาสักการะองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว ภายในวัดพระธาตุช่อแฮยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพของชาวพุทธอีกด้วย เริ่มต้นจาก “หลวงพ่อช่อแฮ” พระประธานที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนาเชียงแสน สุโขทัย อายุหลายร้อยปี สร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทอง

“พระเจ้าทันใจ” พระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้นลงรักปิดทอง เป็นพระที่สร้างขึ้นและเสร็จภายในวันเดียว จึงเชื่อกันว่าใครที่มาขอพรพระเจ้าทันใจก็จะได้สิ่งนั้นสมประสงค์ ส่วนที่ด้านหลังของซุ้มพระเจ้าทันใจนั้นยังมีไม้เสี่ยงทาย โดยผู้ใดต้องการเสี่ยงทายสิ่งใดก็จะนำไม้ดังกล่าวมาทาบกับช่วงแขนที่กาง เหยียดตรงไปจนสุดแขนทั้งสองข้าง ความยาวของวาอยู่ตรงจุดใดของไม้ก็จะทำเครื่องหมายไว้ แล้วนำไม้มาอธิษฐานเบื้องหน้าพระเจ้าทันใจว่า สิ่งที่ตนประสงค์นั้นจะสำเร็จหรือไม่ หากสำเร็จก็ขอให้ความยาวของตนเลยจุดที่ทำเครื่องหมายไว้ออกไป เมื่ออธิฐานเสร็จแล้ว ก็นำไม้เสี่ยงทายขึ้นมาวัดอีกครั้งหนึ่ง

แล้วก็ยังมี พระเจ้านอน พระเจ้าไม้สัก ธรรมมาสน์โบราณ กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่ได้มาเป็นประธานบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุช่อแฮ เมื่อปี พ.ศ.2467 ส่วนทางขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุนั้นก็จะต้องเดินผ่านบันไดนาค ซึ่งเป็นบันไดนาคโบราณ มีอยู่ 4 ด้าน และบันไดสิงห์ อีก 1 ด้าน และแต่ละด้านนั้นจะมีความสูงและจำนวนของขั้นบันไดไม่เท่ากัน
ชุดการแต่งกายจากภาพยนตร์สุริโยทัย
อิ่มบุญอิ่มใจกันถ้วนหน้า หลังจากนี้ก็ไปดูของสวยๆ งามๆ กันที่ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ” อ.ลอง จ.แพร่ เป็นสถานที่รวบรวมผ้าโบราณชนิดต่างๆ ของเมืองลอง และผ้าโบราณของชุมชนต่างๆ ซึ่งริเริ่มโดยนายโกมล พานิชพันธ์

เมื่อเดินเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ ส่วนแรกที่เห็นก็คืองานจิตรกรรมเวียงต้า ซึ่งเป็นงานศิลปะพื้นบ้านล้านนา เป็นความงามตามแบบของสกุลช่างศิลป์เมืองน่าน เขียนอยู่บนแผ่นกระดาษไม้สัก เดินถัดเข้าไปด้านในจะจัดแสดงผ้าโบราณเมืองลอง เป็นผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนกเมืองลอง และยังมีผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งอื่นๆ ที่มีความงดงามและทรงคุณค่าไม่แพ้กันเลย

ใครที่ชอบดูผ้าโบราณสวยๆ ถ้ามาที่นี่รับรองว่าไม่ผิดหวัง เพราะมีให้ชมมากมาย ทั้งผ้าโบราณที่จัดเก็บไว้ และยังมีผ้าที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงภาพยนตร์หรือละครเรื่องต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย ละครเรื่องรอยไหม เป็นต้น
บ้านวงศ์บุรี บ้านสีชมพูหลังงาม
และถ้ายังติดใจกับความสวยงามแบบโบราณกันอยู่ ก็ต้องกลับเข้ามาในตัวเมืองแพร่ เพราะจะไปเยือนบ้านโบราณ “บ้านวงศ์บุรี” บ้านสีชมพูหลังงามแบบยุโรปประยุกต์ หลังคาสูงทรงปั้นหยาสองชั้น ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นตามาจากละครเรื่องรอยไหม เพราะที่นี่ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ โดยใช้เป็นเรือนของเจ้านางมณีริน

บ้านวงศ์บุรีสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2440 ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา มหายศปันยา ชายาของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ถ้ามองมาที่บ้านหลังนี้จะมองเห็นจุดเด่นที่ตัวบ้านเป็นสีชมพู และลวดลายไม้แกะสลักที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม ชายน้ำ หน้าต่าง และประตู ต่อมาได้มีการซ่อมแซมแต่ลวดลายแกะสลักยังคงเป็นของเดิม
จำลองห้องนอนในสมัยก่อน
ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ ได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารการซื้อขายทาส ซึ่งปัจจุบันก็เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมความงามกันได้ทุกวัน

ติดตาตรึงใจกับความงาม ทั้งความงดงามของธรรมชาติ และความงดงามของสถาปัตยกรรมและโบราณสถานต่างๆ นอกเหนือจากนี้ ความงามจากใจของชาวบ้านที่ยิ้มแย้มต้อนรับนักท่องเที่ยวเสมอ เป็นเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ “อุตรดิตถ์-แพร่” ที่อยากจะชวนทุกคนให้มาเที่ยวและซึมซับความสุขแบบนี้ด้วยกัน
ภายในบ้านวงศ์บุรียังได้สัมผัสความงามของสิ่งของต่างๆ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (พื้นที่รับผิดชอบ : แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1127, 0-5452-1118 หรือที่เฟสบุค : Tat Phrae

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น