xs
xsm
sm
md
lg

ลั้นลาที่ “ลับแล” ชิมผลไม้-ไหว้พระ-พบปะแม่ม่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศเมืองลับแล
ทุกครั้งที่ได้ออกเดินทางท่องเที่ยว “ตะลอนเที่ยว” เชื่อว่าทุกคนคงมีอาการคล้ายกัน คืออาการลั้นลา ดี๊ด๊า เพราะการไปเที่ยวก็คือการไปสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ ไม่ซ้ำซากจำเจเหมือนตารางชีวิตที่เราพบเจออยู่ทุกวัน

และในครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว” ก็ลั้นลาเหมือนทุกครั้ง เมื่อได้ร่วมเดินทางไปกับคาราวานท่องเที่ยวทางรถยนต์กับโครงการ “เที่ยวเมืองลับแล แอ่วเมืองแป้ม่วนใจ๋” ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดแพร่ (รับผิดชอบจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์) ร่วมกับบริษัท สานฝันฮอลิเดย์ จำกัด และเว็บไซต์ตองหนึ่งไทยแลนด์ดอทคอม จัดขึ้น เป็นการเที่ยวสองจังหวัดที่ได้พบเจอสิ่งที่น่าสนใจมากมาย แต่ในวันนี้จะขอนำเสนอเฉพาะเรื่องราวของการไปลั้นลาที่เมืองลับแลกันก่อน

“เมืองลับแล” ฟังชื่อแล้วดูลึกๆ ลับๆ อย่างไรชอบกล ว่ากันว่าดินแดนลับแลเป็นสถานที่ลี้ลับ ใครหลงเข้าไปแล้วจะกลับออกมาไม่ได้ ซึ่งหากใช้เหตุผลอย่างธรรมดาที่สุดก็อธิบายได้ว่า ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาสลับซับซ้อน ใครไม่คุ้นชินทางผ่านเข้ามาก็มักหลงหายสาบสูญหาทางกลับบ้านไม่เจอ จนเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าเป็นเมืองลับแล
อนุสาวรีย์แม่ม่าย
แต่หากจะเล่าให้สนุกก็ต้องพูดถึงตำนานเมืองลับแลที่มักถูกเรียกคู่กันว่า “เมืองลับแล-แม่ม่าย” ที่เล่าต่อกันมาว่า คนเมืองลับแลถือเรื่องสัจจะวาจาเป็นอย่างยิ่ง ใครไม่มีความสัตย์จะอยู่ร่วมกับคนลับแลไม่ได้ อยู่มาวันหนึ่งมีชายหนุ่มคนหนึ่งหลงเข้าไปในเมืองลับแลและพบรักกับหญิงชาวลับแล ทั้งคู่อยู่ร่วมกันและมีบุตรด้วยกัน 1 คน วันหนึ่งหญิงลับแลออกไปหาผักหาปลาตามปกติ ฝ่ายสามีดูแลลูกอยู่ที่บ้านตามลำพัง แต่วันนั้นลูกน้อยเอาแต่ร้องไห้โยเย พ่อทั้งปลอบทั้งขู่อย่างไรก็ไม่หยุดร้อง จึงโกหกลูกไปว่า “หยุดร้องเสียเถิด แม่มานั่นแล้ว” ทั้งที่ความจริงแม่ยังไม่กลับ

คำโกหกเพียงเท่านี้ชาวลับแลก็ไม่อาจยอมรับได้ หญิงลับแลยอมเป็นแม่ม่าย ขอให้สามีออกไปจากเมืองเสีย โดยมอบของให้สามีถุงหนึ่งและสั่งว่าห้ามเปิดจนกว่าจะออกไปพ้นเมืองลับแล เมื่อฝ่ายชายเดินทางออกไปก็รู้สึกว่าถุงนั้นหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดความสงสัยและตัดสินใจเปิดถุงออกดูก็เห็นว่าเป็นเพียงขมิ้น จึงได้ทิ้งไปบ้างและเก็บเอาไว้เพียงไม่กี่อัน เมื่อกลับมาถึงบ้านได้เปิดถุงนั้นดูอีกที ปรากฏว่าขมิ้นได้กลายเป็นทองคำทั้งหมด
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ปลูกกันมากที่อุตรดิตถ์
ดังนั้นหากเดินทางไปถึงเขตอำเภอลับแลแล้วเห็นซุ้มประตูเมืองลับแลขนาดใหญ่ ก็อย่าลืมมองไปทางด้านขวามือของซุ้มประตูก็จะได้เห็นอนุสาวรีย์แม่ม่ายยืนอุ้มลูก และข้างๆ มีชายหนุ่มนั่งคอตกทำท่าเซ็งๆ มือถือถุงใส่ขมิ้นทองคำ และอย่าแปลกใจหากได้เห็นป้ายในเมืองลับแลเขียนไว้ตัวโตชัดเจนว่า “เมืองลับแล เขตห้ามพูดโกหก”

แต่ที่แน่ๆ ปัจจุบัน ลับแลถือเป็นเมืองผลไม้ เพราะสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีฝนตกชุกเหมาะแก่การปลูกพืชผล ซึ่งวิธีการทำสวนของชาวลับแลก็ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตรงที่สามารถทำสวนได้ทั้งในที่ราบและบนภูเขา รวมไปถึงสวนหลังบ้าน โดยจะปลูกควบคู่ไปกับต้นไม้ใหญ่ในป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ให้ไม้ผลและไม้ป่าพึ่งพาอาศัยกัน
รถขนส่งทุเรียนวิ่งกันขวักไขว่
ผลไม้เมืองลับแลจึงมีทั้งมังคุด สับปะรด มะม่วงหิมพานต์ ลองกอง ลางสาด และลางกอง ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมของลองกองและลางสาด ให้รสชาติหวานอร่อย แต่ผลไม้ขึ้นชื่อของลับแลอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือทุเรียนที่ชาวลับแลแทบทุกบ้านต่างนิยมปลูก ซึ่งมีทั้งทุเรียนพันธุ์ยอดนิยมอย่างหมอนทอง ชะนี แล้วก็ยังมีพันธุ์พื้นเมืองแต่อร่อยเด็ดแถมราคาสูงอย่างพันธุ์หลงลับแลและหลินลับแลอีกด้วย และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือวิธีการเก็บผลไม้บนภูเขา ซึ่งชาวสวนเมืองลับแลใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านคิดค้นวิธีย่นระยะทางและเวลาในการขนส่งทุเรียนด้วยการโยงลวดสลิงข้ามเขาและใช้วิธีชักรอกตะกร้าบรรทุกทุเรียนจากเขาหนึ่งข้ามมาอีกเขาหนึ่งได้อย่างสะดวกง่ายดาย และใช้รถมอเตอร์ไซค์ติดตะกร้าท้ายรถขนทุเรียนลงจากเขาอีกทีหนึ่ง

สำหรับช่วงที่ “ตะลอนเที่ยว” ไปเยือนเมืองลับแลกำลังเป็นหน้าทุเรียน จึงได้ลิ้มรสทุเรียนเมืองเหนือและเห็นมอเตอร์ไซค์บรรทุกทุเรียนวิ่งกันขวักไขว่ แต่หากใครไปเที่ยวในช่วงนี้ก็คงจะได้ลิ้มรสลางกองแสนอร่อยกันแล้ว ซึ่งหากอยากรู้ว่าช่วงนี้ผลไม้อะไรกำลังมา ก็สามารถไปดูได้ที่ “ตลาดหัวดง” ตลาดผลไม้แหล่งใหญ่ที่สุดของอำเภอลับแล มีให้เลือกซื้อได้หลายร้าน ต่อรองราคากันได้ตามชอบใจ
หมี่พัน หรือผัดหมี่ห่อด้วยข้าวแคบ อาหารพื้นถิ่นของลับแล
นอกจากผลไม้สารพัดของเมืองลับแลแล้ว ที่นี่ก็ยังมีของกินพื้นถิ่นขึ้นชื่อที่ไม่ควรพลาดอย่าง ข้าวแคบ หมี่พัน และข้าวพันผัก ที่ฟังชื่อแล้วหลายคนอาจนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร มาว่ากันทีละอย่าง เริ่มตั้งแต่ข้าวแคบ ซึ่งเป็นแผ่นแป้งกลมๆ ทำจากแป้งข้าวเจ้าที่หมักปรุงรสเค็มนิดๆ ตามสูตรของชาวบ้าน แล้วนำมานึ่งบนปากหม้อที่ตรึงด้วยผ้าขาวบาง ลักษณะเหมือนกับการทำข้าวเกรียบปากหม้อ เมื่อแป้งสุกแล้วก็แซะออกเป็นแผ่นกลมๆ แล้วนำไปตากแดดจนแห้งให้เก็บไว้กินได้นานๆ เวลากินก็สามารถกินได้หลายแบบ ทั้งเอาไปห่อข้าวเหนียวแล้วกินได้เลย หรือจะนำเอาแผ่นข้าวแคบนั้นมาห่อกับผัดหมี่ เรียกว่าหมี่พัน หรือถ้าใส่ไส้เป็นผักต่างๆ กินกับน้ำจิ้ม ก็จะเรียกว่าข้าวพันผัก หรือหากเอาไปปิ้ง ก็จะคล้ายกับข้าวเกรียบว่าว ที่ออกรสเค็มเล็กน้อย มักจะทำกันในงานบุญต่างๆ ของทางภาคเหนือ
พระวิหารวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
กินทั้งผลไม้ทั้งอาหารพื้นบ้านอร่อยๆ จนอิ่มท้องแล้วก็ได้ อย่าลืมมาไหว้พระเป็นสิริมงคลที่วัดสำคัญของเมืองลับแลอย่าง “วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง” วัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลาย ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท โบราณสถานสำคัญภายในวัดก็คือพระเจดีย์ทรงลังกาที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เจดีย์เป็นทรงลังกาสูงราว 20 วา หรือ 40 เมตร ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวงซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อพระประธานเฒ่า หรือหลวงพ่อโต อันเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองลับแล อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของขุนนางในสมัยอยุธยา และเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสเมื่อปี 2444 อีกด้วย
พระเจดีย์ของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
นอกจากนั้น วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งยังเป็นสถานที่จัดจำลองงานอัฐมีบูชา หรือพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า ที่จัดในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 และจัดต่อเนื่องมานานกว่า 50 ปี และมีเพียงไม่กี่แห่งที่ยังมีการรักษาประเพณีนี้ไว้ จึงถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของชาวอุตรดิตถ์ และสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
หลวงพ่อพระประธานเฒ่า พระประธานในพระวิหารวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
อีกหนึ่งวัดสำคัญคือ “วัดพระแท่นศิลาอาสน์” มีตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เคยเสด็จมาจำศีลบำเพ็ญพุทธบารมี ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาจึงมีการสร้างพระแท่นศิลาอาสน์ขึ้นเป็นโบราณวัตถุสำคัญของวัด โดยสร้างพระแท่นด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 ฟุต สูง 3 นิ้ว ฐานของพระแท่นโดยรอบประดับด้วยลายกลีบบัว มีพระมณฑปครอบอยู่ภายในพระวิหารพระแท่นศิลาอาสน์
พระแท่นศิลาอาสน์
นอกจากนั้นภายในบริเวณวัดมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้โบราณของชาวบ้าน เช่น เครื่องมือจับปลา เรือพายโบราณ เครื่องจักสาน เครื่องมือตีเหล็ก-ก่อสร้าง เครื่องมือปรุงยาสมุนไพรแผนโบราณ เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย ธรรมาสน์หลวง ธรรมาสน์โบราณฝีมือช่างสมัยอยุธยา พระพุทธรูปที่แกะจากต้นโพธิ์โบราณ และพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา ฯลฯ

สำหรับพระแท่นศิลาอาสน์นั้น เชื่อกันว่าหากใครได้มาสักการบูชาพระแท่นศิลาอาสน์จะได้รับอานิสงส์สูงสุด และหากได้มาไหว้พระแท่นฯ ครบ 3 ครั้ง จะได้ขึ้นสวรรค์ โดยทางวัดจะจัดให้มีงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ในวันเพ็ญเดือน 3 ของทุกปี ปีนี้ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาไหว้เป็นครั้งแรก แต่ด้วยเสน่ห์ของเมืองลับแลทำให้เราตั้งใจว่าจะกลับมาที่เมืองแห่งนี้อีก และต้องกลับมาสักการบูชาพระแท่นศิลาอาสน์อีกเป็นครั้งที่ 2 และ 3 ให้ได้

เผื่อจะได้ขึ้นสวรรค์กับเขาบ้าง
มณฑปประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

เมืองลับแลยังมีสถานท่องเที่ยวน่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วัดพระยืนพุทธบาทยุคล วัดดอนสัก วัดเจดีย์คีรีวิหาร น้ำตกแม่พูล เป็นต้น ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดอุตรดิตถ์เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ โทร. 0-5452-1118, 0-5452-1127
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น