เป็นที่รู้กันดีว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ การละเล่นสาดน้ำให้เย็นชื่นใจนั้นถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้ โดยเฉพาะการออกมาเล่นกันตามถนนสายต่างๆ ที่ถูกจัดไว้ให้เป็นแหล่งรวมตัวกัน อย่างในกรุงเทพฯ ถนนสำคัญๆ ก็เช่น ถนนสีลม ซอย RCA ถนนโชคชัย 4 และที่โด่งดังที่สุดทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างชาติก็คือ บริเวณถนนข้าวสาร
แต่นอกจากถนนข้าวสารที่มีชื่อเสียงในเรื่องการเล่นน้ำสงกรานต์แล้ว “ถนนข้าว” ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ก็ยังเป็นแหล่งเล่นน้ำสงกรานต์ด้วยเช่นกัน โดยแต่ละพื้นที่ก็จะแปลงร่างเป็นถนนข้าวต่างๆ นานา ซึ่งก็จะสอดคล้องกับท้องถิ่น วิถีชีวิต และประวัติความเป็นมาด้วย
ต้นตำรับการเล่นน้ำสงกรานต์บนถนนข้าวก็คือ “ถนนข้าวสาร” ถนนสายเก่าแก่ที่เชื่อมระหว่างถนนตะนาวและถนนจักรพงษ์ในย่านบางลำพู การเล่นสงกรานต์บนถนนข้าวสารนี้ เริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ.2533 เนื่องมาจากบนถนนข้าวสารมีเกสต์เฮาส์จำนวนมาก และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาพักในบริเวณนี้ การเล่นน้ำสงกรานต์จึงเกิดขึ้นที่นี่เพื่อแสดงวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ออกไปสู่สายตาชาวโลก ซึ่งแต่เดิมนั้นก็เป็นการเล่นสาดน้ำตามประเพณีกันธรรมดา แต่ต่อมาร้านค้าและเกสต์เฮาส์ที่อยู่บนถนนข้าวสาร รวมถึงบริเวณโดยรอบก็ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ถนนข้าวสารช่วงเทศกาลสงกรานต์ในยุคปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ภายหลังจากความโด่งดังของถนนข้าวสารในเรื่องการเป็นแหล่งเล่นน้ำสงกรานต์ ก็ได้มีอีกหลากหลายถนนข้าว ถือกำเนิดขึ้นมาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาร่วมสนุกกับเทศกาลสงกรานต์เช่นกัน
เริ่มจากที่ภาคเหนือ “ถนนข้าวแต๋น” อ.เมือง จ.น่าน ที่ในยามปกติคือ ถนนสุมนเทวราช ชื่อถนนข้าวแต๋นก็มาจากการที่ข้าวแต๋นนั้นเป็นของว่างของกินเล่นของชาวภาคเหนือ และนิยมกินกันในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ จึงถูกนำมาเป็นชื่อถนนในช่วงสงกรานต์ และทางเทศบาลเมืองน่านได้จัดให้ถนนข้าวแต๋นเป็นถนนสายวัฒนธรรม และเป็นถนนปลอดเหล้าเบียร์ประจำจังหวัด
“ถนนข้าวปุก” อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอปาย ชื่อ “ข้าวปุก” มาจาก ชื่อขนมพื้นบ้านของชาวไทยใหญ่ ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถหามาลองชิมได้แถวถนนคนเดิน อ.ปาย บนถนนข้าวปุกในช่วงสงกรานต์ จะมีกิจกรรมทั้งด้านการแสดงดนตรีพื้นเมืองของเยาวชน ขบวนสรงน้ำพระ การเล่นสาดน้ำ และมีการแจกข้าวปุกให้ได้กินกันด้วย
“ถนนข้าวแคบ” อ.เมือง จ.ตาก ตั้งอยู่บริเวณหาดทรายทอง ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นหาดทรายน้ำจืดในแม่น้ำปิง ช่วงฤดูร้อนปริมาณน้ำจะลดลงจนสามารถลงไปเล่นน้ำได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งเล่นน้ำของชาวจังหวัดตากแล้ว ก็ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่งด้วย “ข้าวแคบ” เป็นภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ หมายถึงข้าวเกรียบที่มีรสชาติออกเค็มๆ เป็นอาหารพื้นบ้านอย่างหนึ่งของตาก และบนถนนข้าวแคบในช่วงสงกรานต์ก็จะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น ขบวนสรงน้ำพระ ขบวนแห่ทางวัฒนธรรม การละเล่นกีฬาพื้นบ้าน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี “ถนนข้าวขนมเส้น” จ.แพร่ มีที่มาจากขนมเส้น หรือขนมจีน ที่เป็นของกินประจำจังหวัด, “ถนนยอดข้าว” อ.แม่สอด จ.ตาก หรือ “ถนนยอดข้าวนครแม่สอด” อยู่บริเวณถนนบายพาส โดยทางเทศบาลแม่สอดจะส่งเสริมให้ถนนสายนี้เป็นถนนสายบันเทิงและการท่องเที่ยว, “ถนนข้าวโพด” อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เป็นถนนสายกิจกรรมที่เริ่มตั้งแต่หน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ถนนเพชรเจริญ ถนนบูรกรรมโกวิท ไปจนถึงอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง
มาต่อที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ที่ยอดฮิตติดหูที่สุดก็คือ “ถนนข้าวเหนียว” อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งในช่วงปกติก็คือถนนศรีจันทร์ ถนนข้าวเหนียวจะเริ่มตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงแยกถนนศรีจันทร์ตัดกับถนนหน้าเมือง บรรยากาศบนถนนข้าวเหนียวในช่วงสงกรานต์ก็คล้ายกับที่ถนนข้าวสาร มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมาร่วมสาดน้ำและทำกิจกรรมต่างๆ และสิ่งที่ดึงดูดผู้คนมาได้มากก็คือ ดอกคูณ เสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ที่จัดว่าเป็นสุดยอดสงกรานต์แดนอีสานเลยทีเดียว
“ถนนข้าวหอมมะลิ” อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด อันมีที่มาจากพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของร้อยเอ็ดนั่นเอง ถนนข้าวหอมมะลิ หรือ ถนนเพลินจิต ตั้งอยู่บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ กลางเมืองร้อยเอ็ด
“ถนนข้าวปุ้น” อ.เมือง จ.นครพนม มาจากความขึ้นชื่อของขนมจีนที่จังหวัดนครพนม ที่มีน้ำยาหลากหลายสูตรให้ลองลิ้ม โดยถนนข้าวปุ้น ก็คือถนนเลาะริมโขง หรือบริเวณริมเขื่อนถนนสุนทรวิจิตร ซึ่งนอกจากจะมาเล่นน้ำสงกรานต์แล้ว ก็สามารถมาลองชิมข้าวปุ้นตามร้านค้าต่างๆ ได้ด้วย
นอกจากนี้ก็มี “ถนนข้าวเปียก” อ.เมือง จ.อุดรธานี อยู่บริเวณถนนเทศาภิบาล หน้าหน่วยบรรเทาสาธารณภัย, “ถนนข้าวกล่ำ” อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ หรือ ถนนอนรรฆนาค เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์, “ถนนข้าวเม่า” อ.เมือง จ.มหาสารคาม หรือถนนผดุงวิถี บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาจนถึงสี่แยกศูนย์โอทอป, “ถนนข้าวฮาง” จ.หนองบัวลำภู ตั้งอยู่บริเวณสนามนเรศวร ริมหนองบัว มีความยาวประมาณ 800 เมตร, “ถนนข้าวฮาง” จ.สกลนคร เปิดเป็นถนนงานประเพณีสงกรานต์ ตั้งแต่บริเวณถนนสุขเกษม ถนนเจริญเมือง ถนนเรืองสวัสดิ์ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
“ถนนข้าวแดง” จ.ขอนแก่น อยู่ภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดขอนแก่น จัดขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังได้สนุกสนานกับเทศกาลสงกรานต์และผ่อนคลายความเครียด, “ถนนข้าวรอดช่อง” จ.ยโสธร หรือถนนรัตนเขต บริเวณกลางเมืองยโสธร ซึ่งข้าวรอดช่องที่ว่า หน้าตาก็คล้ายกับขนมจีนเพียงแต่มีรสหวานมากกว่า, “ถนนข้าวเย็น” หรือ “ถนนเข้าเย็น” จ.ศรีสะเกษ บริเวณเทศบาลเมืองศรีสะเกษ จัดเป็นโซนนิ่งเล่นน้ำสนุกสนานและปลอดภัย, “ถนนข้าวหลาม” อ.เชียงคาน จ.เลย หรือถนนชายโขง มีระยะทางประมาณ 1,800 เมตร
ลงมาที่ภาคตะวันออก พื้นที่ใหญ่ก็คือ “ถนนข้าวหลาม” จ.ชลบุรี หรือบริเวณตลาดหนองมนนั่นเอง คนที่มาเล่นสงกรานต์กันบริเวณนี้ มักจะเรียกติดปากกันว่าเป็นถนนข้าวหลาม เพราะข้าวหลามนั้นเป็นของกินของฝากที่ขึ้นชื่อมากที่สุดของหนองมนนั่นเอง แต่จริงๆ แล้ว ถนนข้าวหลามนั้นมีอยู่จริง แต่ตั้งอยู่ใน เขตสัมพันธวงศ์ กทม. นี่เอง
“ถนนข้าวทิพย์” จ.จันทบุรี หรือที่ชาวจันทบุรีรู้จักกันว่า “ถนนท่าแฉลบ” ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดใหม่ จนถึงสามแยกทุ่งนาเชย ที่ตั้งชื่อนี้ก็เนื่องจากในวัดเปิดประเพณีสงกรานต์ ที่วัดใหม่จะจัดพิธีกวนข้าวทิพย์เป็นประจำทุกปี โดยในช่วงกลางวันของวันที่ 12 เมษายน จะมีพิธีกวนข้าวทิพย์ และช่วงกลางคืนจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์
ส่วนที่ภาคใต้ ก็มีถนนข้าวด้วยเช่นกัน นั่นคือ “ถนนข้าวยำ” จ.ปัตตานี หรือถนนมะกรูด ซึ่งเดิมเป็นตลาดสด แต่ในช่วงสงกรานต์ก็จะมีประชาชนมาเล่นน้ำกันบริเวณนี้ จึงได้ตั้งชื่อว่าถนนข้าวยำ ให้สอดคล้องกับถนนข้าวสารที่กรุงเทพฯ และข้าวยำก็ยังเป็นอาหารอร่อยขึ้นชื่อของปัตตานีอีกด้วย และ “ถนนข้าวสังข์หยด” จ.พัทลุง ก็ตั้งชื่อมาจากพันธุ์ข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของพัทลุงนั่นเอง
ปิดท้ายที่ภาคกลาง นอกจากจะมีถนนข้าวสารเป็นพื้นที่ชูโรงแล้ว ก็ยังมี “ถนนข้าวสุก” อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง หรือบริเวณถนนสายชันสูตร-เสนา ความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร, “ถนนข้าวเปลือก” จ.กาญจนบุรี หรือถนนเจ้าขุนเณร ที่เปิดให้เป็นพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์นานาชาติเพราะมีทั้งคนไทย ฝรั่ง พม่า มอญ และอีกมากมายมาร่วมเล่นน้ำกันสนุกสนาน, “ถนนข้าวแช่” จ.ปทุมธานี หรือถนนเทศปทุม บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานีหลังเก่า และ “ถนนข้าวหมูแดง” จ.นครปฐม หรือถนนที่ตัดตรงจากประตูด้านทิศตะวันตกขององค์พระปฐมเจดีย์ ไปยังพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร
สำหรับสงกรานต์นี้ ไม่ว่าจะเลือกไปเล่นน้ำที่ถนนข้าวอะไรก็ตาม แต่สิ่งไม่ควรลืมก็คือ เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาในการรวมตัวกันของคนในครอบครัว ร่วมกันทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ไทย และร่วมกันทำกิจกรรมที่กระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เพื่อนฝูง และคนในชุมชน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com