xs
xsm
sm
md
lg

ขาดได้ก็ซ่อมได้...“เราจะกลับมา” ศรัทธายังแรงกล้าที่ “สะพานมอญ” สังขละบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำป่าเชี่ยวกรากพัดจนสะพานมอญขาดพัง
หลังจากฝนตกติดต่อกันอย่างหนักเป็นเวลา 3 วัน ใน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ทำให้เกิดน้ำป่าไหลเชี่ยวกราก พัดพาเอาตอไม้ สวะ และแพที่หลุดจากหลักปะทะกับเสา “สะพานมอญ” ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรข้ามไป-มาของชาวบ้านแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวใน อ.สังขละ อีกด้วย เพราะสะพานมอญถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวไฮไลท์สำคัญในอำเภอแห่งนี้ที่มีผู้คนเดินทางมาสัมผัส เที่ยวชม และถ่ายรูปคู่กับสะพานไม้อันสุดคลาสสิกแห่งนี้ไม่ได้ขาด
สะพานมอญในอดีต (ปี 2550)
สะพานมอญ เป็นสะพานไม้ที่มีความยาวเป็นอันดับที่ 2 ของโลก(รองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า) โดยข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่ายาว 850 เมตร แต่ข้อมูลจากไกด์เยาวชนในพื้นที่ระบุว่ายาว 455 เมตร

สะพานมอญ ถือเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของสังขละบุรี มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "สะพานอุตตมานุสรณ์" โดยตั้งตามชื่อของพระราชอุดมมงคล หรือหลวงพ่ออุตตมะแห่งวัดวังก์วิเวการาม พระเกจิซึ่งเป็นดังศูนย์รวมจิตใจของทั้งชาวไทย ชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงแห่งเมืองสังขละ ซึ่งท่านเป็นผู้ดำเนินการสร้างสะพานขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญที่มีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่ออุตตมะ โดยชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นในปี 2528 ใช้เวลาสร้าง 2 ปี จนมาเสร็จสิ้นในปี 2530 กล่าวกันว่าท่อนไม้ใหญ่ที่นำมาใช้ส่วนหนึ่งนำมาจากต้นไม้ที่ยืนต้นตายอยู่ใต้เขื่อนเขาแหลม ตัวสะพานยาว 455 เมตร ทอดข้ามลำน้ำซองกาเลีย และยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างตัวอำเภอสังขละบุรีกับหมู่บ้านชุมชนชาวมอญอีกฝั่งหนึ่งเข้าด้วยกัน
บรรยากาศเก่าๆ ของสะพานไม้ในอดีต
สะพานไม้แห่งนี้ แม้สร้างด้วยฝีมือช่างพื้นบ้าน แต่กลับดูสวยงามคลาสสิก อีกทั้งยังเป็นสะพานที่มีชีวิต จากภาพวิถีชาวแพในลำน้ำเบื้องล่าง และภาพวิถีของผู้คนที่เดินข้ามฝั่งไปมา โดยเฉพาะภาพวิถีชาวมอญ ที่ยามเช้าจะเห็นสาวๆ ชาวมอญทาแป้งทานาคาเดินเทินของบนศีรษะข้ามจากฝั่งมอญไปทำงานฝั่งเมืองกันอย่างคึกคัก
สะพานไม้มอญที่เพิ่งซ่อมแซมเสร็จใหม่ (ปี2556)
ในปี 2538 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ระดับน้ำในเขื่อนเขาแหลมเองก็ได้เพิ่มสูงมากจนกระทั่งท่วมสะพานไม้ และเอ่อล้นเข้าท่วมฝั่งบ้านเรือนริมฝั่งน้ำด้วยเช่นกัน แต่หลังจากนั้นสะพานไม้ก็ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ ไม่เกิดความเสียหายหนักหนาแต่อย่างใด
โครงสร้างสะพานที่ทำด้วยไม้
หลังจากการใช้งานมากว่า 20 ปี จากเดิมที่ทุกปีชาวบ้านจะช่วยกันซ่อมแซมตามสภาพ สะพานมอญที่ใช้งานมายาวนานเริ่มชำรุดจนอาจเป็นอันตรายกับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมสะพานครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 โดยเทศบาลสังขละบุรี โดยเมื่อซ่อมเสร็จ หน้าตาของสะพานได้เปลี่ยนไปบ้าง จากเดิมที่มีแผ่นไม้สั้นบ้างยาวบ้างปูเป็นพื้นดูไม่เป็นระเบียบแต่สวยงามคลาสสิก ก็กลายเป็นแผ่นไม้ขนาดเท่ากันวางเรียงเป็นระเบียบดูมั่นคงแข็งแรง นอกจากนั้นยังติดตั้งเสาไฟฟ้าเพิ่มเติมโดยหัวเสาเป็นหงส์สีทองคาบโคมไฟตลอดแนวสะพาน ซึ่งบางคนกล่าวว่าแม้สะพานจะดูสวยงามแข็งแรงขึ้น แต่ก็ขาดเสน่ห์ความคลาสสิกแบบดั้งเดิมไป
อีกไม่นานสะพานไม้คงได้รับการซ่อมแซมกลับมาดังเดิม
จนกระทั่งวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีฝนตกหนักต่อเนื่องและน้ำจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทะลักลงมาสมทบ ทำให้แพที่ลอยอยู่ในแม่น้ำซองกาเลียพร้อมทั้งท่อนไม้ที่ลอยมากับน้ำกระแทกตอม่อจนต้านไม่ไหว ทำให้ช่วงกลางสะพานพังลงเป็นระยะทางรวมกว่า 50 เมตร

ทั้งนี้หลังข่าวสะพานมอญขาดเป็นที่รับรู้ในวงกว้างในโลกไซเบอร์ มีการส่งข้อความให้กำลังใจต่อชาวสังขละเป็นจำนวนมาก พร้อมเชื่อมั่นว่าสะพานมอญจะได้รับการซ่อมแซมให้กลับมาใช้ได้ดังเดิมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันมีเสน่ห์ของสังขละบุรีโดยเร็ววัน ดังที่ปรากฏในหน้าเพจของ ททท.กาญจนบุรี ว่า

" เ ร า จ ะ ก ลั บ ม า "

ขอบคุณทุกๆ แรงใจ ที่รักและเป็นห่วงเรา เรายังสบายดี และเสียหายเพียงแค่บางส่วน ... เราเกิดมาจากแรงศรัทธาของคนที่นี่ เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา เราผ่านการซ่อมแซมมาแล้วถึง 5 ครั้ง และในครั้งนี้ก็เช่นกัน ศรัทธาของพวกคุณทุกๆ คนจะยังทำให้เรายืนหยัดอยู่ต่อไป

ขอเวลาเราซักนิด ... ไม่ช้าเราจะกลับมา

***********************************************************

สำหรับผู้ที่อยากช่วยบูรณะฟื้นฟูสะพานไม้มอญ สามารถบริจาคเงินสมทบทุนได้ ณ วัดวังก์วิเวการาม หรือที่ตู้รับบริจาคบริเวณเชิงสะพานทั้งสองฝั่ง หรือโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสังขละบุรี ชื่อบัญชี “วัดวังก์วิเวการาม (สะพานไม้)” บัญชีเลขที่ 679 216755 4 ได้ตามจิตศรัทธา

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น