xs
xsm
sm
md
lg

เขมรถก“มรดกโลก”วันนี้ จับตา“สก อาน”สอดไส้พระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(16 มิ.ย.56) นายพิทยา พุกกะมาน ผู้ช่วย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝายไทย ที่จะเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสามัญ ครั้งที่ 37 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในระหว่างวันที่ 16-27 มิ.ย.นี้ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนจะทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประเทศไทยให้ดีที่สุด ทั้งนี้ สำหรับข้อกังวลของประเทศไทย ที่เกรงว่ากัมพูชาจะเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารเข้าพิจารณาในที่ประชุมนั้น ยันยันว่าจนกระทั่งเวลานี้ก็ยังไม่มีการเสนอวาระดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม โดยในฐานะประธานการประชุมกัมพูชา ไม่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ที่สำคัญประเทศไทยเป็นรองประธานร่วมกับอีก 4 ประเทศคือ สวิตเซอร์แลนด์ แอลจีเรีย โคลัมเบีย และเซเนกัล ซึ่งจะต้องร่วมพิจารณาวาระการประชุมในฐานะคณะกรรมการบริหารของคณะกรรมการมรดกโลก (Bureau) ในทุกวันของการประชุม เพื่อกำหนดและทบทวนวาระที่จะประชุมในแต่ละวัน ดังนั้น หากกัมพูชาสอดแทรกประเด็นในเรื่องประสาทวิหารเข้ามาเรา ก็สามารถคัดค้านต่อที่ประชุมได้
“อยากให้มองกัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ ไม่อยากให้มองในเรื่องประเด็นความขัดแย้ง ผมเชื่อว่ากัมพูชาจะไม่เสนอวาระเกี่ยวกับประสาทพระวิหารเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม เพราะกรณีดังกล่าวถือเป็นเผือกร้อน ที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งและบรรยากาศที่ไม่ดีในที่ประชุม กัมพูชาก็คงเห็นร่วมกันกับเราว่ารอให้ศาลโลกมีคำตัดสินคำตัดสินออกมาก่อนว่า จะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นในช่วงเดือน ต.ค.นี้ หรือต้นปีหน้า
นายพิทยา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตนกับนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และประธานคณะกรรมการมรดกโลกก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว นายสก อาน เองก็เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องมรดกโลกเป็นอย่างดียิ่ง มั่นใจว่าจะไม่มีการยกเรื่องประสาทพระวิหารขึ้นมาทำลายบรรยากาศในการ ประชุม และกัมพูชาก็อยากเป็นเจ้าภาพที่ดีในการประชุม
สำหรับวาระการประชุมที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย คือการเสนอขึ้นทะเบียนวัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ขึ้นเป็นมรดกโลก และที่สำคัญคือ การพิจารณาสถานะการอนุรักษ์ของพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ศูนย์มรดกโลก มีข้อมติให้ประเทศไทยต้องดำเนินการ ได้แก่ การขยายถนน 304 และการเชื่อมต่อผืนป่า การก่อสร้างเขื่อนห้วยโสมง ปัญหาการบุกรุกทั้งจากคนและปศุสัตว์ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เราได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังศูนย์มรดกโลกแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุดคือ กรณีการลักลอบตัดไม้พะยูง ที่มีกองกำลังต่างชาติเข้ามาลอบตัดไม้ในพื้นที่มรดกโลก ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาระหว่างประเทศที่ประเทศเพื่อนบ้านต้องร่วมมือในการแก้ไขด้วย โดยเราได้ส่งคำชี้แจงทั้งหมดไปยังศูนย์มรดกโลกแล้วเช่นกัน
ส่วนความเป็นห่วงในเรื่องที่ประเทศไทยจะถูกจัดอันดับมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เข้าสู่บัญชีเสี่ยงคุกคามนั้น คิดว่ายังไม่น่าห่วง เพราะคณะกรรมการมรดกโลกยังต้องส่งคณะทำงานเข้ามาติดตามการดำเนินการของไทยก่อน ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมรดกโลกมาตลอด โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนก็ได้ลงพื้นที่มรดกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าการดำเนินการต่างๆ ก่อนจะไปชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่อื่นคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ทางศูนย์มรดกโลกก็ได้ส่งหนังสือแสดงข้อห่วงใยผลกระทบจากก่อสร้างเขื่อนแม่วงศ์ และมีหนังสือสอบถามมา แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีการบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกใน ครั้งนี้ ซึ่งเราก็ได้ชี้แจงไปแล้วว่าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนอยู่นอกพื้นที่มรดกโลก
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฏหมายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับคำฟ้องในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตห่งชาติ(ปปช.)ยื่นฟ้องในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 18มิถุนายน 2551 โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภากำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 5 ก.ค.นี้ เวลา 13.30 น.ว่า คดีนี้อัยการสั่งไม่รับฟ้องตนแล้ว แต่ปปช.ก็ไปยื่นศาลเสียเอง ซึ่งตนเคลือบแคลงความเป็นกลางของนายกล้านรงค์ จันทิก 1ในคณะกรรมการปปช.เพราะเป็นปฏิปักษ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ
“ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินคดีนี้ผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพราะไปอ้างว่าการแถลงการณ์ร่วมของผมแม้ไม่มีบทบัญญัติเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่อาจมีบทบัญญัติเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ซึ่งเติมคำว่าอาจในรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการละเมิดการแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจน และเป็นการละเมิดหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรงที่สุด เพราะไปตัดสินคดีนอกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย โดยศาลต้องใช้กฏหมายตามที่สภาฯเป็นผู้ออก ไม่ใช่ผู้พิพากษาเป็นคนบัญญัติกฏหมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด”นายนพดลกล่าว
นายนพดล กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามตนมั่นใจว่าการยื่นฟ้องของปปช.ตนสามารถชี้แจงได้ทั้งหมด แต่ตนสังเกตุเห็นว่าปปช.ไม่ได้ฟ้องตนที่ทำให้เสียดินแดน ข้อเท็จจริงอีกไม่นานประชาชนและทุกคนจะได้รู้ว่าสิ่งที่ตนทำไม่ได้ทำให้เสียดินแดน
กำลังโหลดความคิดเห็น