xs
xsm
sm
md
lg

“ผาตาด-ภูเตย”อลังการน้ำตกงามที่“ทองผาภูมิ”...ดินแดนแห่งเพชรพระอุมา/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ป่าเขาแห่งทองผาภูมิที่ได้ชื่อว่าเป็นแรงบันดาลใจให้พนมเทียนใช้เป็นฉากต่างๆในเพชรพระอุมา
ทองผาภูมิ”(จ.กาญจนบุรี) อำเภอนี้นอกจากจะมีชื่อฟังร่ำรวยมหาศาล เพราะในชื่ออำเภอมี “ทอง”(ผาภูมิ) ประทับหราอยู่ในนั้นแล้ว อำเภอนี้ยังเป็นดินแดนแห่งเพชรอีกด้วย

เพชรที่ว่าไม่ใช่เป็นราชาแห่งอัญมณี หากแต่เป็น “เพชรพระอุมา” นวนิยายชื่อก้องฟ้าเมืองไทยที่ได้ชื่อว่ายาวที่สุดในโลก ประพันธุ์โดยครู “พนมเทียน”(ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2540) ที่ว่ากันว่าฉากสำคัญๆในเพชรพระอุมาหลายๆฉากท่านได้แรงบันดาลใจมาจากขุนเขา ป่าไพร ในทองผาภูมิ จนอำเภอนี้เป็นที่รู้จักกันดีของแฟนานุแฟนเพชรพระอุมาว่าเป็นดินแดนแห่ง(ฉาก)เพชรพระอุมา

ปี 2 ที่แล้วผมไปเที่ยวทองผาภูมิ เจอกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ชาวทองผาภูมิคนหนึ่งที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เพชรพระอุมา แกพาผมไปดูขุนเขาที่ตั้งตระหง่านอยู่หลังวัดท่าขนุน(จากมุมมองหน้าที่ว่าการอำเภอ) นายทหารคนนั้นบอกกับผมว่า ในความคิดของแกเชื่อว่าเขาลูกนี้น่าจะเป็นที่มาของเขา “พระศิวะ” เพราะเท่าที่ได้เปรียบเทียบบรรยากาศฉากต่างๆแล้ว มันใช่เลย

“ช่วงหลังฝนตกมีหลอกลอยปกคลุมมันดูลี้ลับ คืนวันขึ้น 5 ค่ำผมก็เคยมาดู ผมว่ามันเหมือนกับในนิยายน่ะ” นายทหารคนนั้นบอก
ขุนเขาในทองผาภูมิที่มีบางคนเชื่อว่าถูกใช้เป็นฉากสำคัญในเพชรพระอุมา
สำหรับเรื่องนี้มันมีหลายกระแส บ้างก็ว่าเขานั่นเขานี่ บางคนว่าป่านั่นป่านี่ หรือไม่ก็ว่าตรงนั่นตรงนี้ เป็นฉากในเพชรพระอุมา โดยเฉพาะที่มีคนพูดถึงกันมากก็คือ “เขาแหลม” ที่เชื่อว่าเป็นเขาพระศิวะ ส่วนมรกตนครนั้นก็คือ“เหมืองปิล็อก” นั่นเอง ซึ่งผมขอฟังหูไว้หู

อีกอย่างเวลาที่ผมนึกถึงฉากป่าเขา ถ้ำ หลุมอุกาบาตร ขุนเขาหิมะ เมืองผีดิบ หรือมรกตนครในท้องเรื่อง ผมมักนึกไม่ค่อยมีจินตนาการ ไม่เหมือนกับฉากที่ “รพินทร์”(ไพรวัลย์) กับ “หม่อมน้อย-ดาริน”(วราฤทธิ์) กุ๊กกิ๊กกัน โดยเฉพาะฉากเลิฟซีนนี่ เห็นภาพชัดทีเดียว

อย่างไรก็ดีสำหรับการมาเที่ยวทองผาภูมิหนล่าสุดของผม ผมไม่ได้มาตามรอยเพชรพระอุมาสู่มรกตนครเพราะติดต่อรพินทร์กับแงซายไม่ได้ แต่ผมมาเที่ยวค้นหาน้ำตกใหญ่ ที่ชื่อ “ภูเตย” ที่เป็นน้ำตกที่เพิ่งเปิดตัวสู่การท่องเที่ยวเมื่อไม่นานมานี้
น้ำตกผาตาดท่ามกลางแมกไม้
น้ำตกผาตาด

ก่อนจะไปน้ำตกภูเตย ผมแวะเที่ยว“น้ำตกผาตาด” ที่อยู่ในเส้นทางผ่านกันก่อน

น้ำตกผาตาด อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ เข้าไปทางเดียวกับน้ำพุร้อนหินดาด

บริเวณน้ำตกผาตาด มีบรรยากาศน่าเที่ยวมาก ทางเดินจากจุดจอดรถสู่ตัวน้ำตกร่มรื่น เขียวครึ้ม มีการจัดภูมิทัศน์ที่คงสภาพความเป็นธรรมชาติไว้ได้อย่างดี แต่เส้นทางก็ไม่ลำบากสมบุกสมบัน เดินสบาย เพียงแต่ในหน้าฝนอย่างนี้ต้องระวังลื่นหัวทิ่มกันนิดหน่อย เพราะบางจุดพื้นเปียกแฉะ เวลาเดินต้องละเอียดนิดส์นึง
น้ำตกผาตาดชั้นไม่สูง แต่เด่นที่สายน้ำแผ่สยายกว้างไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ
น้ำตกผาตาดมี 3 ชั้น เป็นน้ำตกหินปูนที่ไม่เน้นแนวดิ่ง เพราะไม่สูง หากแต่เน้นแผ่ขยายไปในทางกว้าง ชั้นแรกมีลักษณะเป็นชั้นเตี้ยลดหลั่นซ้อนชั้นกัน มีต้นไม้ขึ้นสลับเป็นช่วงๆ ขณะที่ชั้น 2 ที่อยู่ใกล้ๆกัน(มาก) ก็ยังคงเป็นลักษณะเดียวกับชั้นแรก

ส่วนชั้น 3 ที่ต้องเดินไกลออกไปหน่อยถือเป็นไฮไลท์ของน้ำตกแห่งนี้ เพราะตัวน้ำตกมีความสวยงาม กว้างกว่า 10 เมตร มีเชิงชั้นไหลลดหลั่นซ้อนกันมา จากต้นน้ำเบื้องบนเกิดเป็นสายน้ำตกชุ่มฉ่ำไหลถั่งโถมแผ่สยายเป็นสีขาวฟูฟ่อง ส่งเสียงอึงคะนึง ท่ามกลางบรรยากาศรอบข้างที่ร่มรื่นเขียวครึ้ม เห็นแล้วกระตุ้นอารมณ์ให้อยากลงเล่นน้ำยิ่งนัก แต่งานนี้คงต้องอดใจไว้ เพราะเรามีภารกิจพิชิตน้ำตกภูเตยที่ได้ยินกิตติศัพท์มาก่อนล่วงหน้าว่า เส้นทางลุยเอาเรื่องเหมือนกัน
น้ำตกผาตาด ธรรมชาติร่มรื่นสวยงาม
น้ำตกภูเตย

จากน้ำตกผาตาด ผมมานอนพักที่ทองผาภูมิ 1 คืน จากนั้นวันรุ่งขึ้นก็ได้เวลาออกเดินทางสู่น้ำตกภูเตยกัน

น้ำตกภูเตย อยู่ห่างจากตัวเมืองทองผาภูมิไปราว 30 กม. ทางเข้าน้ำตกต้องผ่าน “หมู่บ้านภูเตย” หมู่บ้านชาวอีสาน ที่อพยพมาตั้งรกราก ทำมาหากิน ทำไร่ ทำสวน อยู่ที่เมืองกาญจน์ ซึ่งที่หมู่บ้านแห่งนี้เรามีนัดกับผู้ที่จะมาทำหน้าที่แทนรพินทร์พาผมลุยน้ำตกในครั้งนี้คือ “ลุงพล”(ณัฐพล แสงแก้วเขียว) ที่อายุอานามก็น่าจะไล่เลี่ยกับลุงบุญคำในเพชรพระอุมา

ลุงพลวันนี้มีอายุ 60 กว่าแล้ว แต่ยังแข็งแรง แกได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบน้ำตกภูเตยอย่างเป็นทางการในปี 2528 ซึ่งเป็นการค้นพบโดยบังเอิญระว่างที่ลุงพลกับเพื่อนชาวกะเหรี่ยงเข้าป่าไปหาหน่อไม้กัน แล้ว(บังเอิญ)ไปเจอน้ำตกแห่งนี้เข้า
ดอกกระเจียวสีแดงที่พบระหว่างทาง
เดิมน้ำตกแห่งนี้ไม่ได้เป็นที่สนใจของชาวบ้าน เพราะพวกเขาต่างทำมาหากิน บางคนเข้าไปหาหน่อไม้แล้วก็ใช้ลำธารน้ำตกเป็นที่แวะพัก แวะกินน้ำ อาบน้ำอาบท่า แต่เมื่อลุงพลมาเจอเข้าแล้วไปบอกต่อ จนเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวาง ทางรีสอร์ทแห่งหนึ่งได้เห็นศักยภาพ จึงจัดทริปนำคนมาเที่ยว หลังจากนั้นทางททท.เมืองกาญจน์ก็ผลักดัน โปรโมทให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองกาญจน์

น้ำตกภูเตยมีชื่อเรียก(ชื่อเดิม)ในภาษากระเหรี่ยงว่า“น้ำตกห้วยองเผาะ” ตั้งอยู่ในเขตป่าชุมชนของหมู่บ้านภูเตย ทางเข้าสู่น้ำตกต้องผ่านพื้นที่ไร่กะหล่ำ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ของชาวบ้าน จากนั้นจึงจะเป็นทางเดินเท้าในป่าที่เส้นทางค่อยๆจากพื้นที่ราบลงสู่ผืนป่าใหญ่เบื้องล่างที่มีความอุดมสมบูรณ์ดุจดังทองธรรมชาติที่ซุกซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นที่การทำไร่ของชาวบ้าน ซึ่งผมอดนึกถึงฉากป่าในหุบเหวที่รพินทร์กับดารินตกลงไปแล้วไปเจอกัน จนเกิดบ่มเพาะเป็นความรักอันแสนคลาสสิกไม่ได้
เส้นทางสู่น้ำตกภูเตยบางช่วงต้องลุยน้ำข้ามไป
สำหรับเส้นทางสู่น้ำตกช่วงแรกเป็นป่าไผ่ก่อนเปลี่ยนไปเป็นป่าโปร่ง จากนั้นป่าเริ่มรกดิบขึ้น เส้นทางก็เริ่มสมบุกสมบัน ยิ่งเดินป่าในหน้าฝนอย่างนี้ ความลำบากยิ่งเพิ่มเป็นเท่าตัวจากการเดินป่าในช่วงหน้าหนาว เพราะมันมีทั้ง เหนื่อย แฉะ เปียก ลื่น ล้มหัวทิ่มหัวตำ แต่กระนั้นใน 2 ข้างทางก็มีธรรมชาติน่าสนใจหลากหลายให้ชม ไม่ว่าจะเป็น ปูตัวสีเหลือง เห็ดหลากหลายรูปแบบ ดอกไม้ป่าต่างๆ กระเจียวที่ออกดอกผลิบานทั้งสีขาว ส้ม แดง และ ฯลฯ

เมื่อเข้าสู่เขตป่าทึบอย่างเต็มตัว ผมได้ยินเสียงน้ำไหลอยู่ไกลๆ หะแรกคิดว่าตัวน้ำตกคงอยู่ไม่ไกล แต่ที่ไหนได้มันเป็นแค่ลำธารกับแอ่งน้ำตกชั้นเตี้ยๆ ที่ลุงพลบอกว่าแบบนี้ไม่เรียกน้ำตก น้ำตกจริงต้องเดินไปอีก ส่วนจะไปไกลแค่ไหนแกไม่ได้บอก เพราะแกเดินจ้ำอ้าวไปโน่นแล้ว

ผมและคณะเดินตามลุงพลต่อไป บางช่วงต้องลุยน้ำ ลุยแอ่ง ข้ามลำธาร แต่บางช่วงดีหน่อยมีสะพานลำลองไว้ให้เดิน
ถั่งโถมเป็นสายไหลฟูฟ่อง
หลังเดินตะลุยมาได้ประมาณ 2 ชั่วโมง พวกเราก็มาถึงยังน้ำตกชั้นแรกที่แม้จะเป็นน้ำตกเล็กๆไม่สูงใหญ่ แต่ผมก็ชื่นใจ เพราะเรามาถูกทาง และรู้สึกได้ว่าของดีที่เป็นไฮไลท์อยู่อีกไม่ไกล

จากน้ำตกชั้น 1 เราไปพักกินข้าวเที่ยงกันที่ริมลำธารบริเวณน้ำตกชั้น 2 แล้วจึงออกเดินหน้าสู่น้ำตกชั้นต่อๆไป

ลุงพลยังคงนำเดินต่อไปแบบไม่มีเหนื่อยทั้งๆที่อายุ 60 กว่าแล้ว ส่วนผมที่อายุอานามจัดอยู่ในรุ่นลูกแกกลับลูกสึกเหนื่อยจับใจ

แต่จากนั้นไม่นานเราก็ได้พักกันที่น้ำตกชั้น 3 ให้เอาน้ำลูบหน้าลูบตา แล้วออกลุยต่อสู้น้ำตกชั้น 4,5,6 โดยระหว่างทางก็หยุดถ่ายรูปไปเรื่อย ก่อนจะมาหยุดกันอย่างจริงจังที่ชั้น 7 มองเห็นน้ำตกไหลเป็นสายตระหง่านอยู่เบื้องหน้า
สายน้ำที่ถั่งโถมของน้ำตกภูเตยชั้น 7
สำหรับชั้น 7 ที่นี่ ไม่ใช่ที่โฟร์ซีซันจึงไม่ใช่สวรรค์ หากแต่เป็นหนึ่งในชั้นไฮไลท์ ที่ตัวน้ำตกมีความสูงกว่า 80 เมตร กระหน่ำไหลถาโถมลงมาจากโตรกผาแผ่สยายเป็นสายลงมาสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างดูน่าตื่นตาตื่นใจ

จากนั้นเราไปต่อกันที่ชั้น 8 ที่อยู่ใกล้ๆกัน แต่ว่าทางไปนี่ต้องค่อยไป เพราะหน้าฝนถนนลื่นฉันใด ทางเดินป่าก็ลื่นยิ่งกว่า

น้ำตกชั้น 8 มีความสูงเกือบ 100 เมตร เป็นน้ำตกสายใหญ่ที่สายน้ำไหลโจนทะยานหายลงไปสู่เบื้องล่างท่ามกลางแมกไม้เขียวขจีรอบข้างดูสบายตา ส่วนชั้นที่ 9 ที่เป็นสิ้นสุดของการเที่ยวชมน้ำตกภูเตยนั้น เป็นชั้นที่สูงที่สุด มีความสูงถึง 120 เมตร ถือเป็นอีกหนึ่งชั้นไฮไลท์ของน้ำสายนี้เช่นเดียวกับชั้น 8
น้ำตกภูเตยชั้น 8 ไหลหายลงไปในเหวเบื้องล่าง
อย่างไรก็ดี ลุงพลบอกกับผมว่า จากนี้ไปยังมี น้ำตกชั้น 10-12 อีก แต่ในช่วงหน้าฝนอย่างนี้ลงไปลำบากเส้นทางอันตราย มาก ซึ่งลุงพลไม่แนะนำ ครับงานนี้ผมและเพื่อนๆไม่มีใครปฏิเสธดึงดัน เพราะเท่าที่ลุยกันมาถึงแค่นี้ก็ถือว่าคุ้มมากแล้ว

ส่วนคราวหน้าหากจะมากันอีก ผมขอเตรียมตัว เตรียมพร้อม และเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้มากกว่านี้

ที่สำคัญคือผมต้องขอให้ 2 ผู้เชี่ยวชาญแห่งการลุยป่าร่วมทางมาด้วย

นั่นก็คือ “รพินทร์”กับ“แงซาย”!!!
น้ำตกภูเตยบางช่วงเด่นทางด้านกว้างมีสายน้ำไหลเป็นชั้นๆ
*****************************************

เนื่องจากการเรียกชั้นต่างๆของน้ำตกภูเตยไม่มีการกำหนดแน่ชัด ในบทความนี้จึงขออ้างอิงจากการเรียกของลุงพล ผู้นำทางเป็นหลัก

น้ำตกภูเตยจะสวยที่สุดในช่วงหน้าฝนหลังเข้าพรรษาเป็นต้นไป เพราะมีปริมาณน้ำมากและแรง แต่ว่าการเดินเท้าสู่ตัวน้ำตกค่อนข้างลำบากและสมบุกสมบันเอาเรื่องเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัย ขณะที่ช่วงปลายฝนต้นหนาวถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับบุคคลทั่วไปในการเที่ยวน้ำตก เพราะทางเดินไม่ลื่น ไม่ยากลำบาก และยังมีสายน้ำในปริมาณที่พอเหมาะให้สัมผัสชื่นชม

ผู้สนใจสัมผัสความงามของน้ำตกผู้เตย สามารถสอบถามเกี่ยวกับ ที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง และรายละเอียดอื่นๆในการเที่ยวน้ำตกและพื้นที่ใกล้เคียงได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1200,0-3451-2500
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น