xs
xsm
sm
md
lg

โอ้วแม่เจ้า!?! (กว่าจะเป็น)“ลิงเก็บมะพร้าว” ฟันรายได้ 3 พันบาทต่อวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าลิงรุ่นฉมัง แห่งศูนย์ฝึกลิงเพื่อการเกษตรคลองน้อย
ล.เอ๋ย ล.ลิง เจ้าสัตว์แสนซนที่ไม่เคยอยู่นิ่ง แต่เจ้าลิงตัวน้อยนี้กลับเป็นส่วนหนึ่งของผู้สืบทอดภูมิปัญญาที่มีมาแต่เนิ่นนานและยังสามารถสร้างรายได้จำนวนไม่น้อยให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ ด้วยการเป็น “ลิงเก็บมะพร้าว” นั่นเอง

การสอนลิงธรรมดาๆ ให้เป็นลิงเก็บมะพร้าว นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านโดยเฉพาะทางภาคใต้ที่มีมาเนิ่นนาน เนื่องด้วยการเก็บผลมะพร้าวจากบนยอดสูงของต้นนั้นเป็นเรื่องที่เกินกำลังของมนุษย์ เจ้าลิงน้อยที่รักการปีนป่ายต้นไม้จึงเป็นตัวช่วยชั้นดีในการเก็บผลมะพร้าวที่อยู่บนยอดสูง แต่ก่อนที่เจ้าลิงจะก้าวเข้าสู่การเป็นมืออาชีพในวงการการเก็บมะพร้าวนั้น จะต้องผ่านการฝึกฝนให้รู้จักกับท่วงท่าและวิธีการเก็บมะพร้าว และเข้าใจในคำพูดของคนเลี้ยง และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเป็นอย่างดี
“การเข้าแป้น” ฝึกเจ้าลิงน้อยให้อยู่ยิ่ง
สำหรับหนึ่งในแหล่งฝึกลิงที่สำคัญของภาคใต้ก็คือ "ศูนย์ฝึกลิงเพื่อการเกษตรคลองน้อย" ตำบลคลองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ทางกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เข้ามาส่งเสริมผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวดูงานควบคู่ไปกับการเป็นแหล่งฝึกลิง

นิรัน วงศ์วานิช เจ้าของศูนย์ฝึกลิงเพื่อการเกษตรคลองน้อย เล่าให้ฟังถึงการฝึกลิงเก็บมะพร้าวว่า ต้องมีความอดทนเป็นสำคัญ เพราะนิสัยของลิงโดยธรรมชาตินั้นรักอิสระและไม่อยู่นิ่ง การจะเปลี่ยนนิสัยที่มีมาแต่เดิมนั้นต้องใช้ระยะเวลาและมีขั้นตอน

เริ่มแรกจะคัดเลือกลิงที่มีอายุ 1 ปีครึ่ง - 2 ปี ซึ่งช่วงอายุนี้กำลังพอเหมาะพอดีในการนำมาฝึกฝน โดยส่วนมากจะนิยมเลือกลิงกังสายพันธุ์นาคบุตร ซึ่งเป็นลิงกังป่าภาคใต้ มีนิสัยดุแต่ฉลาดกว่าลิงป่าชายเลน

“ลิงที่นำมาเก็บมะพร้าวนั้นจะต้องเป็นตัวผู้ เพราะตัวเมียจะมีความขี้เกียจมากกว่า ส่วนมากจะถูกฝึกไว้เก็บผลไม้ที่ใช้เวลาไม่นาน ส่วนเคล็ดลับในการเลือกลิงก็คือ นิ้วของเจ้าลิงที่เลือกมานั้นต้องอ้วนสั้น หากเลือกเอาตัวที่นิ้วยาวๆ มาส่วนมากจะขี้เกียจ” นิรันกล่าว
“ห้อยปั่น” อีกหนึ่งขั้นก่อนก้าวสู่มืออาชีพ
สำหรับการฝึกลิงของศูนย์ฝึกลิงเพื่อการเกษตรคลองน้อย จะมีขั้นตอนการฝึกอยู่ 5 ขั้น แต่ละขั้นตอนใช้เวลา 10 วัน รวมๆ กว่าลิงจะเรียนจบออกไปทำงานได้ก็จะใช้เวลาประมาณ 40-50 วัน จะมีการฝึกเช้าเย็นครั้งละไม่เกิน 10 นาที หากฝึกนานเกินไปเจ้าลิงน้อยของเราก็จะดื้อและไม่อยากทำอะไรเหมือนกับเด็กๆทั่วไป ในการฝึกแต่ละขั้นตอนอาจจะต้องมีการลงไม้ลงมือกันบ้างซึ่งอาจจะดูทารุณแต่ก็เป็นวิธีเดียวที่จะสามารถดัดนิสัยลิงซนๆ จนกลายมาเป็นมืออาชีพในการเก็บมะพร้าวได้

นิรันเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการฝึกลิง โดยขั้นตอนแรกนั้นคือการ “เข้าแป้น” คือการนำลิงมาผูกไว้กับไม้กระดานเพื่อให้รู้จักการสงบนิ่ง ขั้นที่สองคือการ “ห้อยปั่น” โดยจะนำลูกมะพร้าวมาผูกไว้ในระดับที่ยังไม่สูงมากและจะฝึกให้ลิงปั่นลูกมะพร้าวให้หลุดตกลงมา ขั้นตอนที่สามคือการ “ขึ้นราว” เป็นการฝึกให้ลิงปีนขึ้นบันไดที่ฟาดไว้กับต้นมะพร้าว เพื่อให้คุ้นชินกับการที่จะปีนขึ้นไปเก็บลูกมะพร้าวในอนาคต

ถัดมาคือการ “ขึ้นต้นจริง” โดยทักษะทั้งหมดที่เจ้าลิงเรียนมาจะถูกใช้และทดสอบในขั้นตอนนี้ว่าจะสามารถมาเป็นคู่หูในการเก็บมะพร้าวกับเจ้าของได้หรือไม่ และขั้นตอนสุดท้ายที่คุณนิรันได้คิดเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่นั้นก็คือ “การแก้เชือก” ซึ่งไม่ใช่ให้แกะเชือกปล่อยตัวเองเป็นอิสระ แต่เป็นการฝึกให้ลิงหัดแก้เชือกในเวลาที่เกิดพันอยู่บนยอดมะพร้าว
ฝึกให้ชินกับความสูงด้วยวิธี “ขึ้นราว”
หลังจากจบฝึกฝนทักษะทั้ง 5 ขั้นตอนแล้วเจ้าลิงน้อยก็สามารถเคียงคู่เจ้าของออกเดินหน้าทำมาหากินบนต้นมะพร้าวได้ทันที โดยในหนึ่งวันหากเจ้าของและเจ้าลิงขยันก็สามารถที่จะเก็บมะพร้าวได้ถึง 1,000 ลูก และค่าจ้างในการเก็บมะพร้าวอยู่ที่ลูกละ 3 บาท เรียกได้ว่าถ้าเป็นลิงขยันทำงานแล้วละก็ จะมีรายได้ต่อวันถึง 3,000 บาท มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำของคนที่ตกวันละ 300 บาทเสียอีก ส่วนอัตราค่าใช้จ่ายในการนำลิงมาฝึกที่ศูนย์ฯ ก็อยู่ที่ราคา 3,500 บาท ต่อตัว

นิรันกล่าวต่อว่า ลิงหนึ่งตัวสามารถทำงานได้จนถึงอายุ 20 ปี (โดยส่วนมากลิงจะมีอายุขัย 30 ปี) โดยปัจจุบันศูนย์ฝึกลิงเพื่อการเกษตรคลองน้อยแห่งนี้ก็ได้ทำการเพาะพันธุ์ลิงขึ้นเองด้วย เนื่องจากปัจจุบันลิงกังถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน ไม่สามารถที่จะจับและนำมาฝึกได้
ขั้นตอนนี้ใช้ในยามคับขัน “วิธีแก้เชือก”
จะเห็นได้ว่า อาชีพ “ลิงเก็บมะพร้าว” เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย ที่แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพต่างสายพันธุ์ระหว่างคนกับลิง ซึ่งไม่ใช่แค่การเลี้ยงแบบเจ้านายกับลูกน้องเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความเมตตาและผูกพันฉันท์เพื่อนเพื่อให้การทำงานในแต่ละครั้งสำเร็จลุล่วง

อย่างไรก็ดี นิรันมีคำเตือนเพียงอย่างเดียวที่ฝากบอกกับเจ้าของลิงเก็บมะพร้าวก็คือ

“เมื่อลิงกำลังทำงาน ต้องห้ามลิงตัวเมียผ่านมาใกล้ มิฉะนั้นลิงแสนขยันจะไม่เป็นอันทำการทำงานทันที”

****************************************************************

ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลคลองน้อย โทร. 08-9728-2810 หรือ www.banklongnoi.com หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โทร. 0-2219-4010-17

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น