xs
xsm
sm
md
lg

สะบายดีเมืองลาว เล่าเรื่อง “นครหลวงเวียงจันทน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธาตุหลวง ศูนย์รวมจิตใจชาวเวียงจันทน์
จะไปเที่ยวต่างประเทศเมืองไหนก็ไม่สะดวกสบายเท่ากับเมืองลาว เพราะแม้ "ตะลอนเที่ยว" จะรู้ภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะที่นี่สื่อสารภาษาไทยลาวเว้ากันเข้าใจ เงินทองหรือก็ไม่ต้องแลกไป ใช้เงินไทยจับจ่ายซื้อของได้สบาย แถมบรรยากาศบ้านเมืองก็คุ้นเคย ไม่ต้องปรับตัวก็เข้ากันได้เป็นอย่างดี

“ตะลอนเที่ยว” จึงยินดีอย่างยิ่งเมื่อได้มาร่วมทริปกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่พาสมาชิกฟลายเออร์โบนัส มาร่วมท่องเที่ยวในเส้นทาง “เล่าเรื่องอาณาจักรล้านช้าง...ที่เวียงจันทน์” โดยมีวิทยากรที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อย่าง อ.เผ่าทอง ทองเจือ และ อ.ธรรมจักร พรหมพ้วย มาบรรยายความรู้ให้ฟังตลอดเส้นทาง

มาคราวนี้ “ตะลอนเที่ยว” ได้เที่ยวอยู่ในเวียงจันทน์ถึงสองวันเต็มๆ ได้พบเห็นสิ่งที่น่าสนใจในเมืองเวียงจันทน์มากมาย ดังที่จะได้พาไปชมกัน แต่ก่อนอื่นมารู้จักกับเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กันก่อน
หอพระแก้ว ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมวัตถุโบราณล้ำค่า
สำหรับ “เมืองเวียงจันทน์” เป็นเมืองเก่าแก่แห่งอาณาจักรล้านช้าง มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 1,200 ปี เวียงจันทน์เริ่มต้นการเป็นเมืองหลวงใน พ.ศ.2103 เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างขณะนั้นทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองเชียงทองหรือหลวงพระบาง มาสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เวียงจันทน์ และทรงสถาปนาเวียงจันทน์ขึ้นเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านช้าง มีชื่อว่า "นครจันทบุรีศรีสัตนาคนหุต อุตมราชธานี" หรือเวียงจันทน์ตั้งแต่นั้นมา

เมื่อมาเยือนเวียงจันทน์แล้ว ก็ต้องไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเวียงจันทน์ก่อนเป็นอย่างแรก นั่นก็คือ “พระธาตุหลวงเวียงจันทน์” พระธาตุคู่บ้านคู่ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวลาว เดิมพระธาตุองค์นี้เป็นพระธาตุองค์เล็กๆ ชื่อว่า องค์พระธาตุศรีธรรมาโศก เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือในยุคอาณาจักรศรีโคตรบอง มีอายุร่วมสมัยกับพระธาตุพนมในบ้านเรา ภายในองค์พระธาตุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกหัวเหน่า ต่อมาในปี พ.ศ.2109 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงสร้างพระธาตุหลวงใหม่ครอบองค์พระธาตุเดิม และให้ชื่อว่า "พระธาตุเจดีย์โลกจุฬามณี" แต่ชาวลาวยังนิยมเรียกว่า “ธาตุหลวง”
ยืนด้านหน้าทางเข้าหอพระแก้ว
แต่พระธาตุองค์สีทองอร่ามที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้บูรณะขึ้นใหม่เป็นรูปทรงตามคติจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง องค์พระธาตุรูปทรงดอกบัวตูมมีความสูง 45 ม. และมีเจดีย์บริวารล้อมรอบ 30 องค์ ทุกวันเพ็ญเดือน 12 (เดือน พ.ย.) ของทุกปีจะมี “งานบุญธาตุหลวง” ใครสนใจก็สามารถมาร่วมงานกันได้

“ตะลอนเที่ยว” มายังอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของเวียงจันทน์ นั่นก็คือ “หอพระแก้ว” แต่เดิมหอพระแก้วเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาว พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2108 เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ทรงอัญเชิญมาจากนครเชียงใหม่ อาณาจักรล้านนา แต่เมื่อ พ.ศ.2322 นครเวียงจันทน์ถูกกองทัพสยามตีแตก กองทัพสยามได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของนครเวียงจันทน์ไป พร้อมทั้งกวาดต้อนราชวงศ์ชาวลาวกลับไปยังกรุงเทพฯ มากมาย
อ.เผ่าทอง บรรยายให้ผู้ร่วมทริปฟังบริเวณระเบียงหอพระแก้ว
ปัจจุบันหอพระแก้วแม้จะไม่มีพระแก้ว แต่มีพระพุทธรูปโบราณล้ำค่าและวัตถุโบราณต่างๆ มากมายจัดแสดงในรูปของพิพิธภัณฑ์ โดยมีโบราณวัตถุชิ้นเด่นๆ ได้แก่ นาค 7 เศียร ทรงเครื่องเต็มยศสร้างด้วยสำริดตามแบบศิลปะล้านช้าง พระพุทธรูปยืนแกะสลักจากไม้ลงรักปิดทองที่สร้างได้อ่อนช้อยงดงาม พระบางองค์จำลองขนาดเท่าของจริง ประดิษฐานอยู่บนบุษบกที่เคยใช้ประดิษฐานพระแก้วมรกต อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่นามว่า “พุทธเจ้าสโคดมพุทธสิมมา”

ส่วนบริเวณระเบียงด้านนอกหอพระแก้วเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดศิลปะล้านช้างเก่าแก่หลายองค์ องค์ที่เก่าแก่ที่สุดคือพระพุทธรูปยืนทางประตูด้านหลังหอพระแก้ว เป็นพระพุทธรูปศิลาศิลปะสมัยเจนละที่เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งในเอเชีย ประทับยืนในปางทรงแสดงธรรม
พระวิหารวัดสีสะเกด
ส่วนบริเวณตรงข้ามกับหอพระแก้ว เป็นที่ตั้งของ “วัดสีสะเกด” หรือ “วัดสะตะสะหัสสาราม” (วัดแสน) วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเวียงจันทน์ วัดแห่งนี้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงสร้างขึ้น และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทั้งองค์เล็กและองค์ใหญ่ประดิษฐานไว้รอบพระระเบียงและในพระอุโบสถไว้นับแสนองค์ จนเป็นที่มาของชื่อวัดแสน

ที่วัดแห่งนี้ “ตะลอนเที่ยว” ได้รู้เรื่องราวของสงครามระหว่างสยามและเวียงจันทน์ ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองในปกครองของสยามในขณะนั้น เมื่อเจ้าอนุวงศ์คิดแยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับไทยอีกต่อไป จึงระดมกำลังยกทัพมาตีสยามทางภาคอีสาน สยามได้ส่งกำลังจากบางกอกขึ้นไปสู้กองทัพของเจ้าอนุวงศ์จนแตกพ่ายไป และต่อมากองทัพสยามได้ส่งกองทัพไปปราบเมืองเวียงจันทน์และเผาทำลายบ้านเมืองจนราบเรียบ เหลือไว้เพียงวัดเดียวคือ “วัดสีสะเกด” บ้างก็ว่าเพราะวัดแห่งนี้สร้างขึ้นตามอย่างศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์ บ้างก็ว่าเป็นการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทยว่าหากจะเผาเสียให้หมดก็ย่อมทำได้ แต่ก็ยอมให้เหลือไว้วัดหนึ่ง
พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกเผาทำลายถูกนำมาไว้ที่พระระเบียง
วัดสีสะเกดจึงนับเป็นวัดสำคัญแห่งเมืองเวียงจันทน์ ภายในวัดมีพระวิหารซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง บนฝาผนังนอกจากจะมีช่องเล็กๆ บรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กๆ นับพันแล้วยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนเรื่องทศชาติชาดกให้ชมอีกด้วย

นอกจากนั้น บริเวณระเบียงคดที่ล้อมรอบอุโบสถทั้ง 4 ด้านยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนับร้อยองค์ที่รวบรวมมาจากวัดต่างๆ หลังจากที่ถูกกองทัพสยามเผาทำลาย และมุมหนึ่งของพระระเบียงยังเป็นที่เก็บพระพุทธรูปแตกหักเสียหายซ่อมแซมไม่ได้จากการเผาทำลายในครั้งนั้น ที่วัดสีสะเกดทำให้ “ตะลอนเที่ยว” เห็นแง่มุมที่น่าเศร้าของสงคราม เราเจ็บปวดและโกรธแค้นพม่าที่เผาทำลายอยุธยาจนสิ้นซาก แต่ในขณะเดียวกันสยามเองก็ทำให้เมืองเวียงจันทน์ลุกเป็นไฟเดือดร้อนไม่แพ้กัน
หลวงพ่อองค์ตื้อ
ในตัวเมืองยังมีวัดอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น “วัดอินแปง” วัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในเวียงจันทน์ ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยใด แต่จากใบเสมาหิน พระพุทธรูป และเสาหินที่พบในวัดเป็นวัฒนธรรมสมัยมอญและขอม จึงสันนิษฐานว่าแต่เดิมวัดนี้อาจสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ หรือ สถานที่ทางศาสนาสมัยมอญ-ขอม ก็อาจเป็นได้ เราได้เข้าไปกราบพระพุทธรูปด้านในพร้อมกับชมสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น หอไตร หอไหว้ พระธาตุเจดีย์ เป็นต้น
พระประธานในวัดอินแปง
และวัดที่อยู่ติดกันนั้นก็คือ “วัดองตื้อ” ซึ่งมีพระพุทธรูปองค์ตื้อเป็นพระประธานในพระวิหาร โดยตามพงศาวดารลาวกล่าวไว้ว่า พระเจ้าไชยะเชษฐาธิราช ได้นำพาประชาชนหล่อพระพุทธรูปทองที่สำคัญขึ้นจำนวน 4 องค์ คือ พระเจ้าองตื้อ, พระสุก, พระใส, และพระเสริม ซึ่งตามการเล่าสืบทอดกันมาว่าพระสุก จมอยู่ในน้ำโขงบริเวณเวินพระสุก ในเวลาที่แม่ทัพสยามพยายามเอาข้ามน้ำโขงไปบางกอก พระใสปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดโพธิ์ชัยหนองคาย และ พระเสริม ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ วัดปทุมวนาราม ที่กรุงเทพฯ นั่นเอง
ผู้คนมากมายเข้ามากราบสักการะเจ้าแม่สีเมือง
และอีกหนึ่งวัดสำคัญก็คือ “วัดสีเมือง” วัดสำคัญซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมืองเวียงจันทน์อันศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่ามี “เจ้าแม่สีเมือง” เป็นผู้ดูแลรักษาหลักเมืองและคอยดูแลทุกข์สุขของประชาชน ชาวเวียงจันทน์รวมทั้งชาวไทยมักจะมาบนบานสานกล่าวเพื่อขอสิ่งที่ปรารถนา ของที่นำมาสักการะก็มักเป็นต้นเทียน หรือบายศรีพร้อมเทียน ส่วนผู้ที่มาแก้บนก็จะถวายมะพร้าว กล้วย และดอกไม้ธูปเทียน
ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าเมืองลาว
ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จนเกือบทั่วเมืองเวียงจันทน์แล้ว ได้เวลาเปลี่ยนบรรยากาศมาดูพิพิธภัณฑ์กันบ้าง มากับกูรูด้านผ้าทอโบราณอย่าง อ.เผ่าทอง ทั้งที ก็ต้องพามาชม “พิพิธภัณฑ์ผ้าเมืองลาว” หรือ Laos Textile Museum ในศูนย์วัฒนธรรมและการศึกษาพื้นเมืองลาว-ญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านหนองทา ห่างจากตัวเมืองเวียงจันทน์ไปประมาณ 20 นาที
เด็กน้อยกำลังสาธิตการกรอไหม
เจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ คุณหาญชนะ และคุณบัวสนคำ ศรีสาน สามีภรรยาชาวลาวที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการทอผ้า และยังเป็นนักสะสมผ้าโบราณของชาวลาวเผ่าต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาอันมีคุณค่าที่สืบทอดกันมา มีหลายสิ่งที่น่าสนใจภายในพิพิธภัณฑ์ เช่น เสื้อผ้าที่หมอผีใช้ในการทำพิธีกรรม ที่เรียกว่า “เสื้อฮี” ของชนเผ่าไทแดง ผ้าตุ้มหรือผ้าคลุม ผ้าเบี่ยงหรือผ้าสไบสำหรับใช้เมื่อไปวัดหรือทำพิธีกรรมต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นผ้าโบราณล้ำค่า ส่วนเรื่องราคาก็ไม่ต้องพูดถึง นอกจากนั้นยังมีการสาธิตขั้นตอนการทอผ้าและกี่ทอผ้าชนิดต่างๆ ให้ชมกันอีกด้วย ใครที่สนใจอยากไปชม ต้องเสียค่าเข้าชม 30,000 กีบ เปิดให้ชมได้ทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้า-4 โมงเย็น
ประตูชัย สัญลักษณ์ของเมืองเวียงจันทน์
เที่ยวเวียงจันทน์กันมาจนถึงตอนนี้หลายคนคงคิดว่ายังไม่สมบูรณ์ นั่นก็เพราะยังไม่ได้มาชม “ประตูชัย” สถานที่ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของ สปป.ลาวยุคใหม่เช่นนี้ “ตะลอนเที่ยว” จะพลาดได้อย่างไร

"ประตูชัย" ที่ว่านี้ เป็นซุ้มประตูขนาดใหญ่ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2512 เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ บ้างเรียกกันขำๆ ว่า “รันเวย์แนวตั้ง” เพราะการก่อสร้างประตูชัยได้ใช้ปูนซิเมนต์ที่อเมริกาซื้อมาเพื่อนำมาสร้างสนามบินใหม่ใน นครเวียงจันทน์ในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ไม่ทันสร้างเพราะอเมริกาแพ้เวียดนามเสียก่อน จึงนำปูนเหล่านั้นมาสร้างประตูชัยแทน ลักษณะสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลของประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่มีรายละเอียดที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะแบบล้านช้าง ไม่ว่าจะเป็นยอดปราสาทบนประตู ลวดลายปูนปั้น เทพนม และภาพจิตรกรรมบนเพดาน เป็นต้น และบนประตูชัยยังเป็นจุดชมวิวเมืองเวียงจันทน์มุมสูงได้อีกด้วย

มาเวียงจันทน์คราวนี้ได้ชมสิ่งที่น่าสนใจในเมืองลาวหลายอย่างและได้ความรู้ดีๆ จากวิทยากรกลับมาหลายเรื่อง ใครที่อยากตามมาสัมผัสเมืองเวียงจันทน์เช่นนี้บ้างก็อย่ารอช้า รีบจองตั๋วแล้วบินตามมากันได้เลย
ถนนล้านช้าง มุ่งตรงไปสู่ประตูชัย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สายการบินบางกอกแอร์เวย์สให้บริการบินตรงเส้นทางกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ (สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว) ทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน โดยขาไปออกจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) เวลา 09.45 น. ถึงเวียงจันทน์ เวลา 11.00 น. ขากลับออกจากเวียงจันทน์เวลา 11.40 น. ถึงกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) เวลา 12.55 น. และผู้โดยสารของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สทุกท่านสามารถใช้บริการห้องพักรับรองผู้โดยสาร บูทีค เลาจน์ (Boutique Lounge) ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม ชา กาแฟ อินเตอร์เน็ต Wifi spot และมุมเด็กเล่น สำหรับสมาชิกฟลายเออร์โบนัส ระดับพรีเมียร์ขึ้นไป สามารถใช้บริการห้องรับรอง บลูริบบอนคลับ เลาจน์ (Blue Ribbon Club Lounge) ที่สนามบินสุวรรณภูมิได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองที่นั่งได้ที่ www.bangkokair.com โทร 1771 ตลอด 24 ช.ม.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น