ในกรุงเทพฯ มีย่านเก่าหลายแห่งที่แม้ปัจจุบันจะกลายเป็นย่านการค้าขายหรือมีคนอยู่อาศัยมากขึ้น แต่ร่องรอยเก่าแก่ที่แสดงถึงอดีตอันน่าจดจำก็ยังคงมีให้เราเห็น ดังเช่นที่ย่านตลาดน้อยและถนนเจริญกรุง ที่มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่วันนี้ฉันได้มาร่วมทริป “สรรพ์สารศิลป์ ครั้งที่ 7” กับสองวิทยากรคนเก่ง พี่นัท-จุลภัสกร พนมวัน ณ อยุธยา และพี่เกริก-เกริกเกียรติ ไพบูลย์ศิลป ที่พาเดินซอกแซกและให้ความรู้คู่กับการ “ยลศิลป์ศาสนสถาน ตึกโบราณ ย่านค้าเก่า หลากเรื่องเล่า คลองผดุงฯ-เจริญกรุง-ตลาดน้อย”
เริ่มต้นสถานที่แรกของทริปนี้ที่ “วัดมหาพฤฒาราม” วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคลองผดุงกรุงเกษม แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่าวัดตะเคียน เพราะมีต้นตะเคียนขึ้นอยู่หนาแน่นรอบบริเวณวัด
เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 4 ยังผนวชเป็นพระภิกษุวชิรญาณภิกขุ พระองค์ได้เสด็จมาพระราชทานผ้าป่าที่วัดนี้ ในคราวนั้น พระอธิการแก้วซึ่งเป็นเจ้าอาวาสได้ทูลถวายพยากรณ์ว่า “จะได้เป็นเจ้าชีวิตเร็วๆ นี้” พระองค์จึงมีรับสั่งว่า “ถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่” ดังนั้น หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ รวมถึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานสมณศักดิ์พระอธิการแก้วเป็นพระมหาพฤฒาจารย์ ส่วนวัดนั้นก็ได้พระราชทานนามว่า “วัดมหาพฤฒาราม” ซึ่งหมายถึง อารามอันเป็นที่อยู่ของพระผู้เฒ่าผู้ยิ่งใหญ่ และทรงสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง
ฉันได้เจอกับสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างในวัดมหาพฤฒารามแห่งนี้ หลังจากเข้าไปกราบพระในพระอุโบสถแล้ว วิทยากรชี้ชวนให้ดูสิ่งที่น่าสนใจที่แตกต่างจากวัดอื่น นั่นก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นเรื่องธุดงควัตร 13 หรือเรื่องกิจวัตรของพระธุดงค์ และภาพการไปสืบพระพุทธศาสนาที่ลังกา แทนการเขียนเรื่องทศชาติชาดกหรือพุทธประวัติตามที่นิยมในเวลานั้น
วัดมหาพฤฒารามยังมีวิหารพระพุทธไสยาส หรือพระนอนขนาดใหญ่องค์หนึ่งของกรุงเทพฯ มีความยาว 19.25 เมตร เป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง มีมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัดแต่เดิม ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นดังที่เห็นในปัจจุบัน
ชมสิ่งต่างๆ ในวัดไปแล้ว เราออกเดินเท้าต่อไปยัง “วัดอุภัยราชบำรุง” หรือวัดญวนตลาดน้อย ริมถนนเจริญกรุง วัดแห่งนี้เป็นวัดฝ่ายอนัมนิกาย มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 องเชียงสือและพวกพ้องซึ่งเป็นชาวญวนได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานบริเวณย่านนี้ ชาวญวนจึงได้สร้างวัดตามศรัทธาของตนขึ้นสองวัด คือวัดคั้นเยิงตื่อ (วัดญวนตลาดน้อย) และวัดกว๋างเพื๊อกตื่อ (วัดญวนบางโพ) ในสมัยนั้นยังไม่มีวัดจีนในบางกอก ชาวจีนที่นับถือพุทธลัทธิมหายานจึงอาศัยทำบุญที่วัดแห่งนี้ด้วย
วัดแห่งนี้มีชื่อไทยว่า “อุภัยราชบำรุง” อุภัยแปลว่า สอง ชื่อวัดจึงหมายความว่า วัดที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์สองพระองค์ คือรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 โดยเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 4 ยังทรงผนวชอยู่นั้น พระองค์ทรงสนพระทัยศึกษาเรื่องพุทธศาสนามหายาน จึงทรงรู้จักกับองฮึง เจ้าอาวาสวัดญวนตลาดน้อยในขณะนั้น องฮึงได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งถวายวิสัชชนาเรื่องศาสนาพุทธฝ่ายมหายานและภิกษุสามเณรในคณะญวน เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงทราบว่าทางวัดกำลังปฏิสังขรณ์อยู่ จึงพระราชทานเงินช่วย ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เช่นเดียวกัน พระญวนจึงได้รับยกย่องในทางราชการให้เข้าร่วมในพระราชพิธีถวายพระพรชัยมงคลแต่นั้นมาจนบัดนี้
ตัวพระอุโบสถเป็นศิลปะแบบจีนดูงดงาม เมื่อเข้ามาด้านในก็พบกับพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่และพระสาวกดูงดงามอลังการ ส่วนบริเวณด้านหลังพระอุโบสถเป็นวิหารบูรพาจารย์ ที่ด้านบนจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติวัดและประวัติเจ้าอาวาสท่านต่างๆ ฉันได้ขึ้นไปกราบสังขารของพระครูคณานัมสมณาจารย์ (โผซ้าย) เจ้าอาวาสองค์ที่ 4 ของวัดแห่งนี้ ท่านมรณภาพไปเมื่อปี 2501 แต่สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ผู้ที่ศรัทธามักมากราบไหว้ขอพรจากท่านเสมอ
ยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของวัด นั่นก็คือต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าวัด ต้นโพธิ์ต้นนี้รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานหน่อพระศรีมหาโพธิ์ที่ทรงเพาะขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้มาจากรัฐบาลอินเดียให้แก่วัด และได้เสด็จมาทรงพระสุหร่ายประพรมต้นพระศรีมหาโพธิ์ด้วยพระองค์เองอีกด้วย และต้นโพธิ์ต้นนี้มีอายุเก่าแก่ถึง 136 ปีแล้ว
ชมวัดไทยและวัดญวนกันไปแล้ว ต้องมาชมวัดฝรั่งกันบ้าง ในย่านตลาดน้อยมีโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งสำคัญตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นก็คือ “วัดแม่พระลูกประคำ” หรือวัดกาลหว่าร์ ความเป็นมาของวัดแห่งนี้เริ่มต้นหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ชาวโปรตุเกสที่นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่รอดจากการถูกจับได้อพยพจากกรุงศรีอยุธยาล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยนำเอาทรัพย์สมบัติที่มีค่ายิ่งสองสิ่งคือ รูปแม่พระลูกประคำ และรูปพระศพของพระเยซู มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ และได้สร้างวัดหลังแรกขึ้น ส่วนบริเวณด้านหลังวัดจัดเป็นสุสาน มีกางเขนปักเด่นเป็นสง่า ชาวบ้านเรียกว่า “กาลวารีโอ” ซึ่งเป็นชื่อภูเขาที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนเป็น “กาลหว่าร์” อย่างในปัจจุบัน
โบสถ์หลังปัจจุบันที่ฉันยืนอยู่นี้เป็นหลังที่ 3 ที่สร้างขึ้นในปี 2440 หลังจากที่สองหลังแรกผุพังไปตามกาลเวลา โบสถ์หลังปัจจุบันอยู่ในบริเวณโรงเรียนกุหลาบวิทยา ตัวโบสถ์สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบโกธิก มีจุดเด่นคือมียอดแหลมเสียดฟ้า ซึ่งหมายถึงการรวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกลับไปสู่อ้อมกอดของพระเจ้า ภายในตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นภาพจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ ส่วนองค์พระแม่ลูกประคำที่ชาวคริสต์ได้นำมาด้วยจากกรุงศรีอยุธยานั้นประดิษฐานอยู่ด้านหน้าทางขวาของโบสถ์ และทางวัดจะนำมาแห่ในงานฉลองวัดทุกๆ ปี ส่วนรูปพระศพของพระเยซูก็ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี และจะนำมาแห่รอบวัดปีละหนึ่งครั้งในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
ไม่ไกลจากวัดกาลหว่าร์ เป็นที่ตั้งของอีกหนึ่งสถานที่น่าสนใจ นั่นก็คือ “ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย” ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นธนาคารที่สวยคลาสสิกที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธานาคารแห่งแรกของไทยที่ก่อตั้งโดยคนไทย หลังจากที่มีแต่ธนาคารของต่างชาติ การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจึงตกอยู่ในมือชาวต่างชาติเนื่องจากขาดสถาบันทางการเงินของไทยมารองรับ
ธุรกิจการเงินโดยคนไทยจึงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย โดยในตอนแรกริเริ่มกิจการธนาคารขึ้นเป็นการทดลองในนาม “บุคคลัภย์” (Book Club) ในปี 2447 โดยใช้อาคารของกรมพระคลังข้างที่ที่ถนนบ้านหม้อเป็นสำนักงาน เมื่อกิจการประสบความสำเร็จจึงนำความกราบบังคมทูลพระมหากรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพิเศษเพื่อจัดตั้ง “บริษัท แบงค์ สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” ขึ้น และในปี 2451 จึงได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่อาคารสำนักงานใหม่ที่ตลาดน้อย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เมื่อปี 2482 อีกทั้งได้ใช้อาคารสำนักงานที่ตลาดน้อยนี้เป็นธนาคารสำนักงานใหญ่มาจนถึงปี 2514 ก่อนจะเปลี่ยนใช้เป็นสาขาตลาดน้อยจนมาถึงปัจจุบัน
ทีนี้มาดูความสวยงามของอาคารกันบ้าง ตัวอาคารเป็นตึก 3 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบโบซาร์ส (Beaux Arts) กับ Neo-Classic ออกแบบโดยนายอันนิบาลเล ริก็อตติ และนายมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาลี ผู้เป็นนายช่างออกแบบรับราชการอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย และยังเป็นสถาปนิกชุดเดียวกับที่ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคมอีกด้วย ตัวอาคารตกแต่งด้วยองค์ประกอบคลาสสิกจากยุคต่างๆ ผสมผสานกัน อาทิ ลาดบัว หัวเสา ปูนปั้น อีกทั้งทำเลที่ตั้งของอาคารยังเป็นรูปถุงเงิน ทางเข้าแคบแต่ปลายบาน ให้เงินเข้าง่ายแต่ออกยาก ตามหลักฮวงจุ้ยอีกด้วย
มาปิดท้ายทริปกันที่ “วัดปทุมคงคา” อีกหนึ่งวัดสำคัญในย่านตลาดน้อย วัดนี้แต่เดิมเรียกกันว่าวัดสำเพ็ง เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์และทรงอุทิศถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการปฏิสังขรณ์วัด พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า วัดนี้เป็นวัดที่วังหน้าได้สร้างถวายแด่พระราชบิดา จึงโปรดเกล้าให้ปรับปรุงยกฐานพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถขึ้น และทำเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง และต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระราชทานนามให้พระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธมหาชนก”
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของวัดที่ไม่ควรพลาดชมก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างวังหน้า ชุดเดียวกับที่วาดภาพในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ซึ่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งแน่นอนว่ามีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง โดยด้านหลังพระประธานวาดเป็นรูปเวชยันต์มหาปราสาทของพระอินทร์และวิมานเทวดา ฝั่งตรงข้ามพระประธานเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านข้างตอนบนเป็นภาพเทพชุมนุม ส่วนด้านล่างเป็นภาพทศชาติชาดก
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางเดินเที่ยวชมวัดและชมเมืองที่น่าสนใจ หากวันหยุดเสาร์อาทิตย์ใครมีเวลาก็ขอชวนมาเดินเล่นชมเมืองกรุงกันให้สนุก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สนใจสอบถามทริปสรรพ์สารศิลป์ในครั้งต่อไป หรือทริปเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรมไทยที่น่าสนใจได้ที่ จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา โทร. 08- 1343-4261
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com