xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯโชว์วิชั่นสีเขียว ชิงคะแนนคนใช้จักรยาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ธรรมศาสตร์" จัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ภายใต้แนวคิด ปลุก ปั่น เปลี่ยน การสัญจรเพื่อเมืองน่าอยู่ เน้นการสัญจรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ นายกฯช่วยลูกพรรคหาเสียงรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ชูนโยบายฟื้นรถรางท่องเที่ยว พร้อมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดชนะสงคราม สวนดุสิตโพลชี้ คนจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อรักษาสิทธิตัวเอง ไม่อยากให้ใครมาสวมสิทธิแทน

วานนี้ (17 ก.พ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองค์กรเครือข่าย จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับผู้แทนองค์กรต่างๆ ประกอบด้วย มูลนิธิโลกสีเขียว สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และชมรมจักรยาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้แนวคิด ปลุก ปั่น เปลี่ยน การสัญจรเพื่อเมืองน่าอยู่ โดยเน้นการใช้จักรยาน การสัญจรทางน้ำ และการใช้ทางเท้า ซึ่งมี นายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัคร หมายเลข 17 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัคร หมายเลข 16 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัคร หมายเลข 11 และพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัคร หมายเลข 9 เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เน้นการสานต่อโครงการสร้างห้องแต่งตัวเพื่อข้าราชการกทม. จะได้สามารถใช้รถจักรยานในการเดินทางมาทำงาน รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางจักรยานเดิมที่มีอยู่แล้วให้ใช้งานได้ดี และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้การเดินทางโดยรถจักรยานอย่างจริงจัง โดยหากได้เป็นผู้ว่าฯ จะเป็นแบบอย่างในการปั่นจักรยานมาทำงาน นอกจากนี้ยังจะทำทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จุดจอดรถจักรยาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ใช้รถจักรยาน

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส พร้อมสร้างสะพานลอยฟ้าติดแอร์เป็นช่องทางใหม่ สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายอยู่ตามบริเวณทางเท้าจะได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ในการค้าขาย เพื่อไม่กีดขวางทางเดิน ซึ่งเป็นทางสัญจรทางเท้าของประชาชน อีกทั้งจะดำเนินการจัดระเบียบและปรับปรุงทางเท้าให้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในวันเลือกตั้ง จะปั่นจักรยานไปเลือกตั้งที่จุดเลือกตั้งอีกด้วย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แสดงความเห็นว่า ตลอด 4 ปีในการดำรงตำแหน่ง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกแบบ และสร้างถนนที่ต้องมีเส้นทางจักยาน รวมทั้งตัวอาคารต้องมีห้องน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อรองรับผู้ปั่นจักรยานมาทำงาน ทั้งนี้มีเป้าหมายเพิ่มเส้นทางจักยานอีก 200 กม.ใน 3 เส้นทาง ส่วนนโยบายเพิ่มโบกีี้รองรับนักปั่นนำจักรยานขึ้นรถไฟฟ้า ขณะนี้ยอมรับว่ายังอยู่ในขึ้นตอนสั่งซื้อโบกี้เพิ่ม ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ขณะนี้ ทางกทม. ได้ร่วมกับ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดสถานีเช่าจักรยาน เพื่อลดปริมาณใช้รถส่วนตัว ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกอีกหนึ่งทาง รวมทั้งในอนาคตจะปรับปรุงทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้า bts และ mrt และจุดจอด ตามทางเท้า พร้อมทั้งจะจัดการรณรงค์การบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ใช้จักรยานโดยเฉพาะ

นายสุหฤท สยามวาลา แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเปลี่ยนทัศนคติการใช้จักยานเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทาง ไม่ใช่อุปกรณ์ออกกำลังกาย ซึ่งหากเปลี่ยนทัศนคติได้แล้ว จะทำให้ผู้ใช้รถบนท้องถนนเห็นความสำคัญของผู้ใช้จักรยานมากขึ้น และลดความเสี่ยงของผู้ใช้จักยานได้ โดยเลนจักรยานที่ดีนั้นต้องอยู่บนทางเท้า ซึ่งต้องมีการปรับปรุงทางเท้า ให้มีทางลาด และพื้นเรียบเสมอ ส่วนด้านกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้จักรยานต้องมีการเพิ่มกฎเกณท์ให้มากขึ้นกว่าเดิม บังคับใช้อย่างเคร่งครัด อีกทั้งเชื่อว่าหากมีการปรับปรุงเลนจักรยาน จะสามารถรองรับและดูแลชีวิตของผู้พิการและผู้เล่นกีฬาเอ็กสตรีมได้ด้วย และเสนอให้จัดวันคาร์ฟรีเดย์ทุกวันอาทิตย์ หากทำได้

ทั้งนี้ นายสุหฤท และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เยี่ยมชมคลองบางลำพู บริเวณสะพานฮงอุทิศ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทางน้ำสู่คลองมหานาค คลองผดุงกรุงเกษม และรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีหัวลำโพง และร่วมปั่นจักรยานจากป้อมพระสุเมรุ ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

**"ปู" ช่วยหาเสียงรอบเกาะรัตนโกสินทร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเวลา 09.00 น. วานนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ของพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่หาเสียงที่ตลาดสำเพ็ง และห้างสรรพสินค้า ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า โดยมีรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยมาร่วมหาเสียงด้วย อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.พงศพัศ ได้ร่วมกันแถลงนโยบายฟื้นฟูรถรางท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้า และการท่องเที่ยว รวมถึงบรรเทาสภาพการจราจรในพื้นที่ด้วย

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ขึ้นรถแห่ตระเวนขอคะแนนไปตามเส้นทางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ไม่จะเป็นย่านเสาชิงช้า สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนสิบสามห้าง ถนนบางลำภู ถนนพระอาทิตย์ ย่านท่าพระจันทร์ ผ่านวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ก่อนจะเดินหาเสียง ที่ ถนนข้าวสาร จนมาถึงวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เพื่อกราบสักการะพระพุทธชินสีห์ รับการประพรมน้ำมนต์จากพระภิกษุ และกราบสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสิน สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท พระอนุชาธิราช ในรัชกาลที่ 1

จากนั้น นายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.พงศพัศ ได้ไปหาเสียงที่ ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน เขตปทุมวัน และได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับคณะผู้บริหารของห้างฯ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง โดยเมนูเป็นก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่ต้มยำ

ทั้งนี้ ระหว่างที่คณะของนายกรัฐมนตรี พบปะประชาชนที่บริเวณศูนย์อาหาร ชั้นล่างของห้าง ปรากฏว่านายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ คนสนิทของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มายืนสังเกตการณ์อยู่รอบนอก โดยนายศิริโชค กล่าวเพียงว่า ตนมาซื้อของ ไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรี จะมาหาเสียงที่นี่

**"เด็จพี่" ปัดแดงขวาง "สุขุมพันธุ์" หาเสียง

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงยืนยันว่า การหาเสียงของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคเพื่อไทย เป็นไปอย่างถูกต้อง พร้อมปฏิเสธข่าวที่มีการกล่าวอ้างว่า พรรคเพื่อไทย สั่งคนเสื้อแดง และเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ขัดขวางการหาเสียงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัคร ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ไม่เป็นความจริง เชื่อว่าคนปล่อยข่าวดังกล่าว หวังผลทางการเมือง ซึ่งหากมีข้อมูลหลักฐาน ก็สามารถยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบได้

ทั้งนี้ นายพร้อมพงศ์ ได้กล่าวถึงการหาเสียงเลือกตั้งของพล.ต.อ.พงศพัศ ในช่วงโค้งสุดท้าย จะระดม ส.ส.ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง มาช่วยหาเสียง และนำเสนอนโยบายเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน ที่ยังไม่ตัดสินใจ

**โพลชี้คนกรุงกลัวถูกสวมสิทธิ-ห่วงมีโกง

กระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่มีทั้งการประชาสัมพันธ์ให้คนไปใช้สิทธิ และการหาเสียงของผู้สมัครอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่สนใจโดยทั่วไป เพื่อสำรวจพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิลงคะแนนทั้ง 50 เขต จำนวน 1,358 คน ระหว่างวันที่ 13-16 ก.พ.56 สรุปผลดังนี้

เหตุผลที่คนกรุงเทพฯ ไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ คือ อันดับ 1 ต้องการรักษาสิทธิของตัวเอง ไม่อยากให้ใครมาสวมสิทธิแทน 42.20% อันดับ 2 ไปใช้สิทธิทุกครั้งเพื่อความเป็นประชาธิปไตย 18.91% อันดับ 3 อยากเห็นกรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาในทางที่ดีขึ้น 15.45% อันดับ 4 การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้มีกระแสค่อนข้างแรง ทำให้อยากออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 13.30% อันดับ 5 ต้องการสนับสนุนคนที่ชอบ อยากให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.10.14%

ส่วนสิ่งที่คนกรุงเทพฯ พึงพอใจมากที่สุดที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ คือ อันดับ 1 นโยบายที่ผู้สมัครแต่ละคนนำมาใช้ในการหาเสียงน่าสนใจ และอยากให้ทำโดยเร็ว 47.24 % อันดับ 2 มีผู้สมัครหน้าใหม่หลายคน ทำให้มีความหลากหลายและมีตัวเลือกมากขึ้น 20.31% อันดับ 3 การแข่งขันชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ยังไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งที่รุนแรง 16.95% อันดับ 4 กกต.ทำหน้าที่ได้ดี มีการเตรียมพร้อมและทำงานเป็นระบบมากขึ้น 8.41% อันดับ 5 ได้เห็นเทคนิค วิธีการหาเสียงของผู้สมัครแต่ละคนที่น่าสนใจ 7.09%.
กำลังโหลดความคิดเห็น