xs
xsm
sm
md
lg

4 ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.โชว์นโยบายใช้จักรยานสัญจรในเมืองหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.โชว์วิสัยทัศน์การใช้จักรยานในการเดินทาง “พงศพัศ” ชูปรับปรุงเส้นทาง-รณรงค์การใช้ “เสรีพิศุทธ์” สร้างสะพานลอยฟ้าติดแอร์ให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ค้าขาย เปิดทางเท้าเป็นที่สัญจรให้สะดวก ด้าน “สุขุมพันธุ์” เพิ่มโบกี้รถไฟฟ้าให้นักปั่นนำจักรยานขึ้นรถได้ พร้อมบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองนักปั่น ขณะที่ “สุหฤท” เน้นปรับทัศนคติให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น พร้อมจัดวันคาร์ฟรีเดย์ทุกอาทิตย์

วันนี้ (17 ก.พ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์กรเครือข่าย จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับผู้แทนองค์กรต่างๆ ประกอบด้วย มูลนิธิโลกสีเขียว สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และชมรมจักรยาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้แนวคิดปลุก ปั่น เปลี่ยนการสัญจรเพื่อเมืองน่าอยู่ โดยเน้นการใช้จักรยาน การสัญจรทางน้ำ และการใช้ทางเท้า ซึ่งมี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข 9, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครหมายเลข 11, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 16 และนายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัคร หมายเลข 17 เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่าจะเน้นการสานต่อโครงการสร้างห้องแต่งตัวเพื่อข้าราชการ กทม. โดยจะได้สามารถใช้รถจักรยานในการเดินทางมาทำงาน รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางจักรยานเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ใช้งานได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้การเดินทางโดยจักรยานอย่างจริงจัง โดยหากได้เป็นผู้ว่าฯ จะเป็นแบบอย่างในการปั่นจักรยานมาทำงาน นอกจากนี้ยังจะทำทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จุดจอดจักรยาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ใช้จักรยาน

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า พร้อมสร้างสะพานลอยฟ้าติดแอร์เป็นช่องทางใหม่สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายอยู่ตามบริเวณทางเท้าจะได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ในการค้าขาย เพื่อไม่กีดขวางทางเดิน ซึ่งเป็นทางสัญจรทางเท้าของประชาชน อีกทั้งจะดำเนินการจัดระเบียบและปรับปรุงทางเท้าให้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในวันเลือกตั้งจะปั่นจักรยานไปเลือกตั้งที่จุดเลือกตั้งอีกด้วย

ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ตลอด 4 ปีในการดำรงตำแหน่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกแบบและสร้างถนนที่ต้องมีเส้นทางจักยาน รวมทั้งตัวอาคารต้องมีห้องน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อรองรับผู้ปั่นจักรยานมาทำงาน ทั้งนี้มีเป้าหมายเพิ่มเส้นทางจักยานอีก 200 กม.ใน 3 เส้นทาง ส่วนนโยบายเพิ่มโบกีี้รองรับนักปั่นให้นำรถจักรยานขึ้นรถไฟฟ้า ขณะนี้ยอมรับว่ายังอยู่ในขึ้นตอนสั่งซื้อโบกี้เพิ่ม ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ขณะนี้ทาง กทม.ได้ร่วมกับกรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดสถานีเช่าจักรยานเพื่อลดปริมาณใช้รถส่วนตัว ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกอีกหนึ่งทาง รวมทั้งในอนาคตจะปรับปรุงทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS และ MRT และจุดจอด ตามทางเท้า พร้อมทั้งจะจัดการรณรงค์การบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ใช้จักรยานโดยเฉพาะ

นายสุหฤทธิ์แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การเปลี่ยนทัศนคติการใช้จักยานเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทาง ไม่ใช่อุปกรณ์ออกกำลังกาย ซึ่งหากเปลี่ยนทัศนคติได้แล้วจะทำให้ผู้ใช้รถบนท้องถนนเห็นความสำคัญของผู้ใช้จักรยานมากขึ้น และลดความเสี่ยงของผู้ใช้จักยานได้ โดยเลนจักรยานที่ดีนั้นต้องอยู่บนทางเท้า ซึ่งต้องมีการปรับปรุงทางเท้าให้มีทางลาดและพื้นเรียบเสมอ ส่วนด้านกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้จักรยานต้องมีการเพิ่มกฎเกณท์ในมากขึ้นกว่าเดิม บังคับใช้อย่างเคร่งครัด อีกทั้งเชื่อว่าหากมีการปรับปรุงเลนจักรยานจะสามารถรองรับและดูแลชีวิตของผู้พิการและผู้เล่นกีฬาเอ็กสตรีมได้ด้วย และเสนอให้จัดวันคาร์ฟรีเดย์ทุกวันอาทิตย์หากทำได้

ทั้งนี้ นายสุหฤทและ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้เยี่ยมชมคลองบางลำพู บริเวณสะพานฮงอุทิศ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทางน้ำสู่คลองมหานาค คลองผดุงกรุงเกษม และรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีหัวลำโพง และร่วมปั่นจักรยานจากป้อมพระสุเมรุไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์











กำลังโหลดความคิดเห็น