xs
xsm
sm
md
lg

“นิด้าโพล” สำรวจโค้งที่ 4 “พงศพัศ” คะแนนนิยมนำ “สุขุมพันธุ์” 2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นิด้าโพล” สำรวจศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โค้งที่ 4 “พงศพัศ” นำ “สุขุมพันธุ์” 2% ขณะที่ 41% ยังไม่ตัดสินใจ ระบุ “จูดี้” คะแนนดีเพราะประชานิยม ส่วน “คุณชายหมู” โหนฐานเสียง ปชป.

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนกรุงกับการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.โค้งที่ 4” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2556 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,500 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ

จากการสำรวจพบว่า หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 25.20 ระบุว่าจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ว่าฯ กทม. รองลงมาร้อยละ 23.07 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะที่ร้อยละ 4.53 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 1.07 นายสุหฤท สยามวาลา ร้อยละ 0.60 จะเลือกนายโฆสิต สุวินิจจิต ร้อยละ 0.27 จะเลือกผู้สมัครอิสระ อื่นๆ เช่น นายวศิน ภิรมย์ นายวรัญชัย โชคชนะ นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง เป็นต้น ร้อยละ 3.93 จะไม่เลือกใคร ไม่ลงคะแนนเสียง (Vote NO) และร้อยละ 41.33 ยังไม่ตัดสินใจ

ส่วนเหตุผลที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อเรียงตามลำดับหมายเลขผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สามารถสรุปได้ ดังนี้ เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หมายเลข 9 พบว่า ร้อยละ 43.38 ชอบที่ตัวบุคคล ทำงานเก่ง มีวิสัยทัศน์ และมีประสบการณ์ รองลงมา ร้อยละ 22.55 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 15.20 ชอบพรรคการเมือง (พรรคเพื่อไทย) ร้อยละ 11.76 สามารถทำงานและประสานงานร่วมกับรัฐบาลได้ดี ร้อยละ 4.17 อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้โอกาสคนอื่นๆ ลองเข้ามาทำงานดูบ้าง และร้อยละ 2.94 มองว่า การบริหารงาน กทม. ของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ดีเท่าที่ควร

ส่วนการตัดสินใจเลือกนายโฆสิต สุวินิจจิต หมายเลข10 ร้อยละ 44.44 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ รองลงมา ร้อยละ 33.33 เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค และร้อยละ 11.11 ชอบที่ตัวบุคคล เก่ง มีวิสัยทัศน์ มีประสบการณ์ และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้โอกาสคนอื่นๆ เข้ามาทำงานดูบ้าง ในสัดส่วนที่เท่ากัน

สำหรับเหตุผลที่เหลือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หมายเลข 11 พบว่า ร้อยละ 44.44 ชอบที่ตัวบุคคล เก่ง มีประสบการณ์ รองลงมา ร้อยละ 36.11 เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค (กลุ่มพลังกรุงเทพฯ) ร้อยละ 11.11 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ และ ร้อยละ 1.39 ชอบทีมงานรองผู้ว่าฯ (รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์) และเชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯ สนับสนุน ในสัดส่วนที่เท่ากัน

ด้านเหตุผลที่เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัคร หมายเลข 16 พบว่า ร้อยละ 30.96 ชอบที่ตัวบุคคล เก่ง มีประสบการณ์รองลงมา ร้อยละ 27.67 สามารถสานต่อนโยบายเดิมได้ต่อเนื่อง ร้อยละ 26.85 ชอบพรรคการเมือง (พรรคประชาธิปัตย์) ร้อยละ 9.59 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ และ ร้อยละ 3.01 เป็นการรักษาฐานคะแนนเสียงพรรคประชาธิปัตย์ เกรงว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับคะแนนความนิยมมากกว่า

ส่วนเหตุผลที่เลือกนายสุหฤท สยามวาลา หมายเลข 17 พบว่า ร้อยละ 52.94 ชอบตัวบุคคล มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รองลงมาร้อยละ 29.41 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ และร้อยละ 17.65 เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค

และเหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครายอื่นๆ เช่น นายวศิน ภิรมย์ นายวรัญชัย โชคชนะ และนายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ร้อยละ 50 ชอบที่ตัวบุคคล และมีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

สำหรับสาเหตุยังไม่ตัดสินใจเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.นั้น ร้อยละ 76.45 ระบุว่า รอพิจารณาว่านโยบายใดเหมาะสม รองลงมาร้อยละ 8.71 ระบุว่า ไม่มีใครน่าสนใจ และร้อยละ 0.97 รอดูผลโพล

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจกับครั้งที่ผ่านมา พบว่า คะแนนความนิยม และสัดส่วนของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจยังเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก อาจเป็นไปได้ว่ายังมีการหาเสียงและการณรงค์การไปใช้สิทธิเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน จึงต้องรอดูในอีกสักระยะก่อนถึงวันเลือกตั้ง ส่วนเหตุผลในการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. คนกรุงเทพฯ ก็ยังมองภาพลักษณ์ส่วนบุคลเป็นหลัก ส่วนคะแนนนิยมใครจะมากกว่านั้นก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพการนำเสนอตัวเองในช่วงหาเสียง

“สิ่งที่น่าสนใจระหว่าง พล.ต.อ.พงศพัศ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในเชิงนโยบายก็คือ นโยบายประชานิยมของ พล.ต.อ.พงศพัศ ที่มีความน่าสนใจมากกว่านโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็ได้เปรียบในเรื่องของฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ที่มีมากกว่าฐานเสียงพรรคเพื่อไทย ท้ายสุดผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจที่ยังรอพิจารณาดูนโยบายอยู่ก็เป็นโอกาสให้ผู้สมัครอิสระได้หาเสียง และเสนอนโยบายที่ถูกใจคนกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น