xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพล ระบุ คนกรุง เลือกตัวพ่อเมือง ไม่ใช่นโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิด้าโพล เผยผลสำรวจ คนกรุงตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.เพราะชอบตัวบุคคล มากกว่านโยบายในการหาเสียง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “เหตุผลของคนกรุง กับการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่ 3” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2556 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,500 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงเหตุผลที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร เป็นผู้ว่าฯ กทม.เมื่อเรียงตามลำดับหมายเลขผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.สามารถสรุปได้ ดังนี้ (ร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.) เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือก นายโสภณ พรโชคชัย ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 4 คือ ชอบตัวบุคคล ร้อยละ 100.00

เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 9 คือ ชอบที่ตัวบุคคล ทำงานเก่ง มีวิสัยทัศน์ และมีประสบการณ์ ร้อยละ 42.50 รองลงมา มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 23.08 สามารถทำงานและประสานงานร่วมกับรัฐบาลได้ดี และ ชอบพรรคการเมือง (พรรคเพื่อไทย) ในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ ร้อยละ 15.58 ส่วนหนึ่งมองว่า การบริหารงาน กทม. ของพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ดีเท่าที่ควร ร้อยละ 2.69 และ ร้อยละ 0.58 อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้โอกาสคนอื่นๆ ลองเข้ามาทำงานดูบ้าง

เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือก นายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 10 คือ มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 50.00 รองลงมา เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค ร้อยละ 37.50 และ ร้อยละ 12.50 ชอบที่ตัวบุคคล เก่ง มีวิสัยทัศน์ มีประสบการณ์

เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 คือ ชอบที่ตัวบุคคล เก่ง มีประสบการณ์ ร้อยละ 48.61 รองลงมา ร้อยละ 27.78 เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค (กลุ่มพลังกรุงเทพ) ร้อยละ 15.97 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 6.94 ชอบทีมงาน รองผู้ว่าฯ (รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์) และร้อยละ 0.69 เชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯสนับสนุน

เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 16 คือ ชอบที่ตัวบุคคล เก่ง มีประสบการณ์ ร้อยละ 31.58 รองลงมา ร้อยละ 27.19 สามารถสานต่อนโยบายเดิมได้ต่อเนื่อง ร้อยละ 19.52 มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 18.64 ชอบพรรคการเมือง (พรรคประชาธิปัตย์) และ ร้อยละ 3.07 เป็นการรักษาฐานคะแนนเสียงพรรคประชาธิปัตย์ เกรงว่า พรรคเพื่อไทยจะได้รับคะแนนความนิยมมากกว่า

เหตุผลที่คน กทม.ใช้ในการตัดสินใจเลือก นายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 17 คือ ชอบตัวบุคคล มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ร้อยละ 41.38 รองลงมา มีนโยบายที่ดีและน่าสนใจ ร้อยละ 34.48 และเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค ร้อยละ 24.14

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัชกรณ์ วงศ์ปรีดี อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า “จากตัวเลขผลการสำรวจ คนกรุงเทพฯ ยังคงให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่านโยบาย ทั้งนี้ จากการมองตามป้ายหาเสียงของผู้สมัครส่วนใหญ่ มีนโยบายที่คล้ายกัน เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีนโยบายใดที่มีความชัดเจน จึงอยากให้ผู้สมัครแต่ละคนเน้นไปที่นโยบายในการแก้ไขปัญหาของกรุงเทพฯ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของคนกรุงเทพฯ ได้อย่างแท้จริง”
กำลังโหลดความคิดเห็น