ART EYE VIEW---เมื่อปี 2553 หลายคนเคยตื่นเต้นกับการได้ชม MARSI นิทรรศการศิลปะครั้งแรกในประเทศไทย ของ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร (พระธิดาพระองค์เดียวในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎบริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และหม่อมราชวงศ์พันธุทิพย์ บริพัตร)ราชนิกูลไทยในฝรั่งเศส ผู้เป็นทายาทแห่ง วังสวนผักกาด
และรอคอยว่า เมื่อไหร่จะได้ชมจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของท่านหญิงอีกครั้ง เพราะนิทรรศการครั้งนั้น เป็นที่ประทับใจ ของผู้คนจำนวนมาก
จึงถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีต้อนรับศักราชใหม่ที่กำลังจะมาถึง เมื่อหลายคนได้ทราบว่า เร็วๆนี้ จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของท่านหญิง ซึ่งคนละชุดกับที่เคยจัดแสดงและมีจำนวนมากชิ้นกว่า กำลังจะถูกเคลื่อนย้ายจากสตูดิโอและตำหนัก ที่ท่านหญิงทรงประทับอย่างถาวรมาตั้งแต่ปี 2513 ณ Annot เมืองเล็กๆในภูเขา บริเวณ Alpes de Haute Provence ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส
เพื่อนำมาจัดแสดงให้ชมผ่าน นิทรรศการ L' art de Marsi ระหว่างวันที่ 18 มกราคม - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถ.ผ่านฟ้า
ศาสตราจารย์ ดร. หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ลูกพี่ลูกน้องของท่านหญิง และ ผู้รับหน้าที่ ประธานกรรมการมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้บอกเล่าถึงความน่าสนใจของนิทรรศการที่กำลังจะมีขึ้นว่า
นอกจากจะมีผลงานในส่วนที่ Michel Steve พระสหายของท่านหญิง ทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ (Curator)คัดสรรมาให้ชม
วโรกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา พุทธศักราช 2555
ความพิเศษของนิทรรศการ ครั้งนี้ เราจึงยังจะได้ชม จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ จำนวน 6 ภาพ ที่ท่านหญิง (ซึ่งทรงมีความใกล้ชิดกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์และประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์)ทรงเคยวาดถวายตามพระราชเสาวณีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ
“เราได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำภาพส่วนพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่ท่านหญิง ได้ทรงวาดถวายตามพระราชเสาวณีย์มาจัดแสดง ซึ่งมี 2 ชุดด้วยกัน
ชุดแรกประกอบด้วย พระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ และภาพพระราชวัง ซึ่งก่อนหน้านี้ ท่านหญิงเคยรับสั่งว่าวาดพระราชวังไม่เป็น วาดเป็นเต่เรื่องราวในความฝัน จึงทำให้ภาพที่วาดออกมามีลักษณะเป็นพระราชวังในความฝัน
อีกชุด เป็นภาพ 4 ฤดู ซึ่งแสดงให้เห็นเอกลักษณ์เฉพาะในงานศิลปะของท่านหญิง และสวยงามมาก
6 ภาพเหล่านี้ปัจจุบันประดับอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ และพระราชวังบางประอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ผมจึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ประชาชนคนไทย จะได้ชมภาพวาดที่ปกติจะไม่มีโอกาสได้ชม”
อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินและอดีตคณบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ที่รอคอยชมผลงานของท่านหญิงมาโดยตลอด หลังจากที่เคยประทับใจเมื่อครั้งที่ได้ชมผ่านนิทรรศการครั้งแรก ณ สยามพารากอน กล่าวว่า
นอกจากคุณค่าของความงามและความซาบซึ้ง ที่ผู้ชมจะได้รับจากการชมภาพเหมือนดังเช่นนิทรรศการครั้งที่ผ่านมา
หากผู้ชมได้มองเห็นสาระ และจินตนาการของศิลปิน ที่ปรากฎอยู่ในภาพ ผู้ชมจะสามารถ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวันของตัวเองด้วย
“ผมเชื่อว่างานของท่านหญิงเหมาะสำหรับสังคมไทยที่ชื่นชอบงานศิลปะ เพราะว่าเป็นภาพวาดที่เราสามารถสัมผัสและเข้าใจได้ง่าย ในขณะเดียวกัน ก็มีความลึกซึ้งในเรื่องของจินตนาการที่ทำให้ภาพวาด ไม่ใช่แค่ดูสวย แต่ทำให้เราเกิดความประทับใจ เกิดจินตนาการ เกิดความคิด เกิดความฝัน และนี่คือสเน่ห์และคุณค่าของงานศิลปะ
แต่หัวใจสำคัญในผลงานของท่านหญิง คือปรัชญาชีวิตและความคิดที่สะท้อนผ่านภาพ ซึ่งออกไปในทางพระพุทธศาสนา และส่วนตัวผมเองคิดว่า เรื่องเหล่านี้ ศิลปินทางตะวันตก คิดไม่ถึงและเข้าใจไม่ได้
ท่านหญิงสามารถนำเอาเรื่องของความรักมาสะท้อนให้ขัดแย้งกับเรื่องของความผิดหวัง เอาความสุขมาขัดแย้งกับเรื่องของความทุกข์ เอาความสงบนิ่งมาขัดแย้งกับเรื่องของความสับสนวุ่นวาย สิ่งเหล่านี้ถูกหลอมรวมเป็นจินตนาการที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
สิ่งที่ท่านหญิงได้แสดงออกมา เพื่อต้องการที่จะบอกว่า มนุษย์เราจะแสวงหาควาามสุขอย่างเดียวไม่ได้ เพราะความทุกข์ก็เป็นสิ่งที่เราจะปฏิเสธไม่ได้ ด้วยการใช้ความสุข จินตนาการให้เรารู้ว่าจะอยู่กับความทุกข์และเข้าใจมันได้อย่างไร”
เพื่อให้ นักเรียนนักศึกษาด้านศิลปะและผู้สนใจได้รับความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านศิลปะ ตามพระปณิธานของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ในการส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะในประเทศไทย นิทรรศการครั้งนี้ยังมีกิจกรรมเสริม ได้แก่
วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 เสวนาหัวข้อ “งานศิลปะของหม่อมเจ้ามารศีฯ: พลัง สัญลักษณ์ และจินตนาการ” โดยนักวิชาการและศิลปินที่มีชื่อเสียง
วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 การอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับ “การซ่อมแซมภาพเขียน” โดย อุ๊ - อาทิตยา กุลโมไนย ผู้ทำงานเป็น Director ให้กับ ห้องศิลปนิทรรศมารศี วังสวนผักกาด เคยมีโอกาสใกล้ชิดและเห็นบรรยากาศสตูดิโอของท่านหญิงบ่อยครั้ง
รวมถึงได้รับการสนับสนุนให้ไปเรียนต่อได้ด้านการซ่อมแซมภาพเขียน ที่สตูดิโอของพระสหายของท่านหญิง กระทั่งได้มีโอกาส เป็นหนึ่งในคณะทำงานซ่อมแซมภาพเขียนกับสตูดิโอที่แวร์ซาย และซ่อมแซมภาพเขียนให้กับท่านหญิงในที่สุด
ในฐานะผู้เคยซ่อมแซมภาพเขียน ย่อมมีความใกล้ชิดกับงานศิลปะของท่านหญิงอย่างลึกซึ้ง เธอกล่าวเชิญชวนผู้สนใจไปชมนิทรรศการว่า
"จะได้เห็นงานศิลปะดีๆ ซึ่งมันก็ไม่ได้หาดูได้ง่าย จริงๆงานศิลปะ คนที่มาดู ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่รู้เรื่อง เพราะมันไม่ใช่งานที่ดูแล้วต้องรู้เรื่อง หมายถึงว่าดูแล้วให้มีความรู้สึก ดูแล้วเรารู้สึกจรรโลงใจ รู้สึกถึงคุณค่าของชีวิต ปรัชญา หรือว่าสิ่งที่ดีงาม มันเป็นความสะเทือนใจในทางศิลปะ
แล้วงานนี้ก็จัดขึ้นด้วยความตั้งใจของผู้จัด พยายามจะนำเสนอสิ่งที่มีคุณค่าในคราวเดียวกัน ให้คนมาดูได้เห็นเยอะที่สุด อย่างเรื่องการขอพระบรมราชานุญาต ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แล้วก็เรื่องการขนส่งอีก เพราะว่าเราต้องขนมาจากอยุธยา ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องดำเนินการสำหรับงานของท่านหญิง"
>>>หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2474 ณ วังบางขุนพรหม กรุงเทพฯ ทรงมีอัจฉริยภาพทั้งทางด้านวรรณคดี ประวัติศาสตร์และดนตรี
เมื่อมีพระชันษาเพียง 23 ปี ทรงได้รับปริญญาเอกสาขาอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซอร์บอน ณ กรุงปารีส และขณะพระชันษา 28 ปี ทรงได้รับปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยแห่งมาดริด ประเทศสเปน
หลังจากนั้นหม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงเริ่มศึกษาด้านการวาดภาพด้วยพระองค์เองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง กระทั่งทรงมีผลงานเป็นที่รู้จักในระดับสากลและได้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะอย่างสม่ำเสมอในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศฝรั่งเศส ที่เรียกขานว่าเป็นดินแดนแห่งศิลปะ
คลิกอ่านเพิ่มเติม ภาพวาดของ ความรัก ชีวิต และความตาย ของราชนิกูลไทยในฝรั่งเศส
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com