xs
xsm
sm
md
lg

การกลับมาอีกครั้งของ “เสื้อสีเหลือง"

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิตในช่วงเวลา 10.00-10.30 น. นับเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่จะเป็นภาพบันทึกประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่รักของมวลมหาประชาชนที่ไม่สามารถจะหาใครเสมอเหมือนได้ในโลก

และเป็นที่น่ายินดีอีกครั้งที่พสกนิกรชาวไทยผู้จงรักภักดีจะได้เข้าร่วมถวายพระพรชัยมงคลในวันและเวลาดังกล่าว และให้แต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง เนื่องจากวันเสด็จพระราชสมภพตรงกับวันจันทร์ ซึ่งเป็นสีเหลือง และเป็นสีประจำของพระมหากษัตริย์ไทยมาเนิ่นนาน

เป็นการกลับมาของกระแสเสื้อสีเหลืองอีกครั้ง หลังจากที่ได้มีการใส่เสื้อสีชมพูมาเป็นเวลา 5 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2545 ครั้งที่ประชาชนชาวไทยยังไม่ได้มีความนิยมในการสวมเสื้อสีเหลืองในการถวายพระพรชัยมงคล แต่ในปีดังกล่าวเสื้อที่เกิดกระแสความนิยมมากที่สุดในเวลานั้นก็คือเสื้อที่มีลาย “คุณทองแดง” สุนัขทรงเลี้ยง ของ บริษัท สุวรรณชาด จำกัด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ใช้ประทับบนเสื้อยืดโปโลตราทองแดงเป็นชิ้นแรก

ในครั้งนั้นหอการค้าไทยได้ทำเสื้อ “คุณทองแดง” สีดำเป็นจำนวนมาก จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ว่าได้ทรงเคี่ยวเข็ญให้จัดทำเป็น “สีเหลือง” ความตอนหนึ่งว่า:

“วันนี้ยังไม่ใช่วันเกิด ไม่ใช่วันเกิดก็พูดสิ่งที่เป็นอัปมงคลได้ เรื่องมงคลหรือไม่มงคล ก็อยู่ที่เขาว่าวันนี้ควรใส่สีเหลือง สีเหลือง แล้วคนก็ตำหนิติเตียนว่าทำไมหอการค้าเขาทำเสื้อทองแดงสีดำ สีดำนั่นนะขายไม่ออก ก็คนเขาบอกว่าสีดำไม่เป็นมงคล ก็เลยต้องไปโฆษณาให้เขา ที่จริงเสื้อทองแดงเนี่ย สุวรรณชาดนะ สุวรรณก็ทอง ชาดเหมือนกาชาดแดง ตัว ด. คนก็นึกว่าชา-ติ แต่สุวรรณชาดก็ทองแดงนั่นเอง เขาใส่เสื้อทำสีดำ ต้องโฆษณาให้กับหอการค้า หอการค้าไทยเนี่ยเราไม่ได้เกี่ยวข้อง เราไม่ได้ทำการค้า ให้เขาขาย ให้ เขาทำเสื้อทองแดง เสื้อสุวรรณชาด เขาขออนุญาตให้ทำ และเขาขายราคา 500 บาท เสื้อทองแดงเริ่มต้นมาจากเสื้อทองแดง ที่เราทำเองขาย 300 บาท แต่นี่หอการค้า เขาค้านะ ก็เลยขาย 500 ยังไงก็ตาม

พูดถึงเสื้อทองแดงสีดำ ไม่มีใครชอบ เลยต้องช่วยกัน ช่วยเขา ที่หัวหินมีพวกทหาร มีแม่ทัพ 1 มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับทหารที่เพชรบุรี ตำรวจเขต 7 เขาจะซื้อก็บอกว่าเหลือแต่สีดำ ก็บอกดี สีดำ หนุ่มๆ สาวๆ ชอบ ก็เขาชอบนะ เขาชอบสีดำ เขาบอกสีเหลืองเชย แต่ตอนหลังนี่ เขาไม่ หอการค้าประหลาดเขาไม่ทำสีเหลือง รู้ว่าจะขายได้ดี ไม่ทราบทำไม เขาเพิ่งมาทำทีหลัง ต้องเคี่ยวเข็ญ จนกระทั่งมีไม่พอ มีไม่พอใช้”

หลังจากนั้นอีก 4 ปี ในปี 2549 กระแสเสื้อสีเหลืองมาแรงมากจนผ้าสีเหลืองขาดแคลนทั่วประเทศ เพราะในเวลานั้นพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศต่างแสดงออกในความจงรักภักดีด้วยการสวมเสื้อสีเหลืองทุกวันจันทร์ และเป็นปีสำคัญที่คนไทยทั่วประเทศได้เข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเข้าร่วมพระราชพิธีสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ ออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่มีมวลมหาประชาชนเต็มพื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้ายาวเรื่อยไปตลอดถนนราชดำเนิน

หลังจากปีนั้นเป็นต้นมาการสวม “เสื้อสีเหลือง” ก็ได้กลายเป็นการสวม “เสื้อสีชมพู” แทน

เพราะในปี 2550 เสื้อสีเหลืองได้เปลี่ยนกลายมาเป็นสีชมพู อันมีเหตุมาจาก “ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยและทรงปรับแก้ถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของสำนักงานช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

ในตราสัญลักษณ์ครั้งนั้นได้มีการใช้ “แพรแถบสีชมพู” ที่บอกชื่อตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ซึ่ง นายสุเมธ พุฒพวง นักวิชาการช่างศิลป์ 7 หนึ่งในคณะผู้ออกแบบได้เคยกล่าวว่าการออกแบบให้ “แพรแถบสีชมพู” เพราะเป็นสีที่ตรงกับหลักโหราศาสตร์ ทักษาพยากรณ์ เป็นสีที่เป็น “อายุ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชสมภพในวันจันทร์ สีชมพูจึงเป็นสีประจำ “อายุ”ตามหลักโหราศาสตร์ไทย หมายถึงการมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์

โดย นายสุเมธ พุฒพวง ได้เคยให้สัมภาษณ์อธิบายหลักทักษาพยากรณ์เอาไว้ว่า “เพราะตามหลักทักษา ซึ่งเป็นโหราศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่สุโขทัย เรียงลำดับทักษาคือนามวันเกิดเป็นบริวาร แล้วนับต่อเนื่องไปเป็นอายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และกาลกิณี”

เพื่อทำความเข้าใจว่าแต่ละสีมีความหมายอย่างไรสำหรับ “คนที่เกิดวันจันทร์” ตามหลักทักษาพยากรณ์มีดังนี้

สีเหลือง    วันจันทร์      เป็น บริวาร
สีชมพู      วันอังคาร     เป็น อายุ
สีเขียว      วันพุธ          เป็น เดช
สีม่วง,ดำ  วันเสาร์        เป็น ศรี
สีแสด       วันพฤหัสบดี เป็น มูละ
สีเทา         ราหู            เป็น อุตสาหะ
สีฟ้า          วันศุกร์       เป็น มนตรี
สีแดง       วันอาทิตย์    เป็น กาลกิณี

ด้วยเหตุผลนี้เองในปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระอาการประชวร พสกนิกรชาวไทยจึงพร้อมใจกันใส่ “เสื้อสีชมพู” ถวายพระพรชัยมงคล ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญมีพระชนมายุยืนนานตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้ตามหลักทักษาพยากรณ์ในทางโหราศาสตร์ไทยจะเห็นได้ว่า “สีแดง” เป็นกาลกิณีกับ “สีเหลือง” แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม ที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ของสีตามหลักทักษาพยากรณ์ แม้แต่ “สีแดง” ก็ไม่สามารถเป็น “กาลกิณี” สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ โดยได้มีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับสีเสื้อตามหลักทักษาพยากรณ์ความตอนหนึ่งว่า:

“ไม่นึกเลยว่าจะถึงอายุ 80 80 มันก็ ใครจะว่าแก่ก็ไม่ว่า ใครตำหนิว่าแก่ไม่ว่า เพราะว่าแก่จริงๆ แต่คนที่อายุ 60 ไม่แก่ แต่ว่าท่านนายกฯ ก็น่าเบื่อ น่าเบื่อเพราะว่าเจอทีไรก็แต่งเครื่องแบบขาว แล้วก็ความจริงควรจะแต่งสีอื่นบ้าง ของเราวันนี้ไม่มีขาว สีขาว สีเหลือง แล้วเนกไทสีเหลือง มีสีชมพูด้วย ก็หมายความว่า เราก็แก่แล้วแต่ไม่อยากแต่งตัวให้น่าเบื่อ วันนี้ก็เตรียมเสื้อคล้ายๆ ท่านองคมนตรี เสื้อเชิ้ตขาว และก็เสื้อ ไม่ใช่ท่านองคมนตรี ประธาน เสื้อสีน้ำเงินแก่ เราก็แต่งสีเทา ที่จริงแต่งอย่างนี้ก็ไม่น่าเบื่อ แต่ยังมีเนกไทสีเหลืองให้เก๋หน่อย ยังดีไม่ได้ใส่สีชมพู

แต่วันนั้นใส่สีชมพู โหก็ตื่นเต้น เวลาใส่สีชมพูแล้วก็ใส่สีเขียว ใส่สีอะไรก็ได้ สีแดงก็ยังได้ สีแดงนี่เป็นกาลกิณีของเรา คนที่ว่าเป็นกาลกิณีของเราไม่น่าจะใช้ นี่ยังไงตั้งแต่แม่ ท่านเกิดวันอาทิตย์ท่านก็สีแดง พี่สาวก็เกิดวันอาทิตย์ พี่ชายก็เกิดวันอาทิตย์ ก็หมายความว่าเป็นสีแดง คนที่รับใช้ก็เกิดวันอาทิตย์ ทุกคนเลย ก็ยังดี ทองแดงนี่ดีไม่ได้เกิดวันอาทิตย์ เขาเกิดวันเสาร์เป็นสีม่วง ทองแดงสีม่วง เราก็ไม่เดือดร้อน แต่สีม่วงก็ดี วันก่อนนี้ใส่สีม่วง ก็เลยใส่ได้ทุกอย่าง ไม่เหมือนท่านนายกฯ ใส่เครื่องแบบขาวทุกวัน ทุกครั้งมันน่าเบื่อ ก็จริง น่าเบื่อ แต่ว่าท่านเรียบร้อย แล้วก็แต่งขาว ท่านทำงานได้ดี ก็เลย ถ้าทำงานได้ดีก็ไม่น่าเบื่อ

ท่านผู้หญิงแต่งสีเหลือง สีเหลือง แต่เหลืองอ๋อย สีเหลืองความจริงตามเรื่อง ต้องเป็นสีค่อนข้างเหลืองอ่อนมาก อย่างวัน เมื่อวานนี้ใส่เสื้อสีเหลือง สีเหลืองอ่อน นั่นนะเป็นสีเหลืองที่ถูกต้อง เพราะว่าเป็นสีเหลืองที่สว่างของพระจันทร์ ก็บรรยาย นี่เขาให้มีกระต่ายอยู่ด้วย ก็เลยเป็นสีเหลืองที่ถูกต้อง แต่มาพูดบอกว่า ท่านนายกฯ แต่งขาวนี่ก็ได้เหมือนกัน เพราะว่าวันจันทร์ก็เป็นสีขาวก็มี”

และหลังจากที่พสกนิกรชาวไทยได้สวมเสื้อ “สีชมพู” มาเป็นเวลาหลายปีเพื่อถวาย “อายุ” ตามหลักทักษาพยากรณ์เพื่อ ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระเจริญ ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง และมีพระชนมายุยิ่งยืนนานแล้ว หลายคนที่เกิดมาในรัชกาลนี้จึงถือว่าโชคดีที่จะได้เข้าร่วมพระราชพิธีออกมหาสมาคมอีกครั้งด้วยการ “สวมเสื้อสีเหลือง” ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หมายความว่าพสกนิกรชาวไทยไม่ต้องใส่เสื้อสีชมพูเพื่อถวาย “อายุ” ตามหลักทักษาพยากรณ์เหมือนกับหลายปีที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว นั่นหมายความว่าพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแข็งแรงขึ้น จนพสกนิกรชาวไทยมาร่วมใจกันสวมเสื้อสีเหลืองซึ่งเป็นสีของวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้งหนึ่ง

เพราะพลังแห่งความรักของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทำให้เชื่อได้ว่าพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแข็งแรงขึ้น และจะมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน เพราะ “กษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมตรัสแล้วไม่คืนคำ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เกี่ยวกับ “อายุ” ความตอนหนึ่งว่า:

“อายุ มีคนบอกอยากจะให้อายุ 120 120 นี่ ถ้าจะแต่มีคนเขามาบอกว่า คนเราอายุที่ได้ถึง 128 คนที่มาบอกนี่ 128 คงไม่นึกถึง 128 เพราะว่า 128 นั่น ต้องให้ร่างกายมันดี 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้า 120 ก็ยอม เอาแค่ 120 แต่ว่า 120 นี่ก็ไม่เลว ถ้าได้ 120 ก็อีก 40 กว่าปี 40 กว่าปี ท่านทั้งหลายนี่ งอกแงกๆ แต่ว่าถ้าทำให้ร่างกายดี อาจจะได้ ระมัดระวังให้ดี เพราะว่าบางคนเดี๋ยวนี้อายุ 70 ไม่ถึง 120 เรา 120 นะ เขาก็เท่าไรเรา 120 เขา 110 ก็เขาก็ทำงาน คงจะทำงานได้”

อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2549 สื่อมวลชนได้ลงข่าวกรณีที่ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ เวลาจัดถวายพระพรและขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะถวายพระพรว่า ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมพรรษาเกินกว่า 100 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งว่า:

“ฉันจะอยู่ถึง 120 ปี จะอยู่จนฉลองพระราชพิธีครองสิริราชสมบัติครบ 100 ปี”

แล้วพบกันในวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าตลอดถนนราชดำเนิน ในการกลับมาอีกครั้งของพสกนิกรชาวไทยสวมเสื้อสีเหลืองที่เปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ไปทั่วแผ่นดิน!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น