จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองชายทะเล เหมาะจะมาเที่ยวพักผ่อนตากอากาศ เล่นน้ำทะเล เดินเล่นชายหาดชิลๆ แต่ “ตะลอนเที่ยว” มาเที่ยวประจวบฯ คราวนี้ ไม่ได้ชิลอย่างที่ทุกคนคิด เพราะจุดมุ่งหมายในทริปนี้คือการพิชิตยอดเขาของเมืองประจวบฯ ที่มีชี่อว่า “เขาล้อมหมวก” ดังนั้นแทนที่จะได้เดินสวยๆ อยู่ริมทะเล เลยต้องมาปีนเขาออกกำลังกล้ามเนื้อทุกส่วนแทน
เขาล้อมหมวกที่ว่านี้ ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่ภายในเขตพื้นที่ของกองบิน 5 ซึ่งดูแลโดยกองทัพอากาศ เขาลูกนี้เป็นภูเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 902 ฟุต หรือราว 300 เมตร ตั้งอยู่ริมชายหาดคั่นระหว่างอ่าวประจวบฯ และอ่าวมะนาว มีคนบอกเล่ามาว่าวิวด้านบนนั้นสวยสุดใจ แต่เส้นทางก็โหดไม่ใช่เล่น จน “ตะลอนเที่ยว” อยากมาสัมผัสด้วยตัวเอง
ก่อนจะเริ่มต้นปีนขึ้นเขา “ตะลอนเที่ยว” เอาฤกษ์เอาชัยด้วยการไปไหว้ “ศาลเจ้าพ่อเขาล้อมหมวก” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตีนเขา ภายในศาลมีรูปปั้นของเจ้าพ่อเขาล้อมหมวกซึ่งมีลักษณะเป็นชายแก่ชาวจีนไว้เครายาวแต่งกายแบบจีนนั่งอยู่บนเก้าอี้ ตามตำนานเล่าว่า เจ้าพ่อเขาล้อมหมวกเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เดินทางโดยเรือสำเภามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึง ณ แผ่นดินนี้ท่านได้ลงหลักปักฐานและทำความดีอย่างยิ่งยวดให้กับแผ่นดินและประชาชน จนเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปตราบจนสิ้นอายุขัยเมื่อ 97 ปี ด้วยพลังแห่งคุณงามความดีและบารมีที่สะสมไว้ ส่งผลให้ท่านเป็นดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ที่เขาล้อมหมวก คอยดูแลปกปักรักษาประชาชนและสรรพสัตว์ในบริเวณนี้
เล่ากันว่า เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าพ่อเขาล้อมหมวกได้ช่วยชาวบ้านที่หนีระเบิดมาพึ่งศาลเจ้าพ่อให้ท่านช่วยคุ้มครอง ฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิดของญี่ปุ่นพยายามทิ้งระเบิดโจมตีฐานที่มั่นของไทยและศาลเจ้าพ่อเขาล้อมหมวกเพื่อทำลายขวัญและกำลังใจของชาวบ้าน ปรากฏว่าลูกระเบิดทั้งหมดต่างปลิวไปตกทะเล สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ทหารญี่ปุ่น และความศรัทธาแก่ชาวบ้านมาจนทุกวันนี้
ปัจจุบันนี้ เจ้าพ่อเขาล้อมหมวกก็ยังคงเป็นที่พึ่งทางใจของคนในบริเวณนี้ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือน โดยคนส่วนมากมักมาขอพรหรือบนบานท่านเกี่ยวกับหน้าที่การงาน และมักจะนำหมวกจีนแบบโบราณที่เรียกว่าหมวกกุยเล้ยมาแก้บนเมื่อสมความปรารถนา แต่สำหรับ “ตะลอนเที่ยว” แล้วไม่ได้บนบานสิ่งใด แค่เพียงขอให้เดินทางขึ้นและลงเขาล้อมหมวกได้โดยปลอดภัยไม่มีอุบัติเหตุก็พอแล้ว
ไหว้ศาลเจ้าพ่อเขาล้อมหมวกแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ก็ยังไม่ได้ฤกษ์ปีนเขาเสียที เพราะต้องแวะถ่ายรูปและให้อาหาร “ค่างแว่นถิ่นใต้” เพราะบริเวณตีนเขาใกล้ๆ ศาลเจ้าพ่อนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงค่างแว่นจำนวนนับร้อย ค่างเหล่านี้นิสัยไม่ดุร้ายและคุ้นเคยกับคน เนื่องจากจะมีนักท่องเที่ยวมาชมและให้อาหารบ่อยๆ
ค่างแว่นตัวโตเต็มวัยจะมีลักษณะเด่นคือมีวงรอบดวงตาและรอบปากเป็นสีขาวเหมือนใส่แว่น เป็นที่มาของชื่อค่างแว่น มีขนตามตัวเป็นสีเทา ส่วนค่างเด็กๆ จะน่ารักผิดพ่อแม่ตรงที่เมื่อเกิดมาจะมีขนสีเหลืองส้ม เหมือนสีทอง และจะน่ารักอยู่อย่างนี้จนอายุได้ 3 เดือน ขนจึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเทา
ใกล้ๆ กับจุดที่ค่างแว่นลงมากินอาหารจากนักท่องเที่ยวนี่เองที่เป็นทางขึ้นยอดเขาล้อมหมวก ด้านหน้าทางขึ้นมีป้ายเขียนเชิญชวนให้ขึ้นไปไหว้รอยพระพุทธบาทจำลองด้านบน แต่ไม่ยักบอกว่ากว่าจะขึ้นไปจนเจอรอยพระพุทธบาทนั้นต้องเจอเส้นทางโหดหินขนาดไหน แต่ไม่ว่าจะลำบากอย่างไร “ตะลอนเที่ยว” ก็เลือกแล้วที่จะไปกราบรอยพระพุทธบาทและชมวิวบนจุดสูงสุดของยอดเขาล้อมหมวก ว่าแล้วก็อย่ารอช้า เริ่มต้นปีนกันเลยดีกว่า
จากตีนเขา ทางกองบินทำทางขึ้นเป็นบันไดคอนกรีตหลอกให้ตายใจว่าเดินได้สบายๆ ชิลๆ เราค่อยๆ เดินไต่ระดับความสูงไปเรื่อยๆ ช่วงที่เป็นทางเดินบันไดนี้มีต้นไม้ร่มรื่นคอยบังแสงแดดไว้ทำให้ไม่ร้อนจนหมดแรงเสียก่อน “ตะลอนเที่ยว” ไต่บันไดขึ้นมาโดยแวะพักตามจุดชมวิวต่างๆ เป็นระยะเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อขา และเพื่อถ่ายรูปวิวทะเลสวยๆ จากด้านบน
มาได้ถึงครึ่งทาง เหนื่อยกำลังได้ที่ อยู่ดีๆ ทางบันไดก็หายไป เส้นทางอีกครึ่งที่เหลือมีเพียงเชือกเส้นเดียวกับเขาหินปูนให้ “ตะลอนเที่ยว” เกาะปีนขึ้นไปต่อ ซึ่งนับว่าโชคดีที่เขาล้อมหมวกเป็นภูเขาหินปูน เพราะจะมีแง่งหินแหลมๆ ที่ง่ายต่อการปีนป่าย ให้เหยียบวางเท้าได้โดยไม่ลื่น
มาจนถึงตอนนี้ทุกประสาทสัมผัสต้องทำงานไปพร้อมๆ กัน มือทั้งสองต้องเกาะทั้งเชือกและหินให้แน่น เท้าต้องเหยียบและหยั่งให้มั่นคงก่อนจะส่งตัวเองปีนสูงขึ้นไป ส่วนสายตาก็ต้องเล็งไลน์ให้ดีว่าจะปีนขึ้นไปทางซ้ายหรือขวาจึงจะปลอดภัยและง่ายที่สุด เส้นทางบางช่วงปีนได้ง่ายไม่ลาดชันมาก แต่บางช่วงแค่เห็นก็ทำเอาเกือบจะท้อ เพราะชันเกือบๆ จะ 90 องศา แต่ถึงยังไง “ตะลอนเที่ยว” ก็ถอยไม่ได้ เพราะขึ้นมาตั้งไกลเกินครึ่งทาง จะหันหลังกลับตอนนี้ก็เสียแรงไปเปล่าๆ
“ตะลอนเที่ยว” ปีนป่ายไปพร้อมกับบอกตัวเองว่า อีกเดี๋ยวก็ถึงยอด แต่ยิ่งปีนขึ้นไปก็ยังเจอเชือกเส้นแล้วเส้นเล่าให้ปีนต่อ จนเกือบจะหมดแรงนั่นแหละก็ขึ้นมาถึงยอดเขาพอดี เป็นอันว่าในที่สุดเราก็ได้มากราบรอยพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขาล้อมหมวกจนได้
สำหรับรอยพระพุทธบาทนี้มีข้อมูลจากกองบิน 5 กล่าวว่าเป็นพระพุทธบาทเบื้องซ้าย กองบิน 5 พบรอยพระพุทธบาทเมื่อปี 2532 เป็นการค้นพบโดยบังเอิญขณะอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานบนยอดเขา เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นไปถึงยอดเขาจึงได้หาก้อนหินบริเวณนั้นเพื่อรองเป็นฐานพระพุทธรูป พบว่าเมื่อเรียงหินห้าก้อนต่อกันมองเห็นเป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย โดยจากการตรวจสอบของกรมศิลปากรพบว่ารอยพระพุทธบาทนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4
และต่อมาในปี 2541 ก็ได้มีการสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ พร้อมกับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานไว้เป็นที่เคารพสักการบูชาสืบมาถึงปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่าบนเขาช่องกระจกซึ่งเป็นภูเขาอยู่ในตัวเมืองประจวบฯ ไม่ไกลจากเขาล้อมหมวกนั้นเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ส่วนเขาล้อมหมวกประดิษฐานพระพุทธบาทเบื้องซ้าย เข้าคู่กันพอดี
หลังจากกราบสักการะรอยพระพุทธบาท นั่งพักเหนื่อยพักร้อนจนมีแรงแล้ว ก็ได้เวลาออกสำรวจบนยอดเขากัน จริงๆ แล้วหากเรียกว่าสำรวจก็ดูจะยิ่งใหญ่เกินไป เพราะบนยอดเขาเป็นพื้นที่แคบๆ แถมยังไม่มีที่ราบ แต่เป็นหินปูนแหลมๆ ทั่วทุกพื้นที่ มีต้นไม้ขึ้นบ้างเป็นหย่อมๆ ดังนั้นขอเรียกว่าออกเดินหามุมถ่ายรูปจะดีกว่า ซึ่งเมื่อ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาเห็นวิวบนยอดเขาล้อมหมวกนี้แล้ว บอกได้คำเดียวว่า “คุ้มค่า” กับการเหนื่อยยากปีนขึ้นมา
ความสูงจากระดับน้ำทะเล 300 เมตร บนเขาล้อมหมวกทำให้มองเห็นทิวทัศน์ไปได้ไกล สามารถมองเห็นได้ถึง 5 อ่าว เนื่องจากเขาล้อมหมวกเป็นภูเขาที่คั่นระหว่างอ่าวประจวบฯ กับอ่าวมะนาว ทิวทัศน์ที่มองเห็นเมื่อหันหน้าเข้าสู่แผ่นดินก็คือ ด้านหน้าเป็นกองบิน 5 มองลงไปเห็นอาคารสิ่งก่อสร้างขนาดเล็กเหมือนบ้านตุ๊กตา มองเห็นลานบินตัดกัน มองลึกไปด้านหลังก็จะเห็นเทือกเขาตะนาวศรีเป็นแนวยาวกั้นระหว่างไทยและพม่า และหากมองไปด้านขวาของเขาล้อมหมวกจะเห็นโค้งหาดของ “อ่าวประจวบฯ” ความยาวกว่า 8 กม. ยาวโค้งจากเขาล้อมหมวกไปจนจดกับเขาตาม่องล่าย จากเขาตาม่องล่ายมีอ่าวเล็กๆ ที่ชื่อว่า “อ่าวน้อย” มีหาดทรายโค้งไปจดกับเขาคั่นกระได และมองเห็นชายหาดยาวของ “อ่าวคั่นกระได” เชื่อมต่อไปจนถึงสามร้อยยอด
ทีนี้ลองหันมามองทางฝั่งซ้ายบ้าง โค้งอ่าวที่เห็นนั้นก็คือ “อ่าวมะนาว” ที่ได้ชื่อมาจากความโค้งกลมของตัวอ่าวที่โค้งไปจากเขาล้อมหมวกไปจดกับเขาคลองวาฬ และถัดจากเขาคลองวาฬก็คือชายหาดยาวของ “อ่าวคลองวาฬ” ที่ต่อเนื่องไปจนถึงหาดวนกร ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดวนกรนั่นเอง
นอกจากอ่าวทั้ง 5 แล้ว ก็ยังมองเห็นเกาะเล็กเกาะน้อยในทะเลประจวบฯ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกาะหลัก เกาะไหหลำ และเกาะร่ม ที่เกาะกลุ่มกันอยู่ทางขวาของเขาล้อมหมวก ในช่วงน้ำลดจะมองเห็นสันทรายเป็นทะเลแหวก สามารถเดินจากหาดบริเวณหน้ากองบินไปยังเกาะไหหลำได้ ส่วนทางซ้ายมือจะมองเห็นเกาะแอ่นตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางทะเล
“ตะลอนเที่ยว” ถ่ายรูปอยู่บนยอดเขาล้อมหมวกเสียจนจุใจและนั่งกินลมชมวิวอยู่ด้านบนพักใหญ่เพื่อเป็นการพักเหนื่อยและเตรียมความพร้อมในการเดินลง ซึ่งแม้จะเป็นเส้นทางเดียวกับตอนขาขึ้น แต่การเดินลงนั้นโหดและต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าตอนเดินขึ้นเสียอีก โดยเฉพาะช่วงที่ลาดชันมากๆ ก็ต้องใช้วิธีจับเชือกให้มั่นแล้วค่อยๆ โรยตัวลงมา ใช้เวลาขาขึ้นและลงราว 2 ชั่วโมง ดังนั้นทางกองบิน 5 จึงกำหนดให้ผู้ที่ขึ้นไปบนเขาต้องลงมาถึงพื้นก่อน 17.30 น. เพื่อความปลอดภัย เพราะหากลงมาตอนมืดๆ รับรองว่าลำบากและอันตรายแน่นอน
ทริปนี้แม้ไม่ได้โดนน้ำทะเล แต่กลับถูกใจ “ตะลอนเที่ยว” อย่างแรง จนอยากชวนคนที่แรงยังเหลือและใจยังสู้ให้ลองไปชมวิว 5 อ่าวบนเขาล้อมหมวกดูสักที รับรองต้องประทับใจไปอีกนาน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
กองบิน 5 ตั้งอยู่ใน ต.เกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ต้องการปีนขึ้นเขาล้อมหมวกควรมีสภาพร่างกายที่พร้อมสมบูรณ์ ควรใส่รองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าหุ้มส้น ควรเตรียมน้ำดื่มในระหว่างการเดินทาง และเอาข้าวของติดตัวไปเท่าที่จำเป็นเพราะการเดินทางค่อนข้างยากลำบาก สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในกองบิน 5 หรือการปีนเขาล้อมหมวกได้ที่ โทร.0-3261-1031 หรือ 0-3261-1017
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com